เราใช้ยศ "ว่าที่ร้อยตรี" เมื่อไรดี

เราใช้ยศ "ว่าที่ร้อยตรี" เมื่อไรดี
โดย พันโท ฐิติพันธ์ ฐิติพานิชยางกูร (ต.ค.2564)

บทความนี้  ผู้เขียนได้มีข้อสังเกตจากคำถามจากน้องๆ ที่จบ ร.ด.ปี 5 ว่า “เราใช้ ยศว่าที่ร้อยตรี เมื่อไรดี”  ซึ่งผู้เขียนก็จบ รด. ปี 5 เช่นกัน (ตามคำสั่งที่ กห. 857/2544 ลง 7 พ.ย.44)  และเชื่อหรือไม่  ตั้งแต่ปี 2544  ผู้เขียนไม่เคยใช้ยศในบัตรประชาชน หรือทะเบียนราษฎร์ เลยสักครั้งเดียว แม้ว่าปัจจุบันจะเป็นข้าราชการทหาร ในชั้นยศ “พันโท” แล้วก็ตาม   มีข้อคิดที่อยากแบ่งปันให้รุ่นน้องๆ ได้พิจารณา  น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
เพราะอะไร ทำไมผู้เขียนจึงไม่ไปเปลี่ยนคำนำหน้า ไม่ภูมิใจหรือที่จบ รด.ปี 5 ขอตอบหนักแน่นว่า ไม่ใช่อย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะรัก เพราะศรัทธาอย่างแก่กล้าต่างหาก ที่อยากให้ยศของ รด. มีคุณค่า มีราคาอย่างแท้จริง จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่า "ยศ" จะใช้ต่อเมื่อมี "ตำแหน่ง" ที่สัมพันธ์กัน หรือใช้ในอาชีพการงานที่ดูดี ดูเหมาะสมกับยศที่ได้มา  เช่น ปลัดอำเภอ  นายอำเภอ ผู้ว่าจังหวัด  ผอ.โรงเรียน หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ  หรือถ้าเป็นเอกชน ก็จะต้องดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการ หรือกรรมการ  เป็นต้น  

ผู้เขียนมีคติส่วนตัวว่า  “ยศ”  เป็นเครื่องหมายแสดงออกถึงความ “พิเศษ”  ในตัวเรา  ที่แตกต่างจากคนทั่วไป  และหากจะใช้ยศ ว่าที่ ร.ต. แล้ว จะต้องเข้าใจในเรื่อง  “โอกาส กาลเทศะ  เกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรี  ความรู้  และความรับผิดชอบ”  
1. โอกาส กาลเทศะ เกียรติยศ เกียรติศักดิ์ ศักดิ์ศรี
บางโอกาสการใช้ “ว่าที่ ร.ต.”  อาจไม่เหมาะสมกับบางตำแหน่งบางอาชีพ  และก็เป็นการยากที่จะยกตัวอย่างให้เข้าใจ  ว่าบางอาชีพ บางตำแหน่งใด ที่ไม่ควรใช้ว่าที่ยศ  ในที่สาธารณะทั่วไป ผู้เขียนจึงขอฝากให้รุ่นน้องๆ ที่จบ รด.ปี 5 ไปพิจารณาความเหมาะสมกันให้ถี่ถ้วนรอบ ว่าหากตำแหน่งที่มีคุณวุฒิน้อยกว่าสัญญาบัตรยศแล้วนั้น เราก็ไม่ควรไปแสดงยศก็ได้ เพื่อรักษาเกียรติยศในสมฐานะ
2.ความรู้
ผู้ที่เป็นทหาร มียศแล้ว คุณลักษณะทั่วไป  ชาวบ้านมองถึงความมีวินัย  ความกล้าหาญ เคารพกฎกติกา และมีภาวะผู้นำ  ดังนั้น  ทุกครั้งที่สวมเครื่องแบบในวันสำคัญต่างๆ หรือ ใช้ยศในที่ประชุม หรือ ใช้ต่อสาธารณชน หรือใช้ในอาชีพการงานของตนเองแล้ว  อย่าทิ้งความรู้วิชาทหารที่เคยเรียนมา  ต้องเอามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะต้องใฝ่หาความรู้  อัพเดทข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอๆ  เพื่อเป็นกำลังพลสำรองที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง  เป็นผลดีที่หน่วยงานหรือบริษัทเอกชนจะให้การสนับสนุน ให้ฝึกเลื่อนยศทุกวงรอบ  เช่น  มีความรู้ทางการระดมสรรพกำลัง  หรือจิตอาสา  ก็สามารถประยุกต์ใช้ในเรื่อง CSR ของบริษัทก็ได้ การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
 
3. ความรับผิดชอบ
ผู้เขียนชอบติดตามข่าวสาร กสร์ ว่าที่ ร.ต. - ว่าที่ พ.ต.  ที่ได้ประกอบคุณงามความดี มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี  ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม   และก็ไม่สบายใจเสมอเมื่อได้ข่าว กสร. ไปทำผิดต่าง ๆ  รวมถึงชอบเอายศไปอวดสาวให้ตัวเองดูเท่ หรือหลอกลวงชาวบ้าน  เช่น  ข่าว ว่าที่ ร.ต.  แต่งกายเป็น  ร.ท.  (อ้างอิงจากข่าว  https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000072097 )  มีประโยคหนึ่งที่ว่า “ทั้งที่เป็นเพียงนายทหารสัญญาบัตรกองหนุนเท่านั้น”  เพียงเท่านี้ก็รับรู้ความรู้สึกไปในความหมายว่าไม่ให้ค่า ไม่ให้ราคา จากสายตาคนทั่วไปแล้ว  
 
ผู้เขียนในฐานะรุ่นพี่อยากฝากให้น้องๆ  กสร. ทุกนาย จะต้องมีความผิดชอบต่อตนเอง  ต่อสังคม  อย่าได้กระทำความผิดอันใดที่ทำให้เสื่อมเสียแก่วงการ กสร. โดยเด็ดขาดอีกเลย  ไม่ควรแต่งกายที่ไม่เรียบร้อย หรือโชว์อวดอ้างในที่อโคจร เช่น บาร์ คาเฟ่  อาบอบนวด   ปัจจุบันยังมีพี่น้องชาว กสร. อีกหลายท่านกำลังทำชื่อเสียง เพื่อให้  กสร.จะได้มีบทบาทสำคัญในกระทรวงกลาโหม  ให้ประชาชนทั่วไปมีความนับหน้าถือตา   อย่างน้อย  เป้าหมายของชาว กสร.  อยากได้หลักสูตรชั้นนายพัน (การฝึกเลื่อนยศ  ว่าที่ พ.ต.)  กลับมาใช่หรือไม่  ในความเห็นของผู้เขียน  สามารถทำได้แน่นอน แนวโน้มการปฏิรูปกองทัพ  การพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ  และการลดตำแหน่งบรรจุของนายทหารประจำการ จะเกิดขึ้นในอนาคต  การฝึกกำลังพลสำรองจะมีความสำคัญเพื่อแสดงศักย์ความพร้อมระดมพล  ทุกอย่างเป็นไปได้ จึงขอให้พวกเราต้องช่วยกัน ...

ด้วยความห่วงใย จาก  นศท. รุ่นที่  47/2543
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
นานาจิตตังครับ บางคนก็ออกแนวอินกับยศ ว่าที่ ไปหน่อย จนเกินงาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่