JJNY : หมูตายยัดซากในโอ่ง│เขียงหมูเชียงรายปิดชั่วคราว│ผู้ผลิตอาหารสัตว์ชี้รบ.สร้างปัญหา│‘เผ่าภูมิ’ ชี้คริปโทฯ ต้องให้โต

กระทู้ข่าว
เจ้าของฟาร์มสุดช้ำ หมูตายนับพันตั้งแต่ปี 64 ไร้ที่ฝังกลบ ต้องยัดซากหมูในโอ่ง
https://ch3plus.com/news/category/274318
 
 
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจฟาร์มหมูแห่งหนึ่งใน อ.สามพราน จ.นครปฐม เจ้าของเคยเลี้ยงหมู 5,000 กว่าตัว ตอนนี้เหลือประมาณ 30 ตัว ในฟาร์มพบโอ่งขนาดใหญ่วางเรียงกัน  9 ใบ ถูกปิดด้วยกระเบื้องหลายชั้น เปิดฝาดูถึงกับผงะกลิ่นเหม็นโชยออกมา เต็มไปด้วยซากหมูเน่าเปื่อยอยู่ในโอ่งหลายร้อยตัว บางโอ่งเน่าเหลือแต่กระดูก
 
นอกจากนี้รอบ ๆ ฟาร์ม พบว่า มีซากหมูตายจำนวนมาก โครงกระดูกหมูถูกทิ้งเกลื่อน ไม่ได้ฝังกลบ ใกล้กันมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เจ้าของฟาร์มขุดฝังกลบหมูนับ 1,000 ตัว เต็มพื้นที่ ทำให้หมูที่ตายหลังจากนี้ถูกจับยัดโอ่งทั้งหมด ชี้ให้เห็นได้ว่า หมูในพื้นที่นี้ตายมานานแล้วและทยอยตายมาอย่างต่อเนื่อง
 
เจ้าของฟาร์ม เล่าว่า ทั้งหมดทยอยตายตั้งแต่กลางปี 2564 เชื่อว่าสาเหตุเกิดจากหมูติดโรค ASF  พร้อมระบุว่า หมูในฟาร์มติดเชื้อ ASF แน่นอน ตรวจที่ตายรีบทำลายฝังกลบ ส่วนตัวที่ยังไม่ตายก็ทยอยติดเชื้อตายเรื่อย ๆ หมูที่เหลือยังไม่ตรวจโรค ตรวจไปก็เท่านั้น
  
ตอนที่หมูเป็นโรคพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เจ้าของฟาร์มไม่มีใครออกมาพูด เพราะหมูตายหมดแล้ว หลังจากที่สื่อนำเสนอข่าวไปและมีการเปิดเผยเรื่องนี้ มีคนข่มขู่ฆ่าว่า ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวทำไม " -ึงตากอย่างนี้ไม่กลัวตายหรอ" ลั่น "ผมไม่กลัวหรอก ถ้าจะยิงก็ยิงข้างหน้า อย่ายิงข้างหลังก่อนแล้วกัน" คนอย่างผมไม่เคยกลัวใคร ถ้ากลัวไม่ออกมาพูดหรอก ที่ตนเปิดฟาร์มให้มาดู เพราะไม่คิดจะเลี้ยงหมูอีกแล้ว
 

 
เขียงหมูเชียงราย พาเหรดปิดชั่วคราว หลังสู้ราคาหมูแพงไม่ไหว
https://www.matichon.co.th/economy/news_3129436

เขียงหมูเชียงราย พาเหรดปิดชั่วคราว หลังสู้ราคาหมูแพงไม่ไหว
 
เมื่อวันที่ 13 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดสดเทศบาลนครเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พบว่าราคาเนื้อหมูชำแหละหน้าเขียงวันนี้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 220 – 240 บาท ส่วนเครื่องในหมู อยู่ที่กิโลกรัมละ 160 – 180 บาท ซึ่งพบว่า ราคาดังกล่าวมีการปรับขึ้นแบบรายวัน แต่ไม่คงที่ จึงทำให้พ่อค้า-แม่ค้าเขียงหมูในตลาดไม่สามารถขึ้นป้ายราคากลางเนื้อหมูที่จำหน่ายได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ แม่ค้าขายหมูในตลาด กล่าวว่า จากค่าอาหารสัตว์และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาค่าขนส่งหมูปรับเพิ่มขึ้นด้วย เขียงหมูจึงต้องบวกเพิ่มตาม ราคาหมูจึงปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ทำให้ขายหมูลำบาก
 
ขณะที่ พ่อค้า-แม่ค้าที่ขายหมูยังคงหยุดขายเนื้อหมูชำแหละไปก่อนในระยะนี้ ปัจจุบันพบว่าเหลือเพียง 3 – 5 เขียง ที่ยังคงเปิดขายอยู่ อย่างไรก็ตาม พบว่าลูกค้าส่วนใหญ่ได้หันไปเลือกซื้อเนื้อหมูแบบแช่แข็งแทนการซื้อหมูสดเนื่องจากมีราคาถูกกว่าเนื้อหมูชำแหละหน้าเขียง
  

 
ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ชี้รบ.สร้างปัญหาต้นทุน ลั่นพร้อมลดราคา ถ้าเปิดนำเข้าวัตถุดิบเสรี
https://www.khaosod.co.th/economics/news_6830725

ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ชี้รัฐบาลสร้างปัญหาต้นทุน เงื่อนไขเยอะทำราคาพุ่งต่อเนื่อง ลั่นพร้อมลดให้เกษตรกร ถ้าเปิดนำเข้าวัตถุดิบเสรี
 
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เคยปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์เลยมานานกว่า 5 ปีแล้ว แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะปรับขึ้น แต่ผู้ผลิตก็บริหารจัดการต้นทุนให้สามารถขายได้ในราคาที่คงที่และให้ส่วนลดกับผู้ค้าอาหารสัตว์มาโดยตลอด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถใหส่วนลดกับผู้ค้าได้อีกต่อไป จึงทำให้สังคมทั่วไปมองว่าผู้ผลิตปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ได้ขึ้น เพียงแต่กลับไปขายในราคาจริงที่ไม่มีส่วนลดเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม สมาคมพร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการช่วยเหลือเกษตรกร ในการลดราคาอาหารสัตว์ลงจากปกติ แต่ต้องเป็นการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข คือกระทรวงพาณิชย์ต้องแก้ไขราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้อยู่ในภาวะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับได้ คือปรับราคาให้ลดต่ำลงซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะรัฐบาลมีโครงการชดเชยราคาสินค้าเกษตรอยู่แล้ว
 
“วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยต้องใช้ คือ ข้าวโพด ข้าวสาลี ปลาป่น และมันสำปะหลัง ใช้รวมกันประมาณ 20 ล้านตัน ราคาขาขึ้นทั้งนั้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยตอนนี้ราคาสูงที่สุดในโลกคือกิโลกรัมละ 11 บาท และต้องใช้มากที่สุดในบรรดาวัตถุดิบที่มีคือกว่า 8 ล้านตัน แต่ไทยปลูกได้แค่ 5 ล้านตัน ที่เหลือต้องนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำกระทรวงขอให้เอกชนช่วยรับซื้อกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท ผมก็ซื้อให้ แต่พอราคาแพงกลับมาขอให้ผมลดราคาให้”
 
นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับวัตถุดิบอื่นๆ ก็มีอุปสรรค เพราะต้องนำเข้ามาแบบมีเงื่อนไขเหมือนข้าวโพด เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้กระทบกับราคาผลผลิตในประเทศ แต่กลับสร้างปัญหาต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ให้กับผู้ผลิต ทั้งการจำกัดการนำเข้า ข้อจำกัดเรื่องภาษี การขนส่งที่ไกล และค่าระวางเรือ
 
“โดยเฉพาะการนำเข้าถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง ที่นำเข้าจากบราซิล อาร์เจนติน่า ซึ่งนอกจากจะราคาสูงเพราะเรื่องการขนส่งและภาษีแล้ว ส่วนหนึ่งก็มาจากผลผลิตออกมาน้อย เพราะประเทศผู้ผลิตประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งข้าวสาลีที่นำเข้ามาจากยูเครน นอกจากนี้ สาสาเหตุที่วัตถุดิบเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นก็มาจากการที่จีนกว้านซื้อผลผลิตเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามไปด้วย”
 
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์หมู ไข่ไก่ เนื้อไก่แพงที่ต้นเหตุ คือทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ถูกลง จะช่วยทำให้ราคาอาหารสัตว์ลดลงได้ และย้ำว่ารัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ต้องเปิดเสรีแบบมีเงื่อนไข คือต้องขึ้นทะเบียนผู้นำเข้ายกเลิกระบบโควต้าสัดส่วน 3 ต่อ 1
 
“หากรัฐบาลกลัวว่าจะกระทบต่อราคาในประเทศ ก็ให้จำกัดควบคุมปริมาณการนำเข้าอย่างจริงจัง ควบคุมการลักลอบตามชายแดน ที่มีการนำผลผลิตจากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไทย ซึ่งจะทำให้เอกชนนำเข้าวัตถุดิบเหล่านี้มาได้มากและสะดวกมากขึ้น และเกษตรกรก็ไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ควรจำกัดหรือมีเงื่อนไขจนเป็นอุปสรรคในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะเป็นการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าปศุสัตว์ได้อย่างยั่งยืน” นายพรศิลป์ กล่าว
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่