มอเตอร์ไซค์ ตัวปัญหาที่ไม่ควรได้สิทธิ์และควรถูกมองข้าม หรือจำเลยของการบริหารที่ไม่ตรงจุดและไม่(เคย)มีนโยบายรองรับ

คนไทยหลายๆคนอาจจะมองว่า มอเตอร์ไซค์ นั้นเป็นรถที่ขับผิดกฎจราจรเยอะ เป็นรถที่ก่อปัญหาการจราจรบนท้องถนนบ่อย เป็นตัวร้ายบนท้องถนน ชอบฝ่าฝืนใช้ทางห้ามนู่นนี่นั้น ทำไมไม่ขับรถตามเลนซ้ายของตัวเองมันยากนักเหรอ 

วันนี้ผมนำบทความจาก 101Public policy insights ที่มีข้อมูลจากการลงลึกถึงปัญหาต่างๆที่ จยย.ต้องเจอ และความสัมพันธ์ในสังคมไทยปัจจุบัน ในสิ่งที่มุมมองของเราๆด้านนอกมองเห็นแค่ว่า พวกเขา คือพาหนะที่เป็นตัวปัญหาบนท้องถนน

กรุงเทพฯ นั้นมีมอเตอร์ไซค์จดทะเบียนสะสม ตามข้อมูล 30 เม.ย 2565 ราวๆ 4.1 ล้านคัน หรือประมาณ 36% ของจำนวนรถทุกประเภทที่ใช้ทะเบียนกรุงเทพฯ ทั้งหมด การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีปริมาณสูงถึง 8.3 ล้านเที่ยวต่อวัน มีวินมอเตอร์ไซค์เกือบ 5.6 พันวิน และมีคนขับวินมอเตอร์ไซค์จดทะเบียน 8.5 หมื่นคน แต่ประมาณการว่าจำนวนคนขับวินมอเตอร์ไซค์จริงๆที่รวมคนไม่อยู่ในระบบด้วย อาจสูงถึง 2 แสนคน และวิ่งให้บริการผู้โดยสารรวมกันประมาณ 4-5 ล้านเที่ยวต่อวัน นอกจากขนคนแล้ว มอเตอร์ไซค์ยังเป็นพาหนะที่ถูกใช้ขนของและสินค้าต่างๆ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีสถิติทางการว่าปริมาณการใช้มอเตอร์ไซค์ในด้านนี้มีมากเท่าใด แต่จากการเติบโตของตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่ในปี 2020 มีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ของมูลค่าการค้าปลีกในประเทศ และการขยายตัวของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีที่ในปี 2021 มีมูลค่าสูงขึ้น 46.4% อาจอนุมานได้ว่ามอเตอร์ไซค์จะต้องมีบทบาทด้านนี้อย่างกว้างขวาง เป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจและชีวิตเมืองขับเคลื่อนไปได้

กรุงเทพฯ บังคับให้คนใช้มอเตอร์ไซค์…

การใช้มอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ อย่างแพร่หลายข้างต้น เกิดขึ้นจากความจำเป็นที่มหานครแห่งนี้วางเงื่อนไขไว้ไม่ให้คนกรุงมีทางเลือกในการเดินทางขนส่งอื่นมากนัก โดยเงื่อนไขสำคัญๆคือ

1.กรุงเทพฯ เป็นนครแห่งซอย: โครงข่ายถนนของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยตรอกซอกซอยที่ตัน แคบ และลึกจำนวนมาก จากการศึกษาของ UddC Urban Insights ถนน 45% ของกรุงเทพฯ เป็นซอยตัน ยิ่งไปกว่านั้น ซอยในกรุงเทพฯ ยังมีความกว้างเฉลี่ยเพียง 5.9 เมตร และส่วนมากลึกเกินกว่าระยะเดิน 10 นาที คนกรุงเทพฯ จึงไม่สามารถเดินเท้าเข้า-ออกซอยเพื่อเชื่อมต่อไปยังสถานีขนส่งสาธารณะและปลายทางอื่นได้เหมือนประชาชนในเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก 

2.ระบบขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง: กรุงเทพฯ มีโครงข่ายขนส่งสาธารณะสายหลักไม่ครอบคลุม อีกทั้งยังขาดโครงข่ายสายรองที่เชื่อมระหว่างสถานีของสายหลักกับต้นทางแรกและปลายทางสุดท้าย โดยเฉพาะกับปลายทางในพื้นที่ซอย ซึ่งขยายโครงข่ายเข้าไปได้ลำบากเนื่องจากลักษณะของซอยที่ตันและแคบ ลองนึกดูว่าจะมีสักกี่ซอยในกรุงเทพฯ ที่รถเมล์ผ่านเข้าไปได้? และแม้จะนำรถเมล์หรือรถอื่นเข้าไปได้ แต่ซอยนั้นตัน ก็อาจกำหนดเส้นทางเดินรถให้ตรงความต้องการและมีประสิทธิภาพได้ยาก
ป็นพื้นที่ซึ่งคนเดินออกมาก็ไม่ไหว จะเห็นได้ว่าพื้นที่ซอยของกรุงเทพฯ รถสาธารณะก็เข้าไปได้จำกัด ดังนั้น มอเตอร์ไซค์ทั้งส่วนตัวและรับจ้าง รวมถึงรถสองแถวและรถกะป้อ จึงได้ถือกำเนิดเข้ามาเติมเต็มช่องว่างเป็นระบบคมนาคมขนส่งระดับเส้นเลือดฝอยที่เชื่อมโยงให้ผู้คน-สินค้า-ความคิดสามารถไหลเวียนจากต้นทางไปถึงปลายทางได้

3.วิธีเดินทางอื่นนานและแพง: กรุงเทพฯ เป็นเมืองรถติด ในปี 2019 ก่อนวิกฤตโควิด คนกรุงต้องใช้เวลานั่งรถบนถนนมากกว่าที่ควรจะเป็นโดยเฉลี่ย 53% (หมายความว่าในเส้นทางที่ควรนั่งรถเพียง 100 นาที ต้องนั่งจริง 153 นาที) สูงสุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโครงข่ายถนนที่เต็มไปด้วยซอย ซึ่งบังคับให้รถต้องมาวิ่งอัดกันบนถนนสายหลักไม่กี่สาย ฉะนั้น มอเตอร์ไซค์ที่สามารถขี่แทรกตัวผ่านการจราจรติดขัดได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนกรุงในยามเร่งรีบ
ยิ่งไปกว่านั้น ค่าโดยสารขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าและรถแท็กซี่ ยังสูงมาก ขณะที่รถนั่งส่วนบุคคลก็มีราคาแพง หลายคนจึงใช้บริการหรือซื้อไม่ไหว มอเตอร์ไซค์ที่ค่าโดยสารถูกกว่าแท็กซี่ หรือหากซื้อก็มีราคาเริ่มต้นเพียง 4-5 หมื่นบาทจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับหลายคนมากกว่า
ในระยะยาว ชีวิตกรุงเทพฯ จะยังคงขาดมอเตอร์ไซค์ไปไม่ได้ เพราะเงื่อนไขข้างต้นหลายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น แม้ สนข. จะคาดการณ์ว่าการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลจะลดปริมาณลงเหลือ 5.2 ล้านเที่ยวต่อวัน หรือคิดเป็น 13.0% ของจำนวนเที่ยวเดินทางทั้งหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2042) แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงที่ให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน (ride-hailing) และร่วมโดยสาร (ride-sharing) ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคงบทบาทเป็นระบบคมนาคมขนส่งระดับเส้นเลือดฝอยที่สำคัญยิ่งต่อไปในอนาคต

…แต่กรุงเทพฯ ไม่เอื้อให้คนใช้มอเตอร์ไซค์

ถึงแม้มอเตอร์ไซค์จะสำคัญจำเป็นสำหรับชีวิตคนกรุงเทพฯ จำนวนมาก แต่มหานครแห่งนี้กลับไม่เอื้อให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ได้มีสิทธิบนท้องถนน และมีคุณภาพในการเดินทางที่ดีเสมอหน้ากับผู้ใช้พาหนะอื่น โดยต้องเผชิญปัญหาใหญ่ๆ 4 เรื่องดังนี้

1.ถนนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง: ในปี 2020 มีมอเตอร์ไซค์เกิดอุบัติเหตุทางถนน(ที่มีการบันทึกไว้)ในกรุงเทพฯ 1.4 หมื่นคัน เฉลี่ย 40 คันต่อวัน คิดเป็น 19.9% ของจำนวนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด และเป็นประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากรถยนต์นั่ง (20.6%) อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ยังมักรุนแรงและส่งผลให้ผู้ขับขี่เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ขับขี่พาหนะอื่น โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2017-2021) 71.3% ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งหมดในกรุงเทพฯ เกิดกับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ และ 41% เกิดจากความประมาทของฝ่ายรถยนต์ ถือเป็นอัตราที่สูงสุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

2.ถูกห้ามใช้ถนนหลายประเภทหนึ่งในมาตรการที่รัฐนำมาใช้เพื่อลดอุบัติเหตุคือการกีดกันมอเตอร์ไซค์ออกไปจากท้องถนนราวกับเป็นตัวร้าย-ตัวอันตราย ที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุทั้งหมด โดยมอเตอร์ไซค์ถูกห้ามใช้สะพานและอุโมงค์สำคัญกว่า 45 แห่ง ทางหลักของถนนที่มีทางคู่ขนานหลายสาย ตลอดจนทางด่วนและทางหลวงพิเศษ นอกจากนี้ ถนนสายหลักในหลายพื้นที่ยังให้มอเตอร์ไซค์วิ่งเฉพาะในเลนซ้ายสุดร่วมกับรถจอดข้างทาง รถเมล์ และรถที่ความเร็วต่ำอื่นๆ ส่งผลให้มอเตอร์ไซค์เดินทางได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร
จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์คนขับวินมอเตอร์ไซค์ คนขับท่านหนึ่งเล่าเกี่ยวกับมาตรการห้ามใช้ทางหลักของถนนวิภาวดีรังสิตและให้ใช้เฉพาะทางคู่ขนานว่า ขับขี่ยาก เสี่ยงอุบัติเหตุ และต้องเสียเวลาเดินทางมากกว่า เพราะทางคู่ขนานมีทางแยกหรือจุดตัดเยอะ สำหรับคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้ใช้ถนนสายนี้เป็นประจำ การขับขี่บนทางคู่ขนานยังเพิ่มโอกาสในการหลงทาง ส่งผลให้การเดินทางล่าช้าและไม่สะดวกยิ่งขึ้นไปอีก หลายคนจึงเลือกขับขี่บนทางหลัก แม้จะทราบว่าผิดกฎหมายและเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับปรับก็ตาม
คำอธิบายยอดนิยมในการห้ามใช้ถนนข้างต้นคือ “ถนนไม่ได้ออกแบบมาสำหรับมอเตอร์ไซค์” ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นความจริงและเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจริง แต่ก็นับเป็นตลกร้ายที่รัฐสร้างถนนด้วยเงินภาษีของทุกคนเพื่อให้เพียงบางคนใช้ได้ ปล่อยให้รถเกือบ 40% ในมหานครแห่งนี้ไม่มีท้องถนนในการขับขี่ที่ปลอดภัยและเหมาะสม แล้วใช้คำกล่าวนี้เป็นข้ออ้างในการกีดกันพวกเขาออกไป โดยไม่เคารพสิทธิของพวกเขา และไม่คำนึงถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่รัฐสร้างขึ้นมาเอง
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

3.ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในยามฝนตก/อากาศไม่เอื้อต่อการขับขี่: กรุงเทพฯ มีวันฝนตกเฉลี่ยสูงถึงปีละ 130 วัน แต่กลับไม่มีที่หลบฝนที่เหมาะสมสำหรับมอเตอร์ไซค์ ปล่อยให้พวกเขาต้องเดินทางต่ออย่างทนเปียกทนหนาวหรือหาที่หลบตามยถากรรม เช่น ตามสถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ และสถานที่อื่นของเอกชน ซึ่งบางครั้งก็มิได้เต็มใจให้ใช้สถานที่นัก
ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ การจอดหลบฝนบนไหล่ทาง เลนซ้ายสุด และเลนขวาสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุโมงค์และบริเวณใต้สะพาน ใต้สถานีรถไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งใต้สะพานลอยคนข้ามแคบๆ ที่แทบจะช่วยบังฝนไม่ได้ การจอดหลบแบบนี้ถือว่าอันตรายมากต่อทั้งผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์เองและผู้ใช้พาหนะอื่น อีกทั้งยังกีดขวางพื้นผิวจราจร ซ้ำเติมปัญหาการจราจรติดขัดในยามฝนตก
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

4.ไม่มีที่จอดที่เหมาะสม: สถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ มักไม่มีที่จอดมอเตอร์ไซค์อย่างเพียงพอ หรือหากมี หลายครั้งก็ไม่เหมาะสำหรับการจอด เช่น ไม่มีที่บังฝน แคบเกินไป มีทางวิ่งที่อันตราย และขาดระบบรักษาความปลอดภัย
ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากกฎหมายควบคุมอาคารทั้งในระดับชาติและระดับกรุงเทพฯ มิได้กำหนดให้อาคารต้องมีที่จอดมอเตอร์ไซค์ ที่ได้มาตรฐานดังเช่นที่กำหนดไว้สำหรับรถยนต์ ถึงที่สุดแล้ว มอเตอร์ไซค์จึงต้องไปจอดกีดขวางพื้นผิวจราจรหรือในที่ห้ามจอด เสี่ยงอุบัติเหตุ ถูกล็อกล้อ-ยกรถ และถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองใช้เป็นเหตุแห่งการรีดไถ
คนขับวินมอเตอร์ไซค์อีกท่านหนึ่งที่ 101 PUB พูดคุยด้วยเล่าว่า ในช่วงหลายปีมานี้ มอเตอร์ไซค์หาที่จอดยากมากขึ้น เพราะที่ที่เคยจอดได้ทั้งในสถานที่ของรัฐและเอกชนถูกกำหนดเป็นพื้นที่ห้ามจอดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมิได้จัดให้มีที่จอดทดแทน ครั้งหนึ่ง เขาขี่พาคนไข้ฉุกเฉินในครอบครัวไปส่งโรงพยาบาลในย่านบางกอกน้อย แต่หาที่จอดไม่ได้ จึงต้องจอดชั่วคราวหน้าอาคารโรงพยาบาลเพื่อนำคนไข้เข้าไปส่งก่อน แต่เมื่อกลับออกมา ก็พบว่ามอเตอร์ไซค์ถูกล็อกล้อและต้องเสียค่าปรับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

***ต่อตอนที่ 2
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่