มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด มงกุฎอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอังกฤษ
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ขณะทรงพระราชทานสัมภาษณ์กับ BBC
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด (อังกฤษ: St. Edward's Crown) เป็นมงกุฎที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่ง ซึ่งใช้ในการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเรื่อยมา จนกระทั่งเข้ารวมรัฐกับสกอตแลนด์เป็นราชอาณาจักรบริเตนรัฐของชาวบริติชมาจนถึงปัจจุบัน มงกุฎนี้ก็ยังใช้ประกอบในพระราชพิธีราชาภิเษกของราชวงศ์บริติชมาจนถึงปัจจุบัน
.
มงกุฎองค์นี้ถูกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ ปี ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) ในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการฟื้นฟูราชวงศ์สจวร์ตอันเป็นราชวงศ์ที่ถูกล้มล้างไปในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ กลับมาปกครองราชอาณาจักรอังกฤษ, สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ตามเดิม ระบบระเบียบเดิมอันศักดิสิทธิ์ถูกกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากโดนทำลายไปในช่วงสมัยสาธารณรัฐจักรภพอังกฤษ ซึ่งมีการกวาดล้างเสียหมดสิ้น สถาบันกษัตริย์อันเป็นจุดยอดของรัฐราชอาณาจักร และข้าไทผู้จงรักภักดีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด พระมหามงกุฎอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมแห่งองค์กษัตริย์ก็โดนทำลายไปเช่นกัน
ภาพจากสะสมศิลปะหลวงของพระราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection) เป็นภาพมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด ซึ่งสร้างใหม่ในรัชกาลของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1
แม้มงกุฎองค์นี้จะโดนหลอมไปและถูกสร้างใหม่ในปี 1661 ก็จริง แต่มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดองค์เดิมนั้นถูกสร้างตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์หนึ่งที่ได้รับการยกขึ้นเป็น “Saint” หรือนักบุญ ในปี ค.ศ. 1161 (พ.ศ. 1704) ทำให้พระมหามงกุฎที่สร้างโดยพระองค์กลายเป็นของศักดิสิทธิ์และเป็นมงคล โดยในช่วงที่เอ็ดเวิร์ดยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้นทรงสวมมงกุฎนี้อยู่ 3 ครั้งในแต่ละเทศกาลต่อปี คือ (1) ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ (2) วันเพ็นเทคอสต์และ (3) วันคริสต์มาสต์ พระองค์ทรงหวงมงกุฎนี้เป็นอย่างมาก และทรงต้องการให้มงกุฎนี้อยู่กับอังกฤษไปตราบนานเท่านาน จึงทรงมีรับสั่งให้นำมงกุฎนี้ไปเก็บไว้ที่โบสถ์ร่วมนักบุญปีเตอร์ที่เวสต์มินสเตอร์หรือที่เรารู้จักในชื่อ “เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์” (Westminster Abbey) ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพระราชพิธีสำคัญๆ ต่างๆ เช่นพระราชพิธีราชาภิเษก พระราชพิธีพระบรมศพ, พระศพ ของพระราชวงศ์อังกฤษ เพื่อให้มงกุฎมีความปลอดภัยและอยู่ยั้งยืนยงไปชั่วกาล

พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ, สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ ขณะประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก สังเกตว่าพระองค์ทรงสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดที่ทำใหม่
ในแต่ละรัชกาลมงกุฎนี้ได้รับการปฏิบัติแบบสิ่งศักดิสิทธิ์มาโดยตลอด แต่ก็มีหลายครั้งที่กษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์ประพฤติกับมงกุฎนี้แบบผิดธรรมเนียม และเป็นที่นินทาในหน้าประวัติศาสตร์อยู่บ้าง ดังเช่นในรัชกาลของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ พระองค์ทรงนำมงกุฎนี้ไปมอบให้กับเฮนรี โดยมอบทั้งตัวอัญมณีที่ประดับมงกุฎด้วย ทำให้เจ้าริชาร์ดที่ 2 ทรงต้องสละราชสมบัติและเฮนรีในเวลาต่อมาทรงเสวยราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ในปี ค.ศ. 1399 หลายคนต่างมองว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการ “ผิดธรรมเนียม” อีกกรณีหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องพระชายาหลายพระองค์ โดยเฮนรีที่ 8 ต้องการให้พระนางแอนน์ โบลีนมีความชอบธรรมในการขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี และลบคำครหาของพระองค์และพระนางแอนน์ โบลีนอันอื้อฉาวอย่างมาก การสร้างความชอบธรรมครั้งนี้คือทรงนำทงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดวางบนพระเศียรของพระองค์ ตามด้วยทรงมอบมงกุฎองค์นี้แด่พระนางแอนน์ โบลีนสวมต่อ ซึ่งหลายคนต่างก็มองว่าผิดธรรมเนียม เนื่องจากไม่เคยมีพระมเหสีองค์ไหนที่สามารถสวมมงกุฎองค์นี้ได้
.
หลังจากเกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กษัตริย์อังกฤษพระองค์สุดท้ายก่อนที่จะมีระบอบสาธารณรัฐ พระองค์ทรงถูกสำเร็จโทษโดยรัฐสภา ในปี ค.ศ. 1649 (พ.ศ. 2192) เมื่อไม่มีกษัตริย์แล้วรัฐสภาอังกฤษจึงไม่เห็นความจำเป็นอีกของการคงไว้ซึ่งระบอบราชาธิปไตย และเหล่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความชอบธรรมของกษัตริย์ เป็นตัวแทนของพระเจ้าบนโลกและเป็นตัวแทนของเทวสิทธิราชซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่ากษัตริย์เป็นองค์แทนของพระเจ้าในโลกทำให้ไม่ทรงอยู่ภายใต้อำนาจทางโลก จึงทรงอยู่ภายใต้พระเจ้าผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งสมาชิกรัฐสภาหลายคนมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลและไม่ชอบธรรมเอาเสียเลย รัฐสภาต้องการทำลายแนวคิดเทวสิทธิราชย์ และโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์อังกฤษในช่วงที่เป็นสาธารณรัฐเองก็เคยพูดถึงมงกุฎนี้ในปี ค.ศ. 1649 ว่า “Detestable Rule of Kings” (กฎระเบียบที่น่าเกลียดของพวกกษัตริย์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ตัวครอมเวลล์ก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับมงกุฎนี้เลย เพราะมองว่าเป็นตัวแทนของเรื่องเหลวไหลและไม่มีความศักดิสิทธิ์แต่อย่างใด จึงเป็นเหตุที่เขานำมงกุฎนี้ไปขาย และลือกันว่าถูกเอาไปทำเหรียญทองหมุนเวียน
.
ทศวรรษต่อมาในปี ค.ศ. 1660 (พ.ศ. 2203) ราชวงศ์สจวร์ตกลับมาปกครองราชอาณาจักรทั้ง 3 ในหมู่เกาะบริติชตามเดิม โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระราชโอรสในชาร์ลส์ที่ 1 เมื่อราชวงศ์ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ในบทประพันธ์ต่างๆ ได้พรรณนาว่าเป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า ไพร่ฟ้ามีความสุขตามเดิม ระบบระเบียบเดิมก่อนหน้านี้ฟื้นฟูมาอีกครั้ง รัชสมัยของชาร์ลส์ที่ 2 แม้จะวุ่นวายทางการเมืองอย่างยิ่ง แต่มีความสงบและรุ่งเรืองเช่นกันจนมีคนเรียกยุคนี้ว่า “ยุคเจ้าสำราญ”
.
เครื่องราชกกุธภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความชอบธรรมหลังจากโดนทำลายไป ก็มีการสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยเรียกชื่อตามเดิมทั้งหมด พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทรงมีรับสั่งให้ทำมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดขึ้นมาใหม่ ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าคือการลอกเลียนของเดิมทั้งหมด แต่แท้จริงแล้วมีบันทึกว่ามงกุฎองค์ใหม่นั้น “ไม่ใช่การทำซ้ำของการออกแบบในยุคกลาง” มีการเพิ่มส่วนโค้งและไม้กางเขนเหนือมหามงกุฎ สื่อนัยยะถึงความเป็นกษัตริย์ที่ต้องทรงรับพระราชภาระอันใหญ่หลวง และความเป็นพระประมุขแห่งคริสตจักรอังกฤษ
.
หลังจากนั้นเพียง 10 ปี ในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1671 (พ.ศ. 2214) มีชาวไอริชนายหนึ่งนามว่า โธมัส บลัด (Thomas Blood) สมาชิกรัฐสภาไอร์แลนด์ ได้พยายามขโมยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งปวงออกจากหอคอยแห่งลอนดอนอันเป็นที่ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในยุคปัจจุบัน บลัดใช้ค้อนทุบมงกุฎจนเกิดความเสียหายเพื่อเก็บซ่อนไว้ในชุด แต่เผอิญว่าแผนการลักลอบไม่สำเร็จเนื่องจากชุดคลุมของบลัดดันหลุดออกมา ทำให้มงกุฎและอัญมณีทั้งหลายร่วงหล่นลงมาจากชุดที่ซ่อนไว้ขณะหลบหนี โดยบลัดถูกเรียกตัวให้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องนี้และพระเจ้าชาร์ลส์ทรงพระราชทานอภัยโทษ อีกทั้งทรงพระราชทานเงินบำนาญและที่ดินในไอร์แลนด์ให้ ซึ่งยังไม่ทราบจนถึงปัจจุบันว่าเหตุใดชาร์ลส์ที่ 2 จึงทรงทำเช่นนี้
.
มงกุฎนี้ถูกใช้เรื่อยมาจนและสวมโดยกษัตริย์อังกฤษตลอดทั้งตัวชาร์ลส์ที่ 2 เอง, เจมส์ที่ 2 รวมทั้งวิลเลียมที่ 3 จนกระทั่งรัชสมัยพระนางแอนน์ราชินีอังกฤษพระองค์สุดท้าย (ก่อนจะกลายเป็นรัฐบริเตนในปี 1707) ในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระนางทรงปฏิเสธที่จะสวม กลับกันทรงรับไว้และวางข้างพระวรกายเท่านั้น และพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนหรือสหราชอาณาจักรพระองค์ถัดๆ มาก็ไม่ได้สวมมงกุฎอีกเลย ตั้งแต่จอร์ชที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 4 เรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เช่นกันเป็นระยะเวลาเกือบ 150 ปี รวมทั้งสิ้น 6 รัชกาลที่มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดมิได้สวมโดยพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีราชาภิเษกเลย
.
ช่วงหลังๆ เองก็มีอยู่น้อยมากที่กษัตริย์ทรงสวมมงกุฎนี้นับจากพระนางเจ้าวิคตอเรียมา ก็มีเพียงพระเจ้าจอร์ชที่ 5, จอร์ชที่ 6 และสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่สวม ยกเว้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงมีพระประสงค์จะสวมมงกุฎเช่นการแต่เนื่องจากทรงประชวรและพึ่งผ่าตัดเสร็จ จึงทรงสวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตซึ่งเบากว่าแทน ส่วนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงครองราชย์สั้นมากทำให้ไม่มีพระราชพิธีราชาภิเษก
.
สาเหตุที่กษัตริย์หลายพระองค์ทรงปฏิเสธที่จะสวมมงกุฎที่สำคัญที่สุดนี้เป็นเพราะมงกุฎนี้มีน้ำหนักมาก โดยหนักกว่า 2 กิโลกรัมครึ่ง แม้แต่สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 2 ก็ทรงเคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่อลาสแตร์ บรูซ (Alastair Bruce ) ของทางบีบีซี เกี่ยวกับมงกุฎอิมพีเรียลสเตตซึ่งเป็นมงกุฎที่เบากว่าว่า “ต้องทำให้ศีรษะนิ่งมากๆ และเธอ (บรูซ) ไม่สามารถก้มหน้าอ่านคำพูด (เปิดประชุมสภา) ได้ เพราะถ้าเธอก้มหัวเธออาจจะหัวหักได้” แสดงให้เห็นว่าแม้แต่มงกุฎอิมพีเรียลสเตตที่เบากว่ามงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดเกือบเท่าตัวยังมีข้อเสียขนาดนี้ จะนับประสาอะไรกับมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดซึ่งหนักอึ้งเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่กษัตริย์อังกฤษส่วนใหญ่ไม่สวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ขณะทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษก และทรงสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด
รายการอ้างอิง
เว็บไซต์
มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด มงกุฎอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอังกฤษ