ประวัติความเป็นมาของศีลอภัยบาปโดยสังเขป

กระทู้สนทนา


+ การถือปฏิบัติในสมัยอัครสาวกและศตวรรษแรก ๆ ( ที่ 1-2 )

     จากหลักฐานในพระวรสารเอง เราพอจะมองเห็นการถือปฏิบัติศีลอภัยบาปในสมัยเริ่มแรกนี้ พระศาสนจักรในสมัยอัครสาวกได้รับรู้ว่าตัวเองทำบาป และมีการอภัยให้แก่พี่น้องคริสตชนที่กระทำผิด การรู้ตัวเช่นนี้กระทำให้บรรดาสมาชิกต่างพยายามหนีบาปโดยตั้งใจเป็นตัวอย่างที่ดีแก่กันและกัน ตักเตือน และภาวนาให้แก่กัน การกลับใจและการ “คืนดี” ของคริสตชนที่กระทำผิดในสมัยนั้น มีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่ 2 แบบคือ แบบที่หนึ่ง เป็นการว่ากล่าวตักเตือนแบบพี่น้อง การภาวนาในที่ประชุมและการสารภาพผิดต่อพี่น้อง แบบที่สอง ซึ่งใช้ถือปฏิบัติในกรณีที่เป็นความผิดขั้นอุกฉกรรจ์ และเป็นบาปประเภทที่เรียกว่า บาป “เปิดเผย” ( ฆ่าคน – มีชู้-ผิดประเวณี-ละทิ้งศาสนา) มีการปฏิบัติที่มีพิธีรีตองมากกว่าแบบแรกมาก ประกอบด้วย 2 วาระคือ

     วาระแรกแยกคนบาปออกจากสังคมคริสตชน ด้วยกลัวว่าเขาอาจทำให้สังคมคริสตชนทั้งกลุ่มเสียหาย พร้อมกันนั้นก็แก้ไขและตักเตือนในกลับใจ

     วาระต่อมาคือการ “คืนดี” ( กับพระเจ้าและศาสนจักร)พร้อมกันรับเข้ามาอยู่ในสังคมคริสตชนเสียใหม่ เมื่อแน่ใจว่า เขาผู้นั้นกลับใจอย่างแท้จริงแล้ว
การถือปฏิบัติเรื่องศีลอภัยบาปนี้ ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของพระศาสนจักร ถือว่าเกี่ยวข้องกับสมาชิกพระศาสนจักรทั้งกลุ่ม โดยมีผู้อภิบาลสัตบุรุษ ( อัครสาวกและผู้สือบต่อ) ผู้ที่ได้รับหน้าที่พิเศษเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่ง พระวรสารโดยนักบุญมัทธิว 16, 18 -19 และ 18,18 และโดยนักบุญยอห์น 22,3 ต่างอ้างเป้นพยานยืนยันว่าการถือปฏิบิตเช่นนี้ เป็นพระประสงค์ของพระคริสตเจ้า ผู้มอบอำนาจการอภัยบาปคริสตชนที่กระทำผิดแก่พระศาสนจักรของพระองค์ ซึ่งมีผู้อภิบาลสัตบุรุษ( อัครสาวกและผู้สืบต่อ ) เป็นหัวหน้า โดยตั้งเงื่อนไขบางประการให้คนบาปถือปฏิบัติ เพื่อเป็นเครื่องชี้และเป็นหลักประกันว่า พวกเขากลับใจแล้วจริง ๆ

ต่อมาในสมัยอัครสาวก พระศาสนจักรสมัยแรก ๆ คือ ศตวรรษที่ 1-2 เราพบหลักฐานในหนังสือ Didache( เขียนราว ค.ศ. 150 ) ว่า

     “ในวันพระเจ้า ทุกคนต่างมาร่วมชุมนุมกัน บิขนมปังและกล่าวคำขอบพระคุณพระเจ้า (ร่วมถวายบูชามิสซา – ผู้เขียน ) หลังจากที่พวกท่านสารภาพผิดแล้ว การถวายบูชาของท่านจึงจะสะอาดบริสุทธิ์ ใครก็ตามที่มีข้อผิดพ้องหมองใจกับพี่น้อง อย่าให้มาร่วมในที่ประชุมกับพวกท่านจนกว่าจะคืนดี กันเสียก่อน เพื่อมิให้การถวายบูชาของท่านมีราคี”

     เห็นได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งสอนและวิธีการของอัครสาวกนั่นเอง ว่า “การคืนดี”หรือศีลอภัยบาปเป็นเงื่อนไขจำเป็นข้อแรกเพื่อให้คำภาวนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีศีลมหาสนิทเป็นไปอย่างเหมาะสมและแท้จริง

     สรุปการถือปฏิบัติของคริสตชนสมัยดั้งเดิมคือ คนบาปต้องเป็นทุกข์เสียใจและรับรู้ว่าตัวเองป็นคนบาปเฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้า และต่อหน้าชุมชนคริสตัง พระศาสนจักรทั้งครบ ไม่ว่าผู้มีอำนาจปกครองหรือสัตบุรุษต่างภาวนาพร้อมกัน ต่อจากนั้นเป็นการร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายในการแก้ไขความผิดพลาด และการอภัยบาปของสมณะเป็นขั้นสุดท้าย

+ การถือปฏิบิตในสมัยต่อ ๆ มา

     อาจกล่าวได้ว่าพระศาสนจักรถือปฏิบัติเรื่องนี้แตกต่างกันไปเป็น 4 ระยะด้วยกันคือ

1. ระยะแรก ศตวรรษที่ 2- 3 พระศาสนจักรตระหนักว่ามีคนทำบาปหนักในพระศาสนจักร จึง
หาวิธีการให้มีการปลดเปลื้องแก้ไข

2. ระยะ 2 ศตรวรรษที่ 3-4 และ 5-6 เป็นระยะแห่งการคืนดีมีสันติภาพของคนบาปหนักกับ
พระศาสนจักร

3. ระยะ 3 ศตวรรษที่ 7 มีศีลอภัยบาป “ส่วนตัว” ( แก้บาปทีละคน หรือ ตัวต่อตัว )

4. ระยะ 4 การค้นหากฎเกณฑ์แน่นอนตายตัวในสังคายนาแห่งเตรนโต ( ค.ศ.1551 )

+ ระยะแรก ศตวรรษที่ 2- 3

     ในศตวรรษที่ 2- 3 นี้ เป็นสมัยแห่งการเบียดเบียนพระศาสนจักรอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมที่สุด คริสตังบางคนทนการถูกทรมานไม่ได้ ได้ละทิ้งพระศาสนาไป ( อาโปสตาตา ) พระศาสนจักรพยายามหาวิธีการอภัยบาปขึ้น แต่ก็ยังไม่มีแบบแผนที่แน่นอนตายตัว หลักฐานที่พออ้างอิงได้คือ Didascalia Apostolorum ( เขียนที่ซีเรียเหนือ ราว ค.ศ 220 ) สรุปได้ดังนี้

1. บาปทุกประการมีการแก้ไขอภัยได้
2. สังฆราชปกมือเหนือคนบาป ( เพื่ออภัยบาป ) มีสังฆานุกรอยู่ใกล้ชิด
การบัพพาชนีกรรม ( ถูกตัดขาดจากสังคมพระศาสนจักร ) ถือเป็นการ “เยียวยา” จนกว่าจะเห็นว่าคนบาปเป็นทุกข์เสียใจและใช้โทษบาปมานานพอสมควร

+ ระยะ 2 ศตวรรษที่ 3-4 และ 5-6

     ในศตวรรษที่ 3-4 มีมิจจาทิษฐิ ( เฮเรติก )เกิดขึ้นมากมาย ( เช่น Donatism , Arianism, Montanism , Novatianism เป็นต้น ) พระศาสนจักรก็ยิ่งเข้มงวดกับคนบาปมากขึ้น การโปรดอภัยบาป ย่อมโปรดเป็นทางการต่อหน้าสาธารณชน และการ “คืนดี”ย่อมกระทำอย่างเป็นพิธีรีตองเสมอ ( Canonical penitence ) แม้ว่าบางกรณีคนบาปจะมาสารภาพผิดต่อพระสังฆราชเป็นการส่วนตัวแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันหรือ “เยียวยา” บาปประเภทมิจฉาทิฐินี้เป็นต้น พระศาสนจักรเคร่งครัดถึงกับหลังจากคนบาปกลับใจแล้ว ยังถูกจำกัดสิทธิหลายอย่างไปจนตลอดชีวิต เช่น ทำงานประเภทบริการประชาชน ( Public service ) ไม่ได้ ฝ่ายสามีหรือภรรยาตายแล้ว จะแต่งงานอีกหนไม่ได้ รับศีลมหาสนิทในเวลามิสซาไม่ได้ ดังนี้เป็นต้นผลที่ตามมาคือ หลายคนหมดความอดทน ทิ้งวัดไปเลยก็มี

ในศตวรรษที่ 5-6

     วิธีการปลดเปลื้องบาป มีแบบแผนอย่างมีพิธีรีตอง ในวันพุธศักดิ์สิทธิ์ คนบาปประเภทบาป “เปิดเผย” ( ฆ่าคน มีชู้ ผิดประเวณี ละทิ้งศาสนา) จะถูกนำออกมาจากคุก เพื่อทำพิธี “คืนดี” กับพระศาสนจักร ( เห็นได้ว่าสมัยนั้นการเมืองกับศาสนายังปะปนกันอยู่ ) ในวันพฤหัส ฯ ศักดิ์สิทธิ์ คนบาปจะถูกนำตัวมากราบจรดพื้นหน้าพระสังฆราช สังฆานุกรจะกล่าวนำพิธีถึงวันเวลาแห่งความรอด ความตาย – ชีวิต ความยินดีของพระศาสนจักรที่มีคนกลับเข้ามาใหม่ นับได้ว่าเป็นความเจริญของพระศาสนจักรเองกล่าวถึงการคืนดีซึ่งเกี่ยวกับกันศีลล้างบาป ต่อจากนั้นพระสังฆราชกล่าวตักเตือนถึงความสุภาพ ความเมตตาของพระเจ้า ความหวังของคนบาป และกล่าวคำภาวนา

สำหรับคนบาป จะต้องกระทำดังต่อไปนี้
- ภาวนา
- เป็นทุกข์เสียใจ และใช้โทษบาป
- ขอโทษ และขอคืนดีเข้าไปอยู่ในสังคมคริสตชนใหม่
- ไม่เพียงแต่ขอให้พระศาสนจักรอภัยบาป แต่ยังขอภาวนาอุทิศให้ด้วย

     น่าสังเกตว่าพิธีอภัยบาปนี้ กระทำในระหว่างประกอบมหาบูชามิสซา โดยแทรกอยู่ในภาควจนพิธีกรรมกับภาคเสกศีล ฯ

+ ระยะ 3 ศตวรรษที่ 7-13

     ในราวศตวรรษที่ 7 -8 ได้มีวิธีการแก้บาปแบบ “ส่วนตัว” ( ทีละคนหรือตัวต่อตัว)เกิดขึ้นในพระศาสนจักร อันมีกำเนิดมากการกฎที่ยกเว้นสำหรับพวกนักพรต ( ฤษี ) ว่าไม่ต้องถือตามกฎการอภัยบาป “เปิดเผย” สำหรับสามัญชนทั่ว ๆ ไป

     น่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่าเมื่อพวกนักพรตทำบาปหนัก กิจใช้โทษบาปก็ไม่เหมือนกับคนอื่น เช่นว่ามีการถอดถอนตำแหน่งหน้าที่ ( ตัวอย่างจากรองเจ้าอธิการมาเป็นคนทำสวน ) ดังนี้เป็นต้น นอกจานักพรตแล้ว ยังมีพวกที่เรียกว่า “ผู้กลับใจ” ( conversi ) พวกนี้แม้จะไม่อยู่ในอารามนักพรต แต่ก็ดำเนินชีพแบบนักพรตคือรักษาศีลพรหมจรรย์และบำเพ็ญตบะ พวกเหล่านี้ได้รับการยกเว้นเช่นกันไม่ต้องถือตามกฎการอภัยบาปในที่สาธารณะอย่างเป็นพิธีรีตอง (Cononical penitence ) การอภัยบาปและการใช้โทษบาปแบบส่วนตัวในอารามนักพรตได้ค่อย ๆ แพร่หลายนอกอาราม สืบเนื่องมาจากบรรดามิสชันนารีที่เป็นนักพรตนำวิธีการอภัยบาปแบบของตัวนี้ไปใช้ในดินแดนที่ประกาศสอนศาสนา เรียกการอภัยบาปแบบนี้ว่า Tariff penitence ซึ่งมี

1. คนบาปสารภาพบาปส่วนตัว ตัวต่อตัว กับพระสงฆ์ ไม่ใช่กับพระสังฆราชและอย่างเปิดเผยแบบ Canonical penitence.
2. พระสงฆ์ให้กิจใช้โทษบาปตามความหนักเบาของบาป ( ซึ่งเรียกว่า tariff = พิกัดอัตราภาษี จึงเรียกว่า Tariff penitence ) กิจใช้โทษบาปแบบนี้ปกติมีการภาวนาหรือขอมิสซาเพื่ออภัยบาป.
3. เมื่อคนบาปทำกิจใช้โทษบาปดังกล่าวข้างต้นแล้ว กิจใช้โทษบาปหนัก ๆ แบบอื่นตามวิธีอภัยบาปแบบ canonical penitence ( เช่นห้ามทำงานประเภทบริการประชาชนรับศีลมหาสนิทในเวลามิสซาไม่ได้ ยืนเท้าเปล่าในฤดูหนาวหน้าวัดเวลามีการประกอบพิธีกรรม ) เป็นอันยกเลิก
4. เมื่อคนบาปพลาดพลั้งตกในบาปอีก ก็มาทำพิธีปลดเปลื้องบาปแบบนี้ได้อีก ( ซึ่งจะยากมากถ้าเป็นกรณีอภัยบาปแบบ “เปิดเผย” หรือ Canonical penitenceในศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา วิธีอภัยบาปมีอยู่ 2 แบบ ตามประเภทของบาป คือ ถ้าบาปประเภท“เปิดเผย” ( ฆ่าคน มีชู้ ผิดประเวณี ละทิ้งศาสนา ) ก็ใช้วิธีอภัยบาป “เปิดเผย” หรือcanonical penitence หากเป็นบาปประเภท “ลับเฉพาะ” หรือนอกเหนือไปจากบาป“เปิดเผย” ก็ใช้วิธีอภัยบาปแบบ เฉพาะส่วนตัว หรือตัวต่อตัวกับพระสงฆ์

ในศตวรรษที่ 10

     วิธีอภัยบาปแบบ “เปิดเผย” หรือ canonical penitence มีผิดแผกกับแบบในศตวรรษที่ 5-6 อยู่บ้าง เช่นว่าพิธีหน้าประตูโบสถ์ พระสังฆราชเป็นผู้เรียกคนบาปให้เดินเข้าไปหาท่าน ( เครื่องหมายแสดงถึงการเรียกและพระเมตตาจากพระเป็นเจ้า) พระสังฆราชพร้อมกับคนบาปต่างก้มกราบจรดพื้นดินเพื่อสารภาพบาปต่อพระเป็นเจ้า ( ความสุภาพถ่อมตัวของพระสังฆราช แม้ว่าจะอยู่ในฐานะหัวหน้าผู้แทนของชุมชนพระศาสนจักรก็ตาม )

ในศตวรรษที่ 13

     วิธีการอภัยบาปแบบ canonical penitence เป็นไปอย่างสลับซับซ้อน แต่ว่ามีพิธีรีตองภายนอกเหล่านั้น เน้นถึงบาปและเทวศาสตร์ว่าด้วยศีลอภัยบาปอย่างมาก ( พระเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า การร่วมมือของคนบาปกับพระเป็นเจ้า การร่วมมือของคนบาปกับพระเป็นเจ้าในการกลับใจ แสงสว่างแห่งปาสกา ซึ่งเป็นความหวังและความยินดีที่จะได้กลับฟื้นคืนชีพในองค์พระคริสตเจ้า ฯลฯ )

+ ระยะ 4 สมัยสังคายนาแห่งเตรนโต ( ค.ศ. 1551 )

สังคายนาแห่งเตรนโต สมัยที่ 14 พูดถึงศีลอภัยบาป ( 1551 ) ประกาศว่า

- พระศาสนจักร อาศัยอำนาจพระเจ้า ( Divine law ) สามารถอภัยบาปได้ ( ต่อสู้พวกที่ถือว่าพระสงฆ์ไม่ได้อภัยบาป ( absolution ) เพียงแต่ประกาศ ว่า บาปหลุดแล้วเท่านั้นจากผลแห่งความเชื่อในพระสัญญาและพระวาจาพระเจ้า ( ไม่ได้มองพระศาสนจักรในแง่เป็นพระคริสตเจ้า ที่แลเห็นเห็นได้สืบต่อมาในโลก ) ( ความจริงจะว่าพระศาสนจักรอาศัยDivine law ในการอภัยบาปนั้น ถ้าเป็นแบบ direct หรือโดยตรงคงไม่ถูกแน่ แต่เป็นแบบ indirect หรือ โดยอ้อม เหตุว่าบาปทุกประการมีลักษณะผิดต่อสังคม หรือ พระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า นั้นคือพระศาสนจักร พระศาสนจักรจึงมีสิทธิที่จะกำหนดวิธีการและกิจใช้โทษบาปด้วย

- ศีลอภัยบาปไม่ใช่เพียงแค่กลับใจมายังพระเท่านั้น ( ซึ่งบาปหลุดจริงก่อนไปสารภาพบาป ) แต่เพราะคนบาปเป็นสมาชิกของชุมชนพระศาสนจักร จึงต้องทำตามเงื่อนไขของพระศาสนจักร และพิธีกรรมของชุมชนพระศาสนจักรด้วย

- สังคายนาพูดถึงการไปแก้บาปอย่างน้อยปีละหน และแก้บาปหนักทุกข้อ

- ศีลอภัยบาปยังเป็นวิธีการที่พระประทานพระหรรษทานและพระคุณแก่คนบาปมิให้ตกในบาปในอนาคตด้วย

ที่มา: ศีลอภัยบาป โดย สำราญ วงศ์เสงี่ยม จากหนังสือแสงธรรมปริทัศน์ ราย 4 เดือน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน

ที่มาภาพ-การ์ดเกม Summoner Master ซัมมอนเนอร์ มาสเตอร์

Cr. facebook.com/holysmn

CR. : https://www.facebook.com/photo?fbid=4326340710727044&set=a.882612015099948
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่