เขียนถึงน้อง ๆ จบใหม่และคนอยากทำกิจการส่วนตัว--ตอน 2 -- บริการจากธนาคาร

ความเดิมในกระทู้ที่แล้ว
https://pantip.com/topic/40634582/

กระทู้ที่แล้ว พูดถึงภาพรวมคร่าว ๆ สำหรับคนอยากทำกิจการส่วนตัวนะคะ กระทู้นี้ขอลงดีเทลอีกหน่อยพร้อมเพิ่มเติมเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของดิฉันลงไปด้วยให้เห็นภาพชัดขึ้น

 อันนี้ขอแท็กแบงค์ด้วยนะคะ
 
 ดิฉันบอกไว้ว่า ก่อนที่อยากจะออกมาทำกิจการส่วนตัว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีอุปสงค์ (demand) หรือคนซื้อก่อน  ในตำรา (ดิฉันอ้างตำราบ่อยมาก เพราะอาชีพเก่าคือ เคยสอนหนังสือมาพักนึง) จะบอกว่า วิธีการหาอุปสงค์ อาจทำได้โดยการสำรวจตลาด ดูความต้องการ  บางคนอาจใช้ gut feeling หรือความรู้สึกข้างในว่า เออ... อันนี้น่าจะขายได้ อันนี้เดี๋ยวมันจะ hot คนบางคนนี่เกิดมาพร้อมความไวและแหลมคมในการจับทิศทางธุรกิจนะคะ  อันนี้ ต้องให้พวกเค้าไป   หรือ บางคน อาจทำงานและมีฐานลูกค้าเดิมจากที่ทำงานเก่า จากคนแถวบ้าน หรือจากการเป็น free lance แล้วเริ่มขยับระดับมาเปิดเป็นบริษัท ห้างร้านเต็มรูปแบบ

 
 สิ่งสำคัญในลำดับขั้นถัดไป คือ เรื่องการวางแผน และการบริหารเงินค่ะ
 

 คนที่เกิดมาในบ้านที่มีฐานะพอสมควร จะได้เปรียบ เพราะบางคน ตอนเปิดธุรกิจแรก ๆ ก็ใช้ printer ที่บ้าน แฟกซ์ที่บ้าน หรือแม่บ้านที่บ้านนั่นแหละมาช่วยทำ กระทั่งบริษัทเลื่องชื่ออย่าง Hewlett-Packard ตอนเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ประวัติยังบอกว่าเริ่มจากโรงรถเก่าเลย

แต่บางคนก็ไม่โชคดีอย่างนั้นนะคะ  ดิฉันและสามี เราไม่มีที่พอที่จะเหลือทำเป็นโรงรถด้วยซ้ำ 555

สามีเล่าให้ฟังว่า ตอนเรียนจบทำงานสองสามปีแรก  ในฐานวิศวะหนุ่มน้อยที่บริษัทใหญ่ส่งไปคุมงาน ที่ไซท์งานนอกเมือง (น่าจะแถวปทุม)  ต้องนั่งรถเมล์หลายต่อมาก กว่าจะถึงไซท์  เจอบรรดา ผู้รับเหมารุ่นพี่ ๆ เก๋า ๆ แซวว่า 
“ทำไมเอ็งถึงไม่ให้ xxxxx (บริษัทเก่าสามีตอนนั้น) ถอยควายให้เอ็งขี่ซักตัวมาคุมงานวะ ?”  แล้วทุกคนก็หัวเราะกันสนุกสนาน  ส่วนนายช่างหน้าละอ่อนที่ตอนนี้ดิฉันเรียกว่าสามี ก็อายม้วนต้วน   ฟังแล้วดิฉันก็ขำปนเอ็นดู  เพราะถ้าเป็นดิฉันในวัยคะนองตอนนั้น คงได้สวนอะไรคัน ๆ กลับไปแน่ ๆ 
 
เม่าดี๊ด๊า

ตัดกลับมายังภาพปัจจุบัน คนที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลย นอกจากการศึกษาและโอกาสในการทำงาน สะสมทุนได้อย่างไร ?
ก็อย่างที่เล่าไปในกระทู้ที่แล้วค่ะ  เราเริ่มจากบ้านทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กที่เป็นที่มาของ OD ก้อนแรก ก่อนจะค่อย ๆ ต่อยอดขยายออกไป
 

สำหรับคนมาใหม่และไม่เคยมี connection กับธนาคารเลย การติดต่อครั้งแรก ยากเสมอ
ดิฉันกับสามีเริ่มจากการเดินไปธนาคาร ขอติดต่อเจ้าหน้าที่ (ซึ่งรอนานมาก) และความประทับใจแรกคือ ดูเขาไม่ค่อยสนใจเราเลย 
 

เลยอยากจะขอฝาก tip และข้อสังเกตของดิฉันเกี่ยวกับการติดต่อธนาคารดังนี้
 

1. คุณต้องชัดเจนและบอกเล่าได้ว่าคุณทำธุรกิจอะไร ลูกค้าคุณคือใคร แนวโน้มเป็นอย่างไร ที่ผ่านมายอดขายคุณได้เท่าไร กำไรประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ และคุณมีหลักทรัพย์อะไรค้ำประกัน   มันจึงจะนำไปสู่ประเด็นว่า “คุณอยากกู้เท่าไร ?” และ “ธนาคารยินดีให้คุณกู้ได้เท่าไร ?” สองคำถามนี้ เหมือนสมการที่จะต้องหาจุดร่วมให้ลงตัวค่ะ

 กรณีนี้ ถ้าคุณใหม่ถอดด้ามมาจริง ๆ ยังไม่เคยขาย แค่คิดว่า “น่าจะขายได้”  ไม่ได้โตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจนี้มาก่อน และไม่มีเงินทุนเล้ยยยยยจริง ๆ จะมาหวังพึ่งธนาคารอย่างเดียว  ธนาคารจะมองว่า คุณมา “จับเสือมือเปล่า”  โอกาสกู้ได้จะเบาบางมากค่ะหรือจะให้พูดแบบไม่เกรงใจเลยคือโอกาสกู้ได้แทบจะเป็นศูนย์
 แต่หากคุณเป็น newbie จริง ๆ แต่มีอะไรบางอย่างที่ดูจะเป็นนิมิตที่ดี เช่น มีสัญญาในมือกับร้านสะดวกซื้อเครือใหญ่ หรือหน่วยราชการที่เป็นที่เชื่อถือแล้ว  อันนี้ เป็นข้อยกเว้นค่ะ 

 
2. แบงค์ใหญ่ในไทย (สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง) ส่วนใหญ่มักจะอนุรักษ์นิยมและมีเงื่อนไขเยอะแยะจุกจิกกว่าแบงค์เล็ก  แต่ข้อดีคือดอกเบี้ยถูกกว่า (บ่อยครั้งเราจะได้เห็นดอกที่ต่ำกว่าถึง 1-เกือบ ๆ 3%เลยทีเดียวค่ะ)   และในระยะยาว หากคุณจะต่อยอดไปใช้บริการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคาร โอนเงินต่างประเทศ ส่งออก ทำ LC TR อะไรทำนองนี้ แบงค์ใหญ่จะครบวงจรกว่า

 แต่แบงค์เล็กข้อดีคือ เค้าพร้อมจะเสี่ยงกับคุณมากกว่า คุยกับคุณด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นกว่า

 
3. เวลาติดต่อแบงค์ ลองติดต่อสัก 2-3 ที่เปรียบเทียบกัน แต่ละแบงค์ มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันไปคนละอย่าง ขึ้นอยู่กับนโยบายโดยรวมของแบงค์ และนโยบายในขณะนั้น เช่น บางที่ จะมีโฟกัสที่ธุรกิจบาง sector บางที่ บางช่วงจะโฟกัสที่ธุรกิจ SME  บางที่มี campaign และ rate พิเศษในการทำธุรกรรมติดต่อต่างประเทศ (ค่าโอน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ) ถ้าธุรกิจคุณเผอิญตอบโจทย์เป็นลูกค้าชนิดที่แบงค์กำลังมองหา ก็ง่ายขึ้นค่ะ
 

4. ข้อแนะนำเวลาใช้บริการแบงค์ คือ แม้แบงค์จะเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญมาก แต่ keyword คือ “ความสมประโยชน์” นะคะ  

ลองอ่านหนังสือแนว Why Men Love Bitches ดูค่ะ  ประเด็นหลักที่จะสื่อคือ คุณไม่จำเป็นต้อง Be too nice หรือ จงรักภักดีกับแบงค์ใดแบงค์หนึ่งมากจนเกินไป (แม้ว่าส่วนตัวดิฉันเอง จะถือเรื่อง loyalty มากพอสมควร แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่เราจะไม่เสียประโยชน์มากเกินไปนานเกินไป        ผู้จัดการเขตของธนาคารม่วงที่เคยใช้บริการมาหลายปีดีดักเป็นคนที่ดิฉันเคารพและเกรงใจมาก  แม้ว่าตอนนี้ เราจะไม่ได้เดินบัญชีหลักที่นี่แล้ว และท่านจะ ย้ายไปสาขานู่นนี่นั่นมาสิบกว่าปีแล้ว ทุกวันนี้ ยังส่ง message อวยพรวันเกิด ปีใหม่ และบ่อยครั้งยังส่งของขวัญในเทศกาลสำคัญให้กันอยู่เลยค่ะ ตอนจะย้ายบัญชีหลักออกจากที่นี่ ดิฉันยังต้องอีเมลไปแจกแจงรายละเอียดและความจำเป็นให้ท่านทราบราวกับเป็นญาติผู้ใหญ่ 555)     

การใช้บริการหลาย ๆ ที่ เรียนรู้ข้อมูลหลาย ๆ ที่ จะทำให้คุณรู้จุดดีจุดเด่น และ “ราคา” ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ตลอดจนขอบเขตงานที่สาขาใกล้คุณสามารถทำให้ได้  เช่น บางสาขาทำเรื่องโอนต่างประเทศได้ บางสาขา เปิดบัญชี FCD หรือบัญชีสกุลเงินต่างประเทศให้คุณได้

 การใช้บริการหลาย ๆ แบงค์ยังให้ประโยชน์อีกอย่าง คือ เวลาแต่ละแบงค์จัดสัมมนา ซึ่งมักจะต่างหัวข้อกัน คุณยังมีโอกาสได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาและเรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ
 
 บริษัทใหญ่ ๆ อาจมีแผนกต่างประเทศ แผนกการเงิน แยกส่วนและเฉพาะด้านในการบริหารจัดการ ส่วน SME จำเป็นจะต้องตะเกียกตะกายหาความรู้เพิ่มพูนรอบตัวเองค่ะ ซึ่งความรู้พวกนี้ คุณร้องขอจากแบงค์ได้ 
 
 สิบกว่าปีก่อน ดิฉันมีเหตุให้ต้องขายของไปยังตลาดต่างประเทศ  ก็ขายกันเป็นดอลล่าร์สหรัฐค่ะ ปรากฎว่า ตอนรับเงิน บาทแข็ง ดอลล่าร์อ่อน ได้เงินน้อยกว่าที่คิดไว้   อีกสองเดือน เลยเปลี่ยนเป็นขายเป็นยูโร ตอนรับเงิน ก็เจอบาทแข็ง ยูโรอ่อนอีก 

    ฮ่วยยยย... ก่อนจะไปรดน้ำมนตร์เจ็ดวัด  ไปคุยกับแบงค์ก่อนว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะช่วยคุณบริหารจัดการอะไรพวกนี้ได้บ้างในอนาคต 

เม่าปัดรังควาน

 สิ่งที่แบงค์แนะนำคือ จอง forward ซื้อ option เปิด FCD
 เงื่อนไขพวกนี้ สมัยก่อนนู้น ยุ่งยากและเริ่มที่วงเงินสูงมากนะคะ เช่น สมัยก่อนจะเปิด FCD (Foreign Currency Deposit) ดูเหมือนจะต้องเริ่มที่ห้าแสนเหรียญ (ซึ่งดิฉันก็ไม่มีปัญญาอีก) ตอนหลัง ตัวเลขนี้ลดลงมามากเหมือนจะเริ่มได้ที่แค่หลักพันเท่านั้น
 
          FCD คืออะไร ป้องกันความเสี่ยงยังไง  ?
 อธิบายง่าย ๆ เลยคือ เวลาคุณขายของให้ต่างประเทศ ถึงเวลาเค้าโอนเงินมาให้คุณ เงินเข้าวันไหน คุณต้องรับอัตราแลกเปลี่ยนในวันนั้น เช่น 1000 เหรียญ โอนมาวันนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.50 บาท คุณก็ต้องได้อัตรานี้ในวันรับเงินโอน  อีกสิบห้าวันต่อมา คุณต้องซื้อของต่างประเทศ ต้องโอนออก อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31 บาท เท่ากับว่า คุณขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว

 แต่ถ้าคุณมีบัญชี FCD เงินจะเข้ามาพักในสกุลยูเอสดอลล่าร์  คุณรับเป็นดอลล่าร์ เวลาคุณต้องโอนออก คุณก็โอนออกจากบัญชีนี้ ไม่ต้องแปลงเป็นเงินไทย อาจจะจ่ายค่าธรรมเนียมส่วนต่าง (จำไม่ได้แล้วว่าเท่าไร 0.25% รึเปล่าไม่แน่ใจ) นิดหน่อย   คุณก็จะได้ไม่ต้องเสี่ยงขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนมาก

 
5. ข้อนี้ ออกแนวนินทา และเป็นข้อสังเกตนะคะ  ตอนดิฉันเริ่มทำกิจการส่วนตัวใหม่ ๆ พบว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารส่วนใหญ่ อยู่ยั้งยืนยงกันทั้งนั้น ถ้าคุณติดต่อ RM หรือ relationship manager ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าผู้ประกอบการท่านนี้ เค้ามักจะอยู่กับคุณไปหลาย ๆ ปี 

ตอนนั้น แบงค์น่าจะได้ชื่อว่าเป็น sector ที่คนอยู่กันจนเกษียณ  แต่ระยะหลังนี้ RM เปลี่ยนงาน เปลี่ยนแบงค์ กันเป็นว่าเล่น จนดิฉันแทบจำไม่ได้แล้วว่า ตอนนี้ท่านนี้อยู่แบงค์ไหนกันแน่ บางท่าน เปลี่ยนจากม่วงไปเหลือง  เปลี่ยนจากน้ำเงินไปม่วง เปลี่ยนจากน้ำเงินไปชมพูก็มีค่ะ (อันนี้แปลกมากที่ข้ามไปภาครัฐ)  เปลี่ยนจากม่วงไปส้ม  ม่วงไปแดงก็มี 

RM ดี ๆ ลูกค้ามักเกรงใจ และดิฉันก็ต้องจ่ายค่าเกรงใจในรูปแบบของบริการที่บางทีก็ไม่ได้อยากได้มาก แต่อ๊ะ... RM เค้าไนซ์มาก ให้ข้อมูลหลายอย่างที่มีประโยชน์  เพราะงั้นพ่วง ๆ ขายอะไรมา ก็ช่วยซื้อไว้เท่าที่จะพอทำได้ ไม่ว่าจะเป็น กรมธรรม์ กองทุน และสมัครบริการอะไร ๆ สารพัดจิปาถะ 
 
 อ้อ...แล้วในวงธุรกิจแบบไทย ๆ อย่าได้ดูเบาเรื่องสัมพันธภาพที่ดีอย่างเด็ดขาด

 ผู้จัดการเขตท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า นานมาแล้ว บริษัทหนึ่งต้องการจะ re-finance ย้ายบริการไปใช้บริการธนาคารอีกแห่งหนึ่งที่เงื่อนไขดีกว่ามาก มิใยที่ธนาคารเดิมจะทัดทานอย่างไร ผู้บริหารก็จะไปให้ได้
ธนาคารเดิมแก้เกมส์อย่างไรรู้ไหมคะ ? โน่น... ไปจูงเอาผู้จัดการเก่าที่เกษียณไปนานแล้วและเคยให้เงินกู้กับบริษัทนี้สมัยคุณแม่ผู้บริหารคนปัจจุบันยังคงทำอยู่ ...
 ท้ายสุด ก็ล้มดีลใหม่สำเร็จค่ะ เพราะคุณแม่ท่านบอกว่า “ลูก ... แม่ขอเถอะ... แม่ย้ายไม่ได้จริง ๆ ธนาคาร xxx นี้เค้ามีบุญคุณ”
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่