ขณะตั้งครรภ์ มักมีปัญหาสุขภาพช่องปาก ?

กระทู้สนทนา
ขณะตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงในช่องปากที่พบได้บ่อย ดังนี้ อัตราการไหลของน้ำลายลดลง เหงือกอักเสบ (การอักเสบของเหงือกและมีเลือดออก) การโตของเหงือกชนิดเจริญเกิน (เหงือกบวมแดง) เนื้องอกที่เหงือกในระยะตั้งครรภ์ (เหงือกโตผิดปกติ) ฟันผุ และการสึกกร่อนของฟัน

#ฟันผุ

ฟันผุเป็นการทำงานร่วมกันของสารเคมีและเชื้อแบคทีเรีย ผ่านขั้นตอนของปฏิกิริยาที่ซับซ้อนระหว่างเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก น้ำตาลและฟัน ฟันผุสามารถป้องกันได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดอาการปวด อักเสบและติดเชื้อได้

สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือฟันของคุณแม่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ การเกิดฟันผุในหญิงตั้งครรภ์เกิดจากปัจจัยเฉพาะที่ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการ อนามัยช่องปากที่ไม่ดีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรีย หรือการแพ้ท้องอาเจียนบ่อย

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุขณะตั้งครรภ์ ทันตแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวตามที่คุณแม่จำเป็นต้องได้รับ เช่น การนัดหมายเพื่อตรวจสภาพช่องปากอย่างเสมอ การขูดหินน้ำลาย รวมไปถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคและวิธีการดูแลอนามัยช่องปากที่บ้าน

#การสึกกร่อนของฟัน

ฟันสึกกร่อน สามารถเกิดขึ้นโดยไม่มีการปรากฏของเชื้อแบคทีเรีย เกิดขึ้นได้บ่อยระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากการแพ้ท้องอาเจียนเป็นระยะเวลานาน หรืออาจเกิดมาจากการรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรด ทำให้เกิดอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารร้อนและเย็น

การสึกกร่อนของฟันเป็นการสูญเสียชั้นเคลือบฟันหรืออาจรวมถึงเนื้อฟัน ส่งผลให้ฟันมีลักษณะเป็นมันเงา ผิวเรียบ อาจก่อให้เกิดอาการเสียวฟัน ปวดฟัน และส่งผลต่อความสวยงาม ขึ้นอยู่กับระดับของการสูญเสีย

ทันตแพทย์จะซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันสึกกร่อนเพื่อป้องกนการสูญเสียเนื้อฟัน ความเสี่ยงต่อฟันสึกกร่อนจะเพิ่มขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีการอาเจียน หรือกรดไหลย้อนที่รุนแรง อาจมีการใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันการเกิดฟันสึกกร่อนในอนาคต หรือในกรณีที่ฟันสึกกร่อนมากอาจต้องทำการบูรณะฟัน

#โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ

การตั้งครรภ์สามารถทำให้เหงือกและเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ ที่รองรับฟันอ่อนแอ ไวต่อการอักเสบและติดเชื้อมากขึ้น สภาวะนี้เรียกว่า ปริทันต์อักเสบ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลต่อช่องปาก (น้ำลายและน้ำเหลืองเหงือก) ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานมีแนวโน้วที่จะเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากกว่าปกติ

การอักเสบของเหงือกเรียกว่า โรคเหงือกอักเสบ พบได้บ่อยในระหว่างตั้งครรภ์ ในหญิงตั้งครรภ์ที่แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้อง มีโอกาสที่จะเป็ นโรคเหงือกอักเสบลดลง

เมื่อการอักเสบและติดเชื้อที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะก่อให้เกิดการสูญเสียกระดูกที่รองรับรอบๆฟัน เรียกโรคนี้ว่า "ปริทันต์อักเสบ" มีงานวิจัยแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่วงโรคปริทันต์อักเสบในหญิงตั้งครรภ์กับภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด และทารกมีน้ำหนักน้อย ขอเน้นย้ำว่าการตั้งครรภ์ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรคเหงือก แต่สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดีต่างหากที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเหงือก

#ภาวะโตผิดปกติของเหงือก

ภาวะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างตั้งครรภ์อาจมีความสัมพันธ์กับการโตผิดปกติของเหงือกแบบเฉพาะตำแหน่งหรือแบบทั่วทั้งปาก ปัจจัยเฉพาะที่ เช่น ไบโอฟิล์ม น้ำลาย และขอบของวัสดุอุดฟันที่ไม่เรียบ สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเหงือก นำไปสู่การเกิดเนื้องอกที่เหงือกระยะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่โตเร็ว และมักจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกของการตั้งครรถ์ ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 3

การมีสุขภาพช่องปากที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นที่จะลดปัจจัยการเกิดภาวะโตผิดปกติของเหงือก โดยทั่วไปแล้วเนื้องอกที่เหงือกในระยะตั้งครรภ์จะหดตัวลงหลังคลอดบุตร แต่ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องผ่าตัดออก หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากสม่ำเสมอ เนื่องจากภาวะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้อีก

#ภาวะปากแห้ง

หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจจะมีภาวะปากแห้งชั่วคราว สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากภาวะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์ การจิบน้ำบ่อยๆ และเคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของไซลิทอล (ไม่มีน้ำตาล) จะช่วยบรรเทาอาการนี้ การใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากเป็นประจำ ก็สามารถคืนกลับแร่ธาตุให้กับฟัน ลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และอาการเสียวฟันเฉพาะตำแหน่งได้ค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่