JJNY : ธีรรัตน์อัดตรวจโควิดล่าช้า│หมอธีระยก2เหตุผลกันโอมิครอนลำบาก!│นทท.เริ่มตื่นโอไมครอน│ทีมวิจัยมะกันพบโควิด3สายพันธุ์

ธีรรัตน์ อัด รบ.ตรวจหาเชื้อโควิดล่าช้า จี้ ตั้งจุดบริการหาเชื้อให้ครอบคลุม
https://www.matichon.co.th/politics/news_3105692

“ธีรรัตน์” อัด รบ.ดำเนินล่าช้าปมตรวจหาเชื้อโควิด จี้ ตั้งจุดตรวจ-หน่วยบริการหาเชื้อให้ครอบคลุม
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 27 ธันวาคม ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรค พท. แถลงว่า สิ่งที่เราต้องสื่อสารไปยังรัฐบาลคือ ขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาสิ้นปี ความจริงแล้วอยากให้อยู่ในช่วงเวลาที่สนุกสนาน ทุกคนมีความสุข แต่การไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนทำให้พี่น้องประชาชนมีความกังวลใจต่อมาตรการของรัฐบาล เช่น ในพื้นที่ กทม.มีหลายหน่วยงานได้ประสานขอความช่วยเหลือเข้ามาในการขอให้มีจุดตรวจหาเชื้อแต่ติดข้อจำกัดของ กทม.ที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญลงไปตรวจตามพื้นที่ต่างๆ ได้ ต้องทำเรื่องขออนุญาต หรือเข้าไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือจากทางภาครัฐ ทำให้ประชาชนหมดหนทาง จะให้นักการเมืองไปตรวจให้ก็กลัวจะมีความผิดว่าไม่ได้รับอนุญาต นี่คือความผิดพลาด และความล่าช้าของหน่วยงานรัฐ ตนขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ตั้งจุดตรวจ หรือหน่วยบริการหาเชื้อไวรัสโควิดไปให้ถึงส่วนที่ต้องการ ไม่ว่าจะโรงเรียน สถานที่ราชการ นักกีฬา ฯลฯ หรือแม้แต่กลุ่มที่จะมีการรวมตัวเพื่อเฉลิมฉลอง ขอให้รัฐอย่าละเลย และปล่อยให้เป็นภาระของประชาชนแต่เพียงผู้เดียว
 
น.ส.ธีรรัตน์กล่าวอีกว่า อีกประเด็นคือ การเยียวยาของรัฐาล ที่ยังคงเป็นแบบจับสลากสอยดาว ใครโชคดีก็ได้ไป ตรงนี้ยังติดขัด บกพร่อง เราจึงสงสัยว่า เป็นเพราะงบประมาณที่ถูกใช้ไปอย่างไม่คำนึงถึงอนาคตหรือไม่ หรือรัฐบาลถังแตกแล้ว ไม่สามารถนำเงินมาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที น่าแปลกใจว่า สิ่งที่รัฐบาลบอกว่าจะให้ของขวัญกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเงินช่วยเหลือ ฯลฯ แต่กลับประกาศว่าจะให้ในช่วงเดือนมีนาคม ทำไมไม่ให้ในช่วงนี้ที่ประชาชนมีความต้องการที่จับจ่ายใช้สอย แต่กลับยืดเวลาไปถึง 3 เดือน เราไม่เข้าใจ และไม่อยากให้รัฐบาลใช้การช่วยเหลือประชาชนนี้เป็นเครื่องมือในการหาเสียง
   
“อย่างไรก็ตาม ดิฉัน และพรรค พท. ขอแสดงความห่วงใย และความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่านให้เดินทางด้วยความปลอดภัย หากท่านใดที่เฉลิมฉลองก็ขอให้คำนึงถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย”
 


หมอธีระ ยก 2 เหตุผลหลักอาจควบคุมป้องกัน "โอมิครอน" ได้ลำบาก!
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/100463/

หมอธีระ ยก 2 เหตุผลอาจควบคุมป้องกัน "โอมิครอน" ได้ลำบาก แนะขันน็อตพฤติกรรมส่วนตัว ใส่หน้ากาก งดเที่ยว งดปาร์ตี้สังสรรค์

วันนี้( 27 ธ.ค.64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thira Woratanarat"
 
"ทะลุ 280 ล้านไปแล้ว เพิ่มขึ้นราว 200 ล้านคนนับจากวันเดียวกันในปีที่แล้ว
 
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 336,692 คน ตายเพิ่ม 2,914 คน รวมแล้วติดไปรวม 280,230,908 คน เสียชีวิตรวม 5,416,188 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี รัสเซีย และตุรกี (วันคริสตมาสยังไม่มียอดรายงานหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในยุโรป)
 
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 92.21
 
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 44.56 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 60.7

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 2,532 คน สูงเป็นอันดับ 26 ของโลก หากรวม ATK อีก 962 คน ก็ขยับเป็นอันดับ 20 ของโลก ยอดรวม ATK จะเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย
 
อัพเดต Omicron
 
"Extraordinarily contagious"
นี่คือคำที่ Anthony Fauci กล่าวผ่านสื่อเมื่อวานนี้ ย้ำว่า Omicron นั้นเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดง่ายมาก
 
"One of the problems is that that's not going to be totally available to everyone until we get to January and there are still some issues now of people having trouble getting tested"
 
และปัญหาที่อเมริกากำลังประสบอยู่ตอนนี้คือ ปริมาณการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เฉกเช่นเดียวกับที่เราเห็นข่าวจากประเทศอื่น เช่น ในรัฐวิคตอเรียของออสเตรเลีย เป็นต้น
 
"when you have such a high volume of new infections, it might override a real diminution in severity"
สุดท้ายที่ Fauci ชี้ให้เห็นคือ การเน้นย้ำว่าการติดเชื้อ Omicron ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จะหักล้างผลเรื่องความรุนแรงที่ลดลง
 
แปลง่ายๆ คือ การระบาดของ Omicron ย่อมทำให้จำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้โดยเฉลี่ยแล้วจะรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่จะทำให้จำนวนคนป่วยมากขึ้นได้
 
ในขณะเดียวกัน Omicron ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพอย่างชัดเจนแล้ว เช่น ในรัฐนิวยอร์ก ที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
 
นอกจากนี้ผู้ป่วยเด็ก (อายุน้อยกว่า 18 ปี) ติดเชื้อจนต้องนอนรพ. เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และราวครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ตอกย้ำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลป้องกันลูกหลาน เพราะเป็นช่วงวัยที่ยังได้วัคซีนจำกัดหรือบางช่วงอายุก็ยังไม่มีวัคซีนให้ใช้
สำหรับไทยเรา

ด้วยสถานะปัจจุบันที่เราเห็น หากเข้าสู่ขาขึ้นของการระบาดระลอก Omicron อาจควบคุมป้องกันได้ลำบาก เหตุผลหลักคือ
 
หนึ่ง ระบบการตรวจคัดกรองโรคนั้นมีศักยภาพจำกัด ยากในการเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง RT-PCR หรือแม้แต่ ATK ถึงราคาค่างวดจะลดลงมา แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็มีปัญหาด้านเศรษฐานะ อาจไม่สามารถซื้อหามาใช้อย่างเป็นกิจวัตรได้ นี่เป็นเรื่องที่ควรได้รับการดูแลโดยด่วน การตรวจคัดกรองโรคไม่ว่าจะ RT-PCR หรือ ATK ควรเป็นบริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ติดกฎเกณฑ์หยุมหยิม
 
สอง สมรรถนะของ Omicron แพร่เร็วมาก ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อในอดีต ดื้อต่อโมโนโคลนัลแอนติบอดี้หลายชนิดที่ใช้รักษา ติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และสามารถติดในฐานประชากรวงกว้างทั้งที่ฉีดวัคซีน ไม่ฉีดวัคซีน รวมถึงที่ติดเชื้อมาก่อน
 
สิ่งที่พอทำได้ระดับบุคคลคือ การขันน็อตพฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละคนเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือ อยู่ห่างคนอื่น งดเที่ยว งดปาร์ตี้สังสรรค์ สังเกตอาการตนเองหากไม่สบายคล้ายหวัดให้รีบตรวจโควิดแล้วแยกตัวจากคนใกล้ชิด
 
ในขณะที่รัฐนั้น ควรทบทวนนโยบายเรื่องเศรษฐกิจและท่องเที่ยว ขันน็อตระบบตรวจคัดกรองมาตรฐานและกักตัว 14 วันอย่างเคร่งครัด รวมถึงเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายสถานประกอบการที่ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่กำหนด โดยดูบทเรียนคลัสเตอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ยุทธศาสตร์สู้ Omicron นั้น ประเมินแล้วคงหนีไม่พ้นเรื่อง 
"ดูแลตนเอง, ป้องกันเด็กๆ, ตรวจคัดกรองโรคให้เร็วและมาก, และชะลอความเสี่ยงจากนโยบายท่องเที่ยว" ครับ
ด้วยรักและห่วงใย
 
https://www.facebook.com/thiraw/posts/10223646703628120


 
นทท.เริ่มตื่นกระแสโอไมครอน จี้ถามสถานการณ์
https://www.innnews.co.th/news/local/news_262450/

นักท่องเที่ยวเริ่มตื่นกระแสโอไมครอน พร้อมจี้ถามสถานการณ์ยิบ-ยกเลิกจองที่พักในจ.เพชรบูรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระแสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุโอไมครอนเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้หลายจังหวัดมีการจับตาเฝ้าระวังใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็มาตรการเพื่อสกัดกั้นป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในช่วงเทศกลายปีใหม่ 2565 ด้วย โดยที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อทั้งเขาค้อ ภูทับเบิก ฯลฯ ซึ่งอยู่ในเป้าหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวทั่วประเทศ วางโปรแกรมหรือจัดทริปที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อน และร่วมกิจกรรมเคาวท์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 กันค่อนข้างคึกคัก ท่ามกลางสถานการณ์กระแสโอไมครอน ที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มทำให้เกิดความหวั่นไหว จนล่าสุดเริ่มจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
 
ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์ รักหาญ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ และที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวเขาค้อ กล่าวว่า ขณะนี้กระแสโอไมครอนที่บอกว่าติดง่ายและแพร่เร็ว เริ่มมีผลในเรื่องเชิงลบต่อการท่องเที่ยวเขาค้อค่อนข้างเยอะพอสมควร และเชื่อว่ากระแสนี้ภายในอาทิตย์นี้นักท่องเที่ยวที่จองห้องพักหรือวางเป้าหมายจะสัญจรมาท่องเที่ยวที่เขาค้อ คงจะหายไปราว 20% แต่ก็เชื่อว่าในชั่วระยะหนึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการก็จะปรับตัวเหมือนโควิดในรอบที่ผ่านมา เพราะส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบ และทุกคนต่างได้เรียนรู้ จนทั้งนักท่องเที่ยสและผู้ประกอบการ ต่างก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อจะต้องอยู่กับไวรัสชนิดนี้ให้ได้ ส่วนในพื้นที่เขาค้อประชากรกว่าร้อยละ 90 ต่างได้รับวัคซีนครบแล้ว ส่วนที่เหลือก็อยู่ในชุมชนและได้มาสัมผัสกับท่องเที่ยว
 
ว่าที่ ร.ต.ชัชวาลย์กล่าวอีกว่า ตอนนี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ขอยกเลิกห้องพักกันบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ถือว่ามีปริมาณที่เยอะมาก แม้ล่าสุดเพชรบูรณ์ยังไม่มีรายงานการพบโอไมครอน แต่ทั้งนี้เชื่อว่ากระแสดังกล่าวคงจะมีผลต่อผู้ประกอบการในระยะยาวพอสมควร โดยเฉพาะกระแสสื่อกระแสโซเชียลไปเร็วมาก จนเวลานี้เริ่มมีนักท่องเที่ยวหวั่นไหวและโทรมาสอบถามกันข้างเยอะว่า ทางผู้ประกอบการมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่