พาชมห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ในศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย


วันนี้ผมขออนุญาตพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับห้องสมุดที่ทันสมัยและสวยงามแห่งหนึ่งของไทย  ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชิงสะพานพระรามแปดฝั่งพระนคร  บนพื้นที่เดิมซึ่งเคยอยู่ติดกับวังบางขุนพรม  ซึ่งก็คือห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย  ที่ตั้งอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย  โดยผมได้รับเกียรติจากคุณวรรณา  วัฒนาศิริวิโรจน์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย  เป็นผู้พาผมชมห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และบรรยายให้ข้อมูลรายละเอียดประกอบการรีวิวในครั้งนี้

สำหรับเนื้อหาของรีวิวนี้จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.) เรื่องราวและความเป็นมาของห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย  ที่ผมเรียบเรียงมาจากบทสัมภาษณ์  คุณวรรณา  วัฒนาศิริวิโรจน์   2.) ภาพถ่ายภายในห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย  และ 3.) คลิปวีดีโอพาชมห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย  ซึ่งผมอยากจะให้ทุกท่านได้รับชมทั้ง 3 ส่วนประกอบกัน  เพื่อที่จะได้รู้จักกับห้องสมุดแห่งนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น

(หมายเหตุ ... วันที่ผมเข้าไปทำการรีวิวและถ่ายทำคลิปวีดีโอนี้คือวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา  และในบางช่วงบางตอนของรีวิวฉบับนี้ ผมขออนุญาตใช้คำว่า “แบงก์ชาติ” แทนคำว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อความคล่องตัวในการเล่าเรื่องราวครับ)




ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทยกันก่อน
 
วัตถุประสงค์ของการตั้งศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาก็คือ แบงก์ชาติต้องการยื่นมือเข้าไปให้ถึงคนทั่วไป  และเพื่อให้คนทั่วไปเดินเข้ามาหาแบงก์ชาติ  เพราะแบงก์ชาติทำงานในเชิงของนโยบายเป็นหลัก  ประชาชนทั่วไปก็จะไม่รู้ว่าแบงก์ชาติทำงานอะไรบ้าง  คนทั่วไปอาจจะรู้แค่ว่า แบงก์ชาติมีหน้าที่พิมพ์ธนบัตรเท่านั้น   แต่จริงๆ แล้วหน้าที่สำคัญของแบงก์ชาติคือการทำนโยบายด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั่วไป   และดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระดับประเทศที่มีผลเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก
 
ดังนั้นเป้าหมายของแบงก์ชาติคือการลงไปดูในเรื่องการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนทั่วไป  เพราะว่าคนไทยมีปัญหาใหญ่คือเรื่องของสภาพหนี้  มีหนี้สินครัวเรือนสูงมาก และขาดวินัยทางการเงิน  ดังนั้นแบงก์ชาติจึงเน้นให้ความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น   จึงสร้างศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ขึ้นมา  เพื่อหวังให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชน  ในขณะเดียวกันศูนย์การเรียนรู้ก็จะทำหน้าที่บอกเล่าให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าแบงก์ชาติได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาบ้าง  เหมือนเป็นการเปิดบ้านของแบงก์ชาติ  โดยให้คนทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมว่าในบ้านแบงก์ชาติหลังนี้เขาทำอะไรกันบ้าง
 
วัตถุประสงค์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแบงก์ชาติที่มีอยู่ว่า “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน”     
 
สำหรับคำว่า “ยืนตรง” และ “มองไกล” มันค่อนข้างชัดเจนกับงานของแบงก์ชาติ   เพราะแบงก์ชาติทำงานด้านนโยบายที่ต้องมีความเป็นกลาง  ต้องมีความเป็นอิสระและไม่มีการโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง   ดังนั้นคำว่า “ยืนตรง มองไกล”  จึงอยู่ในภาพที่คนทั่วไปสามารถเห็นและรับรู้ได้อยู่แล้ว
 
ดังนั้นจึงเกิดศูนย์การเรียนรู้ฯ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนค่านิยมที่ว่า “ยื่นมือสู่ประชาชน”  ซึ่งแปลว่าศูนย์การเรียนรู้ฯ นี้เป็นพื้นที่เปิด  ที่ประชาชนทุกคนสามารถเดินเข้ามาได้  เดินเข้ามาเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ต่างๆ   โดยแบงก์ชาติมีหน่วยงานที่อยู่ในศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ 3 หน่วยงานคือ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย  พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย  และหอ ห้องค้นคว้าจดหมายเหตุของธนาคารแห่งประเทศไทย   ซึ่งทั้งสามหน่วยงานนี้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้  ดังนั้นจึงเกิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนค่านิยมที่ว่า “ยื่นมือสู่ประชาชน”  ซึ่งแปลว่าศูนย์การเรียนรู้นี้เป็นพื้นที่เปิด  ที่ประชาชนทุกคนสามารถเดินเข้ามาได้  เดินเข้ามาเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ต่างๆ   โดยแบงก์ชาติมีหน่วยงานที่อยู่ในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ 3 หน่วยงานคือ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย , พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย  และหอจดหมายเหตุของธนาคารแห่งประเทศไทย   ซึ่งทั้งสามหน่วยงานนี้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
 
นอกจากนั้นทางแบงก์ชาติยังมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นประจำ  โดยเป็นเนื้อหาที่เคลื่อนไหวไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน  เช่น  การเชิญผู้รู้หรือกูรูด้านต่างๆ มาพูดบรรยายให้ความรู้ หรือมีกิจกรรมเสวนาต่างๆ ดังนั้นคนทั่วไปที่เดินเข้ามาในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้จะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ กลับไปในรูปแบบต่างๆ    รวมทั้งเป็นการแบ่งปันพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้งานด้วย


ความเป็นมาของห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
 
ห้องสมุดนี้ตั้งชื่อตามพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” และ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ผู้วางรากฐานการธนาคารกลางของไทย  ผู้มีบทบาทที่สำคัญบนเส้นทางของการเป็นผู้ว่าการในภาวะสงครามที่ต้องต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยทางการเงินของประเทศ (ในช่วงสงครามโลกที่โดนญี่ปุ่นรุกเข้ามาแล้วญี่ปุ่นจะพิมพ์ธนบัตรใช้เอง) รวมทั้งต้องกอบกู้และฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2  ท่านทรงแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่สะท้อน “จิตวิญญาณ” ของการเป็น “นายธนาคารกลาง” ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของแผ่นดินที่ควรเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง
 
แต่เดิมแบงก์ชาติมีห้องสมุดมานานแล้ว  แต่เป็นห้องสมุดที่ให้บริการเฉพาะภายในแก่พนักงานของแบงก์ชาติ รวมทั้งนักวิจัยและนักวิชาการต่างๆ ที่ร้องขอ  เพราะทรัพยากรในห้องสมุดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเนื้อหาทางด้านเศรษฐกิจการเงิน  และตัวเลขเศรษฐกิจที่แบงก์ชาติเป็นผู้จัดทำ  ซึ่งในอดีตยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้เป็นสาธารณะเช่นทุกวันนี้  
 
จนกระทั่งมาถึงยุคของคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ประมาณปี พ.ศ.2557)  ได้ริเริ่มที่จะนำโรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เชิงสะพานพระรามแปดเก่า   ซึ่งโรงพิมพ์ธนบัตรใหม่ได้ย้ายไปตั้งที่พุทธมณฑลสาย 7 กว่า 10 ปีแล้ว   ทางผู้บริหารของแบงก์ชาติจึงมีความเห็นว่าอยากจะใช้พื้นที่โรงพิมพ์เดิมนี้ทำอะไรสักอย่าง  เพื่อเป็นการยื่นมือเข้าหาประชาชนตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  จึงเป็นที่มาของศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทยในทุกวันนี้    โดยห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561
 
สำหรับการออกแบบในการดัดแปลงอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรเดิมมาเป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้นั้น  มีแนวคิดสำคัญอยู่ 2 ประการคือ  1. การออกแบบให้คงโครงสร้างเดิมของอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรเดิมเอาไว้  เพื่อเก็บไว้เป็นงานสถาปัตยกรรมทางด้านประวัติศาสตร์  โดยพยายามไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักเลย เก็บห้องมั่นคงเอาไว้ เก็บเพดานสูงเอาไว้ ฯลฯ  2. ออกแบบโดยตกแต่งภายในให้มีความทันสมัย  ให้กลายเป็นห้องสมุดในยุคสมัยใหม่ (Modern Library)  ที่มีความทันสมัย  มีความโปร่งโล่ง  และการใช้พื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย (Living Library) เช่น มีพื้นที่นั่งอ่าน มีห้องประชุม  มีที่นั่งพักคุยกัน  มีพื้นที่มัลติมีเดีย ฯลฯ
 
ส่วนบริการของห้องสมุดจะเน้นไปที่ความเป็นสมาร์ทไลบรารี่ (Smart Library) และเป็นดิจิทัลไลบรารี่ (Digital Library)  ที่มีระบบ IT เข้ามาช่วย  ปรับทรัพยากรของห้องสมุดที่เป็นลิขสิทธิ์ของแบงก์ชาติให้แปลงเป็นไฟล์ข้อมูลดิจิทัล  เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ  ในรูปแบบของทรัพยากรอิเล็กทรอนิค
 
สำหรับพื้นที่ให้บริการของห้องสมุดจะแบ่งเป็น 2 ชั้น  คือชั้น 2 ของอาคาร ที่ขึ้นบันไดเข้ามาทางโถงด้านหน้าอาคาร  จะเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับประชาชนทั่วไป  (สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ใช้บริการต้องแจ้งจองการใช้บริการล่วงหน้าเข้ามาที่เว็บไซต์ของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย  https://services.botlc.or.th/PhysicalDistancing )  ให้บริการหนังสือทั่วไปที่มีอยู่ประมาณ 20 %  ส่วนพื้นที่ชั้น 3 ของอาคาร ที่ขึ้นบันไดวนมาจากชั้นล่างจะเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับ  Academic area  ที่ให้บริการสำหรับกลุ่มเป้าหมายอีก 2 กลุ่มคือนักวิจัยนักวิชาการและพนักงานของแบงก์ชาติ  ทรัพยากรที่ให้บริการในส่วนนี้จะมีเนื้อหาเฉพาะด้าน  ทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และการธนาคาร  ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 80% ของทรัพยากรห้องสมุดทั้งหมด

ถ้าจะแยกประเภทของผู้มาใช้บริการที่ห้องสมุดแห่งนี้  จะแบ่งผู้ใช้บริการออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ 1.)ประชาชนทั่วไป  2.) นักเรียนนักศึกษา  3.) นักวิจัยนักวิชาการ  4.) พนักงานของแบงก์ชาติ    ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มนี้ใช้ห้องสมุดด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกัน  ทรัพยากรก็ใช้แตกต่างกัน  ดังนั้นทางห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจึงแบ่งโซนตามกลุ่มเป้าหมายคือ  ชั้น 2 ของอาคารที่เป็นชั้นล่างของห้องสมุดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาที่มาใช้บริการพื้นฐานของห้องสมุด  ซึ่งจะใช้หนังสือที่มีเนื้อหาทั่วไปที่มีประมาณ 20% ของทรัพยากรห้องสมุด  ส่วนชั้น 3 ของอาคารที่เป็นชั้นบนของห้องสมุดจะเป็นโซนสำหรับการวิจัยและค้นคว้า  เน้นในบริการแก่นักวิจัยนักวิชาการที่ต้องการพื้นที่สำหรับการนั่งคิดงานต่างๆ  โดยจะใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมกับการค้นคว้าทางวิชาการซึ่งมีอยู่ 80% ของทรัพยากรห้องสมุด  และในชั้น 3 ของอาคารนี้ยังมีพื้นที่ให้บริการสำหรับสมาชิกของศูนย์การเรียนรู้ฯ   เสียค่าสมาชิก 1,500 บาทต่อปี จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ยืมหนังสือห้องสมุดได้ , มาใช้บริการสำหรับพื้นที่สมาชิกได้ซึ่งทางห้องสมุดกันพื้นที่ไว้ 1 โซน , ใช้บริการทรัพยากร E-RESOURCES ของห้องสมุดได้ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ที่แบงก์ชาติจัดซื้อมา  และใช้บริการห้องประชุมไอเดียบ็อกซ์ได้โดยเสียค่าบริการครึ่งราคา
 
ดังนั้นห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยจึงถือว่าเป็นทั้ง Special Library  ที่ให้บริการทรัพยากรเฉพาะด้าน (เศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร)  และเป็น Public Library  ที่ให้บริการพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทั่วไป


คลิปวีดีโอพาชมห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



พาพันขยันพาพันเคลิ้มพาพันชอบ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่