Nataraja: Behind the scenes - ทำความรู้จักรางวัลนาฏราช

ทุก ๆ ปี คอละครต่างเฝ้ารอชมการประกาศผลนาฏราช [ Nataraja Awards ] ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงกลางปี ถึงปลายปี และปีนี้ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการลงคะแนนคัดเลือก

ถึงแม้รางวัลนี้ จะมีหลากหลายประเภท ทั้งประเภทวิทยุ ประเภทรายการโทรทัศน์ ประเภทซีรีส์แพล็ตฟอร์มออนไลน์ แต่หนึ่งไฮไลท์ของรางวัลนี้คือ รางวัลทางด้านละครโทรทัศน์ เพราะอุตสาหกรรมละครในบ้านเราได้ก้าวหน้าขึ้นมาก ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และด้วยการตัดสินที่มาจากบุคคลในวงการ จึงการันตีได้ว่า ผลงานชิ้นนั้นเป็นที่ยอมรับในสังคมวิชาชีพ

และเพื่อเป็นการต้อนรับรางวัลนาฏราช ครั้งที่ ๑๔ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ จึงเกิดเป็นกระทู้นี้ ซึ่งรวบรวมทุกแง่มุมเกี่ยวกับนาฏราชมาบอกต่อให้แก่ทุกคน

สิ่งแรกที่ควรรู้เกี่ยวกับรางวัลนี้คือ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่มาจากการโหวต ไม่ใช่รางวัลที่จัดตั้งกรรมการขึ้นเพื่อตัดสินโดยเฉพาะ จึงกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่ง รางวัลนาฏราช จึงมีลักษณะเป็นรางวัลกระแส รางวัลมหาชน ผลงานไหนจะได้รับรางวัลไป พื้นฐานควรมีการพูดถึงในสังคมพอสมควร

แต่ถึงแม้จะเป็นรางวัลที่มาจากการโหวต แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปสามารถโหวตได้ แต่ผู้ที่มีสิทธิในการโหวตคือ ผู้ที่เป็นสมาชิกของ " สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ "
[ Radio-television broadcasting professional federation : RTBPF ]

RTBPF คืออะไร ?

RTBPF คือสมาคมเอกชนที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบอาชีพ และวิชาชีพด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ได้เล็งเห็นว่าการมอบรางวัลที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มิได้มีรางวัลใดที่ผู้ตัดสินเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์อย่างแท้จริง ซึ่งจะสามารถนำทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สั่งสมจากประสบการณ์จริงในวิชาชีพ มาประกอบการคัดเลือก อันจะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ให้สังคมได้รับทราบ และเป็นการแสดงศักยภาพของผู้ที่ประกอบอาชีพและวิชาชีพด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์อย่างแท้จริง จึงได้จัดงานประกาศรางวัลนาฏราชให้กับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการตัดสินรางวัลโดยผู้ประกอบการวิชาชีพขึ้น

สมาชิกของ RTBPF

สมาชิกของ RTBPF ทั้งหมดมีจำนวนกว่า 650 ท่าน แบ่งเป็นสมาชิกสาขาต่าง ๆ ทั้งวิทยุ รายการโทรทัศน์ แพล็ตฟอร์มออนไลน์ และละครโทรทัศน์ ในสาขาของละครโทรทัศน์นั้น ก็มีมาจากหลากหลายสาขาอาชีพทั้งผู้จัดละคร ผู้กำกับการแสดง นักแสดง ผู้บริหาร ผู้ตัดต่อ ช่างภาพ ฝ่ายศิลป์ ช่างออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้เขียนบท สาขาเทคนิคพิเศษ นักแต่งเพลง ฯลฯ และผู้ทรงคุณวุฒิในวงการ โดยสมาชิกของ RTBPF จะมีเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เพราะทางสมาพันธ์จะมีคำเชิญถึงผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ที่มีผลงานอันโดดเด่นเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกของ RTBPF อีกเหตุหนึ่งคือผู้ที่ได้รับรางวัลและผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงจะกลายเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ จึงมีแนวโน้มที่จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สิทธิ์ในการลงคะแนน


สมาชิกของ RTBPF ทุกท่านมีสิทธิ์ในการลงคะแนนโหวตตามความสมควร โดยผู้มีสิทธิ์โหวตทุกท่านจะมีสิทธิ์โหวตทุกรางวัลในประเภทที่ท่านนั้นเกี่ยวข้อง โดยสมาชิกที่ทำการลงคะแนนในรอบคัดเลือก และรอบตัดสินจะไม่เท่ากัน ซึ่งทางสมาพันธ์จะคัดเลือกตามความเหมาะสม

โดยในแต่ละปี ทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ หรือบริษัทเจ้าของผลงาน จะทำการส่งรายชื่อผลงานเพื่อให้ทางสมาพันธ์พิจารณา โดยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ ๘,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ ต่อรายชื่อ เม็ดเงินดังกล่าวจะมาช่วยในการสนับสนุนสมาพันธ์ ฯ และใช้ในงานประกาศรางวัลนาฏราช

จากนั้น จะมีการลงคะแนนเสียงรอบแรกเพื่อคัดเลือกผลงานเข้าสู่รอบ Final ประมาณ ๕ - ๖ ผลงาน โดยการลงคะแนนจะมาจากสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับประเภทนั้น ๆ

ท้ายที่สุด จะมีการลงคะแนนเสียงรอบ Final เพื่อหาผู้ชนะ โดยการลงคะแนนจะมาจากสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับประเภทนั้น ๆ

หลักเกณฑ์ในการลงคะแนน

แน่นอน เพื่อรักษาคุณภาพของรางวัล ทางสมาพันธ์ ฯ จึงได้กำหนดเกณฑ์เบื้องต้นในการประกอบการพิจารณาการตัดสินรางวัล โดยผู้มีสิทธิ์โหวตทุกท่านไม่สามารถโหวตให้กับผลงานที่มาจากสถานีโทรทัศน์หรือบริษัทที่ตนเองสังกัดอยู่ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ครั้งแรกในงานประกาศผลรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 9 ซึ่งในปีนั้นเอง ในแง่ของผลรางวัลจึงออกมาค่อนข้างที่จะแหวกแนวจากการประกาศผลครั้งก่อน ๆเนื่องจากรางวัลใหญ่สุดอย่าง ละครยอดเยี่ยม ได้มีการพลัดเปลี่ยนหลังจากที่ช่อง 3 ได้คว้ามาอย่างเนิ่นนาน สู่ช่องดิจิตอลน้องเล็กอย่าง GMM 25 อีกทั้งยังคว้าไปอีก 2 รางวัลหลัก คือ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และทีมนักแสดงยอดเยี่ยม และยังมีผลงานจากทางช่องวัน 31 ที่ยังสามารถคว้าไปครองได้หลายรางวัล เรื่อยมาจนถึงการประกาศผลรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 10 ที่ช่องวัน 31 สามารถคว้ารางวัลทางด้านละครไปได้สูงสุดถึง 7 รางวัล พร้อมด้วยช่องใหม่ ๆ อีกมากมาย อาทิ True4u ที่คว้านาฏราชด้านละครไปครองได้สำเร็จ หลักจากที่เคยเป็นเจ้าภาพในนาฏราช ครั้งที่ 6 และ GMM 25 ซึ่งผลจากนาฏราชครั้งที่ 9 และครั้งที่ 10 ทำให้มีบุคลากรจากช่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ของสมาพันธ์ ฯ ทำให้มีแรงมากพอที่จะโหวตให้ช่อง 3 กลับมาชนะอย่างขาดลอยในนาฏราช ครั้งที่ 11

การประกาศผลรางวัลนาฏราช


ท้ายที่สุด เมื่อการลงคะแนนเสียงรอบ Final สิ้นสุด และมีการคัดกรองประเมินผลเรียบร้อยแล้ว ทางสมาพันธ์ ฯ จะดำเนินการเพื่อจัดงานประกาศผลรางวัลนาฏราช โดยจะทำการออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี เพื่อการเข้าถึงของประชาชนทุก ๆ ท่านด้วยความโปร่งใส โดยจะมีการหมุนเหวียนสถานีฯ ที่ได้รับหน้าที่ถ่ายทอดสดกันเรื่อยมา ดังต่อไปนี้

📌 นาฏราช ครั้งที่ ๑ โดย ไทยทีวีสีช่อง ๓
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๒ โดย ช่อง ๕
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๓ โดย ช่อง ๗
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๔ โดย ช่อง ๙
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๕ โดย ไทยทีวีสีช่อง ๓
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๖ โดย ช่องทรูโฟร์ยู
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๗ โดย ช่องพีพีทีวี เอชดี
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๘ โดย ช่อง ๙
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๙ โดย ไทยทีวีสีช่อง ๓
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๑๐ โดย ช่องวัน 31
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๑๑ โดย ไทยทีวีสีช่อง ๓
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๑๒ โดย ช่องเวิร์คพอยท์
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๑๓ โดย สมาพันธ์ ฯ
📌 นาฏราช ครั้งที่ ๑๔ โดย ?

สถิติที่น่าสนใจด้านละคร ฯ


กว่าทศวรรษที่นาฏราชอยู่คู่วงการบันเทิงไทย ได้สร้างสถิติมากมายให้น่าจดจำ วันนี้ทางเราขอยกตัวอย่างมาคร่าว ๆ เช่น นักแสดงที่ได้รับรางวัลตอนที่อายุน้อยที่สุด ได้แก่ ณเดชน์ คูกิมิยะ สถิตินี้เกิดขึ้นในการประกาศผลรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 3 ซึ่งได้รับรางวัลจากละครเรื่อง เกมร้ายเกมรัก ในตอนนั้นหนุ่มณเดชน์อายุได้เพียง 20 ปี ในด้านของการถูกเสนอเข้าชิง นักแสดงที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงที่อายุน้อยที่สุด คือ น้องยอร์ช ยงศิลป์ วงศ์พนิตนนท์ ซึ่งเข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากละครเรื่องทองเนื้อเก้า ในขณะที่อายุเพียง 12 ขวบ ผิดแปลกกับนักแสดงบางท่าน ที่เล่นละครเกือบทั้งชีวิต ก็เพิ่งได้เข้าชิงเหมือนท่านอื่น ๆ เช่น สถิตินักแสดงที่ได้รับรางวัลที่มีอายุมากที่สุด คือ อำภา ภูษิต จากละคร ทองเนื้อเก้า ที่ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมตอนอายุ 55 ปี และนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงที่มีอายุมากที่สุด คือ พ่ออี๊ด สุประวัติ จากละคร ริมฝั่งน้ำ ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ซึ่งขณะนั้นพ่ออี๊ดอายุถึง 81 ปี

ในด้านของการเข้าชิง นักแสดงที่มีชื่อเข้าชิงมากที่สุดจากสถิตินาฏราช 13 ครั้งที่ผ่านมา เธอเข้าชิงไปถึง8 ครั้ง คือ ณเดชน์ คูกิมิยะ เรียกได้ว่าเป็นลูกรักนาฏราชก็ไม่แปลก และอีกสถิติที่หนุ่มณเดชน์คว้าไปครองคือ นักแสดงที่ได้รับรางวัลนาฏราชมากที่สุด โดยเธอคว้านาฏราชไปครองได้ถึง 3 ตัว จากผลงาน เกมร้ายเกมรัก ธรณีนี่นี้ใครครอง และรอยรักหักเหลี่ยมตะวัน-รอยฝันตะวันเดือด และอีกท่านหนึ่งคือ ต่อธนภพ จากผลงาน พี่น้องลูกขนไก่ เลือดข้นคนจาง และขอเกิดใหม่ใกล้ๆเธอ เรียกได้ว่าปีไหนที่มีชื่อของเธอสองท่านเข้าชิง ผู้เข้าชิงท่านอื่น ๆ ก็ได้โปรดเตรียมใจรอไว้เลยนะคะ

ในด้านของผลงานละคร ละครที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากที่สุด สถิตินี้ตกเป็นของ ละครเรื่อง เรือนเสน่หา จากนาฏราช ครั้งที่ 5 ที่เข้าชิงถึง 13 รางวัล แต่กลับชวดทุกรางวัล และพิษสวาท จากนาฏราช ครั้งที่ 8 ที่เข้าชิงถึง 13 รางวัลเช่นเดียวกัน แต่ก็คว้ามาเพียง 1 รางวัลถ้วนเท่านั้น ! ซึ่งในปีนั้นต้องเจอคู่แข่งอย่าง นาคีเจ้าของสถิติละครที่ได้รับรางวัลมากที่สุดถึง 10 รางวัล จนเกิดเป็นกระแสดราม่าในเวลาต่อมา

กว่า 174 รางวัลทางด้านละครโทรทัศน์ อีกหนึ่งสถิติที่น่าเห็นใจคือ ช่องยักษ์ใหญ่อย่างช่อง 7 ที่เข้าชิงมาตั้งแต่นาฏราช ครั้งที่ 1 ลากยาวมาจนถึงนาฏราช ครั้งที่ 13 คว้ามาได้เพียง 2 รางวัล คือ รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม นาฏราช ครั้งที่ 7 และรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม นาฏราช ครั้งที่ 8 เห็นใจเขานะคะ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่กระทู้ : รางวัลนาฏราช: โมเมนต์ประทับใจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
https://pantip.com/topic/39058761?sc=O55YoRw

รางวัลคุณภาพ "นาฏราช ครั้งที่ 14"
ในปีนี้ ทางสมาพันธ์สมาคม ฯ ได้เชิญหน่วยงาน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการนิด้า ในการเข้ามาช่วยงานด้านเก็บข้อมูล ประมวลผล และจัดเก็บคัดสรรผลงานที่ผ่าน voter ของแต่ละกลุ่ม ให้เป็นมาตรฐานสากล และเที่ยงตรง และบริษัท จีเอ็ฟเค มาร์เก็ตไว้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำ จะดำเนินการเก็บรวบรวมคะแนนจาก voter ทุกท่าน อีกทั้งยังมีบริษัท PWC ประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของผลการลงคะแนน ซึ่งบริษัทนี้เป็นผู้ตรวจสอบผลคะแนนของรางวัลออสการ์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งการันตีถึงคุณภาพถึงผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้พอสมควร และอีกหนึ่งความพิเศษในปีนี้คือ มีการแยกรางวัลทางด้านละครโทรทัศน์เป็น 2 ประเภท คือ ละครโทรทัศน์ช่วง Prime Time ( 18.00-22.00 น. ) และละครโทรทัศน์ช่วง Non-Prime Time ( 22.00 น.เป็นต้นไป ) แล้วเจอกันเร็ว ๆ นี้นะคะ สำหรับ “ นาฏราช ครั้งที่ 14 “

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่