JJNY : ‘พท.’ คืนชีพ 1กีฬา 1รัฐวิสาหกิจ│"เพื่อชาติ"ชูแก้ PM 2.5 │ค้านขึ้นภาษีความหวาน│เยอรมนีส่งรถถังเลพเพิร์ดช่วยยูเครน

‘เพื่อไทย’ คืนชีพ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ มั่นใจทำได้ใน 100 วัน ถ้าเป็นรัฐบาล
https://www.matichon.co.th/sport-slide/news_3897083
 
 
‘เพื่อไทย’ คืนชีพ 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ มั่นใจทำได้ใน 100 วัน ถ้าเป็นรัฐบาล
 
นายพิมล ศรีวิกรม์ ประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬา พรรคเพื่อไทย และนายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะที่ปรึกษา นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา, นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวนโยบาย 1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส ที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 
 
นายพิมลกล่าวว่า นโยบายนี้เคยเกิดขึ้นครั้งแรกระหว่างปี 2544-2549 ที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และประสบความสำเร็จอย่างมาก ในโอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่ได้เหรียญรางวัลมาถึง 6 เหรียญ หลังจากเกิดการปฏิวัติก็ได้ยกเลิกไป ถึงแม้จะเอากลับมาอีกครั้ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิม จนปัจจุบันเหลือเพียงสมาคมกีฬาเทควันโดฯ เพียงสมาคมเดียวที่ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐวิสาหกิจอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงตอนนี้
 
นายพิมลกล่าวอีกว่า เมื่อเห็นประโยชน์และความสำเร็จจากนโยบายนี้ในอดีต ทำให้เพื่อไทยอยากจะนำกลับมาอีกครั้ง ที่สำคัญรัฐวิสาหกิจไทยกว่า 20 แห่ง มีกำไร 2 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าเจียดมาสัก 1 เปอร์เซ็นต์มาช่วยวงการกีฬา ก็จะสร้างสิ่งดีๆ ให้ทั้งสังคม เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยิ่งนักกีฬาไทยได้เหรียฐทอง ได้ฟังเพลงชาติไทย เป็นความสุขของคนไทย ครั้งนี้ถ้าเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะทำให้สำเร็จภายใน 100 วันแรก โดยแนวทางจะตั้งคณะกรรมการที่ดูแลโดยกระทรวงการคลัง 7-9 คน พิจารณาการสนับสนุนสมาคมกีฬาต่างๆ ช่วงแรกเน้นไปที่กีฬาสากลที่มีในโอลิมปิกเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, ซีเกมส์ ที่หวังผลเป็นเลิศได้
 
นายพิมลกล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐวิสาหกิจจะได้รับจากการสนับสนุนสมาคมกีฬานี้ จะได้สิทธิผู้สนับสนุนมีที่นั่งในคณะกรรมการบริหารสมาคมอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง รวมทั้งสามารถตรวจสอบความโปร่งใสเรื่องงบการเงินของสมาคมได้ ที่สำคัญสมาคมต้องสร้างผลในระดับนานาชาติซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดในการสนับสนุนต่อไปในอนาคตด้วย
 
สมาคมที่ใช้เงินเยอะก็ต้องจับกับรัฐวิสาหกิจที่เงินเยอะหน่อย ต้องเป็นการพูดคุยกันว่าสมาคมไหนเหมาะกับหน่วยงานไหน ไม่มีอะไรตายตัว แต่จะอธิบายกับรัฐวิสาหกิจว่าสร้างประโยชน์กับวงการกีฬาและประเทศ รวมทั้งรัฐวิสาหกิจอย่างไรบ้าง” ประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬา พรรคเพื่อไทย กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติมีงบประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ในการสนับสนุนวงการกีฬา จะทับซ้อนกับนโยบาย  1 กีฬา 1 รัฐวิสาหกิจ พลัส หรือไม่ นายพิมลกล่าวว่า จากประสบการณ์ในการบริหารสมาคมกีฬาเทควันโดฯ งบจากทางกองทุนไม่สามารถดูแลได้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะมีระเบียบกำหนดอยู่ นโยบายนี้จึงจะเข้ามาสนับสนุนได้มากขึ้น ช่วยให้การทำงานยืดหยุ่นได้มากขึ้น ไม่ติดอยู่กับกรอบเดิมๆ
 
ส่วนการรักษาเจ้าอาเซียนในมหกรรมซีเกมส์ นายพิมลมองว่า ที่ผ่านมาในทุกครั้งที่พรรคเป็นรัฐบาล กีฬาไทยมีสถิติที่ดีมากอยู่เสมอ ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย ยืนยันว่าทางพรรคจะเดินหน้าต่อ เพราะซีเกมส์เป็นศักดิ์ศรีของคนไทย
 
ส่วนตัวผมเองเข้ามาช่วยเหลือในด้านกีฬา ไม่ได้กลับเข้ามาเล่นการเมือง ไม่ได้ต้องการตำแหน่งใดๆ แต่อยากเห็นวงการกีฬาไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งเหมือนตอนที่เพื่อไทยเคยเป็นรัฐบาล” นายพิมลกล่าว



"เพื่อชาติ" ชู นโยบาย แก้ฝุ่น PM 2.5 ดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดภาคประชาชน
https://www.thairath.co.th/news/politic/2665216
 
เพื่อชาติ ชู นโยบาย แก้ฝุ่น PM 2.5 ดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับภาคประชาชน สร้างระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นควันถึงระดับอันตราย ผ่าน SMS ประกาศพื้นที่ฉุกเฉิน เมื่อค่า AQI เกิน 200
 
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 66 น.ส.ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์มลภาวะในหลายพื้นที่กำลังอยู่ในวิกฤติ ด้วยปัญหาฝุ่น PM 2.5 ติดอันดับโลก พรรคเพื่อชาติ คำนึงถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
  
โดยเรามีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ด้วยการสนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับภาคประชาชน และนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชาชีพ นโยบายสร้างระบบแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นควันถึงระดับอันตราย ผ่านระบบ SMS และจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อค่าฝุ่น AQI เกิน 200 ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติของพื้นที่ และรัฐต้องแจกหน้ากากที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน ด้านการปกป้องสุขภาพประชาชน เมื่อระดับค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่วิกฤติ เรามีนโยบายจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น อย่างน้อย 1 ห้องในทุกโรงเรียนและชุมชน เพื่อสุขภาพประชาชน สนับสนุนให้เครื่องกรองฝุ่น ให้มีคุณภาพและราคาถูก ส่วนแง่มุมการแก้ไขสถานการณ์นั้น จะมีการสนับสนุนสวัสดิการและประกันชีวิตให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า นโยบายดูแลควบคุมพื้นที่เกษตร ที่จำเป็นต้องเผา กระจายอำนาจให้เป็นการกำหนดร่วมโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และออกกฎห้ามนำเข้าผลิตผลทางการเกษตร ในพื้นที่ที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงสนับสนุนการเฝ้าระวังและออกกฎเข้มข้นเพื่องดเว้นการเผาป่า ในด้านความยั่งยืนนั้นจะจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อทำงานร่วมกันแบบแนวราบ
 


ค้านขึ้นภาษีความหวาน เอกชนชี้สถานการณ์ไม่เหมาะ
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3896032

“เอกชน” ค้านสรรพสามิต เก็บภาษีความหวานเพิ่มขึ้น ชี้สถานการณ์ยังไม่เหมาะ หวั่นกระทบความสามารถแข่งขันการส่งออก สุดท้ายหนีไม่พ้นต้องปรับราคา แนะมุ่งให้ข้อมูลสร้างเข้าใจผู้บริโภคได้ผลกว่า
 
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงกรณีกรมสรรพสามิต จะปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล เข้าสู่ระยะที่สาม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ว่า ผู้ประกอบการมีความกังวล เพราะอัตราภาษีโดนปรับเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากอัตราภาษีในปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความกังวลและท้าทายหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร จึงเสนอขอเลื่อนขยายเวลาการปรับขึ้นภาษีความหวานฯ เนื่องจากปัจจุบันเกิดภัยแล้ง วัตถุดิบหลายตัวมีการปรับขึ้นราคา อีกทั้งที่ผ่านมามีการปรับขึ้นต้นทุนในหลายด้านทั้งค่าแรง น้ำตาล ค่าไฟฟ้า กระทบด้านต้นทุนการผลิตและอาจกระทบต่อราคาสินค้า ซึ่งการปรับขึ้นราคาแก่คู่ค้าและผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อีกทั้งมาตรการที่ออกมาไม่ควรลดความสามารถการแข่งขันในต่างประเทศ

ภาคเอกชนยินดีร่วมมือกับรัฐบาล เครือข่ายสุขภาพและองค์การอนามัยโลกในการช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดการบริโภค อาหารหวาน มัน เค็ม ที่ทำให้เป็นบ่อเกิดหลายโรค แต่การกำหนดภาษีความหวานฯเพื่อควบคุมกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ผู้บริโภคอาจเลือกไปรับประทานในร้านอาหารแทนได้เช่นกัน ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคเพื่อตระหนักรู้ว่าควรบริโภคอาหารอย่างไรไม่เป็นพิษภัยต่อตัวเอง จึงสำคัญที่สุด” นายวิศิษฐ์กล่าว
 
และว่า การส่งออกสินค้าเครื่องดื่มปี 2566 เทียบปี 2565 พบว่ามูลค่าส่งออกเทียบเดือนต่อเดือนในเดือนมกราคม หดตัว -8% ที่ 4,999 ล้านบาท จากที่เคยมีมูลค่า 68,781 ล้านบาท ดังนั้นการวางนโยบายการจัดเก็บภาษี ควรให้เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องปัจจุบันมีความท้าทาย เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงบริบทของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดโครงสร้างภาษีที่ตอบโจทย์การแข่งขัน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการปรับตัวอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ทยอยปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม มีการปรับราคา ปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ รวมถึงแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาลออกมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่