*** การลุกฮือ 1991 อเมริกายุให้ไปตาย? ***

การลุกฮือในอิรักปี 1991 เป็นสงครามใหญ่ที่มีคนตายกว่า 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน เหตุการณ์นี้มีการตีความหลายแบบ ผู้ประสบภัยที่รอดชีวิตมามักบันทึกว่า “อเมริกายุให้ไปตาย” ซึ่งแน่นอนว่าอเมริกาไม่ต้องการให้เขียนแบบนั้น

ความจริงเป็นอย่างไร? คำยุยงของประธานาธิบดีอเมริกาทำให้เกิดการลุกฮือใหญ่ในประเทศๆ หนึ่งได้อย่างไร? เราไปติดตามกันนะครับ



นักประวัติศาสตร์ชาวเคิร์ดแทบทุกคน รวมทั้งเพื่อนชาวเคิร์ดที่ผมเจอได้บอกผมว่าแม้อเมริกาจะมีส่วนช่วยในการตั้งเขตเคอร์ดิสถานให้มีเอกราชขึ้นมา แต่ก็เป็นพันธมิตรที่วางใจได้ยาก เพราะในอดีตอเมริกาเคยทรยศชาวเคิร์ดอย่างร้ายกาจมาแล้วหลายครั้ง

เรื่องนี้มีที่มาจากสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 1991 ที่อเมริกานำทัพผสมหลายชาติผนึกกำลังช่วยกันขับไล่กองทัพอิรักที่ ซัดดัม ฮุสเซน ส่งมายึดครองคูเวต...
ภาพแนบ: ภาพทางด่วนสายมรณะ ที่ฝ่ายพันธมิตรถล่มทหารอิรักที่กำลังถอยออกจากคูเวต
 
ทหารที่อิรักส่งมายึดครองคูเวตนั้นเป็นเหล่าหัวกะทิ ที่เรียกว่า ทหารพิทักษ์สาธารณรัฐ (Republican Guard) คงเหลือทหารธรรมดาที่ด้อยฝีมือและไม่ค่อยมีระเบียบเฝ้าประเทศไว้เท่านั้น (ตามประสากองทัพชาติอาหรับที่เน้นความภักดีต่อรัฐบาลมากกว่าฝีมือ)

ระหว่างที่ทหารพิทักษ์สาธารณรัฐถูกถล่มทั้งทางอากาศและทางบกเสียยับเยินนั้น ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (บุชผู้พ่อ) แห่งสหรัฐนั้นเห็นเป็นโอกาสบ่อนทำลายฐานอำนาจของซัดดัมมากขึ้นไปอีก


ภาพแนบ: ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช

ดังนั้นในวันที่ 15 ก.พ. 1991 บุชจึงถ่ายทอดข้อความทางวิทยุ ตอนหนึ่งว่า

“มีอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้การนองเลือดนี้ยุติลง นั่นคือกองทัพอิรักและประชาชนอิรักต้องลงมือโค่นล้มเผด็จการ ซัดดัม ฮุสเซน ด้วยตนเอง จากนั้นยอมรับข้อมติของสหประชาชาติและเข้าร่วมกลุ่มประเทศผู้รักสันติอีกครั้ง”

(There is another way for the bloodshed to stop: and that is, for the Iraqi military and the Iraqi people to take matters into their own hands and force Saddam Hussein, the dictator, to step aside and then comply with the United Nations' resolutions and rejoin the family of peace-loving nations.)

และอีกครั้งในวันที่ 1 มี.ค. 1991 (1 วันหลังจบสงครามอ่าว) ความตอนหนึ่งว่า

“ในทัศนะของผม... ชาวอิรักควรโค่น[ซัดดัม] และนั่นจะอำนวยความสะดวกต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ที่มีอยู่ และแน่นอนว่าจะอำนวยความสะดวกต่อการยอมรับอิรักเข้าสู่ร่วมกลุ่มประเทศผู้รักสันติอีกครั้ง”

(In my own view...the Iraqi people should put [Saddam] aside, and that would facilitate the resolution of all these problems that exist and certainly would facilitate the acceptance of Iraq back into the family of peace-loving nations.)


ภาพแนบ: แผนที่การลุกฮือปี 1991 สีเขียวคือเคิร์ด สีแดงคือชีอะห์ กากบาทคือทหารพิทักษ์สาธารณรัฐ สีฟ้าเขียวใต้สุดคือดินแดนที่ถูกพันธมิตรนำโดยอเมริกายึดครอง

ในตอนนั้นชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในอิรักที่มีความคับแค้นต่อทรราชซัดดัมมานาน เข้าใจว่านี่เป็นไฟเขียวจากอเมริกาให้โค่นรัฐบาลซัดดัม และเชื่อว่าอเมริกาจะสนับสนุน ดังนั้นพวกเขาจึงลงมือก่อการขึ้น แทบจะทันทีหลังบุชประกาศ

การลุกฮือในปี 1991 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกเคิร์ดก่อการทางเหนือ ส่วนพวกอาหรับชีอะห์และทหารแปรพักตร์ก่อการทางภาคใต้


ภาพแนบ: นักรบเคิร์ดถ่ายภาพกับเชลยทหารอิรัก

เคิร์ดอิรักนั้นแม้จะมีประวัติทะเลาะเบาะแว้งกันเองมาช้านาน แต่ในคราวนี้สามารถร่วมแรงร่วมใจกันก่อการได้ เพราะพวกเขาโกรธแค้นที่เคยถูกซัดดัมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างเลือดเย็นหลายรอบ

เกิดเหตุนักรบเคิร์ดบุกเข้าอาคารรัฐบาล ขับไล่ข้าราชการอิรัก แล้วยึดอำนาจ ในบางที่มีรายงานว่าพวกเคิร์ดจับเจ้าหน้าที่พรรคบาธของซัดดัมมาแยกแขนขาเพื่อชำระแค้น


ภาพแนบ: ป้ายผ้าหนุนเคอร์ดิสถาน 

พวกเคิร์ดชูสโลแกน “ประชาธิปไตยเพื่ออิรัก และอิสรภาพเพื่อเคอร์ดิสถาน” บุกลึกเข้าไปในอิรัก พวกเขาถึงกับยึดได้เมืองโมซูลซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรักสำเร็จ


ภาพแนบ: นักรบเคิร์ดในสุไลมานิยาห์ 

กบฏทั้งทางใต้และเหนือรวมกันแล้วสามารถยึดพื้นที่ได้ 14 จาก 18 จังหวัดของอิรัก เรียกว่าเกือบทั้งประเทศ พวกเขาระดมกำลังพล เตรียมตะลุยต่อยังแบกแดด รอเสียงตอบรับจากอเมริกาเท่านั้น (พวกกบฏขาดอาวุธทันสมัย แม้มีกำลังมากกว่า แต่ไม่อาจสู้กับทัพรัฐบาลตรงๆ หากขาดการสนับสนุนอาวุธจากมหาอำนาจภายนอก)


แต่รอแล้วรอเล่า ความช่วยเหลือจากอเมริกาก็ยังไม่มา...


และไม่ช้านาน ซัดดัมก็สามารถรวบรวมกำลังใหม่ได้จากพวกทหารพิทักษ์สาธารณรัฐที่กลับมาจากคูเวต


ภาพแนบ: นักรบเคิร์ดใช้ปืนกลยิงต่อสู้กับเฮลิคอปเตอร์อิรัก 

หนึ่งปัจจัยชี้ขาดของการปราบการลุกฮือในครั้งนี้ คือ “เฮลิคอปเตอร์ติดปืน” กล่าวคือเมื่อฝ่ายพันธมิตรที่นำโดยอเมริการบชนะสงครามอ่าวก็พยายามถอดเขี้ยวเล็บของซัดดัมโดยบังคับให้เซ็นสัญญาหยุดยิงโดยมีเงื่อนไขห้ามอิรักใช้เครื่องบินปีกตรึงอีก แต่มีนายทหารอิรักขอให้ยังสามารถใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้รับส่งข้าราชการไปยังพื้นที่ที่สะพานถูกทำลายระหว่างสงคราม ซึ่งฝ่ายพันธมิตรตกลง

ดังนั้นซัดดัมจึงส่งเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธหนักยิงถล่มคนในจังหวัดที่มีการลุกฮือแบบไม่เลือกกบฏหรือผู้บริสุทธิ์

พวกกบฏที่ขาดอาวุธต่อสู้อากาศยานที่ดีจึงพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าทหารอิรักใช้ผู้หญิงและเด็กเป็นโล่มนุษย์ในการเข้าปราบผู้ต่อต้านอีกด้วย


ภาพแนบ: หลุมศพหมู่ของผู้ที่เชื่อว่าต่อต้านซัดดัม ซึ่งถูกค้นพบในภายหลัง

 รายงานของ Human Rights Watch ยังระบุว่า ทหารซัดดัมไล่ตรวจค้นผู้คนบนท้องถนน ในบ้านเรือนและในโรงพยาบาล พวกเขาจับผู้ต้องสงสัย หรือไม่ก็ยิงทิ้งเสียดื้อๆ คราวละมากๆ

รายงานของสหรัฐยังระบุว่ามีการใช้แก๊สซารินอย่างขนานใหญ่ในการปราบกบฏ ซึ่งแก๊สซารินนี้มีพิษมาก ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาทีเพราะกล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน เป็นแก๊สเดียวกับที่กลุ่มโอมชินริเคียวใช้ในการสังหารหมู่ชาวญี่ปุ่นในปี 1995


ภาพแนบ: ชาวอาหรับบึง

 ส่วนทางภาคใต้ ทหารพิทักษ์สาธารณรัฐสามารถเข้ารักษาความสงบอย่างรวดเร็วภายใน 1 เดือน และนำไปสู่การปราบปรามพวกอาหรับบึงจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat/posts/4183306305079380?__tn__=R*F



มีผู้เสียชีวิตในการลุกฮือครั้งนี้รวมทั้งสองฝ่ายอาจสูงกว่า 200,000 คน เป็นคนของฝ่ายลุกฮือเสียราว 180,000 คน (คนตายส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน) ผู้ต้องสงสัยที่ทหารอิรักจับไปนั้นมีร่องรอยถูกทรมาน ข่มขืนหรือเผาทั้งเป็น

วันที่ 5 เม.ย. 1991 ซัดดัมประกาศว่าเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้หมดแล้ว และเป็นวันเดียวกับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามรัฐบาลอิรัก แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรนอกเหนือจากนั้น



มีเสียงก่นด่าอเมริกามากมาย แต่บุชยืนยันว่า

"ผมให้ความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าเป้าหมายของอเมริกาและพันธมิตรไม่ใช่การล้มซัดดัม ฮุสเซน ก็เลยไม่คิดว่าพวกชีอะห์ทางใต้ หรือพวกเคิร์ดทางเหนือ ซึ่งไม่พอใจกับรัฐบาลซัดดัมในกรุงแบกแดด จะรู้สึกว่าอเมริกาต้องมาช่วยโค่นชายคนนี้... ผมไม่ได้ชักนำใครอย่างผิดๆ เกี่ยวกับเจตนารมณ์ของสหรัฐอเมริกา หรือชาติพันธมิตร ซึ่งเท่าที่ผมทราบทุกประเทศก็เห็นพ้องกับผมในจุดยืนนี้”

(I made clear from the very beginning that it was not an objective of the coalition or the United States to overthrow Saddam Hussein. So I don't think the Shiites in the south, those who are unhappy with Saddam in Baghdad, or the Kurds in the north ever felt that the United States would come to their assistance to overthrow this man...I have not misled anybody about the intentions of the United States of America, or has any other coalition partner, all of whom to my knowledge agree with me in this position.)


ภาพแนบ: ผู้อพยพชาวเคิร์ดที่ลี้ภัยในเหตุ 1991

ด้านนักการเมือง ข้าราชการ และ นายทหารระดับสูงของสหรัฐออกมาระบุภายหลังว่า ที่บุชพูดปลุกระดมผู้คนนั้น ตั้งใจว่าจะให้เกิดความวุ่นวายเพื่อให้ซัดดัมอ่อนแอลง แต่พอสถานการณ์บานปลายจนทำท่าว่าอิรักจะต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ เขาจึงต้องกลับลำ

...เพราะแท้จริงแล้วอเมริกาเพียงต้องการ “อิรักที่ควบคุมได้” ซึ่งจำเป็นต่อการคานอำนาจกับอิหร่าน แต่ไม่ต้องการให้อิรักแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอิหร่านจะฉวยโอกาสแผ่อิทธิพลครอบงำภูมิภาคสำเร็จ

ที่ปรึกษาของบุชคนหนึ่งเปิดเผยว่า “พูดตรงๆ ผมหวังว่า (การลุกฮือนี้) ไม่เคยเกิดขึ้น ... แน่นอนว่าเราหวังให้เกิดรัฐประหารมากกว่า”

...คำพูดของบุชอาจเป็นความผิดพลาดที่เขาคาดไม่ถึง แต่มันสร้างความเสียหายมากเหลือเกิน...

*** อ่านต่อใน comment  นะครับ ***
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่