ที่มาของ IO

กระทู้คำถาม
IO ย่อมาจาก Information Operation เป็นคำยอดฮิตติดปากของสังคมการเมืองในปัจจุบัน เชื่อว่าหลายๆ คนเคยนำคำนี้ไปใช้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เนื้อหากระทู้นี้ไม่ได้จะนำเสนอความหมาย หรือ เนื้อหาอธิบายหลักการของ IO แต่จะมาเล่าให้ฟังถึงต้นกำเนิดของคำว่า Information Operation หรือ IO ที่เราใช้กันในปัจจุบัน

เช่นเดิม บทความนี้ไม่ได้เขียนในลักษณะบทความวิชาการ แต่เขียนมาจากความจำและความเข้าใจของเจ้าของกระทู้ ด้วยเหตุที่ไม่ต้องการใช้เวลาในการเขียนมากเกินไป จึงเขียนในลักษณะนึกอะไรได้ก็เขียน ดังนั้น ผู้อ่านควรจะศึกษาเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา 

IO หรือ Information Operation เป็นหลักการทางทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา เริ่มใช้คำว่า IO เป็นครั้งแรกประมาณปี 1995 โดยก่อนหน้านั้นหลักนิยมทางทหารของสหรัฐฯ ยังไม่มีบัญญัติคำว่า IO ไว้ แต่เมื่อผ่านประสบการณ์ในการรบมามากมายช่วงสงครามเย็น ทำให้สหรัฐฯ นำหลักการในหลายๆ เรื่องที่ส่งผลในมิติของข้อมูลข่าวสารมารวมเข้าด้วยกัน และใช้คำว่า IO หรือ Information Operation เป็นชื่อเรียกตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา
 
ลองนึกภาพตาม การรบในอดีตตอนที่เทคโนโลยีทางทหารยังไม่ก้าวหน้า การสั่งการและควบคุมหน่วยทหารจะใช้เสียงหรือทัศนสัญญาณต่าง ๆ เช่น เสียงกลอง, ธง, ควันสี ในการควบคุมสั่งการหน่วยทหารให้ทำการรบตามแผนที่ได้ทำการซักซ้อมเตรียมการไว้ การส่งข้อมูลก็มักจะใช้คนเป็นผู้ส่งสาร ทำให้สงครามในอดีตต้องเสียเวลาในการสื่อสารค่อนข้างมาก ผู้นำมีเวลาในการตัดสินใจมากกว่าในปัจจุบัน และด้วยข้อจำกัดในการสื่อสาร ขอบเขตการรบจึงกระทำได้จำกัด
 
พอเทคโนโลยีมีการพัฒนาขึ้น การส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น ผู้นำสามารถควบคุมหน่วยทหารได้หลายหน่วยในต่างพื้นที่ ดังนั้น ความประสานสอดคล้องระหว่างหน่วยต่างๆ จึงมีความสำคัญ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 วิทยุถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในสงครามเวียดนามที่กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลัก ดังนั้นทั้งสองฝากฝั่งของความขัดแย้งจึงพยายามพัฒนาหลักนิยมในการขัดขวางกระบวนการสั่งการและควบคุมของฝ่ายตรงข้าม มุ่งเน้นการใช้คลื่นวิทยุขัดขวางการสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม หากผู้นำหน่วยทหารของฝ่ายตรงข้ามตัดสินใจผิดพลาดจากการได้รับข่าวสารไม่ครบถ้วน/ไม่ถูกต้อง หรือ หน่วยปฏิบัติของฝ่ายตรงข้ามได้รับคำสั่งล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความได้เปรียบให้กับอีกฝ่ายเป็นแน่แท้ นอกจากนี้ ในการรบที่เวียดนามเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ มาช่วยในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นครั้งแรก ดังนั้น การขัดขวางทางอิเล็กทรอนิกส์จึงมีผลต่อการรบ แต่ถึงแม้จะมีการพัฒนาหลักนิยมในเรื่องการขัดขวางทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่คำว่า IO หรือ Information Operation ก็ยังไม่ถูกใช้ในยุคนี้แต่อย่างใด

ภายหลังจากสหรัฐฯ ชนะสงครามเย็นในปี 1991 ปีเดียวกับที่สหรัฐฯ บุกอิรักในครั้งแรก การรบในครั้งนั้นเป็นการทดลองหลักการทางทหารหลายๆ อย่างที่สะสมมาในช่วงสงครามเย็นและก่อนหน้านั้น สหรัฐฯ ค้นพบว่า การใช้ใบปลิวที่มีเนื้อหาชักชวนให้ยอมแพ้ ถูกโปรยทางอากาศโดยเครื่องบินให้กับทหารอิรักในพื้นที่หนึ่ง เมื่อประกอบกับข่าวการสูญเสียทหารอิรักจำนวนมากจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ในต่างพื้นที่ ส่งผลให้กองกำลังอิรักที่ได้รับใบปลิวนั้นยอมแพ้โดยไม่ต่อสู้ ในขณะเดียวกันการแฮก (hack) อีเมล์ที่ใช้ในการสั่งการของกองทัพอิรัก สร้างความสับสนในการบังคับบัญชาของผู้นำกองทัพอิรักอย่างได้ผล นอกจากนี้ ภายหลังสงครามอิรักครั้งที่ 1 ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพเข้ายุติสงครามบอสเนียปี 1994  สหรัฐฯ ได้เห็นความสำคัญในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างทหารและพลเรือนที่ส่งผลกระทบต่อมิติด้านข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่นำมารวบรวมเป็นหลักการ IO ในเวลาต่อมา
 
จนในปี 1995  สหรัฐฯ ได้รวบรวมบทเรียนและประสบการณ์ที่ได้รับ นำมาเขียนเป็นหลักการทางทหารภายใต้ชื่อว่า Information Operation หรือ IO และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
 
ปัจจุบัน IO มีการพัฒนาในรายละเอียดมากกว่าตอนจุดเริ่มต้นของมัน (ไม่ขอลงในรายละเอียด) นอกจากนี้ยังมีขอบเขตกว้างกว่าที่เคยเป็น แต่อย่างไรก็ตามคำว่า IO เป็นคำเรียกหลักการทางทหารของสหรัฐฯ หากไปถามประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช้หลักการรบเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ประเทศเหล่านั้นมักจะเรียกว่า Information Warfare (การสงครามข้อมูลข่าวสาร) มากกว่า ดังนั้น ด้วยอิทธิพลของอเมริกาในไทย เราจึงคุ้นเคยกับคำว่า IO และคำว่า IO ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพียงแต่ความเข้าใจในความหมายและหลักการของ IO ก็แตกต่างกันไปตามมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน

คำถามฝากไว้ให้คิด....คุณเข้าใจคำว่า IO อย่างไร? ตรงกับที่มาของมันหรือเปล่า? เหมือนหรือต่างหรือเปลี่ยนแปลงจากจุดเริ่มต้นของมันอย่างไร?
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่