[CR] สอบตั๋วทนายภาคทฤษฎี ประสบการณ์สนามสอบจริง (ภาคทฤษฎี)

สืบเนื่องจากการรีวิวการเตรียมตัวสอบภาคทฤษฎี   (กระทู้ก่อนหน้า) ขอต่อด้วยประสบการณ์ในการลงสนามสอบจริงนะคะ...

หลังจากอ่านหนังสือ และฝึกซ้อมการเขียนตอนข้อสอบจากข้อสอบย้อนหลังให้มากปีที่สุด ก็ถึงวันลงสนามจริง 
ปีที่เราสอบสนามสอบอยู่ที่ ม.รามคำแหง หัวหมาก (ส่วนใหญ่สอบที่นี่)  ถามว่ามีความตื่นเต้นมั้ย ต้องบอกเลยว่าตื่นแต่ไม่มากแฮะ เพราะบรรยากาศเหมือนมาสอบ ป.ตรีของรามฯ เลย  มานั่งรอหน้าตึก จะมีผู้เข้าสอบเข้ามาเตรียมตัว เอาหนังสือมาอ่าน แต่สำหรับเรา นั่งเล่นเกมเฉย ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าอ่านมามากพอควรแล้ว ควรทำใจให้สบาย แต่ระหว่างนั้น ก็มีกระแสมาเรื่อย เช่น กลุ่มข้างๆ คุยกันว่าข้อสอบจะออกอะไร ให้อ่านเรื่องนั้นเรื่องนี้นะ แพ่งออกเรื่องนี้, อาญาจะออกข้อหานี้  บลาๆๆ ไปเรื่อย (เก็งข้อสอบกัน)  เราก็ฟังๆ แล้วก็มีตื่นๆ ตามบ้าง แต่ก็หนักไปทางไม่เชื่อมากกว่า  (และเมื่อเข้าห้องสอบจริงผลคือไอ้ที่น้องๆ นั่งเก็งกันนั้นไม่มีเลยจร้า)
               เมื่อเข้าห้องสอบ
               เมื่อถึงเวลาเข้าห้องสอบ  เราฝากหนังสือทั้งหมด, โทรศัพท์ สัมภาระไว้กับสามีทั้งหมด และขึ้นไปแต่บัตรประชาชน, บัตรประจำตัวผู้อบรม และปากกา, ลิขวิด, ดินสอ, ปากกาไฮไลท์ แค่นั้น (นาฬิกาใส่ไปได้ แต่ห้ามเป็นนาฬิกาแบบสมาร์ทว้อช เพราะถือเป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิก แต่จริงๆ ถ้าใครไม่มีที่ฝากของหน้าห้องสอบจะมีโต๊ะยาวๆ ไว้ให้วางสัมภาระอยู่ แต่ไม่มีคนเฝ้านะคะ เพราะฉะนั้นพิจารณาให้ดีว่าจะใส่อะไรลงไปอย่างของมีค่า (กระเป๋าสตางค์) มองว่านำติดตัวไปได้อยู่ วางไว้ใต้โต๊ะ  อ่อแต่เราเห็นคนเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปด้วยนะ แล้ววางไว้ใต้โต๊ะ ซึ่งจริงๆ ระเบียบคือห้ามนำเข้าไป แต่น้องคนนั้นทำไมเอาเข้าเราก็ไม่แน่ใจ แต่ก็มีผู้คุมสอบเข้ามาตักเตือนอยู่ (ไม่รู้เตือนเรื่องนี้หรือเปล่า) แต่ไม่ควรพกค่ะ แม้จะปิดเครื่องก็ตาม เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่อาจใช้ทุจริตได้               
               ได้เวลาแจกข้อสอบ 
               เมื่อถึงเวลาเริ่มสอบ 5-10 นาที อาจารย์จะมาแจกข้อสอบให้เรา ก่อนถึงเวลาสอบให้เราเขียนชื่อ-นามสกุล ในสมุดคำตอบได้เลย (ภาคทฤษฎีทำในสมุดคำตอบ) ส่วนข้อสอบเขาจะยังไม่ให้เปิดอ่านนะคะ ต้องถึงเวลาสอบก่อน
 เมื่อถึงเวลาสอบเราเปิดและอ่านข้อสอบได้เลย ปีที่เราสอบ  (รุ่น 52)   อัตนัยออกดังนี้
1. เอกสารกฎหมาย-ออกการทำพินัยกรรม
2. หนังสือทวงถาม
3. ฟ้องแพ่ง-เรื่องแบ่งทรัพย์มรดก, เพิกถอนนิติกรรม
4. คำร้อง-ขอถือเอาเอกสารท้ายคำฟ้องเป็นสำเนาเอกสารที่ต้องส่งให้จำเลย 
5. อาญา-ออกเรื่องฟ้องผู้จัดการมรดกยักยอกทรัพย์มรดก (ม.353,354,86)
6. ออกข้อมรรยาท ออกเรื่องการประกาศว่าความฟรี
               ตรงนี้ใช้เวลาอ่านข้อสอบ 1 รอบให้ละเอียดแล้วประเมินว่าอันไหนข้อง่าย อันไหนข้อยาก เพื่อวางแผนการทำข้อสอบ   พอเราอ่านโจทย์รู้เนื้อหาคร่าวๆ แอบดีใจนิดๆ ว่าไม่ยากแฮะปีนี้ แต่...แต่....ไปดูกันต่อ
อ่อ ต้องบริหารเวลาให้ดีนะ เพราะข้อสอบทั้งหมดมีเวลาทำ 13.30 น.-17.30 น. รวม 4 ชม. (240 นาที)  จร้า....
               พอรู้ข้อสอบคร่าวๆ แล้ว เรากลับมาทำปรนัย 20 ข้อก่อนเลย  สูตรคืออ่านแล้วกาเลย ไม่ต้องคิดเยอะ อันนี้แล้วแต่การเตรียมตัวของแต่ละคนเลย เราใช้วิธีทำข้อสอบย้อนหลังเยอะๆ  แล้วลองตรวจดู เท่าที่ทำได้จะได้คะแนนประมาณ 10-13 คะแนน ถือว่าโอเค ผ่านแล้ว เราไม่ซีเรียสมากสำหรับปรนัย เพราะถือเป็นคะแนนช่วย ไปเน้นอัตนัยดีกว่า ส่วนนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีได้
เริ่มทำข้ออัตนัย
               สูตรเราคือเราเริ่มทำข้อง่ายก่อนคือข้อคำร้อง  ข้อนี้ใช้เวลาเขียนประมาณ 5-10 นาที เพราะท่องมาแทบทุกคำร้องแล้ว 555+
               ข้อต่อไปเลือกทำพินัยกรรม  ข้อสอบกำหนดเป็นแบบพินัยกรรมแบบเขียนเอง สูตรคือผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อคนเดียว ไม่ต้องมีพยาน  จำสูตรมาว่า ทำเหมือนเขียนเอกสารกฎหมายทั่วไป คือ ระบุทำที่ไหน วันที่เท่าไร คำขึ้นต้น เราเป็นใคร-อายุ-ที่อยู่-และข้อความว่า  หากข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย  ขอให้ยกทรัพย์สินให้แก่ ทายาท ของข้าพเจ้าดังนี้.....แล้วก็ลอกโจทก์มาว่า โจทย์ให้แบ่งให้ใครบ้างเท่าไร ส่วนตอนท้าย ระบุเป็นแพลตเทินว่ามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนทุกประการ ไม่มีผู้ใดข่มขู่บังคับ ทำนองนี้ (ไปหาอ่านดู จำเป็น wording ภาษาที่เค้านิยมใช้กันนะคะ ) สุดท้ายคือไม่ต้องมีพยานนะ..แบบเขียนเองทั้งฉบับ  (ไปศึกษาดูค่ะ) ข้อนี้ไม่กังวลเท่าไร แต่ใช้เวลาเรียบเรียงนานอยู่ประมาณ 30 นาที โอ้ว..มันมีสับสน มึนงง วนไปวนมาอยู่พอควรค่ะ
               ข้อต่อไปทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกมให้  อันนี้หนังสือบอกกล่าวก็แบบฟอร์มทั่วไป คือเหมือนทำจดหมาย  เรื่องอะไร.. เ รียนใคร.. ไม่ยากอันนี้   ใช้เวลาประมาณ 20  นาทีเหมือนกัน เวลาร่างก็จะคล้ายๆ กันคือมีสับสนบ้าง  ต้องมีประเด็นว่าจะให้คนที่เราเขียนถึงทำอะไรอย่างไร เมื่อไร  ภายในกำหนดเมื่อไร มิเช่นนั้น ข้าพเจ้า (ทนายความ) จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายกับท่านต่อไป   ลงชื่อ ...ทนายความผู้รับมอบอำนาจ  เป็นอันจบ 3 ข้อ แหงนมองนาฬิกาใช้เวลาไปชั่วโมงนิดๆ แล้ว 
               ข้อต่อไป เราเลือกทำข้ออาญาก่อนเลย เพราะมีข้อหาให้มาแล้ว  จำได้มั้ย อาญามีหัวข้ออะไรบ้าง list รายการด้วยดินสอไว้บนหัวกระดาษเลย…
1. เขียนชื่อคู่ความ
2. บรรยายสถานะคู่ความ
3. พฤติการณ์การกระทำความผิด
4. เหตุเกิดที่ไหน
5. การร้องทุกข์มีหรือไม่
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
6. การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ... (เอาเลขมาตราที่โจทย์ให้มาใส่เลย)
พอรู้ว่าต้องเขียนอะไรก็เขียนทีละหัวข้อไปเลย
ชื่อคู่ความ              ใครเป็นโจทก์-จำเลยก็เขียนไป รู้สึกปีนี้โจทก์จะเป็น 2 คน, จำเลยจำมี 2 คนเหมือนกัน 
ข้อ 1. โจทก์เป็น....จำเลยเป็น....อันนี้แม้จะเป็นบุคคลธรรมดาแต่เค้ามีสถานะพิเศษคือเป็นทายาทของเจ้ามรดกซึ่งมีสิทธิรับมรดก  ส่วนจำเลยคือผู้จัดการมรดก   ดังนั้นต้องบรรยายด้วย
ข้อ 2. เมื่อวันที่......เวลา........จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกันกรทำผิดต่อกฎหมายอาญากล่าวคือ .........(ตรงคำขึ้นต้นนี้จำให้ขึ้นใจเลย เพราะเริ่มต้นได้ เดี๋ยวจะต่อได้เอง).....แล้วก็บรรยายพฤติการณ์ไป อันนี้ว่าไปตามเรื่องเลย ซึ่งการเขียนก็มีงง สับสันบ้าง แอบเอาดินสอไปร่างหลังสมุดบ้าง (แล้วค่อยลบออก) บอกตามตรงเหมือนจะง่ายแต่ได้เขียนจริงร่างจริง ก็สับสนใช้คำไม่ถูกอยู่เหมือนกัน สติค่ะ ตั้งสติ ...
               จบตรงนี้แล้วตรงอื่นคงไม่ยากแล้ว เหตุเกิดที่ไหน, ร้องทุกข์ไว้หรือไม่, คำลงท้าย, คำขอท้ายฟ้อง เขียนให้ครบนะคะ  ข้อนี้ใช้เวลาเกือบ ชม.เลย คิดว่าง่ายแล้วนะ แหงนมองนาฬิกา เราเหลือเวลาอีก  2 ชม.นิดๆ  เหมือนไฟเริ่มรนก้น  ขนหัวมันลุกๆ ยังไงไม่รู้ 
               ข้อต่อไป ทำข้อมรรยาทก่อนดีกว่า  อ่านแล้วก็รู้เลย ติดป้ายว่าความฟรีทำไม่ได้นะ  ผิดข้อ 17 (ไปอ่านดูเอา) แต่เวลาอ้าง ต้องอ้างตัวบทต้องอ้างมรรยาทฯ ข้อ 4 และ 17  การบรรยายตอบเหมือนข้อสอบ ป.ตรี เลย แต่ใช้คำว่า ตามข้อเท็จจริง ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 วางหลักไว้ว่า ..... ใช้คำว่าวางหลักไว้ว่า เพราะเราไม่ได้ท่องมาเป๊ะ หรือใครจะเป๊ะก็แล้วแต่เลย ของเราท่องคร่าวๆ มาแต่ท่องมาให้ครบ ใช้เวลาเตรียมตัว 7 วันก่อนสอบ ท่องทุกวันก่อนนอน มันมีแค่ 25 ข้อ  ท่องช้อ 4-21 ก็ 18 ข้อเอง ท่องไป เรียนกฎหมายมาวิชานึงเยอะกว่านี้อีก 18 ข้อนี้ก่อนสอบท่องให้ขึ้นใจไว้ค่ะ ข้อนี้ถือว่าไม่ยาก (ไม่ยากอีกแล้ว) ใช้เวลาเรียบเรียงเขียนตอบประมาณ 15-20 นาที  ของเราสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความเขียนไปประมาณครึ่งหน้ากระดาษได้ จบ…อย่าไปคิดเยอะ
               ทีนี้เหลือเวลาอีกเท่าไรล่ะประมาณ 2 ชม.ได้  สำหรับข้อไฮไลท์ คำฟ้องแพ่ง มองนาฬิกาต้องเริ่มทำได้แล้วจร้า...เริ่มจากเอาดินสอ List หัวข้อที่จะเขียนที่หัวกระดาษสมุดคำตอบ  กันหลุดประเด็นไหนไป
1. ชื่อคู่ความ
2.  บรรยายสถานะคู่ความ   (ฐานะโจทก์, ฐานะจำเลย)
3.  บรรยายนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย  
4.  บรรยายการโต้แย้งสิทธิ
5.  บรรยายความเสียหายที่โจทก์ต้องการเรียกร้อง
6.  การทางถามและคำลงท้าย
7.  บรรยายคำขอบังคับ
               ข้อคำฟ้องแพ่งขอสารภาพนิดนึงตอนเตรียมตัวก่อนสอบ เรามองว่ามันยากสุดแล้วต้องเขียนเยอะ เลยไปอ่านตรงส่วนที่คิดว่าง่ายก่อน พวกเอกสารกฎหมาย, คำร้อง, ตรงนั้นอ่านเยอะกว่า ข้อฟ้องแพ่งเราใช้เวลาฝึกทำข้อสอบอยู่ประมาณ 1 เดือนก่อนสอบจากข้อสอบเก่า เพราะคิดว่าอยากอ่านใกล้ๆ สอบมากกว่ากลัวลืม..เลยถือว่ามีเวลาเตรียมตัวกะข้อนี้น้อยไปหน่อย (ทั้งที่เป็นข้อที่คะแนนเยอะสุดด้วยนะ..)
               มาถึงตรงนี้ตั้งสตินิดนึง เพราะที่บอกมีให้เขียนเยอะ  วิธีเขียนคือให้โฟกัสทีละเรื่องไปเลย เช่น จะเขียนชื่อคู่ความนี่ต้องสรุปมาให้ได้ก่อนเลยว่า คู่ความเราจะให้ใครฟ้องแล้วเราจะฟ้องใคร (โจทก์-จำเลย)  ระบุให้ครบ, เสร็จแล้วเริ่มเนื้อคำฟ้องคือ 
               ข้อ 1.  บรรยายสถานะคู่ความ คือโจทก์เป็นใคร, จำเลยเป็นใคร หมายถึงที่เกี่ยวกับคดี อย่างในที่นี่ โจทก์กับจำเลยเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล บางคนอาจข้ามข้อนี้ไปแต่เราต้องมองด้วยเขามีสถานะพิเศษอะไรกัน อย่างตรงนี้เขาเป็นทายาทของนาง..ผู้ตาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ฟ้อง ก็ต้องบรรยายไปด้วย
               ข้อ 2. บรรยายนิติสัมพันธ์ ส่วนใหญ่มักจะขึ้นต้นด้วย   เมื่อวันที่........ใครทำอะไร ตรงนี้ไปหาอ่านวิธีบรรยายดู
               ช้อ 3. การโต้แย้งสิทธิ ก็บรรยายไปเลยว่าจำเลยทำอะไรหรือมีหน้าที่ทำอะไร แล้วจำเลยไม่ทำกับไปทำอีกอย่าง ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์ต้องเสียหายอย่างไร....
               ข้อ 4.  การบรรยายความเสียหาย   ก็บอกไปว่าโจทก์เสียหายอะไร หรือจำเลยมีหน้าที่อะไรต่อเรา....
               (ใช้ย่อหน้า)  การทวงถามและคำลงท้าย ตรงนี้ก็คือ มีหนังสือบอกกล่าวไปแล้วโดยทนายความ เมื่อวันที่ ...... แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
               (ใช้ย่อหน้า)  คำลงท้าย  ตรงนี้เป็น wording ตายตัวเลย คือ  “โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับเอากับจำเลยได้จึงต้องนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับจำเลยต่อไป” จำให้ขึ้นใจประโยคนี้
จบท้ายด้วย  ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
คำขอท้ายฟ้อง  จะขออะไร ตรงนี้ บอกเลยเขียนมามึนสุดตรงนี้แหละ ด้วยความที่เตรียมตัวน้อยมากกะข้อคำฟ้องแพ่ง สรุปขออะไรวะเนี่ย  คิดอยู่นาน แต่ที่แน่ๆ ข้อสุดท้ายคือต้องมีขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์  อันนี้มีแน่ๆๆ 55+ แต่ก็พยายามรวบรวมว่า เอ..มันแบ่งมรดกส่วนที่ต้องได้รับ ก็ขอให้โอน ....ขอให้ส่งมอบ.....กับ 2 มันมีว่าไปโอนที่ดินที่ไม่ใช่ส่วนที่จำเลยจะได้ ก็ต้องไปจดทะเบียนโอนส่วนนั้นกลับคืนมาเป็นของโจทก์...ทำนองนี้  นึกคำไม่ออกจริงๆ ตอนทำข้อสอบอยู่  (แต่หลังจากออกจากห้องสอบแล้วเขาเรียกว่าเพิกถอนนิติกรรมแต่ตอนนั้นคิดไม่ออกจริงๆ)  
               สรุปทำข้อสอบใช้เวลาไปประมาณ ชม.ครึ่ง  เงยหน้ามา เหลือเวลาตั้ง 30 นาทีแน่ะ ว้าว..เกินคาด เลยไปตรวจทานข้ออื่นๆดู ปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดนิดนึง ตรงฟ้องอาญา ลืมเขียนเรื่องการร้องทุกข์ไป นั่นไง ลืมจนได้ ลืมบอกไปว่าตอน list ไม่ได้ list หัวข้อนี้ไป เลยลืม ทำไงล่ะ แทรกก็ไม่ได้ ตัดสินใจขีดฆ่าและลอกใหม่ทั้งหมด อย่างไว ทันภายในครึ่ง ชม.พอดีเลย...
               หมดเวลาทำข้อสอบแล้ว อาจารย์จะมาเก็บสมุดคำตอบและคำถามทั้งหมดไป ที่นี้ก็ไปนอนรอประกาศผลสอบประมาณ 1 เดือน หลังสอบ (สภาทนายความจะมีกำหนดวันประกาศผลแต่ละรุ่นที่แน่นอนอยู่แล้วค่ะ) หลังจากประกาศหน้าเว็บของสภาฯแล้ว จะมีจดหมายแจ้งรายตัวอีกทีนึงทางไปรษณีย์  ผลปรากฎว่าเจ้าขอกระทู้ได้คะแนน ปรนัย 13 คะแนน อัตนัย 49 คะนน รวม 62 คะแนน   ผ่านค่ะ 
 
ขอจบการรีวิวเพียงเท่านี้ ขอบคุณที่อ่านค่ะ
ชื่อสินค้า:   ตั๋วทนาย
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่