[รีวิว] ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (กรุงเทพฯ-บ้านหนองขาว-สังขละบุรี-อิต่องปิล็อก) 3 วัน 2 คืน


เส้นทาง : จากกรุงเทพมหานคร สู่พรมแดนไทยพม่า กาญจนบุรี
          “ความสนุกของการเดินทาง เรื่องราวมันอยู่ตรงกลาง ระหว่างทางที่เราเดิน”


ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน พวกเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สะท้อนวิถี สู่ชีวิตของชาวบ้านแบบประสบการณ์ตรง

          การเดินทางครั้งนี้หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นนั้นเริ่มมาจาก การที่อยากท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตของชาวบ้าน แต่ระยะทางต้องไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก เพราะพวกเรามีเวลาที่ค่อนข้างจะจำกัด อาจเนื่องด้วยเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี สมาชิกในกลุ่มจึงต้องเดินทางกลับต่างจังหวัด พวกเราจึงปักหมุดกันที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะที่นี่มีอะไรหลายๆอย่างที่ดึงดูดใจให้ไปลองค้นหาและสัมผัสดูสักครั้งในชีวิต

 

      เริ่มวันแรก 8 เมษายน 2566 พวกเรานัดรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัย และออกเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวตอนเวลา 7:30 น. โดยแบ่งสมาชิกเดินทางเป็น 4 คน ต่อ 1 คันรถ ระหว่างเดินทางออกจากกรุงเทพพวกเราได้แวะปั๊มน้ำมันเพื่อเตรียมรถให้พร้อมมุ่งหน้าสู่เส้นทางแห่งประสบการณ์ใหม่ในครั้งนี้ ระหว่างการเดินทางสู่กาญจนบุรีได้ผ่านสถานที่ที่น่าสนใจมากมาย แต่ ณ ที่นี้ขอละไว้ก่อนละกัน


          พวกเราไปถึงกาญจนบุรี เป็นเวลาประมาณ 10:00 น.ที่วัดอินทาราม บ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง ซึ่งในขณะนั้นได้เห็นการบวชนาคของชาวบ้านท้องที่พอดี ที่สำคัญคือไม่ใช่การบวชนาคแค่คนเดียวแต่เป็นการบวชถึงสามงาน!! นาคสามคน!! ยิ่งใหญ่อลังการดูน่าสนุก ที่นี่เราได้นัดวิทยากรมากความสามารถและเป็นชาวท้องถิ่นมาเป็นผู้นำในการท่องเที่ยว เพราะที่แห่งนี้มีเรื่องราวและวัฒนธรรมที่น่าสนใจรักษาไว้เป็นอย่างดี


          เริ่มจากการเดินทางโดยนั่งรถอีแต๋นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ที่พวกเรารู้สึกได้ว่าเเปลกตาเเละน่าสนใจมาก เพราะเมืองกรุงที่เราจากมาเเทบไม่มีรถเเบบนี้ให้เห็นเลย นอกจากนี้การได้นั่งรถอีเเต๋นยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนของชาวบ้าน เป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับพวกเขา อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์  มีพี่น้อยเป็นมัคคุเทศก์นำทางและอธิบายความเป็นมาขอหมู่บ้านแห่งนี้ และคุณลุงของพี่น้อย คือคนขับรถอีแต๋นพาพวกเราไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนบ้านหนองขาว โดยพี่น้อยได้กล่าวว่าชุมชนบ้านหนองขาวเป็นชุมชนที่คงรักษาความดั้งเดิมตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เเละเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชน ชาวบ้านทั้งหลายจึงช่วยกันสร้างที่เเห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เเบ่งปันเอกลักษณ์ ความงดงาม สู่สายตาของผู้มาเยือน ที่แรกที่พวกเราได้ไปคือ สถานที่ซึ่งใช้ทอผ้าขาวม้าร้อยสี แต่วันนั้นโชคร้ายที่วิทยากรประจำโรงทอผ้าไม่อยู่แต่ก็มีคุณป้าที่กำลังทอผ้าอยู่พอดีมาอธิบายให้เราได้ฟังจนเข้าใจถึงกระบวนการทอผ้าว่ากว่าจะได้มาสักผืนต้องผ่านอะไรมาบ้าง และผ้าแต่ละผืนชาวหนองขาวนั้นใช้ทำอะไรได้บ้าง ผ้าที่ทอออกมาชาวบ้านที่นี่จะใช้งานกันอย่างคุ้มค่าเลยที่เดียว ไม่ว่าจะใช้นุ่งตอนอาบน้ำ เช็ดหน้าตอนแปรงฟัน คาดที่เอวแทนเข็มขัด ใส่สิ่งของแทนกระเป๋าสะพานข้าง ม้วนทำเป็นหมวกใส่ยามออกแดดก็ได้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งเอามาพันทำเป็นผ้าโพกหัวแบบไอ้โม่ง เจาะรูที่บริเวณตา จมูก ปาก ก็สามารถใส่คลุมออกไปข้างนอกได้ ซึ่งพวกเรามองว่าที่เป็นเอกลักษณ์มากน่าจะมีแค่ที่นี่เลยทีเดียว


ถัดไปพวกเราได้ไปดูร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปผ้าขาวม้า ที่นั่นเจ้าของร้านให้พวกเราลองชิมน้ำตาลสดดู เพราะร้านแห่งนี้นอกจากขายผ้าแล้วยังเป็นคาเฟ่ขนาดย่อมด้วย น้ำตาลสดที่นั่นค่อนข้างหวานมากเลยทีเดียว 


จะเห็นได้ว่าผ้าขาวม้าร้อยสีคือหนึ่งในสินค้าเศรษฐกิจของผู้คนที่นี่ นักท่องเที่ยวมากมายซึ่งรวมถึงพวกเราได้อุดหนุนสินค้าเหล่านี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านไม่หยุดที่จะพัฒนาฝีมือเเละสืบสานความเป็นเอกลักษณ์ต่อไป
          จากนั้นพวกเรานั่งรถอีแต๋นไปดู วิธีการทำขนมตาลจากลูกตาลกันแบบสดๆเพราะที่นี่มีต้นตาลอยู่จำนวนมาก เป็นพืชเศรษฐกิจของหมู่บ้านนี้ ทำรายได้ให้กับชุมชนเป็นจำนวนมาก สภาพเเวดล้อมที่นี่นับได้ว่าค่อนข้างมีธรรมชาติรายล้อม


ทันทีที่ไปถึงลุงเมตเจ้าของบ้านก็ได้เเนะนำให้พวกเราลองชิมลูกตาลกันเเบบสดๆก่อน รสชาติค่อนข้างหวาน ฉ่ำน้ำ เเต่เปลือกเเกะค่อนข้างยาก


ถัดจากนั้นพวกเราได้ลองทำขนมตาลกันจริงๆ ซึ่งได้พี่เจี๊ยบเป็นวิทยากรคอยให้คำเเนะนำเเละบอกเล่าขั้นตอนต่างๆ


ในที่สุดขนมตาลที่เสร็จพร้อมทานก็สามารถนำออกมาอวดโฉมได้ ที่นี่ลูกตาลถือเป็นอาหารท้องถิ่นที่ต้องมาลิ้มรสให้ได้เลยทีเดียว


นอกจากนี้พวกเรายังได้ไปดูดงตาลจริงๆ ซึ่งบรรยากาศที่นั่นค่อนข้างผ่อนคลาย ลมเย็น มีเเต่พื้นที่สีเขียวของทุ่งนา คันนาปลูกต้นตาลไว้


ก่อนที่เราจะจากกันกับการเดินทางช่วงเเรกพี่น้อยได้เเนะนำร้านอาหารขึ้นชื่อของที่นั่น “ เคียงคันนา” ที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของทุ่งนาจริงๆ เเละที่นี่เองที่พวกเราได้ลองทำ “เเกงคั่วหัวตาล” หัวตาลจากบ้านลุงเมต เมนูนี้นับว่าเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้เลยทีเดียวของชาวบ้านหนองขาว


ถัดจากนั้นพวกเราก็มุ่งหน้าสู่สังขละบุรีจุดหมายปลายทางเเรกของพวกเรานั่นเอง ขณะที่เราออกเดินทางมาได้สักพักจู่ๆก็มีฝนตกลงมา แบบไม่ทันได้ตั้งตัว ทำให้พื้นถนนลื่น และมองทางยาก แต่ก็ยังมีความโชคดีที่ที่พักของเราอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เราอยู่มากนัก ซึ่งที่พักที่พวกเราได้ทำการจองเอาไว้คือ บี.โฮมสเตย์นั่นเอง


เมื่อถึงที่พักพวกเราก็ได้ขนของไปไว้ที่ห้องพัก ซึ่งห้องพักของเราจะแยกเป็น 2 ห้อง ห้องละ 4 คน หลังจากเก็บสัมภาระเสร็จพวกเราก็มาฟังคุณลุงอธิบายกฎของที่พักว่ามีอะไรบ้าง และแนะนำอาหารที่ควรลองที่ถนนคนเดิน พอลุงเเนะนำเสร็จสักพักฝนก็หยุดตกพวกเราจึงพากันออกไปเดินที่ถนนคนเดินสังขละบุรี


และหนึ่งในเมนูที่คุณลุงแนะนำพวกเรามาคือ หมูจุ่มพม่า เป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่เพราะไม่เคยเจออาหารแบบนี้มากก่อน แต่พอได้ลองกินดูเเล้วนั้นรสชาติอร่อยกว่าที่คิด โดยเฉพาะตัวน้ำซุปที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์มีที่นี่ที่เดียวเเน่นอน
และเราก็ได้ชมการแสดงเวทีที่จัดขึ้นโดยคนในชุมชน โดยเป็นการเเสดงของชาวบ้านในชุมชนทั้งเด็กเเละผู้ใหญ่ มีทั้งร้อง เล่น เต้น เเละการละคร ซึ่งเเต่ละอย่างเเตกต่างจากที่พวกเราเคยเห็นโดยสิ้นเชิง ภาพรวมจะมีทั้งการเเสดงของพม่า มอญ หรือผสมผสานทั้งสองอย่างซึ่งสะท้อนความมีเอกลักษณ์ของผู้คนที่นี่ “ เพราะที่เเห่งนี้เป็นดินเเดนที่หลอมรวมความเเตกต่างทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็น ไทย พม่า หรือมอญ ผสมผสานกันอย่างลงตัว เผยให้เห็นความสวยงามที่สอดเเทรกไว้ ”  หลังจากนั้นพวกเราก็พากันเดินกลับที่พัก เพื่อพักผ่อนเเละเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางต่อไปในวันพรุ่งนี้

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่