สารานุกรมปืนตอนที่ 1044 ร้อยปีย้อนยุค โคลท์ 1911 ในรูปแบบดั้งเดิม

ปืนที่ระลึก ผลิตจำนวนจำกัดในโอกาสพิเศษ จัดเป็นของสะสมที่มีคุณค่าอย่างหนึ่ง ปกติมักมีการสลักลวดลายสวยงาม บรรจุในกล่องสำหรับตั้งแสดง ซึ่งหากนักสะสมระดับเอาจริงซื้อไว้ จะเก็บรักษาอย่างดี ไม่นำมาพกพาหรือซ้อมยิง ถ้าเป็นปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติแม้เพียงขยับลำเลื่อน หรือสำหรับปืนลูกโม่เพียงง้างนกให้โม่หมุน ปืนก็จะเป็นรอย เสียราคา ไม่จัดว่าเป็นของในสภาพ “มินท์ คอนดิชั่น” (Mint Condition : ใหม่เอี่ยมไม่มีตำหนิ) อีกต่อไป
ปี ค.ศ. 2011 ครบรอบร้อยปีที่ปืนพกกึ่งอัตโนมัติของโคลท์ ออกแบบโดย จอห์น เบรานิงก์ ได้รับการบรรจุเป็นปืนประจำการของกองทัพบกสหรัฐ เรียกชื่อแบบเต็มยศว่า Automatic Pistol, Caliber .45 – Model of 1911 ซึ่งกลายเป็นปืนอมตะ เรียกกันสั้น ๆ ว่า 1911 (ไนน์ทีน อิเลฟเว่น) โคลท์ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะฉลองครบรอบร้อยปี จึงผลิตปืนที่ระลึกขึ้นมาสามรุ่น ใช้รหัสสินค้า ANVI, ANVII และ ANVIII ตามลำดับ โดยตัวย่อ ANV ก็คือ Anniversary ที่แปลว่า “ครบรอบปี” ต่อท้ายด้วยเลขโรมัน I, II และ III โดยตัวเอก ANVI แต่งสุดหรูนั้น ทำเพียงกระบอกเดียว มอบให้สมาคมยิงปืนของสหรัฐ (NRA : National Rifle Association) เพื่อประมูลขายหาเงินเข้าสมาคม รุ่น ANVII แกะลายคร่ำทองสวยงาม ผลิตเพียง 750 กระบอก เลขประจำปืนเริ่มจาก 19110001 และตัวที่สาม ANVIII ผลิตตามสั่ง โดยปิดรับใบสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 เลขประจำปืนเริ่มจาก 00011911 คือกลับเอา 1911 ไปต่อท้าย



ปืนนายแบบของสัปดาห์นี้ คือ ANVIII ที่โคลท์ตั้งใจทำให้เหมือนปืนทหารของปี ค.ศ. 1918 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สิ่งที่ทำให้ปืนของปีนั้นมีความพิเศษ เนื่องจากกองทัพขอให้โคลท์เปลี่ยนวิธีแต่งผิวปืนใหม่ ให้สะท้อนแสงน้อยลงกว่าเดิม  โคลท์รีบส่งปืนชุดแรกที่รมดำโดยไม่ขัดผิวให้ สีผิวปืนจึงดำเข้ม แตกต่างจากปืนทหารรุ่นก่อนและหลังจากนั้น ในวงการสะสมเรียกกันว่า “Black Army” ซึ่งโคลท์ทำใหม่ได้ใกล้เคียงของเดิมมาก
ในส่วนของตัวปืน ชิ้นส่วนต่าง ๆ ใช้รูปแบบเดิม ตั้งแต่ไกทึบ เรือนสปริงนกสับตรง ไม่แกะลาย มีห่วงที่ส้นด้าม นกสับและห้ามไกแบบเก่า ศูนย์ทหารค่อนข้างบาง  และการแกะตัวอักษรทั้ง  หมดเป็นแบบ roll mark คือใช้ลูกกลิ้งทังสเตน กดเนื้อเหล็ก ได้ตัวอักษรกินลึก มีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนแบบแกะด้วยเลเซอร์ หรือเครื่องสักต่อจุดของยุคใหม่
เมื่อกล่าวถึงตัวอักษรและข้อความ  ท่านที่ซื้อไว้ครอบครองต้องอธิบายกับนายทะเบียนไทยให้ชัด ๆ ว่าเป็นปืนสะสม ผลิตใหม่ย้อนยุค ไม่ใช่ปืนทหารเก่าสวมทะเบียน เพราะมีคำว่า United States Property อยู่ที่โครงด้านซ้าย ซึ่งแปลว่าเป็นสมบัติของทางการสหรัฐ และบนลำเลื่อน
ด้านซ้าย มีข้อความว่า Adopted March 29, 1911 – United States Army บอกวันเดือนปีที่ปืนรุ่นนี้เข้าประจำการในกองทัพบกของสหรัฐ กล่องบรรจุก็ทำแบบย้อนยุคเช่นกัน
นอกจากข้อความดังกล่าวแล้ว เลขประจำปืนยังเป็นแบบปืนทหาร คือไม่มีตัวอักษร C นำหน้าเหมือนปืนโคลท์ที่ผลิตขายในตลาดเอกชน ปืน ANVIII ทุกกระบอกจะลงท้ายด้วย 1911 เหมือนกันหมด ต่างกันที่เลขสี่หลักแรก  ก่อนหน้านี้โคลท์เคยผลิตรุ่นพิเศษ รหัส O1918 ที่ลักษณะเหมือนกับ ANVIII นี้ แต่เลขประจำปืนลงท้ายด้วย WWI เพื่อรำลึกถึงปีสิ้นสุดสงคราม โลกครั้งที่หนึ่ง
สำหรับนักสะสมบ้านเรา ถ้าจะใช้งานจริงยิงไปบ้างก็คงไม่ถึงกับทำให้เสียราคามากมาย แต่ควรให้ความรู้แก่ผู้ที่จะรับช่วงต่อไป ว่าผิวรมดำด้านมีความหมายพิเศษอย่างไร หากจะซ่อมหรือรมใหม่ควรรมให้ดำด้านเหมือนเดิมไม่ต้องขัดผิวเงา
โดยรวม โคลท์ ย้อนยุค 1911 กระบอกนี้ เป็นปืนสะสมที่ใช้งานได้จริง โรงงานตั้งใจบรรจุรายละเอียด ทั้งด้านรูปทรงและอักษรสลักต่าง ๆ ให้เหมือนปืนทหารของปี ค.ศ. 1918 การแต่งผิวรมดำด้านเป็นเอกลักษณ์ เหมาะกับการซื้อเก็บในลักษณะลงทุน ในขณะเดียวกัน จะใช้ยิงบ้างก็ไม่ทำให้เสียราคามากนัก เป็นปืนเฝ้าบ้านหรือพกซองนอกได้ดี ชิ้นส่วนฟิตแน่นกว่ามาตรฐานทหารเดิม ๆ ช่วยให้ปืนยิงได้แม่นยำขึ้น.



ข้อมูลสรุป Colt 1911 ANVIII
ขนาดกระสุน .45 ACP (11 มม.) ซองกระสุน 7 นัด
มิติ ยาวxสูงxหนา : 210x138x32 มิลลิเมตร
ลำกล้องยาว 127 มม. (5 นิ้ว)
น้ำหนัก 995 กรัม
แรงเหนี่ยวไก 2,270 กรัม (5 ปอนด์)
วัสดุ เหล็กรมดำด้าน
อื่น ๆ เลขประจำปืนลงท้ายด้วย 1911 ทุกกระบอก
ลักษณะใช้งาน ปืนสะสม, จนท. พกซองนอก, ยิงเป้า, เฝ้าบ้าน
ตัวเลือกอื่น Remington, Springfield

https://www.dailynews.co.th/article/115626/
.................................
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช




สวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่