[รีวิว] 4Kings 2 - ดราม่าน้ำตาคลอ มากกว่าแค่ตีกัน ทางเลือกที่ไร้ตัวเลือกของคนชั้นล่างสุด

หลังจากความสำเร็จของ “4Kings อาชีวะยุค 90s” เมื่อสองปีที่แล้ว ที่นำเรื่องราวปัญหาสังคมของวัยรุ่นกลุ่มนึงมาตีแผ่ จนเรียกคำชื่นชมได้อย่างล้นหลาม แม้จะตัวภาพยนตร์จะยังไม่ได้อยู่ในจุดที่สมบูรณ์แบบ และมีเนื้อหาบางส่วนที่ยังไม่ได้เล่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของ 4Kings ยังคงครุกรุ่นอยู่ตลอดนับ ตั้งแต่วันที่ภาคแรกเข้าฉายมาจนถึงการเข้าฉายของภาคสองนี้ ทั้งในส่วนที่อยากเห็นภาคต่อและในส่วนที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีภาคต่อเพราะกลัวจะเป็นการยั่วยุบรรดาเด็กช่างให้เลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง (ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน)

ใน 4Kings 2 ได้ขยับไปเล่าเรื่องราวในฝั่งของกนกอาชีวะและช่างกลบูรณพนธ์ ที่เคยมีบทบาทเล็กๆ ในภาคแรก เรื่องเกิดขึ้นเมื่อ “ตุ้มเม้ง กนก” (ท็อป-ทศพล หมายสุข) ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส “บ่าง กนก” (แหลม-สมพล รุ่งพาณิชย์) และพรรคพวกจึงมุ่งเป้าไปที่คู่อริต่างสถาบัน ทางฝั่งบูรณพนธ์ นำโดย “รก บุรณพนธ์” (จี๋-สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร) และ “เอก บุรณพนธ์” (ทู-สิราษฎร์ อินทรโชติ) ที่ก็รอวันจะสะสางความแค้นอยู่เช่นกัน แต่นอกจากเด็กช่างทั้งสองสถาบันยังมีตัวอันตรายอย่าง “ยาท เด็กบ้าน” (บิ๊ก-ดี เจอร์ราร์ด) ที่รอจะขย่ำเหยื่อจากเงามืดด้วยความแค้นส่วนตัวบางอย่างเช่นกัน

เห็นได้ชัดว่าตัวผู้กำกับพุฒิพงษ์ นาคทอง ได้รับเอาคำติชมในภาคแรกมาปรับใช้กับงานชิ้นล่าสุดของเขา สิ่งไหนที่ทำได้ดีอยู่แล้วก็เก็บไว้ สิ่งไหนไม่เข้าท่าก็แก้ไขปรับปรุง ผลคือ 4Kings 2 มีความเต็มอิ่มมากขึ้น เข้มข้นมากขึ้น และสมบูรณ์แบบมากขึ้นของทุกองค์ประกอบในภาพยนตร์ เชื่อว่าหากใครตราตรึงใจกับเรื่องราวของดาและบิลลี่ในภาคแรกแล้ว เรื่องราวของบ่างและรกก็พร้อมจะพาให้เราเดินทางสู่โลกสีดำของพวกเขาที่ดูรุนแรงขึ้นเป็นเท่าตัว

การเล่าเรื่องที่ถูกขัดเกลามากขึ้นมีผลอย่างมากที่ทำให้ 4Kings 2 สามารถถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของภาพยนตร์ที่มีคุณภาพได้อย่างเต็มปาก เพราะหากมองย้อนกลับไปยังภาคแรกในส่วนของการเล่าเรื่องนั้น ยังมีความไม่ต่อเนื่องไหลลื่นได้เท่าที่ควรนัก และยังรวมไปถึงในส่วนของบทพูดที่ต้องบอกว่า แม้จะเต็มไปด้วยคำหยาบและดูเหมือนจะมีการด้นสดอยู่พอสมควร แต่ภายใต้การด้นสดนั้นก็ยังมีคำที่เป็นแก่นของเรื่องอยู่ หรือบทพูดที่ฟังดูแปลกๆ ไม่เป็นธรรมชาติ ในภาคนี้ก็ถูกขัดออกจนแทบไม่เหลือแล้วเช่นกัน

แม้สาระสำคัญที่ตัวผู้กำกับต้องการส่งมาให้กับผู้ชมจะยังไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก (เรื่องผลของการกระทำจากความเชื่อผิดๆ) แต่ด้วยการเพิ่มความรุนแรงเข้ามาชนิดที่ว่าแทบจะต้องปิดตาหรือเบือนหน้าหนี้ก็สร้างความรู้สึกกดดันและอันตรายได้มากกว่า และสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องคอยระแวงหน้าระแวงหลังตลอดเวลา ทำพลาดไปก็อาจจะจบลงที่พิการหรือเสียชีวิตได้

ตัวภาพยนตร์ให้เวลากับสามตัวละครนำของเรื่องอย่าง บ่าง รก และยาท เพื่อเข้าไปสำรวจเรื่องราวเบื้องหลังของตัวละคร และเพื่อตอบคำถามว่าอะไรที่ทำให้พวกเขามีความคิดที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ ความอบอุ่นในครอบครัว ฐานะทางการเงิน สภาพสังคม สถานศึกษา หรือแท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกันหมด เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน หรือท้ายที่สุดเป็นตัวของพวกเขาเองที่เป็นคนตัดสินใจเลือกทางเดินนี้เองกันแน่ (ไม่มีใครบังคับให้ทำสักหน่อย)

มิติที่ซับซ้อนของตัวละครก็ต้องการยอดฝีมือมาถ่ายทอดเช่นกัน และน่าแปลกที่ตัวนำเรื่องทั้งภาคแรกและภาคนี้เอง กลับไม่ใช้บริการนักแสดงอาชีพ แต่กลับเป็นนักร้องที่ไม่เคยผ่านผลงานการแสดงมาก่อน แต่ แหลม สมพล ก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า เขาสามารถสยบทุกคำครหาได้ด้วยฝีมือทางการแสดงที่น่าจับตามองที่เป็นผลมาจากความพยายามและความทุ่มเท สีหน้าและแววตาที่ดูน่ากลัวและหวาดกลัวไปพร้อมๆ กันของบ่าง ยิ่งทำให้ผู้ชมเลือกไม่ถูกว่าจะให้กำลังใจเขาหรือจะดูแคลนเขาดี ฉากการปะทะอารมณ์กับบุ้ง (ทราย-อินทิรา เจริญปุระ) พี่สาวของเขาเป็นจังหวะที่แสดงศักยภาพของแหลมออกมาได้มากที่สุดฉากนึง (ลำบากใจแทนเวทีประกาศรางวัล)

ประเด็นเรื่องความอบอุ่นในครอบครัวถูกแสดงผ่านตัวของละครของรก ซึ่งถูกเล่าขนานไปกับเรื่องของบ่าง เป็นการพยายามบอกเราว่า ฐานะหรือเรื่องเงินก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ผลิตเด็กหัวรุนแรงออกมาสู่สังคม จี๋ สุทธิรักษ์ กับบทบาทวัยรุ่นพ่อแม่ไม่รัก สามารถถ่ายทอดตัวละครนี้ออกมาได้อย่างน่าเห็นใจ ไม่ต่างจากบ่างที่เอาความรุนแรงเข้าข่มเพื่อปิดบังความเปราะบางข้างใน รกจึงเป็นตัวละครที่สำคัญอีกคนหนึ่งของเรื่อง

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้กับตัวละครที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า นี่คือ นี่คือโจ๊กเกอร์เมืองไทย แม้เราอาจไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบเขากับใคร แต่การแสดงของ บิ๊ก-ดี เจอร์ราร์ด ในบทยาท เด็กบ้าน ก็บอกกับเราได้ถึงศักยภาพของเขาได้เป็นอย่างดี เริ่มต้นจากการมีบทบาทไม่มากนักแต่เป็นที่จดจำในภาคแรก สู่การขยายเรื่องราวเป็นชิ้นเป็นอัน มีการเพิ่มภูมิหลัง มิติด้านต่างๆ เพื่อบอกกับเราเช่นกันว่านี่เป็นผลผลิตจากสังคมอันเลวร้าย (แม้ว่าจะทำให้ความดิบเถื่อนของเขาลดลงไป แต่ก็คุ้มค่า) การสร้างสองบุคลิกขึ้นมารับมือปัญหาของยาท ไม่แปลกถ้าเขาจะได้รับรางวัลด้านการแสดงติดไม้ติดมือไปในปีนี้

นอกจากนั้นชะตากรรมของ ตุ้มเม้ง กนก ก็ส่งผลต่ออารมณ์และเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่องที่น่าหดหู่ แม้จะไม่ได้เป็นตัวละครหลัก แต่ท็อป ทศพล ก็ส่งพลังทางการแสดงได้อย่างน่าจดจำ ในขณะที่ชื่อของ ทราย เจริญปุระ ก็สมควรถูกพูดถึงเช่นกัน เพราะในขณะที่ความชายแท้ของเรื่องทำให้ตัวละครหญิงแทบไม่มีบทบาท แต่หากยังจำกันได้ในภาคแรกมี สุกัญญา มิเกล ไว้การปลอบประโลมความว้าวุ่นในเรื่อง ในครั้งนี้ทราย เจริญปุระ ก็เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องได้อย่างมีพลัง จึงพูดได้เต็มปากว่าพลังทางการแสดงของนักแสดงในเรื่องเป็นส่วนสำคัญจริงๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ (ไม่เว้นแต่ตัวละครแวดล้อมต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นนักแสดงทั้งนั้น)


อีกเสน่ห์ของ 4Kings 2 ด้วยความที่เป็นนักเรียนภาคกลางคืน ฉากกลางคืนจึงค่อนข้างเยอะ ด้วยคุณภาพและความทุ่มเทของทีมงาน เราจึงได้เห็นฉากสวยๆ หลายฉาก ถูกถ่ายทอดออกมาในธีมนีโอ-นัวร์ (Neo-Noir) ซึ่งก็เป็นอีกจุดที่ช่วยยกระดับตัวภาพยนตร์ขึ้นมา รวมทั้งการเซ็ตให้ตัวเรื่องอยู่ในยุคปี พ.ศ. 2540 ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างในยุคนั้น ทั้งเพลง สถานที่ ชื่อบุคคลดัง และก็ไม่ใช่ว่าจะเล่าเรื่องเครียดๆ อย่างเดียว ตามสไตล์ของผู้กำกับพุฒิพงษ์ ยังแอบใส่ฉากสบายๆ นั่งเล่นกีต้าร์เข้ามา เพื่อผ่อนคลาย แต่ก็ยังแอบเสียดสีการเมืองยุคปัจจุบันอยู่ในที

สรุป 4Kings 2 เป็นการยกระดับทุกอย่างขึ้นมาจากภาคแรกได้อย่างงดงาม เป็นความรู้สึกที่เราไม่ต้องนั่งเอาใจช่วยว่าตัวภาพยนตร์จะดี จะไปรอดรึเปล่า แต่เป็นความรู้สึกที่ปล่อยใจรับชมได้อย่างไม่ต้องติดขัดอะไร ในระดับเดียวกันกับภาพยนตร์คุณภาพเรื่องอื่นๆ (เนรมิตคงต้องทาบทามผู้กำกับคนนี้ไปทำงานให้กับเรื่องอื่นบ้างนะ) และขอย้ำอีกครั้งว่าเรื่องราวของ 4King ไม่ใช่การเชิดชูเด็กช่างแต่อย่างใด

Story Decoder
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่