เคยสงสัยกันไหมว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คอนโดไม่เก็บเสียง และจะแก้ปัญหาเรื่องเสียงให้หายขาดได้อย่างไร?

เรื่องเสียงภายในคอนโด ผมไม่สามารถช่วยทุกคนในการต่อสู้กับ เพื่อนบ้าน หรือนิติคอนโดได้ แต่ผมสามารถเสนอแนะแนวทางต่างๆ ในการป้องกันเสียงได้ทั้งแบบต้นเหตุ และปลายเหตุ ในมุมมองของวิศวกร ครับ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ sensitive เรื่องเสียง ไม่มากก็น้อยครับ

หมายเหตุ : การแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมสำหรับอาคารที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว จะใช้เงินทุนในการ renovate พอสมควร
ก่อนอื่นเลย ผมจะขอแยกเสียงออกเป็น 3 ประเภทนะครับ

1. เสียงพูด คุย ร้องเพลง ทีวี
2. เสียงบรรยากาศ หรือ ambient ภายนอก เช่นเสียงรถ, มอเตอร์ไซค์, เสียงคนพูดคุยในโถงทางเดิน, เสียงจากวัด โรงเรียน หรือเสียงการก่อสร้างอาคาร
3. เสียงสั่นสะเทือน เกิดจากการเคาะพื้น, ผนัง, ตู้ built-in, ปิดประตูแรงๆ, เสียงลากของหนักๆ, เสียงของหล่น หรือเดินด้วยส้นเท้า

แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ :

1. เสียงพูด คุย จากห้องข้างๆ : ธรรมชาติของอาคาร (ยกเว้นคอนโดแบบ luxury ห้อง 20 ล้าน+) เสียงแบบนี้จะผ่านเข้ามาบ่อยที่สุดบริเวณที่เป็นเต้าปลั๊กไฟครับ เนื่องจากว่าตอนก่อสร้าง และจะใส่บล็อกไฟ จะต้องเจาะผนัง ซึ่งทางโครงการก็จะทำการเจาะผนังให้ทะลุ และให้บล็อกไฟนั้นมัน Share กันระหว่าง 2 ห้อง

กรณีที่เป็นคอนโดระดับ Luxury โครงการจะทำการก่อผนัง 2 ชั้น และอาจจะแทรกแผ่นฉนวนกันเสียงหนาๆไว้ระหว่างผนัง (ซ้อนกันคล้ายๆแซนวิช) เพื่อทำให้บล็อกไฟของทั้ง 2 ห้องแยกออกจากกัน ซึ่งลักษณะแบบนี้จะสามารถกันเสียงพูด คุยจากข้างห้องได้มากขึ้นถึง 2 เท่า (ตะโกนยังแทบไม่ได้ยิน)

1.1 แต่ในคอนโดที่ราคาไม่ได้สูงมาก เราก็คงจะไปก่อผนังอะไรใหม่ขึ้นมาอีกชั้นนึงไม่ได้ (เนื่องจากพื้นอาคารอาจจะรับน้ำหนักผนังอิฐไม่ไหว) ก็จะมีวิธีการทำผนังเบา (ผนังทำจากวัสดุสมาร์ทบอร์ด หรือยิปซัมที่เป็นวัสดุเดียวกันกับฝ้า) และรองด้วยฉนวนกันเสียง พร้อมเดินสายไฟใหม่ ก่อนที่จะฉาบ-ทาสีเพื่อความสวยงามอีกครั้ง แค่นี้ก็สามารถลดเสียงได้มากๆแล้วครับ แต่ห้องจะแคบลงประมาณ 7 cm เนื่องจากถูกผนังเบาและฉนวนกินพื้นที่ห้องไป แต่ถ้าบางคนไม่สนใจเรื่องพื้นที่ห้องหายไปนิดหน่อย ก็อาจจะมีการทำผนังถึง 3 ชั้นก็ได้

1.2 กรณีที่งบน้อย และห้องในคอนโดไม่ใหญ่มาก ให้ทำการย้ายพวกชุดตู้เสื้อผ้า ตู้หนังสือไปบังเต้าปลั๊กไฟไว้ หรือย้ายหัวเตียงไปอยู่อีกฝั่งของห้องแล้วหาเทปกาวหนาๆมาปิดเต้าปลั๊กไฟไว้ ก็แก้ปัญหาได้บ้างครับ (แต่ไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่)
หมายเหตุ : หลายๆคนอาจจะเคยเห็นพวกโฆษณาแผ่น Acoustic กันเสียงแปะผนัง (ที่จะเป็นคล้ายๆโฟมรังไข่) ของพวกนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อกันเสียงจากภายนอกครับ จริงอยู่ว่ามันอาจจะกันได้เล็กน้อย แต่กันได้ไม่เท่าวิธีที่ 1.1 และอาจจะไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป เพราะหลักๆแล้วแผ่นพวกนี้จะเอาไว้กันเสียงออกจากห้องของเราครับ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าพวกห้องซ้อมดนตรีให้เช่าจะมีวัสดุพวกนี้เสมอ เพราะเขาไม่ต้องการให้เสียงเพลงออกไปนอกห้อง

2. เสียงบรรยากาศ ต้องบอกว่าการแก้ไขเสียงนี้จะใช้งบน้อยกว่าข้อ 1 เพราะเสียงส่วนใหญ่ที่มาจากภายนอก จะเล็ดลอดผ่านเข้ามาในห้องเราผ่านช่องว่างต่างๆระหว่าง ประตู-หน้าต่าง-วงกบ เสมอ โดยเฉพาะเสียงจะผ่านเข้ามาได้มากที่สุด กรณีที่ประตูเป็นแบบบานเลื่อน

2.1 ประตู 

 - ประตูบานสวิง : กันเสียงได้เล็กน้อย ก็จะใช้วัสดุ Acoustic ประเภทนึงของ SCG ที่ชื่อว่า Noise Zeal (เคยใช้แล้ว ถือว่าลดเสียงได้พอสมควร) ติดไว้รอบวงกบของประตู (บริเวณบังใบ) นอกจากจะลดเสียงคนพูดคุยบริเวณหน้าลิฟต์หรือโถงทางเดินได้แล้ว ยังสามารถลดเสียงเวลาเราปิดประตูได้มากๆอีกด้วย (ไม่ได้ค่าโฆษณาจาก SCG นะครับ ประสบการณ์ใช้จริงล้วนๆ)

 - ประตูบานเลื่อน แก้ปัญหาแบบงบน้อย : ใช้ Noise Zeal เหมือนข้อ 2.1 แต่ต้องใช้เป็นรุ่นสำหรับบานเลื่อน ซึ่งไม่ค่อยเห็นผลเพราะประตูบานเลื่อนจะมีช่องว่างที่มากกว่า และใหญ่กว่าประตูบานสวิง โดยรวมแล้วลดเสียงได้เล็กน้อย
 - ประตูบานเลื่อน แก้ปัญหาแบบดีปานกลาง : มันจะมีประตูบานเลื่อนบางรุ่นที่จะมาพร้อมกับตัวหนีบประตู (เหมือนจะเรียกว่า Tostem มั้ง) มันจะทำหน้าที่ล็อคประตู และทำให้ประตูบานเลื่อนมันแนบชิดกันระหว่าง 2 บานเพื่อลดช่องว่าง วิธีนี้จะลดเสียงได้ดีมาก
ล็อคบานเลื่อน Tostem
 - ประตูบานเลื่อน แก้ปัญหาแบบถาวร : เปลี่ยนประตู (แต่ปัจจุบันยังไม่เคยเห็นประตูคอนโดที่กันเสียงได้ 100%)

2.2 หน้าต่าง (ทั้งแบบบ้านเลื่อน และบานสวิง สามารถแก้ไขได้เหมือนประตู เพียงแต่จะมีออพชั่นอื่นๆเพิ่มเติม)

 - เปลี่ยนหน้าต่างจากบานเปิด กลายเป็นบาน Fix (เปิดหน้าต่างไม่ได้ ให้แสงเข้าได้อย่างเดียว) แล้วยิงซิลิโคนรอบวงกบหน้าต่าง จะกันเสียงได้ดีมากๆ

 - ติดตั้งหน้าต่างซ้อนทับหน้าต่างเดิม (ติดเพิ่มด้านนอก) ทำให้มีหน้าต่าง 2 ชั้น เสียงก็จะเล็ดลอดเข้ามายากขึ้น (แต่กรณีที่เป็นคอนโด นิติอาจไม่ให้ทำการแก้ไขหน้าต่างเนื่องจากจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ภายนอกอาคาร อาจจะต้องทำการติดหน้าต่างเพิ่มด้านในห้องแทน)

- รื้อหน้าต่างออกแล้วก่อผนังปิด (แต่นิติอาจจะไม่อนุญาต) แล้วทำผนังเบาพร้อมฉนวนอีกชั้นก็ช่วยได้

3. เสียงสั่นสะเทือน
ต้องบอกก่อนเลยครับว่าเสียงสั่นสะเทือนแก้ปัญหาได้ยากมากๆ หรือในบางกรณีโครงการก่อสร้างต้องลงทุนเพิ่มเป็นหลักสิบล้าน เพื่อไม่ให้เกิดเสียงสั่นสะเทือน

3.1 เสียงสั่นสะเทือนจากห้องข้างๆเคาะ ทุบผนัง เลื่อนโต๊ะมาชน : วิธีแก้ปัญหาให้ใช้เหมือนข้อ 1.1 คือทำผนังเบาพร้อมฉนวน

3.2 เสียงสั่นสะเทือนจากห้องข้างบนเดินเสียงดัง หรือทำของหล่น : ซึ่งเสียงสั่นสะเทือนจะผ่านมาที่ห้องเราได้ 2 ทางคือ ทางผนัง และทางเพดาน (ตามรูปด้านล่าง) 
โดยทั่วไปแล้วคอนโดระดับ Luxury จะมีการติดตั้งฉนวนไว้เหนือฝ้า รวมถึงวัสดุพื้นจะมีการรองฉนวนไว้ด้วยเช่นกัน แต่ในคอนโดทั่วๆไปจะไม่มี ดังนั้นวิธีแก้ไขเสียงนี้จะมีวิธีเดียวคือ รื้อฝ้า/ติดตั้งฝ้าใหม่ โดยให้ใส่ฉนวนไว้เหนือฝ้าด้วย อีกอย่างนึงก็คือไม่ควรติดตั้งหลอดไฟแบบ Downlight (เจาะรูฝ้าแล้วฝังโคมไฟไว้ในฝ้า ซึ่งบริเวณนี้คือที่ๆเสียงจะผ่านลงมาง่ายที่สุด) และให้ใช้ควบคู่กับวิธีที่ 1.1 คือทำผนังเบาพร้อมฉนวนด้วย

3.3 เสียงสั่นสะเทือนจากประตู (ได้เฉพาะห้องของเรา) : ใช้ Noise Zeal ของ SCG ติดตามวงกบประตู

3.4 เสียงสั่นสะเทือนจากประตู (ห้องอื่น) : ไม่มีวิธีทางวิศวกรรมที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองนอกจากเพื่อนบ้านจะติด Noise Zeal ด้วย

3.5 เสียงสั่นสะเทือนจากรถบรรทุกวิ่งผ่าน (เสียงเบสต่ำ และพื้นห้องอาจจะสั่นเล็กน้อย) : ไม่มีวิธีทางวิศวกรรมที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง

3.6 เสียงสั่นสะเทือนจากสระน้ำชั้นดาดฟ้าในคอนโด : ไม่มีวิธีทางวิศวกรรมที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง

แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ :

วิธีที่สามารถลดปัญหาของเสียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่ดีที่สุดคือ ซื้อบ้านจัดสรร ไม่ก็สร้างเอาเองในที่ดินต่างจังหวัด หรือถ้าติดปัญหาเรื่องทำเล ราคา อะไรก็แล้วแต่ ผมจะลิสต์รายการทิ้งไว้ให้เผื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจในอนาคตเวลาจะซื้อบ้านหรือคอนโดนะครับ

1. ทำเลต้องไม่ติดถนนใหญ่ หรือรถไฟฟ้า (หน้าห้องต้องไม่หันไปทางถนน หรือรางรถไฟ) ไม่มีรถบรรทุกผ่าน หรือรถแต่งท่อดังๆมาเหยียบมิดหน้าคอนโด/บ้าน หรือถ้าอยู่ในซอยย่อยจะดีมาก

2. ตรวจสอบประตูหน้าต่างว่าเปิดกับปิดหน้าต่าง เสียง Ambient ภายนอกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แนะนำให้เช็คตอนกลางคืนเพราะเสียงเดินทางได้ดีกว่าในตอนกลางคืน หรือถ้าคอนโด/บ้านที่ไหนที่ยังสร้างไม่เสร็จ ก็อาจจะ request ไปให้ทางโครงการทำหน้าต่างห้องตนเองให้ใช้ของมีคุณภาพได้ (เพิ่มตังค์อีกนิดหน่อย)

3. ห้องคอนโดต้องไม่อยู่ใกล้กับสระน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสระน้ำที่อยู่เหนือห้องเราขึ้นไป (คอนโดประเภท Mid-rise, High-rise ที่จะชอบมีสระน้ำอยู่ชั้นสูงๆ) เหตุผลทางวิศวกรรมที่พูดถึงเรื่องนี้จะค่อนข้างยาว เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าของโครงการลงทุนเป็นสิบล้านเพื่อป้องกันเสียงที่เกิดจากสระน้ำนี้เลย เอาเป็นว่าถ้าอยากรู้ว่าทำไม ให้ IB มาแทนนะครับ

4. ตรวจสอบวัสดุพื้นห้อง ก่อนที่จะซื้อคอนโด/บ้าน สามารถสอบถามนิติหรือช่างอาคารได้ (นิติกับช่างอาคารจะมีแบบก่อสร้างจริงของอาคารเก็บไว้) ว่าพื้นห้องทุกห้องมีฉนวนรองพื้นไหม ถ้ามีก็จะลดเสียงเดินด้วยส้นเท้าได้มาก รวมถึงการที่โครงการใช้วัสดุพื้นเป็นพวกลามิเนต (แผ่นไม้อัดแปะกระดาษลายไม้) หรือพวกกระเบื้องยาง แทนกระเบื้องที่เป็นหิน หรือแกรนิตโต้ ก็สามารถลดเสียงเดินด้วยส้นเท้าลงได้มากเช่นกัน

5. ตรวจสอบวัสดุฝ้าห้อง และหลอดไฟ ตรวจสอบว่าฝ้ามีฉนวนหรือไม่ และ Downlight มีมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมีมาก เสียงก็จะยิ่งผ่านเข้ามาจากชั้นบนได้มาก (บางโครงการไม่มีฝ้า แต่คนอาจจะสับสนเพราะเรียบขาวเหมือนกัน ให้ตรวจสอบโดยการใช้ไม้เคาะเบาๆที่เพดาน ถ้าเสียงก้องแสดงว่ามีฝ้า)

6. ตรวจสอบผนังกั้นห้องว่าเป็นผนัง 2 ชั้นหรือไม่ โดยการสอบถามนิติ หรือช่างอาคารเหมือนเดิม ผนัง 2 ชั้นจะกันเสียงจากห้องข้างๆได้ดีกว่าผนังชั้นเดียวถึง 2 เท่า

7. เปิด-ปิดน้ำทุกแหล่งจ่ายน้ำสักจุดละ 2-3 ที เพื่อตรวจสอบว่าระบบท่อน้ำอาคารออกแบบให้มีการป้องกัน Water Hammer หรือไม่ กล่าวคือแหล่งจ่ายน้ำที่ถูกเปิดอยู่นั้น จะมีแรงดันที่ทำให้น้ำไหลออกมา แล้วถ้าเกิดว่าเราปิดน้ำ จะทำให้แรงดันน้ำในท่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ท่อต่างๆเกิดการสั่น หรือกระตุก ซึ่งศัพท์ทางการเราจะเรียกมันว่า Water hammer ลองหาใน youtube ได้

8. ตรวจสอบว่าห้องติดกับลานจอดรถขนาดใหญ่หรือไม่ เนื่องจากมันจะมีคนบางประเภทที่ชอบแต่งรถให้ท่อดัง (โดยเฉพาะรถเก่าๆที่ไปทำท่อให้เสียงทุ้มๆ หนัก หรือบิ๊กไบค์ custom) เวลาสตาร์ทรถเช้าตรู่ หรือขับกลับมาจากข้างนอกดึกๆ เสียงมันจะดังมาก คอนโดบางที่ถึงกับกระจกสั่นกันเลยทีเดียว

9. ซื้อ/เช่า ห้องมุม หรือห้อง 1 bedroom คอนโดจะมีพวกห้องที่มันอยู่ตามมุมอาคารซึ่งทำให้ห้องนอนของเราจะไม่ติดกับห้องของใคร ซึ่งก็ถือว่าช่วยลดเสียงได้มาก (แต่บางโครงการห้องมุมดันหันเตียนอนไปฝั่งห้องคนอื่นซะงั้น เช็คดีๆ) หรือห้อง 1 bedroom ที่จะมีประตูกั้นห้องนอนอีกที ก็จะช่วยกันเสียงจากโถงทางเดินได้มากพอสมควร

ความเข้าใจผิดที่หลายคนมักจะมีต่อเรื่องของเสียง

1. พื้นห้องบาง : สมัยนี้พื้นอาคารที่เป็นลักษณะเหมือนๆกันทุกๆชั้น (คืออาคารไม่ได้มีรูปทรงแปลกๆเหมือนพวกห้าง) จะใช้ระบบพื้นเป็นแบบ Post tension ซึ่งมันจะทำให้พื้นนั้นบาง (ส่วนใหญ่จะมีความหนาอยู่ที่ประมาณ 20-30 ซม.) ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมากๆอยู่แล้ว และไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเสียงสะเทือนจากห้องข้างบน แต่เป็นวัสดุตกแต่งภายในต่างหากที่ไม่ได้คุณภาพ

2. เสียงเคาะจากห้องข้างบน : บางครั้งอาจจะไม่ใช่เสียงคนก็ได้ ไม่ใช่เสียงจากผีนะครับ หมายถึงพวกท่อ PVC ตามห้องต่างๆที่เวลาเราเปิด-ปิดน้ำต่างหาก (ดูสาเหตุในข้อ 7)

3. เสียงตอนกลางวัน-กลางคืนดังเท่ากัน อันนี้ไม่จริง มีการทดลองออกมาแล้วว่าคลื่นเสียงจะเดินทางได้ดีในสภาพอากาศที่เย็นกว่า และไกลกว่าในตอนกลางคืน กล่าวคือเสียงอะไรในตอนกลางวันที่ดังอยู่แล้ว ตอนกลางคืนจะดังยิ่งกว่า
ประมาณนี้ครับ ใครมีอะไรเพิ่มเติม สามารถช่วยเสริมได้เลยนะครับ เข้าใจว่าหลายๆคนก็คงจะเป็นแบบผม คือมีเสียงนิดหน่อยก็นอนไม่ได้แล้ว ดังนั้นเราควรช่วยเหลือกันให้ทั้งคนที่ทนเสียงดังไม่ได้ หรือชอบทำเสียงดัง ให้รู้ถึงธรรมชาติของเสียงรบกวนภายในที่พักอาศัยกันสักนิด และมีความเกรงใจกันและกัน แค่นี้ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้แล้วครับ

ขอบคุณครับ

เพี้ยนไม่อยากจะเล่า
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่