เชียงใหม่-โรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ อาคารคำเที่ยงนฤมิต อาคารโบราณ อาคารแห่งความรัก



......เดิมนั้นบริเวณโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ เป็นที่ทำการอำเภอเมืองเชียงใหม่และเป็นศาลเมืองเชียงใหม่ 
โดยศาลเมืองเชียงใหม่อยู่ทางด้านทิศใต้ด้านหน้าติดถนนท่าแพ 
ต่อมาศาลเมืองเชียงใหม่ได้ย้ายไปอยู่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ส่วนที่ทำการอำเภอเมืองเชียงใหม่ย้ายไปอยู่ ณ ที่ทำการในปัจจุบัน



......การย้ายศาลไปยังที่ทำการใหม่หน้าศาลากลางจังหวัดคาดว่าย้ายเมื่อปี พ.ศ.2479 
โดยพบบันทึกของพระธรรมดิลก (ขันติ์ ขันติโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงบันทึกไว้ในหนังสือที่ระลึกพิธีศพระบุว่า
"วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2479 มีพิธีฉลองศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีการสวดมนต์แลตักบาตร 
ในราตรีนี้มีการรับประทานอาหารและมีภาพยนตร์เพื่อเพิ่มความครึกครื้นอีกโสดหนึ่งด้วย"



......กว่าจะเป็นโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ ดูเหมือนจะมีขั้นตอนและรายละเอียดอยู่ไม่น้อย
......เดิมเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ หลวงอนุสารสุนทรได้ขออนุญาตทางราชการพัฒนาโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่
และทางราชการอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์" 
โดยหลวงอนุสารสุนทรออกค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคารเรียนและมอบให้ทางราชการเพื่อเป็นบุญกุศลแด่แม่คำเที่ยง อนุสารสุนทร ผู้เป็นภรรยา



......ประวัติโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ปรากฏข้อมูลจากหนังสือซ้อ-หงษ์ แซ่แต้ อ้างข้อมูลจากนายอนันต์ สุนันทศิลป์ ว่า 
"โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลท่าศาลาประดิษฐ์ 
โดยขุนอนุกรราชกิจเป็นหัวหน้าในการเรี่ยไรเงินจากพ่อค้า ข้าราชการ ประชาชน ทำการก่อสร้างอาคารเรียน 
เปิดการสอนในวันที่ 30 มีนาคม 2466 ต่อมาได้ยุบโรงเรียนประจำตำบลเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดแทน 
รับเฉพาะนักเรียนหญิงเริ่มเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2468



......"ต่อมาย้ายโรงเรียนจากตำบลท่าศาลาประดิษฐ์มาตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอเก่า 
(สถานที่ตั้งในปัจจุบันนี้ อยู่ตรงข้ามกับที่ทำการไปรษณีย์แม่ปิง) 
ขณะนั้นนางทองอยู่ วสันตทัศน์ รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ซึ่งเห็นว่าสภาพของอาคารเก่าและชำรุดทรุดโทรมมาก 
จึงได้ปรึกษากับหลวงอนุสารสุนทรและภริยา คือ แม่คำเที่ยง อนุสารสุนทร ซึ่งเป็นคหบดี และมีบ้านติดกับโรงเรียน 
ประจวบกับท่านทั้งสองมีความปรารถนาที่จะสร้างโรงเรียนเพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นประโยชน์แก่กุลบุตรกุลธิดาอยู่แล้ว 
จึงยอมรับและให้ทางโรงเรียนดำเนินการขออนุญาต 
หลังจากนั้นจึงได้สร้างตึกสองชั้นขึ้น ใช้ชื่อว่า "ตึกคำเที่ยงนฤมิต" 
และได้ทำหนังสือมอบให้เป็นสมบัติของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน 
ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงตั้งชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ 
โดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2473"



......คาดว่าทั้งหลวงอนุสารสุนทรและนางคำเที่ยงคงมีความประสงค์สร้างอาคารเรียนมาระยะหนึ่งแล้ว 
ต่อมาเมื่อนางคำเที่ยงเสียชีวิต หลวงอนุสารสุนทรจึงเริ่มขออนุญาตสร้างโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม



......ปรากฏข้อความบันทึกของหลวงอนุสารสุนทร 
กล่าวเรียนอำมาตย์เอก พระยาอนุบาลพายัพกิจ ตำแหน่งปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2473 เกี่ยวกับโรงเรียนคำเที่ยงว่า

......"ด้วยข้าพเจ้าและภรรยาได้ปรารภกันว่าสถานที่อันเป็นกุศลสาธารณประโยชน์อื่นๆ ข้าพเจ้าก็ได้ทำแล้ว
ยังขาดอยู่แต่โรงเรียนสตรีเท่านั้น เมื่อไม่มีโอกาสก็ต้องรอมา 
ครั้นมาเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าได้เชิญนางสาวทองอยู่ เกษกาญจน 
(พบข้อมูลนามสกุลของอาจารย์ทองอยู่ไม่ตรงกับข้อมูลข้างต้น ไม่แน่ใจว่าเป็นคนคนเดียวกันหรือไม่) 
ครูใหญ่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ไปที่บ้านข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้แสดงความประสงค์ดังที่กราบเรียนมานี้ 
นางสาวทองอยู่ เกษกาญจน จึงแจ้งต่อข้าพเจ้าว่ารัฐบาลมีความประสงค์จะต้องการสถานที่ตัวโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ 
เพราะโรงเรียนที่อยู่เดี๋ยวนี้ไม่เหมาะที่จะเป็นโรงเรียนที่ดีต่อไปได้ ข้าพเจ้าและภรรยาจึงมาคิดว่าเป็นการเหมาะกับความตั้งใจแล้ว 
จึงรับปากว่าจะทำให้ ข้าพเจ้าและภรรยาเต็มใจจะปลูกเป็นตึกคอนกรีตทั้งหลังและขอมอบให้เป็นสมบัติของรัฐบาลนับตั้งแต่วันทำแล้วเป็นต้นไป 
ถ้าฝ่ายทางบ้านเมืองยอมดังนี้
......1. โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนี้ ต้องปลูกในที่ดินแปลงที่อยู่กับที่ทำการสุขาภิบาล และแปลงที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ 
ระหว่างรั้วเขตศาลกับโรงเรียนหันหน้าไปทางทิศใต้
......2. โรงเรียนนี้ข้าพเจ้ามีความตั้งใจจะให้เป็นที่ระลึกของภรรยาข้าพเจ้าคือ นางอนุสารสุนทร (คำเที่ยง) 
ฉะนั้นขอให้ขนานนามโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนสตรีคำเที่ยง
......3. ข้าพเจ้าขอสถานที่อันเป็นตัวโรงเรียนอยู่เดี๋ยวนี้ รื้อถอนปลูกสร้างเป็นโรงรับประทานอาหารของนักเรียน โดยข้าพเจ้าจะจัดการรื้อทำเอง..."
จากข้อความข้างต้นจะเห็นว่าโรงเรียนคำเที่ยงฯ ในยุคนั้นถือว่าเป็นโรงเรียนใหญ่และมีความสำคัญไม่น้อยเพราะได้ชื่อว่าเป็น 
"โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่



......ในการนี้ ต่อมาพระยาอนุบาลพายัพกิจ ปลัดมณฑลประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือแจ้งการอนุญาตให้ก่อสร้างต่อหลวงอนุสารสุนทร
และแนะนำว่าควรตั้งชื่อว่า โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ คำเที่ยงอนุสารสุนทร 
เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นที่มุ่งสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมในโอกาสต่อไป



การก่อสร้างอาคารเรียนตึกคำเที่ยงนฤมิต ในครั้งนั้น สิ้นทุนทรัพย์เป็นเงินทั้งสิ้น 27,505.60 บาท 
โรงเรียนสตรีคำเที่ยงที่จะสร้างนี้อยู่ริมกองสุขาภิบาลสมัยนั้น รัฐบาลยังไม่กำหนดให้มีเทศบาลคงมีเพียงสุขาภิบาล 
ที่ตั้งของกองสุขาภิบาลเมืองเชียงใหม่ คือ บริเวณโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน 
ส่วนสำนักงานเทศบาลฯ สมัยนั้น คือ จวนสมุหเทศาภิบาล



ครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ที่กล่าวถึง คือ นางสาวทองอยู่ เกษกาญจน 
ต่อมาย้ายไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เมื่อปี พ.ศ.2476 ต่อจากนางเพิ่ม วิสณฑ์ดรุณการ



ผู้ที่เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวลัยอลงกรณ์ 
หลวงอนุสารสุนทรได้เชิญเสด็จวางศิลาฤกษ์สร้างโรงเรียนสตรีคำเที่ยงอนุสรณ์



อาคารคำเที่ยงนฤมิต อาคารเก่าแก่อาคารหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ 
ยังคงตั้งตระหง่านให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกเสมือนเป็นหลักฐานแห่งความรักของหลวงอนุสารสุนทรแด่แม่คำเที่ยง ผู้เป็นภรรยา
เป็นความรักที่สร้างประโยชน์ต่อสาธารณชน ด้านบุญกุศลไม่น่าจะด้อยกว่าการสร้างโบสถ์วิหารในเชิงพระพุทธศาสนา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่