JJNY : ผอ.โคราชวอน│กกร.ลดคาดจีดีพีเหลือ 2.75-3.5%│"ธนาธร"เล็งยื่นแก้รธน. กระจายอำนาจท้องถิ่น│เกาหลีเหนือขู่ขยายกองทัพ

เพิ่มเยอะมาก! ปีที่แล้วหัวละ 20.- ปีนี้ 21.- ผอ.โคราชวอนรัฐ เพิ่มเงินค่าอาหารกลางวัน สู้วิกฤตของแพง
https://ch3plus.com/news/economy/morning/299308
 
 
จากกรณี ผอ.โรงเรียนดังโคราช เผยโรงเรียนได้รับอุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน หัวละ 21 บาท/มื้อ วอนรัฐเพิ่มเงินอุดหนุนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ในยุคข้าวของแพง
 
วานนี้ (3 ก.ค. 65) ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายเสรี เจริญกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถึงสถานการณ์สินค้าวัตถุดิบในการปรุงอาหาร พาเหรดกันปรับตัวขึ้นราคา ได้ส่งผลกระทบกับอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนหรือไม่ อย่างไร
 
นายเสรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ ซึ่งข้าวของทุกอย่างแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ที่พุ่งสูงขึ้นเท่าตัว ส่งผลให้สินค้าอื่นๆ แพงขึ้นตามค่าขนส่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการทำอาหารกลางวันเด็กนักเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาทำอาหารกลางวันเด็กนักเรียน มีการปรับราคาสูงขึ้นทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก เครื่องเทศ และเครื่องปรุง
 
ขณะเดียวกัน โรงเรียนวัดสระแก้ว ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ในตัวเมืองนครราชสีมา ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 อยู่ประมาณ 2,200 คน ปีที่แล้ว ได้รับการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันจากรัฐบาล ผ่านมาทางเทศบาลนครนครราชสีมา หัวละ 20 บาท มาในปีนี้ที่ข้าวของแพงขึ้นทุกอย่าง จึงได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันเพิ่มขึ้นอีกหัวละ 1 บาท เป็นหัวละ 21 บาท
 
หากถามว่าเพียงพอหรือไม่ ตนก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่าไม่เพียงพอแน่นอน เพราะเงินที่ได้เพิ่ม 1 บาท เมื่อเทียบกับวัตถุดิบต่างๆ ที่นำมาประกอบอาหาร รวมทั้งเครื่องปรุง และค่าก๊าซหุงต้ม ที่มีการปรับราคาสูงขึ้นจากเดิมมาก บางอย่างราคาแพงขึ้นเท่าตัว ดังนั้น ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้นจะทำการทอดผ้าป่า เพื่อหารายได้สมทบเป็นทุนค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ก็ทำไม่ได้ เพราะถือว่าโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐมาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือ ต้องพยายามบริหารจัดการทำอาหารกลางวันให้เพียงพอ และมีคุณภาพมากที่สุดให้ได้
 
ซึ่งตนเองก็ได้กำชับกับฝ่ายโภชนาการของโรงเรียน รวมทั้งแม่ครัวว่า ด้วยงบประมาณ 21 บาท/หัวเด็กนักเรียนนี้ จะต้องมีกับข้าวอย่างน้อย มื้อละ 2 อย่าง และมีของหวานหรือผลไม้มื้อละ 1 อย่าง
 
ส่วนวัตถุดิบ เช่น ผัก ให้ไปหาซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งจะได้ในราคาถูกกว่าซื้อที่ตลาด อย่างน้อยก็ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ของหวานนั้นก็จะเน้นไปที่ผลไม้ เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลไม้ออกผลผลิตมาก ราคาจะถูก และผลไม้จะมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าของหวานทั่วไป
 
โดยจะมีสมาคมผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษา มาตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันเด็กนักเรียนต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาปรากฏว่าสามารถบริหารจัดการได้เป็นที่น่าพอใจ
 
ทั้งนี้ เด็กๆ กำลังอยู่ในวันกำลังกิน กำลังเรียน โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ซึ่งต้องเรียนหนักมาก เพื่อที่จะสอบเข้าระดับมัธยม ดังนั้น ทุกคนจึงต้องได้รับสารอาหารที่มีคุณภาพดีที่สุด บางคนก็ต้องรับประทานเบิ้ล 2 จานด้วยซ้ำ
 
ซึ่งทางโรงเรียนวัดสระแก้ว ก็ต้องพยายามจัดหาอาหารกลางวันให้เพียงพอต่อความต้องการของเด็กเรียนทุกคน ดังนั้น จึงอยากฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยพิจารณาเพิ่มเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย
 
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2aTAb9_lF8Q
 
 คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

 
เงินเฟ้อดุ-น้ำมันแพง กกร.ลดคาดการณ์จีดีพีเหลือ 2.75-3.5%
https://www.matichon.co.th/economy/news_3434786
 
เงินเฟ้อดุ-น้ำมันแพง กกร.ลดคาดการณ์จีดีพีเหลือ 2.75-3.5%

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม แถลงข่าวประจำเดือนกรกฎาคม 2565 ประเมินสถานการณ์และแนวทางที่จะนำเสนอภาครัฐ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
 
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตได้ แต่ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้าง และยังรวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นทำให้ที่ประชุม กกร.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวในกรอบ 2.75% ถึง 3.5% ลดลงจากกรอบเดิมที่ 2.5% ถึง 4.0% ขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออกเป็นขยายตัวในกรอบ 5.0% ถึง 7.0% และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0% ถึง 7.0% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป และค่าเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิม
 
นายผยงกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงครึ่งหลังของปีหากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากนโยบายซีโร่โควิดและอาจฟื้นตัวได้ช้า แม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
 
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้การท่องเที่ยวภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับ 6-8% ช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
จากสถานการณ์ที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เนื่องจากปัจจัยในด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดีเซลสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น กกร.จึงอยากเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนใน 3 ด้าน
 
1. ขอให้ภาครัฐมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแอ จากภาวะเงินเฟ้อสูง
 
2. ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานหรือด้านงานบริการกับภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น
 
3. ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกธุรกิจภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดหมายว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่