JJNY : ป่วยใหม่14,822 เสียชีวิต20│“หมอธีระ”เตือนโอมิครอนติดเชื้อซ้ำสูง│ส.อ.ท.หวั่นน้ำมันแพงไม่หยุด│สภาประลองกำลังเดือด!

เกินหมื่นอีกวัน ไทยป่วยโควิดใหม่ 14,822 ราย เสียชีวิต 20 ราย ป่วย ATK อีก 7,754 ราย
https://www.matichon.co.th/local/news_3176344

เกินหมื่นอีกวัน ไทยป่วยโควิดใหม่ 14,822 ราย เสียชีวิต 20 ราย สะสม 322,438 ราย

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศูนย์ข้อมูลโควิด 19 เผยแพร่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 14,822 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 14,576 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 246 ราย ผู้ป่วยสะสม 322,438 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)
หายป่วยกลับบ้าน 8,503 ราย หายป่วยสะสม 249,886 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 105,129 ราย
เสียชีวิต 20 ราย นอกจากนี้ มีผู้ป่วยจากการตรวจเอทีเค 7,754 ราย



“หมอธีระ” เตือน โอมิครอน มีอัตราการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์เดิม
https://www.nationtv.tv/news/378863383

“หมอธีระ” เตือนโอมิครอน ในเดือนก.พ. มีจำนวนการติดเชื้อต่อวันในระดับสูงกว่าช่วงขาลงของระลอกก่อน จำนวนผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจะสูงขึ้น และการติดเชื้อในกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมากขึ้น

 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุข้อความว่า 
 
10 กุมภาพันธ์ 2565 ทะลุ 403 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,298,201 คน ตายเพิ่ม 10,132 คน รวมแล้วติดไปรวม 403,304,053 คน เสียชีวิตรวม 5,792,980 คน
 
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล อเมริกา และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.4 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.3

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.24 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 34.43 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
 
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก  ภาพรวมการระบาดของ Omicron ทั่วโลก หลายทวีปเป็นขาลง ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา (รูปที่ 1) 

ทั้งนี้ทวีปเอเชียชะลอตัว ยกเว้นหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังอยู่ในขาขึ้นชัดเจน รวมถึงประเทศไทยด้วย (รูปที่ 2)
 
คาดการณ์ไตรมาสสองของปี 2565 หลังพีคระลอก Omicron ในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าขาลงของไทยจะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันในระดับสูงกว่าช่วงขาลงของระลอกก่อน ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็น

การติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันในช่วงไตรมาสสอง หากพิจารณาจากธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศ อาจเห็นสองลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นถ้าไม่ป้องกันให้ดี คือ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ (reinfection) จะสูงขึ้น และการติดเชื้อในกลุ่มประชากรที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมากขึ้นได้

ซึ่งทั้งสองลักษณะนั้นก็ไม่ได้ทำให้แปลกใจ เพราะสอดคล้องกับความรู้ที่มีอยู่เดิมว่า ไวรัสสายพันธุ์ Omicron นั้นหลบหลีกภูมิได้มาก และมีอัตราการทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์เดิม
 
ทั้งนี้สายพันธุ์ BA.2 ที่กลายพันธุ์และเป็นที่จับตามองกันอยู่นั้น ข้อมูลขณะนี้พบว่าแพร่เร็วกว่า Omicron ดั้งเดิมคือ BA.1 แต่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่น่าจะต่างจากเดิม และอัตราการติดเชื้อซ้ำนั้นไม่ได้มากไปกว่า BA.1
 
สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนกันคือ การติดเชื้อนั้นแม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ที่ควรระวังคือผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อคือ Long COVID ซึ่งขณะนี้เรายังไม่ทราบชัดเจนว่าสายพันธุ์ Omicron จะทำให้เกิดภาวะนี้มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 20-40% และเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เกิดได้ทั้งในคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ทั้งนี้น่าจะเห็นผลการวิจัยเรื่องนี้สำหรับสายพันธุ์ Omicron ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่า ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
 
หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด และคนในที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษา เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม
 
โควิด-19 นั้นจะซาลงแน่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่นโยบายระดับชาติและการดำรงชีวิตของประชาชนต้องเป็นไปอย่างมีสติ ไม่ประมาท ขืนกระโดดไล่ตามกิเลส จะเสียหายหนักระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจาก Long COVID

https://www.facebook.com/thiraw/posts/10223870239816385
 

 
ส.อ.ท.หวั่นน้ำมันแพงไม่หยุดฉุดศก.ฟื้นตัวช้าหนัก ย้ำโอกาสเห็นดีดแตะ 100 เหรียญ/บาร์เรลสูง
https://www.matichon.co.th/economy/news_3176289

ส.อ.ท.หวั่นน้ำมันแพงไม่หยุดฉุดศก.ฟื้นตัวช้าหนัก ย้ำโอกาสเห็นดีดแตะ 100 เหรียญ/บาร์เรลสูง
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาพลังงานอื่นๆ ในครัวเรือน และภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตาม ทั้งราคาไฟฟ้า ก๊าส รวมถึงต้นทุนขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ทุกประเทศไทยทั่วโลกที่เผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดโควิด-19 มาแล้ว 2 ปีกว่า แม้ขณะนี้การระบาดโควิดจะเริ่มเบาบางลง และมีการฟื้นตัวมากขึ้น แต่เมื่อเจอภาวะน้ำมันปรับแพงขึ้น ก็ส่งผลกระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยเฉพาะไทยที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ กว่า 80% และก๊าส 50% ของการใช้งานในแต่ละวัน ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของค่าครองชีพแทบทุกอย่างจริงเริ่มมีปัญหาติดขัดเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นเร็ว คงไม่ได้เร็วอย่างที่คาดไว้ และอาจฟื้นตัวได้ช้ามากกว่าเดิมด้วย
 
“สิ่งของทุกอย่างขึ้นราคาเกือบทั้งหมด ทั้งของกินของใช้ อาหารสด วัตถุดิบ และอาหารสำเร็จรูป ขณะที่ค่าแรงหรือรายได้ของประชาชนมีเท่าเดิม และยังลดลงจากผลกระทบของโควิด ทำให้กำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย จึงมีผลกระทบค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะตอนนี้เห็นทิศทางราคาน้ำมันดิบมีโอกาสสูงมาก ที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จากที่ตอนนี้ราคาอยู่ประมาณ 90 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันในไทยปรับแพงขึ้นอีก เหมือนในอดีตที่เคยเห็นราคาน้ำมันเบนซินพุ่งเกือบ 50 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลขึ้นไปที่ 44 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบรุนแรงมาก” นายเกรียงไกร กล่าว
  
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่คือ การใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ช่วยตรึงราคาน้ำมัน พยุงไม่ให้ลอยตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นภาระของรัฐบาล หากว่าราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จะทำให้รัฐบาลมีภาระมากขึ้น อาจต้องกู้เงินเตรียมไว้อีกครั้ง เพื่อรอรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยการแก้ปัญหาในรูปแบบนี้ไม่สามารถทำในระยะยาวได้ เพราะจะกระทบกับสถานะการคลังของประเทศ การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงในระยะสั้นคือ การบริหารจัดการใช้พลังงานให้ประหยัดมากที่สุด อาทิ ปัญหารถติดที่กลับมาใหม่ รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะหากรถติดมากขึ้น การใช้พลังงานของรถยนต์บนท้องถนนจะนานขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้นแบบไม่จำเป็น
  
นายเกรียงไกร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในระยะกลาง-ยาว คือ จะต้องหาพลังงานอื่นๆ เข้ามาทดแทน อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากน้ำ ที่เป็นพลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพาการใช้พลังงานจากน้ำมันในปริมาณสูง แบ่งเบาภาระ และสร้างเสถียรภาพการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายที่หลายฝ่ายรับรู้ปัญหาอยู่แล้ว แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง ก็กลับไปใช้น้ำมันในปริมาณสูงเหมือนเดิม โครงการที่จะใช้พลังงานทดแทนก็ไม่ต่อเนื่อง ปัญหาจึงวนกลับมา ทำให้รัฐบาลจะต้องวางแผนระยะกลาง-ยาวให้ชัดเจน เพราะปัญหาเรื่องน้ำมัน เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเป็นปัญหาจากภายนอก ที่มีสาเหตุจากความตึงเครียดระหว่างประเทศจากกรณีต่างๆ อาทิ ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่