JJNY : สภาอุตเตือนศก.ถดถอย│เคราะห์ซ้ำ ผลไม้ตรุษจีนปิดอีก3ด่าน│ยอดบ้านใหม่วูบเกินครึ่ง│ก.ก.จี้ รบ.แก้ปัญหาสินค้า-หมูแพง

สภาอุตสาหกรรมเตือนเศรษฐกิจไทยถดถอย ทั้งสินค้าแพง-เงินเฟ้อ
https://www.thairath.co.th/business/economics/2291824
 
 
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะรับผิดชอบดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ที่ล่าสุดราคาเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ได้ขยับสูงสุดในรอบ 7 ปี และโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯคาดการณ์ว่าเบรนท์อาจทะยานสู่ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลได้ในไตรมาส 3 ที่จะยิ่งกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องวางมาตรการรับมือทั้งระยะสั้น กลางและยาว เพราะปีนี้ทั่วโลกและไทยจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาซ้ำเติม 
  
“สินค้าที่แพงและนำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อ สัญญาณนี้รับรู้ล่วงหน้ากันแล้วเพราะหลังโควิด-19 ดีขึ้น หลายๆประเทศก็ฟื้นตัว ทำให้ความ ต้องการน้ำมัน สินค้าเพิ่ม แต่ที่ผ่านมาการผลิตลดลงเพราะโควิด-19 จึงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนหรือตึงตัวโดยเฉพาะน้ำมัน โดยสหรัฐฯพบว่าเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปีอยู่ที่ 7% ขณะที่เงินเฟ้อของไทยขึ้นไป 2.7% สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ระยะสั้น คือดูแลราคาน้ำมันและค่าอาหารที่แพงขึ้น”
 
ทั้งนี้ หากเป็นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค สมาชิก ส.อ.ท. 45 กลุ่มในฐานะผู้ผลิตก็พร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชน โดยการบริหารสินค้าสต๊อกเก่าที่มีอยู่ด้วยการตรึงราคา ซึ่งจะช่วยตรึงได้อีก 5-6 เดือน ส่วนในกลุ่มของอาหารที่มีราคาแพงจากวัตถุดิบที่สูง เช่น หมู ไก่ ไข่ รัฐบาลจะต้องควบคุมให้เหมาะสม.
 

  
เคราะห์ซ้ำ ผลไม้ตรุษจีนปิดอีก 3 ด่าน
https://www.prachachat.net/economy/news-846272
 
“มนัญญา” สั่งกรมวิชาการเกษตร ประสานผู้ประกอบการวางแผนส่งออกผลไม้ก่อนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน หลังจีนแจ้งข่าวปิด 3 ด่านทางบกดีเดย์ 31 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2565 ทิ้งด่านโม่ฮานรับศึกหนักนำเข้าเพียงด่านเดียว คาดจราจรติดสาหัส แนะผู้ประกอบการใช้เส้นทางขนส่งทางอื่นแทน สุ่มเสี่ยงสินค้าตกค้าง ผ่านด่านไม่ทันก่อนช่วงหยุดเทศกาลตรุษจีน
 
วันที่ 20 มกราคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาทุกด่านของจีนเข้มงวดตรวจสอบสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากทุกประเทศอย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องของศัตรูพืชและเชื้อโควิดไม่ให้ปนเปื้อนไปกับสินค้า จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิดและรายงานให้ทราบทุกระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทย
 
โดยสถานการณ์ล่าสุดได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตร ว่าฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้ประสานขอให้กรมวิชาการเกษตรแจ้งผู้ประกอบการวางแผนการส่งออกผลไม้ผ่านด่านทางบกของจีนในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนเนื่องจากบางด่านของจีนจะหยุดให้บริการ จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรแจ้งผู้ประกอบการให้วางแผนการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับสินค้าผลไม้ที่จะส่งออก
 
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านนำเข้าของจีนที่จะปิดทำการในช่วงระหว่างวันที่ 31 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 3 ด่าน ได้แก่ ด่านตงซิง ด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีการจำกัดจำนวนรถเข้าวันละประมาณ 80-100 คัน ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
 
และด่านรถไฟผิงเสียง จะปิดรับการยื่นสำแดงนำเข้าผลไม้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 หลังจากที่เปิดให้นำเข้าในเดือนมกราคม 2565 ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 ตามมาตรการเปิด 14 วัน และปิด 14 วัน เหลือเพียงด่านโม่ฮานที่ยังเปิดทำการอยู่ในช่วงวันดังกล่าว แต่จำกัดจำนวนรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้าด่านโม่ฮานวันละประมาณ 100 คัน และมีรถรอผ่านด่านจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการอาจล่าช้าเนื่องจากผู้ประกอบการที่รับยื่นสำแดงสินค้าบางส่วนหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน
 
“ในช่วงนี้ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ควรชะลอการผ่านเส้นทางบกจากเวียดนามเข้าจีน และใช้เส้นทางขนส่งทางอื่นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าตกค้างและผ่านด่านไม่ทันก่อนช่วงหยุดเทศกาลตรุษจีน แม้ว่าด่านโม่ฮานจะไม่ได้ปิดช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ปริมาณรถขนส่งสินค้าฝั่งบ่อเต็นที่รอผ่านเข้าจีนที่ด่านโม่ฮานมีจำนวนมาก และการดำเนินงานช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจมีความล่าช้า ผู้ประกอบการจึงควรประสานงานกับผู้ให้บริการขนส่งอย่างใกล้ชิดก่อนการส่งออก
 
นอกจากนี้ การขนส่งผลไม้ในเส้นทางบกเข้าจีนยังคงมีความเสี่ยงทั้งระยะเวลาในการรอผ่านด่าน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของจีน จึงขอกำชับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการที่สินค้าจะถูกทำลายหากจีนตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อโควิดบนผลไม้หรือบรรจุภัณฑ์” นายภัสชญภณกล่าว


 
ตลาดอสังหาฯไทยไม่ฟื้น ยอดบ้านใหม่วูบเกินครึ่ง 66.5% ทาวน์เฮ้าส์เปิดขายเยอะสุด
https://www.pptvhd36.com/news/เศรษฐกิจ/164795

อสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงซบเซาต่อเนื่อง พบสิ้นปี 64 ยอดที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ลดลงเกินครึ่ง 66.5% ทาวน์เฮ้าส์ครองแชมป์เปิดขายใหม่มากที่สุด ขณะที่เขตกรุงเทพมหานครชั้นในไร้โครงการบ้านใหม่

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เปิดเผยว่า เดือนธันวาคม 2564 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ 21 โครงการ เป็นประเภทที่อยู่อาศัยทั้งหมด ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวน 28 โครงการ มีจำนวนหน่วยขายรวม  3,702 หน่วย มีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 18,767 ล้านบาท
 
ด้านยอดจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนนี้มีทั้งหมด 3,702 หน่วย ลดลงจากเดือนที่ผ่านมาจำนวน 7,349 หน่วย (ลดลงประมาณ 66.5%)
  
เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้ทยอยเปิดโครงการไปเป็นจำนวนมากแล้วในเดือนที่ผ่านมา จึงทำให้จำนวนหน่วยขายของเดือนนี้มีการหดตัวลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
  
ขณะที่ประเภทที่มีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุดในเดือนนี้ คือ ทาวน์เฮ้าส์มีจำนวน 1,515 หน่วย (40.9%) รองลงมาคือบ้านเดี่ยวจำนวน 863 หน่วย (23.3%) ส่วนอันดับ 3 คือบ้านแฝดจำนวน 667 หน่วย (18.0%) ส่วนอาคารชุดมาตกมาอยู่อันดับ 4 มีจำนวน 647 หน่วย ซึ่งนาน ๆ ครั้งที่อาคารชุดจะเปิดตัวน้อยกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น
  
มูลค่ารวมของการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดใหม่ในเดือนธันวาคม 2564 นี้มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18,767 ล้านบาท ซึ่งหดตัวจากเดือนที่ผ่านมา 25,363 ล้านบาท (ลดลง 57.5%)     โดยประเภทที่มีมูลค่าการพัฒนาสูงสุดคือ บ้านเดี่ยว 8,246 ล้านบาท (43.9%) รองลงมาคือ ทาวน์เฮ้าส์ 4,700 ล้านบาท (25.0%) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านแฝด 4,420  ล้านบาท (23.6%) ของมูลค่าการพัฒนาทั้งหมดตามลำดับ
   
ดร.โสภณ มองว่า ภาพรวมที่อยู่อาศัยที่เข้าสู่ตลาดในเดือนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นระดับราคาปานกลางค่อนข้างสูงเป็นสำคัญ โดยบ้านเดี่ยว และบ้านแฝดอยู่ที่ระดับราคา 5-10 ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์จะเน้นราคา 3-5 ล้านบาท ส่วนอาคารชุดจะเน้นที่ราคา 1-2 ล้านบาท ในเดือนนี้ไม่มีที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่าล้านเข้าสู่ตลาดเลย  จึงทำให้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยของที่อยู่อาศัยในเดือนนี้สูงกว่าเดือนที่ผ่านมา ซึ่งราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยของเดือนนี้มีราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 5.069 ล้านบาท แต่เดือนที่ผ่านมามีราคาขายเฉลี่ยที่ 3.993 ล้านบาท

ด้านทำเลที่ตั้ง โครงการเปิดตัวใหม่เดือนนี้ไม่มีโครงการไหนตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพชั้นใน ส่วนเขตเมืองชั้นกลางและส่วนต่อขยายของเมือง (intermediate area) มีจำนวน 17 โครงการ เช่น ถนนสายไหม ถนนรามอินทรา ถนนลาดพร้าว ถนนบางนา ถนนเทพารักษ์  ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปิ่นเก้า-นครชัยศรี ถนนนครอินทร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีก 4 โครงการที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกซึ่งใกล้แหล่งงาน เช่น ย่าน รังสิต คลองหลวง เป็นต้น   
 
ดร.โสภณ กล่าวต่อว่า เดือนนี้โครงการส่วนใหญ่อยู่รอบนอกเมืองทำให้มีโครงการอาคารชุดเปิดตัวน้อย แต่มีบ้านแนวราบเปิดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวกลุ่มใหญ่อยู่ที่ราคาปานกลางค่อนข้างสูงคือ 5-10 ล้านบาท เพราะแม้จะไม่ได้อยู่ในเมืองแต่ก็ในทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่