หลุมหลบภัย ที่หมู่ 3 ตำบลตะกาง สิ่งหลงเหลือชวนให้คิดถึงยุทธการชำรากและการสู้รบที่ชายแดนภาคตะวันออกในปี 2528


ที่บริเวณหน้าที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด มันจะมีหลุ่มหลบภัยเก่าอยู่หลุมหนึ่ง ตั้งอยู่ริมถนนคอนกรีตท้องถิ่น และใกล้ๆ กันเป็น กศน. ตำบลตะกาง ซึ่งในวันที่เราไปดูจะเงียบเหงาไร้กิจกรรมใดๆ แต่ก็ไม่ได้อันตรายหรือน่ากลัว เราไปช่วงประมาณบ่ายสาม ของวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จุดนี้จะอยู่ห่างจากถนนสายตราด-คลองใหญ่ในระยะที่มองเห็นกัน 

 

ที่จริงแล้วเราแค่เคยได้ยินไลฟ์สดทางเฟสบุ๊คของสมาชิกท่านหนึ่งในกลุ่มเฉพาะบนเฟสบุ๊ค ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสื่อสารระหว่างสมาชิกเกี่ยวกับข้อมูลหรือข่าวสารส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในจังหวัดตราด ท่านเป็นคนตะกาง โดยระหว่างไลฟ์สดในเนื้อหาเที่ยวชมพื้นที่ย่านตะกาง ท่านเล่าให้ฟังเป็นช่วงสั้นๆ ว่าสมัยที่เรียนชั้นประถมอยู่โรงเรียนวัดตะกาง จะมีการซักซ้อมนักเรียนและครูในการเข้าหลุมหลบภัยยามเกิดเหตุไม่คาดคิด นั่นคือการย้อนหลังไปช่วงปี พ.ศ. 2520 ต้นๆ จนถึง ปี พ.ศ. 2528 สำหรับคนที่อยู่ในยุควิทยุทรานซิสเตอร์ หรือทีวีขาวดำเครื่องแรก ก็น่าจะพอนึกออกว่ามันเกิดอะไรขึ้นบริเวณชายแดนด้านทิศตะวันออก (จริงๆ แล้วในห้วงเวลานั้นหลายพื้นที่ในประเทศไทยก็จะเจอกับเหตุสู้รบอยู่เนืองๆ รวมทั้งการอพยพหนีภัยสงครามของประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน) 
 
วันที่เราเข้าไปที่ตะกาง เราแทบไม่รู้เลยว่าหลุมหลบภัยในย่านนั้นยังหลงเหลือให้ดูอยู่หรือไม่ และมันอยู่ตรงไหน ซึ่งถ้าต้องบุกป่าฝ่าดงเราก็คงล้มเลิกความตั้งใจ เพราะบนเทือกเขาบรรทัดชายแดนไทย-กัมพูชาแห่งนี้ ยังคงมีกับระเบิดที่พร้อมจะทำงานกระจายอยู่ทั่วไป

รูปแสดงแผนที่แสดงภูมิศาสตร์ของจังหวัดตราดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลุมหลบภัยที่กำลังพูดถึง มี 3 อำเภอของจังหวัดตราดที่มีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชา มีเทือกเขาบรรทัดเป็นพรมแดนธรรมชาติ เริ่มจากอำเภอบ่อไร่ อำเภอเมืองตราด และอำเภอคลองใหญ่ ในส่วนที่พูดถึงในกระทู้นี้คืออำเภอเมืองตราด (หมายเลข 7) สองตำบลคือตำบลตะกาง (หมายเลข 4) และตำบลชำราก (หมายเลข 5) ซึ่งติดชายแดนทั้งคู่ วัดตะกาง (หมายเลข 2) และโรงเรียนตะกาง (หมายเลข 3) อยู่ฝั่งขวาของถนนสุขุมวิทที่มุ่งหน้าอำเภอคลองใหญ่และด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก ส่วนตัวตำบลชำราก (หมายเลข 5) จะอยู่ฝั่งซ้ายของถนน

 
อย่างเมื่อ 2-3 วันก่อน นั่งดูข่าวอยู่หน้าจอทีวี (และที่จริงก็มีข่าวทางสำนักข่าวออนไลน์ด้วย) มีการเสนอสกู๊ปเกี่ยวกับคุณลุงท่านหนึ่ง ซึ่งท่านขาขาด 2 ข้าง แต่ประสบความสำเร็จในการทำสวนมังคุดอยู่ที่อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด โดยเหตุให้ขาขาดครั้งแรกคือท่านเข้าไปหาของป่าบนเทือกเขาบรรทัดแห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน โดยจากครั้งนั้นก็มีครั้งที่สองด้วยเหตุคล้ายกัน จนปัจจุบันท่านใส่ขาเทียมที่ขาทั้งสองข้าง แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา ส่วนข้อมูลลึกๆจากในข่าวก็ทำให้เราเห็นว่า บนเทือกเขาแห่งนี้ยังคงมีอันตรายอยู่มากและนั่นคือสิ่งที่หลงเหลือมาจากยุคการต่อสู้กันด้วยอาวุธ  (คนสู้ชีวิต พ่อเฒ่าพิการขา 2 ข้าง สู้ชีวิตปลูกมังคุดรวยหลักล้าน -- https://www.talknewsonline.com/348039/ )
 
ในช่วงนั้นประเทศเวียดนามถูกปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ และต้องการขยายอิทธิพลเข้ามายังประเทศเพื่อนบ้าน  กัมพูชาเกิดการสู้รบภายในประเทศและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง เวียดนามคอมมิวนิสต์รุกไล่ทหารกัมพูชาประชาธิปไตย จนข้ามเทือกเขาบรรทัดและเข้ามาถึงเขตแดนไทย ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่ามีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรขึ้น มีการสู้รบเนืองๆ ในบริเวณแนวชายแดน แต่สุดท้ายทหารไทยก็ได้ทำการผลักดันทหารเวียดนามกลับออกไปจากการลุกล้ำอธิปไตยไทยในที่สุด ยุทธการช่วงนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือน เมษายนและพฤษภาคม พ.ศ. 2528 มีความสูญเสียของทหารไทยพอสมควร โดยเฉพาะจากการเหยียบกับระเบิด ที่ส่วนใหญ่ลักษณะคล้ายตลับแป้ง และเป็นไข้มาลาเรีย เรียกยุทธการนั้นว่า “ยุทธการชำราก” (มีการอธิบายถึงยุทธการนี้ไว้ละเอียดเป็นคลิปในยูทูป และลองค้นหาใน google  ก็จะพบข้อมูลอยู่พอสมควร) คลอบคลุมพื้นที่ปัจจุบันคือตำบลชำราก ตำบลตะกาง และวัดตะกางในปัจจุบัน


เราขับรถมุ่งหน้าอำเภอคลองใหญ่โดยปักหมุดไว้ที่วัดตะกางซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับโรงเรียนวัดตะกางที่ในไลฟ์สดพูดถึง เดินดูแถวๆ วัดและโรงเรียน (ซึ่งไม่มีการเรียนการสอนในวันนั้น) ก็ไม่เห็นหลุมหลบภัยที่อ้างถึง พอดีมีคุณลุงท่านหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมา เราจึงสอบถามเกี่ยวกับหลุมหลบระภัยที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในย่านนี้ ท่านบอกว่าหลุมหลบภัยบริเวณวัดและโรงเรียนวัดตะกาง ไม่มีอยู่แล้วเพราะถูกรื้อทิ้งไปเมื่อหลายปีก่อน และเท่าที่ท่านนึกได้ ก็น่าจะเป็นบริเวณหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 และอีกจุดซึ่งเราไม่ได้ไปตามหาเพราะแกระบุพิกัดแบบต้องเป็นคนพื้นที่เท่านั้นถึงจะนึกภาพออก เราขับไปตามทิศทางที่คุณลุงบอก หลังจากที่กล่าวขอบคุณคุณลุงและคุณลุงก็ขี่มอเตอร์ไซค์จากไปแล้ว

 
หลุมหลบภัยหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 (จะเรียกหลุมก็ดูแปลกๆ มันเป็นลักษณะบังเกอร์ที่ดูมิดชิดและแน่นหน้าเสียมากกว่า) ยังคงอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และยังคงใช้งานได้ มีต้นมะม่วงต้นใหญ่ขึ้นอยู่เกือบจะชิดกับปากหลุม ต้นมะม่วงต้นนี้ก็น่าจะมีอายุพอๆ กับหลุมหลบภัยแห่งนี้ และมันจะเป็นเรื่องที่หัวเราะไม่ออกถ้าความจริงมันอาจเป็นเม็ดมะม่วงที่เป็นสะเบียงของใครสักคนที่ทานเนื้อหมดแล้วเหลือแต่เม็ดทิ้งไว้
 
โครงสร้างหลักทำจากท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่พอที่คนทั้งคนจะเข้าไปนั่ง หรือยืนแบบก้มหัวเล็กน้อยได้ (ส่วนเด็กตัวเล็กๆนี่จะยืนได้เต็มตัว) ท่อซีเมนต์เรียงเป็นแนวยาวเกิดเป็นช่องว่างทั้งหมด 3 ช่อง ด้านหน้าและหลังเป็นช่องทางเข้าออก ที่เปิดทั้งด้านซ้ายและขวา (รวมทางเข้าออกทั้งหมด 4 ช่อง) ด้านหัวและท้ายมีท่อซีเมนต์มาตั้งเรียงกันลักษณะเป็นกำแพง ด้านบนทับไว้ด้วยแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กในแนวขวาง และแนวยาว และทั้งหมดถูกทับด้วยดินอีกที ส่วนช่องว่างระหว่างท่อซีเมนต์ถูกเติมด้วยกระสอบทรายแบบที่ใช้ทางการทหาร กระสอบเปื่อยยุ่ยไปบ้างบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในสภาพดี มีรากไม้เล็กๆลอดทะลุเข้ามาด้านในเล็กน้อย เป็นไปตามอายุของสถานที่ ทั้งหมดถูกคลุมด้วยต้นไม้ขนาดเล็ก และมะม่วงต้นใหญ่

 
ก็ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างในยุคที่ชายแดนไทยด้านจังหวัดตราดยังคงมีการสู้รบอยู่ และเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่ยังคงหลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นในปัจจุบัน เข้ามาเยี่ยมชมไม่ยาก อาจปักหมุดที่ กศน. ตำบลตะกาง หรือขับรถมาที่วัดตะกางแล้วสอบถามคนแถวนั้นดู การเยี่ยมชมไม่มีค่าใช้จ่าย จอดรถได้ริมถนนหรือหน้า กศน. ก็ได้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล(นอกจากจะถามชาวบ้านที่ผ่านไปผ่านมา) และดูแลความปลอดภัยนะครับ ปีนป่ายถ่ายรูปก็ต้องระมัดระวังกันด้วย

----------
คุณหมูยอ
เดินทาง 7 เมษายน  2564
บันทึก 3 พฤษภาคม 2564
---------
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  เที่ยวเชิงอนุรักษ์ ภาพถ่าย ภาพถ่ายทิวทัศน์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่