"ให้ภาพมันเล่าเรื่อง" : ดับเบิ้ลยู.ยูจีน สมิธ



"ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" (Ars longa, vita brevis) คำพูดนี้ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีได้เคยกล่าวไว้ถือว่าเป็นสัจธรรมของโลก ศิลปินหลายคนที่แม้จะล่วงลับไปเป็นหลายสิบหลายร้อยปีแล้ว แต่ทว่าผลงานของเขาก็เป็นที่ประทับจิตและตราตรึงใจของใครหลายคน ไม่ว่าจะด้านดนตรี ทุกวันนี้คนยังฟังเพลงของบีโทเฟ่นหรือโมซาร์ทกันอยู่เลย ด้านภาพวาด มีใครบ้างไม่รู้จักแวนโก๊ะ แต่ศิลปินที่เราจะพูดถึงวันนี้เขาเป็นช่างภาพครับ เป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพที่บอกเล่าเรื่องราว เรียกได้ว่าไม่ต้องฟังจากคนถ่ายครับ ให้ภาพมันเล่าเรื่องเอง จะเป็นอย่างไร ขอเชิญทุกท่านมาพบกับศิลปินคนนี้เลย



วิลเลี่ยม ยูจีน สมิธ คือชื่อของช่างภาพศิลปินที่เราจะมารู้จักเขาในวันนี้กันครับ เขาเป็นชาวมะริกันเกิดที่แคนซัส เขาเริ่มหลงใหลการถ่ายภาพตั้งแต่วัยเด็ก จนวันหนึ่งเมื่ออายุ 13 ปี เขาขอให้แม่ซื้อกล้องให้สักตัวนึง เพื่อถ่ายภาพเครื่องบิน แต่แม่ของเขาให้ยืมของเธอแทน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของวิถีชีวิตช่างภาพศิลปินของเขาตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา 



เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นเขาก็เริ่มถ่ายภาพส่งให้หนังสือพิมพ์ต่างๆ จนถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็ได้เข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยนอตเตรอดาม แต่ก็สุดท้ายก็ดรอปออกมาเพื่อมาทำงาน แล้วเขาก็มาสมัครเข้าทำงานเป็นช่างภาพให้นิตยสาร Newsweek ในปี 1938
แต่ทว่าสมิธก็อยู่กับ Newsweek ได้ปีเดียว เขาก็ลาออกเพราะที่สำนักพิมพ์ไม่อยากให้เขาใช้กล้อง 33 มม.ซึ่งสมิธมองว่ามันถ่ายภาพได้ไวทันใจดี แล้วต่อมาเขาก็ได้ไปทำงานให้กับนิตยาสาร Life ซึ่งที่นี่เป็นที่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา โดยภารกิจแรกของเขาคือการไปเก็บภาพบรรยากาศของกองทัพอเมริกาตอนบุกญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2



สมิธเล่าเรื่องราวในช่วงนั้นว่า "คุณไม่สามารถปกป้องประเทศโดยการเข่นฆ่าคนโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดในจิตใจได้เลย นี่แหละคือเหตุผลที่ผมถ่ายภาพสงครามเพื่อบอกเล่าความโหดร้ายของสงครามที่มันเสียเปล่า โง่เง่า และไม่มีเหตุผลเลยที่จะมาฆ่าแกงใครกันง่ายๆ"  และยังกล่าวต่อไปว่า "ผมต้องการถ่ายภาพที่เป็นการส่งสัญลักษณ์ในการต่อต้านสงคราม"



สมิธเองก็ได้รับบาดเจ็บจากสงครามโดยโดนสะเก็ดปืนครก สิ่งนี้ทำให้เขาฝันร้ายมาตลอด แต่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้เขาได้ค้นพบแนวทางการถ่ายภาพของตัวเอง จนเมื่อสงครามจบและเขารักษาตัวจนหาย เขาก็ได้สร้างสรรค์ภาพในตำนานซึ่งก็คือภาพ การเดินทางไปสวนสวรรค์ (The Walk to Paradise Garden) ซึ่งเป็นภาพเด็กน้อยจูงมือกันเดินไปสวนที่บ้านของทั้งคู่



จากนั้นมาอีกเป็นเวลากว่า 10 ปีสมิธก็ได้ผลิตผลงานให้กับนิตยสาร Life มาโดยตลอด ได้แก่ซีรี่ย์ภาพหมอชนบท ที่เล่าถึงเรื่องราวของหมอที่คอยไปช่วยเหลือชาวบ้านตามที่ต่างๆ ซีรี่ย์ของสเปนในยุคเผด็จการที่เล่าเรื่องราวของคนในชนบท ผ่านอิทธิพลของภาพวาดศิลปินในตำนาน Rembrandt โดยใช้การถ่ายภาพแบบ Chiaroscuro หรือภาพแนวดาร์ก



จนมาถึงผลงานอันสร้างชื่อของเขาอีกซีรี่ย์หนึ่งก็คือการถ่ายภาพของหมอตำแยผิวสี ม้อด คัลเลน ที่ช่วยทำคลอดให้กับทารกไปร่วมเกือบพันคน "ผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่ทำงานได้อย่างน่าทึ่งมากๆในสถานการณ์เช่นนี้"เขากล่าวถึงเธอ แล้วพอซีรี่ย์ภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ออกไป เงินบริจาคก็แห่หลั่งไหลมากว่าสองหมื่นดอลล่าร์ ทำให้สมิธรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้



เสร็จจากโปรเจคต์หมอตำแย สมิธก็ได้มีโอกาสไปถ่ายภาพดร.ชไวท์เซอร์ นักสิทธิฯแห่งแอฟริกา เขาเล่าว่า ดร.ไม่เฟรนด์ลี่เลย แถมยังชอบบงการ และขอเลือกรูปเอง แต่สุดท้ายเขาก็ยื่นคำขาดว่า "คุณจะให้ผมถ่ายมั้ย หรือไม่ต้องถ่ายเลย เอาไง??" สุดท้ายดร.เรื่องมากก็ยอมจำนน นี่ถือว่าเป็นการบ่งบอกวิธีการทำงานของเขาเป็นอย่างดี ว่าไม่ชอบให้ใครมาบงการ



และการเป็นตัวของตัวเองของสมิธนี่เอง ก็ทำให้เขาประสบปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเดดไลน์ของการส่งภาพ หรือการจำกัดของจำนวนภาพที่จะตีพิมพ์ ซึ่งมันขัดแย้งกับจำนวนภาพที่เขาถ่ายมานับหมื่นๆรูป อีกทั้งวิถีการถ่ายทำงานของเขารวมถึงความอินดี้ก็มีส่วนให้เขาต้องมีปากเสียงกับหัวหน้าบ่อยๆ จนต้องออกจาก Life ในที่สุด



หลังออกจากนิตยสาร Life สมิธก็ไปทำงานกับ Magnum Photos ที่เป็นเอเยนซี่ในวงการภาพถ่าย เขาได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพเมืองพิตต์สเบิร์ก ให้เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเมืองในจำนวน 100 ภาพใน 1 เดือน แต่ก็กลายเป็นว่าเขาถ่ายภาพไปหมื่นกว่าภาพ และใช้เวลาสองเดือน แถมไม่ได้ตีพิมพ์ ซึ่งกลายเป็นล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า



จนกระทั่งปี 1971 โอกาสของสมิธก็มาอีกครั้ง คราวนี้เขาได้รับการติดต่อจากนักเคลื่อนไหวสิทธิฯ ให้ไปถ่ายภาพตีแผ่เรื่องราวในเมืองมินามาตะ ที่ชาวเมืองได้รับผลกระทบจากการที่โรงงานทิ้งสารโลหะหนักในแม่น้ำ ทำให้ประชากรป่วยและเด็กที่เกิดใหม่มามีสภาพพิการ ซึ่งผลงานอันนี้เป็นผลงานอันเอกอุของเขาอีกโปรเจคต์หนึ่งเลยก็ว่าได้ 



อย่างไรก็ตามแม้จะได้ผลงานอันสุดยอด แต่เขาก็ต้องแลกกับการที่เขาต้องเจ็บป่วยไปตลอดชีวิตจากการโดนรุมประชาทัณฑ์โดยคนงานของโรงงานดังกล่าว ผลงานของเขาได้ตีพิมพ์ในปี 1975 ภาพที่โด่งดังก็คือ ภาพโทโมโกะ อูเอมูระในอ่างน้ำ ที่เป็นภาพของหญิงที่อุ้มลูกที่ป่วยจากโรคมินามาตะที่เกิดจากสารปรอท หลังจากกลับจากญี่ปุ่นเขาก็ได้งานสอนที่มหาวิทยาลัย



จากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มป่วยจากโรคเส้นเลือดในสมองแตกในปี 1977 จากภาวะความเครียด ผนวกกับดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด ก่อนที่ปีต่อมาเขาก็จะเสียชีวิตลงด้วยอาการเดิมอีกครั้ง โดยในตอนที่เขาเสียชีวิตนั้นเงินในบัญชีมีเพียง 18 ดอลล่าร์ อันเป็นบทสุดท้ายของชีวิตศิลปินระดับโลกหลายๆคน ที่บั้นปลายนั้นอยู่กันอย่างอนาถา



อย่างไรก็ตาม แม้ว่า วิลเลียม ยูจีน สมิธ จะจากเราไปสี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ผลงานอันเอกอุของเขาก็ยังเป็นที่พูดถึงของเรากันทุกวันนี้ ในวิถีการสร้างสรรค์การถ่ายภาพแบบฉบับ "ให้ภาพมันเล่าเรื่อง" ให้เราได้ชื่นชมกันทุกวันนี้ ทั้งที่จริง เขาเองก็สามารถทำงานโดยไม่ต้องทะเลาะกับใครก็อาจจะสร้างฐานะได้อย่างสบาย แต่เพราะเขาเป็นแบบนี้ไม่ใช่หรอครับ เลยมีผลงานอันเอกอุที่กลายเป็นตำนานจนมาถึงปัจจุบัน



เร็วๆนี้กำลังจะมีการนำเรื่องราวชีวิตของ ดับเบิ้ลยู.ยูจีน สมิธ ที่ทำเป็นภาพยนตร์ออกมาฉาย เป็นเรื่องราวในช่วงชีวิตของเขาตอนที่ไปทำโปรเจคต์ที่เมืองมินามาตะ นำแสดงโดยจอห์นนี่ เด็ปป์ น่าจะเป็นหนังที่ใครหลายๆ คนรอดูกันอยู่ครับ ผมเองก็ไม่พลาดแน่ที่จะไปดู ขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ครับ ลาก่อนและสวัสดี



ใครชอบใจบทความของผมสามารถติดตามหรือติชมได้ที่เพจใครสักคนในประวัติศาสตร์ https://www.facebook.com/someoneinhistory/ ขอบคุณครับ
Cr. : https://en.m.wikipedia.org/wiki/W._Eugene_Smith
        https://www.theguardian.com/artanddesign/2017/aug/06/w-eugene-smith-photographer-record-everything
        https://blog.samys.com/w-eugene-smith-tortured-artist-photography/
        https://petapixel.com/2019/08/17/w-eugene-smith-master-of-the-editorial-photo-essay/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่