JJNY : 13 ปี 10 เมษา 53│เพื่อไทย แจงกระเป๋าเงินดิจิทัล│ฟ้องนายกฯ-หน่วยงาน เมินใช้กม.แก้ฝุ่น│ยธ.มะกันหาต้นตอเอกสารลับรั่ว

13 ปี 10 เมษา 53 สลายชุมนุมเสื้อแดง กระสุนนัดแรก สังหารคนขับตุ๊กตุ๊กวัย 23 ปี
https://www.matichon.co.th/politics/news_3920183
 
 
10 เมษายน 2553 วันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้การบังคับบัญชาของ “ศอฉ.” หรือ “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ
 
จากจุดเริ่มต้นคือการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง ที่เริ่มตั้งแต่ 12 มีนาคม จบลงในวันที่ 19 พฤษภาคมปีเดียวกัน ข้อเรียกร้องหลักคือ การเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา หลังจากดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม 2551

หลังชุมนุมราว 1 เดือน 10 เมษายน มีการสลายการชุมนุม โดยใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ยาวถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่มีการปะทะและเสียชีวิตจำนวนมากคือ ถนนดินสอและแยกคอกวัว
 
บ่ายวันนั้น กระสุนนัดแรกสังหาร นายเกรียงไกร คำน้อย คนขับตุ๊กตุ๊ก วัย 23 ปี ซึ่งถูกยิงได้รับบาดเจ็บที่สะพานมัฆวานฯ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ต่อมามีการไต่สวนการตายพบว่า “กระสุนมาจากฝั่งทหาร
 
ในช่วงค่ำปรากฏ “ชายชุดดำ” ยิงตอบโต้ทหาร ทำให้นายทหารเสียชีวิต 5 ราย ยอดรวมผู้เสียชีวิตในวันนั้นคือ ประชาชน 20 คน ทหาร 5 นาย (มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมภายหลังบางแหล่งระบุ 1 คน บางแหล่งระบุ 2 คน) หลังจากนั้นยังคงมีการชุมนุมต่อเนื่องไปอีกและการสลายการชุมนุมมีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 13-19 พ.ค. ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะแยกราชประสงค์ รวมแล้วมีประชาชนเสียชีวิตเกือบ 70 ราย
 
เมื่อรวมความสูญเสียระหว่าง 10 เมษายน และ 13-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งสองเหตุการณ์ “ขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่” มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 คน
 
ปกรายงานที่ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 ระบุข้อมูลว่า
 
• 3,000 คือกระสุนสำหรับการซุ่มยิงที่กองทัพเบิกไป (2,120 คือกระสุนที่ใช้ และ 880 คือกระสุนที่ส่งคืน)
• 117,923 คือจำนวนนัดของกระสุนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม
• 700,000,000 คืองบที่ตำรวจใช้กับกำลังพล 25,000 นาย
• 3,000,000,000 คืองบที่ทหารใช้กับกำลังพล 67,000 นาย
• 1,283 คือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด
• 1,763 คือจำนวนคนที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี
• 94 คือจำนวนคนเสียชีวิต
• 88 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชาย
• 6 คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้หญิง
• 10 คือเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นทหาร ในจำนวนนี้มีตำรวจ 3 นาย)
• 2 คือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต (สัญชาติญี่ปุ่นและอิตาลี)
• 6 คืออาสากู้ชีพ/อาสาพยาบาลที่เสียชีวิต
• 32 คือผู้เสียชีวิตที่โดนยิงที่ศีรษะ
• 12 คืออายุของผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยที่สุด
 
ปัจจุบัน ภาคประชาชนรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทุกปี โดยยังคงมีหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ
 


เพื่อไทย แจง 10 ข้อ กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่สกุลใหม่-โปร่งใสสูงสุด
https://www.matichon.co.th/election66/news_3920145

“ดร.เผ่าภูมิ” แจง 10 ประเด็น “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” – ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ ไม่เกี่ยวกับบริษัทเอกชน ไม่สามารถเก็งกำไรได้ ปลอดภัย-โปร่งใส สูงสุด
 
เมื่อวันที่ 10 เมษายน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และกรรมการ เลขานุการ โฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ชี้แจงเพิ่มเติม 10 ประเด็น “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ดังนี้
 
1. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด สามารถเอามาแลกเป็นเงินบาทได้ทุกเมื่อ
  
2. เหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่มีการสร้างมูลค่า ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล
 
3. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้นต่อความมั่นคงของระบบการเงิน ไม่เกี่ยวกับทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะไม่ใช่การสร้างสกุลเงินใหม่
 
4. กระเป๋าเงินดิจิทัล เงิน 10,000 บาท ลงถึงมือประชาชนทุกคน (16 ปี ขึ้นไป) ทุกบาททุกสตางค์ ใช้จ่ายจริง ซื้อของได้จริง ไม่มีการสูญหายของงบประมาณ ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเส้นทาง
  
5. กระเป๋าเงินดิจิทัล ไม่ใช่กรณีเดียวกับ Bitcoin Luna USDT ตามมีผู้กล่าวอ้าง เหล่านั้นออกโดยเอกชนและมุ่งหมายเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไป ออกโดยรัฐบาล ไม่ใช่สกุลเงินคู่ขนานกับเงินบาท
 
6. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่เกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ไม่เกี่ยวกับการซื้อบริษัท ไม่เกี่ยวกับการฟอกเงิน ไม่เกี่ยวกับการลงทุน เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ได้อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ทั้งหมดใช้งบประมาณจากภาครัฐและโอนตรงถือมือประชาชนทุกคน (16 ปีขึ้นไป) ง่ายๆ และตรงไปตรงมา
 
7. กระเป๋าเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน ระดับชุมชน ในตลาด สร้างธุรกรรมระหว่างรายย่อย ตรงข้ามกับวิธีเดิมที่ต้องซื้อในร้านใหญ่หรือกลุ่มทุน
 
8. กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม
 
9. กระเป๋าเงินดิจิทัลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ปัจจุบันระดับกำลังซื้อของประเทศตกต่ำ เศรษฐกิจตกต่ำกว่าศักยภาพมาก สภาวะดังกล่าวไม่นำสู่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ได้ รวมทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล สามารถจัดสรรเงินจากงบประมาณ ไม่มีการขึ้นอัตราภาษีใดๆ
 
10. พรรคเพื่อไทยสนับสนุน Central Bank Digital Currency (CBDC) และเดินหน้าพัฒนาร่วมกันธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับทุกคน เพื่อยกระดับระบบการเงินของประเทศเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
 


ตัวแทนคนเหนือ ฟ้องนายกฯ-หน่วยงานเกี่ยวข้อง เมินใช้กฎหมาย แก้ฝุ่น PM 2.5
https://www.thairath.co.th/news/local/2676648
 
ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5
 
วันที่ 10 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรีนพีซ ประเทศไทย ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับการฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5 
 
โดยออกแถลงการณ์ ทำแล้ว ทำอยู่ ทำอะไร ทำไมปอดถึงพัง: ประชาชนภาคเหนือฟ้องนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุไม่ใช้อำนาจทางกฎหมายแก้วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ผ่านเว็บไซต์ https://www.greenpeace.org/ ระบุว่า 

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ มีความเข้มข้นสูงปกคลุมเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นวิกฤติระดับสูงสุด และมีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศสะสมแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน โดยมีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ต่อเนื่องกันนับสัปดาห์ เป็นวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลอย่างร้ายแรง และถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลมายาวนาน

วันนี้ เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และประชาชน จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ไม่ได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชน นโยบาย และแผนที่มีอยู่ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและจัดทำแผนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขสถานการณ์วิกฤติฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนการฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 7-9 เมษายน 2566 ซึ่งมีประชาชนมาร่วมลงชื่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กว่า 727 คน และลงชื่อออนไลน์เพื่อสนับสนุนประเด็นการแก้ไขวิกฤติฝุ่นจากเกษตรพันธสัญญาจำนวนกว่า 980 คน และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมอื่นๆ เช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มสม-ดุล เชียงใหม่ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และกรีนพีซ ประเทศไทย ฯลฯ
 
ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องสำคัญทางคดี 3 ประการ ได้แก่ 

1. ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้ จนการแก้ไขปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์
 
2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปีในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่เราไม่อาจยอมรับ
 
และ 3. ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญสำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
 
ทั้งนี้ แคมเปญดังกล่าว มีการพูดถึงในวงกว้าง พร้อมกับติดแฮชแท็ก #คืนปอดให้ประชาชน.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่