JJNY : ‘พิธา’แว้นจักรยานไฟฟ้าเลือกตั้ง│งงในงง!ปมสีปากกาเลือกตั้ง│ทุเรียนใต้วูบหมื่นล.│สื่อนอกเกาะติดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

‘พิธา’ แว้นจักรยานไฟฟ้าเลือกตั้ง ชวนคนกรุงฯ ใช้สิทธิถล่มทลาย ให้ปชต.เข้มข้น เพื่อวันฟ้าใหม่
https://www.matichon.co.th/politics/news_3358176
 
 
‘พิธา’ แว้นจักรยานไฟฟ้าเลือกตั้ง ชวนคนกรุงฯ ใช้สิทธิถล่มทลาย ให้ปชต.เข้มข้น เพื่อวันฟ้าใหม่
 
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่หน่วยเลือกตั้งที่ 10 เขตเลือกตั้งที่ 1 บริเวณเต็นท์ที่จอดรถธนาคารออมสินภาค 2 ซอยสุขุมวิท 39 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา มีฝนตกลงค่อนข้างหนาเม็ด แต่ยังมีประชาชนเดินทางมาใช้สิทธิกันอย่างไม่ขาดสาย
 
โดยในเขตนี้ มีดาราและคนดังออกมาใช้สิทธิด้วย อาทิ “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา พิธีกรชื่อดังเดินทางมาใช้สิทธิ เวลา 09.36 น. ต่อด้วย “มาดามแป้ง” นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย รวมถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่เดินทางมาด้วยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
 
โดยนายพิธา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ว่า ตนตื่นเต้นเพราะไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มา 9 ปี และส.ก.มากกว่า 9 ปี ก็ตื่นเต้น จึงอยากจะเห็นคนกทม. เเละคนพัทยา ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงกันเยอะๆ เพื่อให้ความเป็นประชาธิปไตยเข้มข้นมากขึ้น

ประจวบเหมาะตรงกับวันรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็หวังว่าปีนี้จะเป็นวันเริ่มต้นใหม่ของประเทศ ที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง ดูจากบรรยากาศก็เห็นเเล้วว่า พี่น้องประชาชนรอวันนี้อยู่เช่นเดียวกัน น่าจะเป็นฟ้าใหม่ของประเทศไทย ที่มีความหวังมากขึ้น

ตนต้องขอย้ำว่า พูดในนามประชาชน ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนเเปลง โดยฝากประชาสัมพันธ์ว่า ตอนนี้ฝนตกหยุดเเล้ว ขอให้รีบมาเลือกตั้งกันเเต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะตกตอนบ่ายอีก ทั้งนี้หวังว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีแผนอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งให้ง่ายที่สุด



งงในงง! ปมสีปากกาเลือกตั้ง ปธ.กกต.พูดไม่ตรงกกต.กทม. ผวาเป็นบัตรเสีย
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7063117

งงในงง! ปมสีปากกาเลือกตั้ง ปธ.กกต.พูดไม่ตรงกกต.กทม. ผวาเป็นบัตรเสีย ประธานกกต.ชี้ต้องน้ำเงินเท่านั้น ไม่งั้นเป็นบัตรเสีย ปลัดกทม.เผยสีอะไรก็ได้

วันที่ 22 พ.ค.65 ที่โรงเรียนสวนบัว นายอิทธิพร ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พร้อมตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์ลงคะแนนเสียงว่า ในการเลือกตั้ง กทม. ในตอนนี้มี 16 คำร้องที่ยื่นเข้ามาที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องการฝ่าฝืนในมาตรา 65(5) เกี่ยวกับการหาเสียงใส่ร้าย ส่วนที่มีการยื่นศาลปกครองให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้น ตอนนี้ศาลปกครองยังไม่มีคำสั่งอะไรออกมาในคำร้องนี้ ฉะนั้น การเลือกตั้งยังเป็นเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราหวังว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 70% เพราะในครั้งที่แล้วออกมาใช้สิทธิ์ 63% ซึ่งฟ้าฝนก็เป็นปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้งกทม.และเมืองพัทยา จึงหวังว่าประชาชนจะตื่นตัวออกมาใช้สิทธิ์กันเยอะๆ
  
เมื่อถามถึงการนำปากกามายังหน่วยเลือกตั้งเอง นายอิทธิพร กล่าวว่า นำมาเองได้ แต่ขอให้นำปากกาสีน้ำเงินมาเท่านั้น ถ้านำสีอื่นมากาจะถือเป็นบัตรเสีย แต่เข้าใจว่าที่หน่วยเลือกตั้งมีการจัดเตรียมปากกาไว้หลายด้ามและทำความสะอาดอยู่เรื่อยๆตามมาตรการ
 
ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (ผอ.ลต.ทถ.กทม.) แถลงกรณีที่ประชาชนนำปากกาสีดำมาใช้นั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีข้อห้ามและไม่ได้มีการลงระเบียบ แต่ขอความร่วมมือให้ใช้สีน้ำเงิน เพื่อจะได้เห็นชัดเจน แต่จะใช้สีไหนก็ได้ อย่านำมาเป็นข้อกังวล หรือไม่ต้องนำปากกาไปด้วย ให้ไปใช้ที่หน่วยเลือกตั้ง เพราะก่อนที่จะเข้าคูหา ทุกคนจะต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อยู่แล้ว
 


ฝนทำพิษทุเรียนใต้วูบหมื่นล้าน เร่งสกัดโควิดส่งออกจีนดันราคา
https://www.prachachat.net/local-economy/news-936280
 
14 จังหวัดใต้ตั้งรับสกัดทุเรียนอ่อน-ปนเปื้อนโควิดหวั่นกระทบส่งออกจีน ผู้ว่าฯชุมพรออกมาตรการคุมล้ง-สวนทุเรียน หากฝ่าฝืน “สั่งปิด” ทันที เผยตลาดรวมพลิกล็อกปีนี้ผลผลิตวูบหนัก 70% ฝนตกดอกร่วงเสียหายนับหมื่นล้าน ฟากทุเรียนตะวันออกยังวุ่น ส่งออกวันละ 700 ตู้ แต่เจอปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน
 
ทุเรียนใต้ซัพพลายลดวูบ
 
นายวีรวัฒน์ จีรวงศ์ เจ้าของสวนทุเรียน “สวนทวีทรัพย์” ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ในฐานะนายกสมาคมชาวสวนไม้ผลจังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ทุเรียนได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมามาก ทำให้การติดผลน้อยมีปัญหาดอกร่วง ทำให้ผลผลิตลดลง 70% เหลือออกสู่ตลาด 30%
 
จากเดิมทุเรียนของชุมพรมีผลผลิต 7-8 แสนตัน แต่ปีนี้เหลือไม่ถึง 3 แสนตัน ปกติทุเรียนภาคใต้จะออกสู่ตลาดปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน และจะเริ่มออกมากขึ้นไปถึงเดือนกรกฎาคม
 
ขณะนี้ทุเรียนและมังคุดภาคตะวันออกส่งออกทางเรือวันละ 700 ตู้คอนเทนเนอร์ เพราะปัญหาเข้มงวดในการตรวจโควิด-19 ทำให้การขนส่งทางบกไม่สะดวก และติดปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์กลับมารับไม่ทัน แต่ราคาทุเรียนยังดีอยู่ ส่วนทุเรียนชุมพรคาดว่าราคาคงพุ่งถึงกิโลกรัมละ 140-150 บาท
 
“เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2565 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีการประชุมเรื่องทุเรียน และมีคำเตือนว่าอย่าเพิ่งรีบตกลงซื้อขายกับพ่อค้าที่เริ่มลงมาทางใต้แล้ว ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กรมวิชาการเกษตรได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ขอให้ลงนามคำสั่งมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการรับซื้อทุเรียน ต้องมีการตรวจ ATK ทุกคนในล้งทุก ๆ สัปดาห์
 
หากพบใครติดเชื้อต้องแยกออกไปกักตัว ที่ผ่านมาภาคตะวันออกมีหน่วยเคลื่อนที่ตรวจสอบโควิดในล้งต่าง ๆ ทั้งที่ขั้วทุเรียน กล่องที่ใช้บรรจุทุเรียน หากพบโควิดในตู้คอนเทนเนอร์ใด ไม่ให้ปิดตู้ ผู้ที่จะปิดตู้ได้คือเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ถือเป็นการคัดกรองทุเรียนต้นทาง เพราะถ้าจีนตรวจพบจะยกเลิกการนำเข้าทุเรียนจากเราทันที”
 
สำหรับปัญหาทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพนั้น ชุมพรกำหนดวันตัดทุเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป ชาวสวนจะเริ่มตัดทุเรียนเพื่อการส่งออก โดยจังหวัดจะมีการประกาศให้ทุกคนทราบเรื่องนี้
 
ทุเรียนใต้เงินหายนับหมื่นล้าน
 
ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” สถานการณ์ทุเรียนภาคใต้ในปี 2565 จากยอดประเมินไว้ที่จะได้ผลผลิตประมาณ 620,000 ตัน จากพื้นที่ปลูก 670,000 ไร่ จะขาดหายไปประมาณ 60% เท่ากับเป็นเงินเสียหายนับหมื่นล้านบาท
 
สาเหตุจากมีพายุเข้าฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นจะมีฝนทิ้งช่วงแล้วออกดอกใหม่จะให้ผลผลิตในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 จะมีทุเรียนนอกฤดูจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20%
 
สวนล้งตื่นสกัดโควิด-ทุเรียนอ่อน
 
นายปัณณพงศ์ พิสิฐเศรณี (บุตรชายของนายนิพจน์ จีนสีคง) เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของสวนทุเรียนลุงพจน์ ในพื้นที่หมู่ 12 ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ  จ.ชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนภาคใต้เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดคือประมาณปลายเดือนพฤษภาคม คาดว่าในปีนี้ทุเรียนจะให้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
 
และจากการเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด คาดการณ์ว่าผลผลิตน่าจะลดลงประมาณ 70% จากเดิมที่ในแต่ละปี ผลผลิตในชุมพรจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน
 
แต่ปีนี้อาจลดเหลือไม่ถึง 250,000 ตัน สาเหตุมาจากทุเรียนแตกยอดอ่อน เพราะฝนมาผิดจังหวะ ทำให้ดอกที่คาดว่าจะออกกลายเป็นยอดอ่อน ความชื้นของสภาพอากาศเพราะฝนตก ฟ้าปิด ไม่มีแสงแดด ทำให้ต้นทุเรียนขาดการสังเคราะห์แสง ลำต้นอ่อนแอ และเชื้อรารากเน่า โคนเน่า เข้าทำลายได้ง่ายและยืนต้นตาย
 
ผลผลิตที่ใกล้เก็บเกี่ยวจะมีการสร้างน้ำตาลในผลทุเรียน ทำให้เชื้อราที่แฝงอยู่ในท่ออาหารวิ่งเข้าสู่ผล ทำให้เกิดการเน่าและร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก เมื่อผลผลิตน้อยลงจะทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท แต่ปีนี้ราคาคงขยับขึ้นไปเป็นประมาณกิโลกรัมละ 140-160 บาท
 
ส่วนกรณีที่ประเทศจีนเคยตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในทุเรียนของภาคตะวันออก ทำให้บรรดาล้งทุเรียนใน จ.ชุมพร รวมทั้งจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้มีการตื่นตัวและเข้มงวดกวดขันมาก โดยแต่ละล้งต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบทุเรียนต้นทางก่อนส่งให้ล้งรับซื้อ ซึ่งสมาพันธ์ผู้ส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการให้สมาชิกทุกคนถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะหากมีการพบว่าทุเรียนมีเชื้อโควิด-19 แม้แต่ล้งเดียว จะกระทบกันหมดทั้งระบบ
 
สำหรับปัญหาทุเรียนอ่อนในปีนี้ จังหวัดชุมพรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นแถว จ.จันทบุรี ซึ่งพบทุเรียนอ่อน โดยมีการคาดโทษผู้รับซื้อและส่งออกทุเรียนว่า หากมีการตรวจพบว่ามีทุเรียนอ่อนในผู้ประกอบการรายใดจะมีการขึ้นบัญชีดำ (black list) เอาไว้
 
หากพบอีกเป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ก็มีโทษหนักถึงขั้นปิดล้ง หรือจุดรับซื้อนั้น ๆ ไปเลย บางล้งรับซื้อทุเรียนแล้วพบว่ามีทุเรียนอ่อนปะปนมา ก็พยายามจะระบายทุเรียนอ่อนนั้นออกเพราะถือเป็นต้นทุน แต่ลืมคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของทุเรียนส่งออกมาก ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนจะต้องมีใบรับรองมาตรฐาน (GAP) และใบรับรองการตรวจแป้งในทุเรียนที่ออกโดยเจ้าหน้าที่เกษตร
 
ชุมพรผนึก 14 จังหวัดออกกฎเข้ม
  
นายอุดมพร เสือมาก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร (ศวพ.ชุมพร) สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) กรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในพื้นที่ภาคใต้จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่มีล้งเข้ามาตั้งจุดรับซื้อทุเรียนมากที่สุด 421 แห่ง ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง ศวพ.ชุมพร ได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมหารือกับสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานต่าง ๆ ของจังหวัดชุมพร โดยมีนายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธาน
 
เพื่อวางแผนควบคุมและป้องกันไม่ให้มีทุเรียนอ่อน และเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนไปในทุเรียนที่ส่งออก เช่นเดียวกับที่จังหวัดจันทบุรีดำเนินการ ที่ประชุมได้ข้อสรุปโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกกำหนดวันทุเรียนอย่างเป็นทางการเป็นคร้งแรก ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565
 
นอกจากนี้ เตรียมออกคำสั่งจังหวัดชุมพรเรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ทั้งนี้ ทาง สวพ.7 และ สวพ.8 ซึ่งรับผิดชอบ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง 14 จังหวัดในภาคใต้ให้ปฏิบัติไปในทางเดียวกัน
 
เช่น 
 
1. ล้งที่จะเปิดดำเนินกิจการได้ต้อง “ผ่าน” การประเมินจากศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) ในพื้นที่ และ สวพ.7 เท่านั้น 
 
2. ก่อนล้งเปิดดำเนินการต้องตรวจ ATK ทุกคน รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่พักอาศัยร่วมกัน และทุก 7 วันต้องสุ่มตรวจ ATK ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ให้กับกลุ่มแรงงานทุกคนในล้ง 
 
3. กรณีแรงงานเดินทางมาจากจังหวัดอื่น ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
  
4. กรณีแรงงานจะเคลื่อนย้ายไปอำเภออื่น ต้องตรวจ ATK และมีผลตรวจหาเชื้อเป็นลบ ภายในไม่เกิน 7 วัน 5.หากพบเชื้อโควิด-19 ในล้ง ต้องแยกกักตัว ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในล้ง กรณีที่มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ จะพิจารณา “สั่งปิด” สถานประกอบการไม่เกิน 15 วัน ทั้งนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ) จัดชุดปฏิบัติการระดับตำบล/หมู่บ้าน ในการตรวจสอบล้ง หรือสวนผลไม้ในพื้นที่ทุก 7 วัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่