แนะผู้ปกครองนำโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ให้ปลอดภัย

แนะผู้ปกครองนำโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ให้ปลอดภัย
28 มีนาคม 2555

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ปกครองนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย  หากเป็นทารกให้ใช้เป้หรือถุงจิงโจ้พยุงตัวเด็ก จัดเก็บผ้าที่ห่อตัวเด็กให้เรียบร้อยก่อนที่รถจะเคลื่อนตัว เพื่อป้องกันชายผ้าถูกเกี่ยวหรือพันเข้าไปในโซ่ล้อรถ  ทำให้เด็กพลัดตกจากรถ  

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า  เหตุการณ์อุบัติเหตุเด็กทารกเข้าไปติดในซี่ล้อรถจักรยานยนต์สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก  ซึ่งบ่อยครั้งมักได้ยินข่าวเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ผู้ปกครอง  เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีนำเด็กโดยสารรถอย่างปลอดภัย ดังนี้  รถจักรยานยนต์  ห้ามนำเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 เดือนโดยสารรถจักรยานยนต์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของเด็กยังไม่แข็งแรง หากเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต กรณีที่จำเป็นต้องนำเด็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรใช้เป้หรือถุงจิงโจ้แทนการอุ้ม เพราะจะทำให้มีมือประคองตัวเด็กและทรงตัวได้ดี จึงช่วยป้องกัน         เด็กพลัดตกจากรถ  กรณีใช้ผ้าห่อตัวเด็ก  ควรจัดเก็บชายผ้าให้เรียบร้อยก่อนที่รถจะเคลื่อนตัว  เพิ่มความระมัดระวังมิให้ชายผ้าเกี่ยวเข้าไปในซี่ล้อรถหรือโซ่ล้อรถรถจักรยานยนต์ในขณะที่รถกำลังวิ่ง เพราะหากชายผ้าถูกเกี่ยว จะทำให้เด็ก
ถูกกระชากตกจากรถ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัย ควรนำแผ่นโลหะหรือพลาสติกปิดกั้นบริเวณซี่ล้อรถจักรยานยนต์ 

รถยนต์  จัดให้เด็กนั่งที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก (infant seat) ซึ่งมีความเหมาะสมกับวัยและน้ำหนักของเด็ก ดังนี้ เด็กแรกเกิด – 1 ปี (น้ำหนักน้อยกว่า 10 กก.) ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบหันไปด้านหลังรถเด็กอายุ 1 – 5 ปี (น้ำหนัก 10 – 18 กก.) ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบหันไปด้านหน้ารถตามปกติ เด็กอายุ 5 - 10 ปี (น้ำหนัก 18 - 28 กิโลกรัม) ให้ใช้เบาะนั่งนิรภัยแบบที่นั่งเสริม เพื่อยกตัวเด็กให้สูงพอที่จะคาดเข็มขัดนิรภัย กรณีไม่มีที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ควรให้เด็กนั่งบริเวณเบาะหลังรถ  ไม่ควรให้เด็กนั่งบริเวณเบาะด้านหน้ารถ หากจำเป็นต้องเลื่อนเบาะไปทางด้านหลังให้มากที่สุด ที่สำคัญ ห้ามนำเด็กนั่งตักผู้ขับขี่ในขณะขับรถอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ขับขี่ไม่มีสมาธิในการขับรถแล้ว เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินยังทำให้เด็กได้รับอันตรายจากการกระแทกกับพวงมาลัยรถ  ถุงลมนิรภัย กระจกหน้ารถ หรือพุ่งออกนอกรถ จนได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ท้ายนี้  ผู้ปกครองควรให้เด็กใช้อุปกรณ์นิรภัยในขณะโดยสารยานพาหนะทุกครั้ง  หากประสบอุบัติเหตุจะช่วยลดอัตราบาดเจ็บและเสียชีวิต

 https://www.thaihealth.or.th/Content/3931-%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่