JJNY : ชาวอมก๋อยแฉทีมทำEIAมั่ว│ขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หวั่นฉุดศก.ฟื้นช้า│‘หลวงพ่อพบโชค’ช่วยเกษตรกร│‘พรรคเล็ก’ชั่งใจร่วมวง

ชาวอมก๋อย 8 หมู่บ้าน ประชุมค้าน โครงการผันยวม แฉทีมจัดทำอีไอเอมั่ว อ้างชื่อชาวบ้าน
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6936840

ชาวอมก๋อย 8 หมู่บ้าน ประชุมค้าน โครงการผันยวม แฉทีมจัดทำอีไอเอมั่ว อ้างชื่อชาวบ้านใส่ในรายงาน แถมขู่ยึดที่ดิน หลายชุมชนเตรียมจัดงานวันหยุดเขื่อนโลก 14 มี.ค.

วันที่ 12 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค.65 ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จัดประชุมเพื่อหารือถึงกรณีที่โครงการผันน้ำยวม (โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม) ของกรมชลประทาน และโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงลำพูน-สบเมย ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะผ่านพื้นที่หลายหมู่บ้านในเขต อ.อมก๋อย

โดยมีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ประธานสภาอบต. จาก 8 หมู่บ้านเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเยาวชน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึง นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด อ.ฮอด ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการเข้าร่วมหารือด้วย
 
ทั้งนี้ที่ประชุมได้วิพากษ์วิจารณ์ทั้ง 2 โครงการอย่างกว้างขวาง โดยทั้งหมดต่างรู้สึกกังวลใจเนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างแท้จริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในรายละเอียด และชาวบ้านต่างก็หวั่นเกรงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากทั้งสองโครงการขนาดใหญ่นี้จะทำลายผืนป่าผืนใหญ่และทับที่ทำกินของชาวบ้าน
 
ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงซึ่งไม่เข้าใจภาษาไทย แต่กลับถูกบางหน่วยงานแอบอ้างชื่อในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ดังนั้นทั้งหมดจึงไม่ต้องการโครงการดังกล่าว
 
ขณะที่ นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด เล่าถึงการที่ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในตำบลนาคอเรือทั้งหมด ร่วมกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำยวมโดยได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพราะการทำอีไอเอที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
 
นายพิบูลย์ ธุวมณฑล เครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาในพื้นที่บ้านแม่สอใต้ เพื่อสำรวจที่ดิน แล้วบอกว่าชาวบ้านว่าโครงการนี้ไม่สามารถคัดค้านได้ และบอกอีกว่าหากชาวบ้านที่เป็นเจ้าของนาไม่ยอมเซ็นก็จะโดนยึดที่นาไปฟรีๆ แต่เมื่อชาวบ้านถามว่าจะมีการเยียวยาผลกระทบอย่างไรก็ตอบชาวบ้านไม่ได้
 
นายมามุย ชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่สอ กล่าวว่ามีคนของทางการมาแจ้งที่ดินของตนซึ่งมีอยู่ราว 10 ไร่ซึ่งเป็นที่ดินมรดกจากบิดา จะต้องถูกนำดินมาถมเป็นกองดินพร้อมๆกับที่ดินของเพื่อนบ้านอีก 3 รายรวมเป็น 40 ไร่เนื่องจากจะต้องขุดอุโมงค์โครงการผันน้ำยวม
 
เมื่อตนถามถึงค่าชดเชยหรือรายละเอียดก็ไม่ได้รับคำตอบ พร้อมกันนั้นบุคคลกลุ่มดังกล่าวได้ขู่ว่าหากไม่เซ็นชื่อก็จะถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ในที่สุดตนจึงยอมเซ็นชื่อโดยที่ยังแทบไม่รู้ข้อมูลใดๆ
 
นายวังเปา ชาวบ้านห้วยส้มกล่าวว่า คนของทางการกลุ่มหนึ่งได้มาหาตนเช่นกันและต้องการที่ดินทำกินที่มีอยู่ 7 ไร่ ไปทำเป็นกองดินของโครงการผันน้ำ แต่ตนไม่ยอมเซ็นชื่อเพราะไม่แน่ใจในกลุ่มคนดังกล่าว พวกเขาจึงเซ็นชื่อแทนตน
 
“ผมขอยืนยันว่าไม่ให้ที่ดินไปทำกองดินแน่ ต่อให้จ่ายค่าชดเชยเท่าไรก็ไม่เอาเพราะที่ดินผืนนี้เป็นมรดกที่พ่อแบ่งให้ไว้ทำมาหากกิน เราได้เงินมาเดี๋ยวก็หมดไป แต่ที่ดินเราสามารถทำกินได้ไปถึงลูกหลาน” นายวังเปา กล่าว
 
ขณะที่ผู้นำหมู่บ้านกะเบอะดิน กล่าวว่าจุดกองดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ ที่บ้านตุงลอย ในอีไอเอที่มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดทำระบุว่าจะใช้พื้นที่ร้อยกว่าไร่ แต่ข้อมูลที่มีอยู่กลับไม่ตรงกัน ทำให้ชาวบ้านหวั่นใจมาก
 
“โครงการก่อสร้างสายไฟฟ้าแรงสูงและอุโมงค์ผันน้ำ ผู้นำชุมชนของเราพอทราบข้อมูลบ้าง แต่ชาวบ้านในชุมชนอื่นแทบไม่รู้ข้อมูลโครงการใดๆ เลย มีอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร เอาแผนที่เข้ามาสำรวจ แต่ชาวบ้านไม่รู้ว่า เขารับทำ EIA จากกรมชลประทาน เมื่อมีคนไปเก็บข้อมูลที่หมู่บ้าน แต่ได้พบแค่พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลด้วย เจ้าหน้าที่ที่มาเก็บข้อมูลเขาก็บอกว่าไม่ใช่กรมชลประทาน แต่รับคำสั่งมาให้ทำงานมาถามชาวบ้านมาเก็บข้อมูลเท่านั้น” ตัวแทนเยาวชนหมู่บ้านกะเบอะดิน กล่าว
 
นายคัมภีร์ สมัยอาทร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย กล่าวว่าถ้าโครงการใดจากส่วนกลางเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ไม่มีปัญหา แต่โครงการผันน้ำยวมส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเพราะจะมีกองดินขนาดใหญ่ทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ขณะที่โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านก็ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน
 
นอกจากนี้เรื่องความเชื่อทางจิตวิญญาณโดยชาวบ้านกะเหรี่ยงมีข้อห้ามเกี่ยวกับการผันน้ำข้ามลุ่มเพราะแม่น้ำทั้งสองไม่ถูกกัน หากเอามารวมกันจะทำให้ผีน้ำโกรธและชาวบ้านจะมีปัญหาสุขภาพและเสียชีวิต ดังนั้นโครงการดังกล่าวจึงท้าทายความเชื่อดังกล่าว ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วย
 
“หน่วยงานราชการต้องมาทำความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างแท้จริงเพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูล หลายหมู่บ้านที่ทั้ง 2 โครงการผ่าน ยังไม่ทราบเลยว่าจะโดนอะไรบ้าง ควรมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ไม่ใช่มาถ่ายภาพกันแชะๆ แล้วไปเขียนในอีไอเอว่าได้ไปสอบถามชาวบ้านมาแล้ว”   นายก อบต.อมก๋อย กล่าว
 
ทั้งนี้โครงการผันน้ำยวม กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีการร้องเรียนในประเด็นการขาดมีส่วนร่วมและการใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในการจัดทำ EIA
อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดทำโครงการเพิ่มอีก คือโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก
 
ล่าสุดมีผู้นำชุมชนบางส่วนได้รับจดหมายจากโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม ระบุว่ากรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ และอีก 2 บริษัททำโครงการโดยได้กำหนดให้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการและสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามผู้นำชุมชนในหลายหมู่บ้านได้ประกาศว่าไม่ต้องการให้หน่วยงานรับจ้างเหล่านี้เข้าพบเนื่องจากได้ยื่นร้องเรียนไปยัง กมธ. และกสม. แล้ว
 
อนึ่งในวันที่ 14 มีนาคม 2565 ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวินจะร่วมกันจัดงานเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลกขึ้นที่ริมแม่น้ำยวมบริเวณหมู่บ้านแม่เงา เพื่อแสดงออกว่าชาวบ้านไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมตามโครงการผันน้ำของกรมชลบประทาน



จับสัญญาณความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน หวั่นฉุด ศก.ไทยฟื้นช้ากดต่ำกว่า 3% เปิด 3 ช่องทางส่งผลกระทบหลัก
https://siamrath.co.th/n/330380

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ภายหลังจากผู้นำยูเครนแสดงเจตนารมณ์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ผู้นำรัสเซียอย่างยิ่ง และแม้ว่าทั้งสองฝ่ายพยายามหันหน้าเจรจาสงบศึกกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง และล่าสุดวานนี้ (วันที่ 10 มี.ค.) แต่การเจรจาทางการทูตกลับยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากยูเครนยังไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดของรัสเซีย นั่นคือ ยูเครนจะต้องปลดอาวุธและยอมรับสถานะเป็นกลางไม่ฝักไฝ่ฝ่ายใด รวมถึงยูเครนจะต้องรับรองว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และจะต้องให้การรับรองภูมิภาค Donbas เป็นรัฐอิสระ ส่งผลให้รัสเซียยังคงเดินหน้าโจมตียูเครนเพื่อกดดันให้ทำตามข้อเรียกร้อง ขณะที่ชาติตะวันตกก็ยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียรุนแรงกว่าวิกฤตความขัดแย้งบนคาบสมุทรไครเมีย ไม่ว่าจะเป็นการปิดน่านฟ้ายุโรปห้ามเครื่องบินของสายการบินในรัสเซียบินผ่านการระงับการดำเนินการด้านทรัพย์สินของ ปธน.รัสเซีย และเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเฉพาะมาตรการปิดกั้นธนาคารบางแห่งของรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT และการคว่ำบาตรสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่
 
ทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวอย่างรุนแรง
 
ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก หลังชาติพันธมิตร NATO พยายามพุ่งเป้าไปที่แหล่งรายได้หลักของรัสเซียอย่างการลดการนำเข้าพลังงาน เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ประกาศใช้ไปแล้วในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้รัสเซียหยุดรุกรานยูเครนได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทั้งหมดของรัสเซีย ขณะที่อังกฤษประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ เช่นเดียวกับยุโรปที่มีแผนจะลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียราว 2 ใน 3 ภายในปีนี้ ซึ่งนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานในยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย) ด้วยกำลังการผลิตที่มากถึง 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวที่รุนแรงขึ้น และกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ดีดตัวขึ้นสูงเกิน 130 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับราคาสัญญาก๊าซธรรมชาติล่วงหน้าของยุโรป (Dutch TTF) ที่เพิ่มขึ้นจาก 82 ยูโรต่อเมกะวัตต์ จนไปแตะระดับ 227 ยูโรต่อเมกะวัตต์ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
 
นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรและอาหารก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการถูกรุกรานในยูเครนที่ยาวนานทำให้เริ่มเกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศรุนแรงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลยูเครนระงับการส่งออกชั่วคราวในกลุ่มเนื้อสัตว์ ข้าวไรย์ ข้าวโอ๊ต บัควีท น้ำตาล ข้าวฟ่าง และเกลือ ขณะที่การส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพด สัตว์ปีก ไข่ และน้ำมัน จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงเศรษฐกิจเท่านั้น1 เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศห้ามส่งออกสินค้าและธัญพืชรวมกว่า 200 ชนิดไปจนถึงสิ้นปี 20222 ซึ่งหากความขัดแย้งยังคงยืดเยื้อต่อไป นอกจากจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ยังกดดันต้นทุนสินค้าในห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร เช่น น้ำมันสำหรับประกอบอาหาร น้ำเชื่อมข้าวโพด อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามอีกด้วย
 
แน่นอนว่ารัสเซียเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน
 
คาดเศรษฐกิจรัสเซียปีนี้อาจหดตัวถึง 7% ที่ผ่านมา รัสเซียพยายามลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติในหลายมิติ ทั้งเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่ลดลงกว่า 30% การระดมทุนผ่าน Eurobond และขนาดเงินทุนสำรองในรูปของดอลลาร์ฯ ที่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2014 แต่การตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็กระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ไม่น้อย โดย Goldman Sachs3 ประเมินว่า เศรษฐกิจรัสเซียปีนี้คาดว่าจะพลิกกลับมาหดตัว 7% (จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2%) ขณะที่เงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นไปถึง 17% (จากที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5%) นอกจากนี้หากการคว่ำบาตรครอบคลุมไปถึงการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็น 50% ของการส่งออก หรือ 1 ใน 3 ของรายได้ของรัฐบาลรัสเซีย ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเมืองของรัสเซียรุนแรงยิ่งขึ้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่