เปิดถุงจ่ายตลาดแม่บ้านญี่ปุ่น และเมนูอาหารเย็นใน 1 สัปดาห์

ก่อนอื่น...นี่คือสภาพของอิฉันตอนกลับมาจากซุเปอร์มาร์เก็ตในแต่ละครั้ง เพี้ยนออกทริป

ชีวิตครอบครัวเดี่ยวในโตเกียวที่ไม่มีรถยนต์ ก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ ซื้อเอง...แบกกลับบ้านเอง...นักเลงพอ


ปกติเราจะจ่ายตลาดซื้ออาหารสดเข้าบ้านอาทิตย์ละครั้ง และต้องแอบออกไปคนเดียวตอนลูกนอนกลางวันนะ เพราะเราชอบค่อยๆดู ค่อยๆคิด พินิจ พิจารณา ถ้าลูกไปด้วยจะเลือกนานไม่ค่อยได้ อมยิ้ม16


อันนี้เป็นของที่ซื้อมาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมค่ะ ทั้งหมดนี่ตัวเลขกลมๆประมาณ 6,500 เยน เพราะมีไวน์ด้วย ตัดไวน์ออกก็จะเหลือ 5พันกว่าๆ ตั้งใจไม่ซื้อผักเยอะ เพราะมีเหลือจากสัปดาห์ก่อนหน้าอย่างละนิดละหน่อย ต้องเอามาทำกินให้หมด ไม่งั้นเน่าทิ้งเสียดายแย่เลย

ทุกครั้งก่อนออกไปซื้อของ เราจะคิดเมนูที่จะทำไว้ก่อน 4-5 เมนู แล้วเลือกซื้อของที่ต้องใช้ตามเมนูนั้นๆ ส่วนเมนูอื่นๆ จะไปดูที่ซุเปอร์อีกทีว่ามีวัตถุดิบอะไรลดราคา ก็ซื้อมาก่อนแล้วมาคิดหาเมนูที่จะทำจากวัตถุดิบลดราคานั้นอีกที ที่ต้องทำแบบนี้เพราะเคยไปซุเปอร์แบบไม่มีอะไรในหัว ไปดูที่ซุเปอร์เลย แล้วอยากกินอะไร ณ ตอนนั้นก็ซื้อ ปรากฎว่าของที่ซื้อมาไม่รู้จะทำอะไรกิน เน่าทิ้งไปก็มี << เจ็บมาเยอะ >>

ซึ่งที่คิดเมนูไว้ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารเย็นนะคะ เพราะเราต้องทำงานที่บ้าน มีเวลาจำกัดในจัดการอาหารเช้าและกลางวัน มือเช้ามื้อกลางวันจึงมักจะทำอาหารง่ายๆ แล้วแต่ของที่มีในตู้เย็นและความอยาก ณ ตอนนั้น ซึ่งช่วงนี้อาหารเช้าส่วนใหญ่จะเป็นพวกขนมปัง ส่วนมื้อกลางวันจะเป็นเมนูเส้น พวกสปาเก็ตตี้ ยากิโซบะ อุด้ง เป็นต้น


ซื้อของเสร็จ กลับมาถึงบ้าน ก็จะมาคิดว่าจะทำเมนูไหนก่อนหลัง อาหารสดอันไหนที่ยังไม่ทำกินภายใน 2-3 วันนี้ ก็จะเก็บไว้ในช่องฟรีซก่อนค่ะ เพราะพวกอาหารสดที่ญี่ปุ่นมักจะมีอายุ 3-4 วันหลังจากที่เค้าทำมาวางขาย อายุของอาหารสดที่ญี่ปุ่นมี 2 แบบ คิดว่าทุกคนน่าจะทราบกันดีค่ะ หมดอายุไปเลย กับ หมด(อายุ)ความอร่อย  ที่บอกว่าหมด(อายุ)ความอร่อย จริงๆยังกินได้อยู่นะคะ เค้าแค่แนะนำว่าถ้าบริโภคภายในช่วงเวลานั้นจะอร่อยที่สุด แต่ถ้าเลยวันหมด(อายุ)ความอร่อยไปแล้ว คุณภาพและความอร่อยอาจจะด้อยลง อย่างอาหารสดที่เราซื้อมาส่วนใหญ่จะหมดอายุวันที่ 13-14 ตุลาคมทั้งนั้นเลยค่ะ

และนี่เป็นอาหารเย็นของแต่ละวันของสัปดาห์นั้นค่ะ

Day 1

จานหลัก แฮมเบิร์กหมู
จานรอง ชิคุวะคลุกมายองเนสและสาหร่ายทะเลป่น , แครอทต้ม & มันฝรั่งอบเนย
(มันฝรั่งและแครอทเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

Day 2

จานหลัก Ebi Chili (กุ้งทอดซอสพริก)
จานรอง  หมูสามชั้นปรุงรสต้มเปื่อย ,โคลสลอว์
(หมูสามชั้น และกะหล่ำปลีเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

Day 3

จานหลัก หมูสันนอกผัดมิโซะ & มิริน
จานรอง  ผักโขม&แฮมผัดโชยุโรยด้วยงาขาว , เต้าหู้ราดโชยุ โรยด้วยปลาชิราสุและหอมซอย
(เต้าหู้ ปลาชิราสุ และกะหล่ำปลีเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

Day 4

จานหลัก สะโพกไก่ผัดมะเขือม่วงและกระเจี๊ยบเขียว
จานรอง  ไข่ต้มโชยุ & บล็อกโคลีลวก, สลัดทูน่าพริกหยวก
(บล็อกโคลีเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

Day 5

จานหลัก หมูสไลด์ตุ๋นมันฝรั่ง
จานรอง  ผักรวมผัดเนยและโชยุ , ขนมจีบกุ้ง
(ผักต่างๆเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

Day 6

จานหลัก ผัดผักมิซูน่า ใส่หมูบดและเห็ดชิเมจิ
จานรอง กุ้งชุบแป้งทอด, สลัดทูน่าแตงกวา
(ผักและเห็ดชิเมจิเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

Day 7

จานหลัก ซาบะย่างซอส (ซาบะคาบะยากิ)
จานรอง ไข่ต้มโชยุ , แครอทหัวไชเท้าต้ม
(แครอทและหัวไชเท้าเหลือมาจากสัปดาห์ที่แล้ว)

พูดถึงเรื่องค่ากับข้าวแต่ละสัปดาห์ (ไม่รวมที่ไปกินข้างนอก) ตกอยู่ประมาณ 7,000 เยน หรือ 1,800 บาท เดือนนึงประมาณ 28,000 เยน หรือ 7,300 บาท (ตัวเลขกลมๆ) จะจ่ายตลาดมาประมาณนี้ไว้ก่อน ถ้าไปกินข้าวนอกบ้านแล้วอาหารสดหรือผักเหลือ ก็เก็บไว้ทบรอบสัปดาห์ถัดไปค่ะ

จริงๆบ้านเราไม่ได้ซีเรียสงบค่ากับข้าวสักเท่าไหร่ อยากกินอะไรก็ซื้อ แต่เคยเห็น Instagramer สายแม่บ้านคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง บ้านเค้ามีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก จ่ายตลาดสัปดาห์ละไม่เกิน 3,000-4,000 เยน // สุดยอดโปรในซื้อของต้องยกให้แม่บ้านญี่ปุ่นเค้าแหละค่ะ นี่ถ้าเราทำได้อย่างนั้นคงมีเงินเหลือเก็บเยอะมากแน่ๆเลย ^.^
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่