JJNY : 54.6%งดเดินทาง│“สงกรานต์”ซึม-คนเซ็ง│ชี้โควิดรอบ3เสียหาย6หมื่น-1แสนล.│ชูวิทย์โวยรัฐขู่│กลุ่ม’ร้อยโทหญิง’ติดโควิด

กระทู้ข่าว
ปชช.54.6%งดเดินทางสงกรานต์
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_79743/

 
กรุงเทพโพล คนส่วนใหญ่งดเดินทางช่วงสงกรานต์ เชื่อมั่นภาครัฐลดอุบัติเหตุทางถนนได้
 
กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,170 คน เรื่อง “คนไทยกับการเดินทางช่วงหยุดยาวปีใหม่ไทย 2564” พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 54.6 ตั้งใจจะอยู่บ้านไม่ออกไปไหนในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ปีใหม่ไทย ขณะที่ร้อยละ 45.4 ตั้งใจจะเดินทาง โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 29.8 จะเดินทางไปทำบุญ
 
ทั้งนี้เมื่อถามผู้ที่ตั้งใจเดินทางว่ามีการวางแผนจะเดินทางในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ปีใหม่ไทยหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.1 ไม่มีการวางแผนไปตามปกติ ขณะที่ร้อยละ 36.9 มีการวางแผน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 19.8 วางแผนเดินทางไปก่อนเทศกาลหรือก่อนวันที่นักท่องเที่ยวเดินทาง ร้อยละ 8.8 วางแผนหลีกเลี่ยงเส้นทางหลักที่มีการจราจรหนาแน่น
 
เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานภาครัฐในการใช้มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 ด้านอย่างจริงจัง เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง 7 วันอันตราย พบว่า ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น 3.47 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน ซึ่งแปลผลว่ามีความเชื่อมั่นมาก โดยด้านที่เชื่อมั่นมากที่สุดคือ การเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ 3.99 คะแนน ส่วนด้านที่เชื่อมั่นน้อยที่สุดคือ การลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อมได้ 3.22 คะแนน
 
ด้านการรับทราบเกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดความเร็วใหม่ ในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบทพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.2 ทราบเกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดความเร็วใหม่ ขณะที่ร้อยละ 41.8 ไม่ทราบ
 
ทั้งนี้เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อกฎกระทรวงกำหนดความเร็วใหม่ในทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงชนบท จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้เดินทาง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากน้อยเพียงใดพบว่า ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่น 3.12 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน ซึ่งแปลผลว่ามีความเชื่อมั่นปานกลาง โดยกฎความเร็วใหม่ที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุดคือรถยนต์วิ่งเลนขวา ไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. และรถโดยสาร ไม่เกิน 100 กม./ชม. โดยได้คะแนน 3.32 คะแนนเท่ากัน ขณะที่รถจักยานยนต์ 400 cc ขึ้นไป ไม่เกิน 100 กม./ชม. ได้คะแนนน้อยที่สุด 2.80 คะแนน
 

 
พิษโควิด-ปิดผับบาร์ “สงกรานต์” ซึม-คนเซ็ง-ท่องเที่ยวซบ
https://www.matichon.co.th/politics/news_2667369
 
สรุปข่าวเด่น-พิษโควิด-ปิดผับบาร์ “สงกรานต์” ซึม-คนเซ็ง-ท่องเที่ยวซบ
  
วันที่ 10 เมษายน เริ่มเข้าสู่วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ 6 วัน แม้รัฐบาลจะไม่มีประกาศล็อกดาวน์ ประชาชนยังเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ จากคลัสเตอร์ผับย่านท่องหล่อ ที่ติดเชื้อได้ง่ายจึงมีผู้ป่วยจำนวนมากในแวดวงการต่างๆ และกระจายไปหลายจังหวัด จนทำให้หลายพื้นที่ต้องประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์ แถมบางจังหวัดยังมีมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอีก
  
อีกทั้ง ยังมีการประกาศปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และอาบอบนวด ใน 41 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนนี้ ทำให้ประชาชนบางส่วนหมดอารมณ์ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว เพราะเสี่ยงจะติดเชื้อโควิด และอาจถูกกักตัว อีกทั้งสถานบันเทิง ผับบาร์ ใน 41 จังหวัดก็ปิดบริการ จึงยกเลิกท่องเที่ยวหรือปรับแผนหันไปเที่ยวระยะใกล้ๆแทน จึงมีการแห่ยกเลิกตั๋วเดินทาง และการจองพักในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวซ้ำอีกรอบ
  
ทั้งนี้ นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 เมษายนว่า หลังมีการระบาดโควิดคลัสเตอร์ใหม่และกระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ จึงเริ่มมีการยกเลิกการจองห้องพักช่วงสงกรานต์เข้ามาบ้างแล้ว มีแนวโน้มว่าจะมียกเลิกการจองห้องพักอีกจำนวนมาก เดิมเริ่มเห็นการจองห้องพักฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภูเก็ต แต่พอโควิดระบาดอีกรอบ จึงมีการยกเลิกการจองห้องพักอย่างต่อเนื่อง จากเดิมโรงแรมที่อยู่ตามชายหาดถูกจองเต็มหลายแห่งตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
  
เดิมคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางผ่านสนามบินภูเก็ตสูงถึงวันละ 18,000-20,000 คน ถือว่ามากเป็นประวัติการณ์หลังมีการระบาดของโควิด แต่ขณะนี้ประเมินแล้วว่าน่าจะลดลงเหลือเพียง 10,000 คนต่อวันเท่าน้น ก่อนหน้านี้โรงแรมในภูเก็ตกลับมาเปิดให้บริการแล้วกว่า 70% แต่เมื่อมาเจอโควิดระบาดรอบใหม่อาจต้องกลับมาปิดบริการชั่วคราวอีกครั้งหลังหมดเทศกาลสงกรานต์” นายก้องศักดิ์ กล่าว
  
ขณะที่นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ และเจ้าของร้านอาหาร The Good View Village กล่าวว่า จากกรณีที่รัฐบาลสั่งปิดสถานบันเทิง ผับบาร์และสถานประกอบการที่มีลักษณะเดียวกันใน 41 จังหวัด ซึ่งรวม จ.เชียงใหม่ด้วยนั้น กระทบหนักแน่นอน หากสั่งปิดร้านก็ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน ทั้งนี้ ต้องแยกแยะระหว่างสถานบันเทิง กับร้านอาหาร เพราะร้านอาหารในเชียงใหม่มีประมาณ 12,800 ร้าน ขณะที่สถานบันเทิงในเชียงใหม่มีกว่า 200 ร้านเท่านั้น
  
ควรต้องแยกเฉพาะพื้นที่เสี่ยง ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด ครั้งนี้กระทบหนักมาก ระลอกแรกยังใช้หนี้ไม่หมด มาระลอกที่สองก็ซ้ำไปอีก ระลอกที่สามเจออีก ก็เรียบร้อยเลย ถึงให้เปิดร้าน แต่ห้ามขายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็เท่ากับปิด เพราะคนหายไป 90% ในฐานะเจ้าของร้านอาหาร The Good View Village ทั้ง 2 สาขา เปิดแล้วเหลือ 10 โต๊ะ ก็ไม่ไหว สู้ต้นทุนไม่ไหว ก็ต้องปิด” นายธนิตกล่าว
  
ส่วนบรรยากาศที่สถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 9 เมษายน มีผู้โดยสารทยอยเดินทาง แต่ส่วนใหญ่เป็นขบวนรถระยะใกล้ เช่น จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี  บ้านภาชี ตะพานหิน สภาพการโดยสารไม่หนาแน่น และมีผู้โดยสารคืนตั๋วโดยสารช่วงเทศกาลสงกรานต์กว่า 5,000 ที่นั่ง โดย รฟท.ประเมินว่าในวันที่ 9 เมษายน จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการตามสถานีต่างๆ ทั่วประเทศลดน้อยลง ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้คือจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 50,000 คน จาก 100,000 คน หรือลดลงประมาณ 50%
  
ส่วนบรรยากาศที่สถานีขนส่งหมอชิต มีประชาชนทยอยเดินทางมาใช้บริการเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในวันหยุดยาวสงกรานต์ แต่บรรยากาศไม่คึกคัก เนื่องจากบางส่วนยกเลิกการเดินทาง เพราะเกรงเรื่องการระบาดของโควิด อีกทั้งอาจถูกจังหวัดปลายทางกักตัวด้วย
  
นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 เมษายน มีผู้โดยสารขอคืนตั๋ว 4,160 ใบ ส่วนใหญ่เดินทางในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 

 
ศูนย์พยากรณ์ศก.ชี้โควิดรอบ3 เสียหาย 6หมื่น-1 แสนล้าน ส.แอลกอฮอล์ คาดกระทบสงกรานต์ 1-2 แสนล้าน
https://www.matichon.co.th/economy/news_2667335
  
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจชี้โควิดระบาดรอบ 3 ลากยาว 1-2 เดือนเสียหาย 6 หมื่นถึง1แสนล้านบาท ด้านส.แอลกอฮอล์คาด”กิน-เที่ยว”ช่วงสงกรานต์ 10วันกระทบธุรกิจเสียหาย 1-2 แสนล้าน
  
ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการเกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ และตัวเลขพบเชื่อโควิด-19 ต่อวันสูงขึ้นมาอีกครั้ง ได้กระทบต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนและภาคประชาชน รวมถึงความกังวลเพิ่มต่อการใช้จ่ายและการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะกระทบต่อการใช้จ่ายหายไป 5-10 % ต่อวันในช่วงสงกรานต์นี้ เพราะการไม่เดินทางออกนอกบ้าน งดกิจกรรม และยกเลิกแผนเดินทาง เฉลี่ย 2- 5 พันล้านบาทต่อวันต่อขนาดของจังหวัด
 
หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีตัวเลขสูงและคนระมัดระวังใช้จ่ายทุก 1 เดือนจะเสียหาย 3-5 หมื่นล้านบาท/เดือน หากดูสถิติย้อนหลังเมื่อเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่กว่าจะใช้เวลาควบคุมและความเชื่อมั่นใช้จ่ายเกิดอีกครั้งก็ประมาณ 1-2 เดือน เท่ากับเงินใช้จ่ายต่างๆจะหายไปจากระบบ 6 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.3-0.5%
 
ขณะที่ นายธนากร คุปตจิตต์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย เปิดเผยว่า ครั้งนี้ถือว่าสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมห้องพัก ร้านอาหารภัตตาคาร ผู้จำหน่ายวัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธุรกิจการแสดงและการจ้างงาน เป็นต้น
 
โดยเป็นการเสียหาย 2 ทางไปพร้อมกัน คือ ความเสียหายจากการจัดเตรียมวัตถุดิบ สต๊อกสินค้า อาหาร-เครื่องดื่ม การจัดจ้างกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พ่อครัว นักดนตรี เพิ่มการจ้างพนักงานรองรับการใช้บริการเพิ่ม ซึ่งเป็นการเตรียมไว้สำหรับเทศกาลสงกรานต์ จะเกิดความเสียหายและการเป็นต้นทุนสูงของผู้ประกอบการ บวกกับความเสียหายจากรายได้ที่หายไปจากการงดยกเลิกห้องพัก ยกเลิกจัดกิจกรรมต่างๆ สถานบันเทิงปิดชั่วคราว 41 จังหวัด รวม 14 วัน ยกเลิกการเดินทางและท่องเที่ยวหลังจากรัฐบาลสนับสนุนการหยุดยาวและงดเก็บค่าผ่านทางเพื่อกระตุ้นการเดินทาง
 
ซึ่งรวมกันแล้วอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวจะเสียหาย 1-2 แสนล้านบาทในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 10 วัน โดยความเสียหายส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น
 
นายธนากร กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เดิมนั้น มีสัญญาณการฟื้นตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ระบาดระลอกใหม่ เริ่มมีการสั่งล่วงหน้าเพื่อเตรียมจำหน่ายในเทศกาลสงกรานต์และงานบันเทิงแล้ว แต่เมื่อเกิดการระบาดรอบ 3 นี้ ยอมรับว่าคำสั่งซื้อใหม่ชะงักลงทันที
 
ดังนั้น เพื่อประคองธุรกิจสมาคมฯได้เสนอให้รัฐ ไม่ให้ใช้โมเดลเหมือนปี 2563 คือการสั่งห้ามหรือจำกัดการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านค้าหรือซื้อเพื่อกลับบ้าน เพราะจากตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุปีก่อนก็ไม่ได้ลดลง อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องขายสุราเถื่อนหรือลักลอบ อาจเกิดปัญหาการเรียกรับสินบน เพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ หรือลักลอบจัดดื่มเป็นกลุ่มก้อน อาจไม่คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการควบคุมผู้ติดเชื้อรายใหม่
 
ทั้งนี้ประเมินว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยปี 2564 จะต่ำกว่าปีก่อนหรือมูลค่าจาก 3 แสนล้านบาท เหลือ 2.6-2.7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2562 ตลาดอุตฯมีมูลค่า 3.7 แสนล้านบาท
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่