JJNY : คนแพ้แห่ง“เราชนะ”│แรงงานเมียนมาโดนลอยแพ│อาเซียนร่วมประชุมวิกฤตเมียนมา│หมิว สิริลภัส ลั่นนับภาษาอะไรกับการเมือง

คนแพ้แห่ง “เราชนะ”
https://www.thairath.co.th/news/business/2041553

 
เห็นคนเฒ่าคนแก่ลำบากลำบน เข้าคิวตากแดดเพื่อรอลงทะเบียนโครงการ “เราชนะ” ในรอบเก็บตกสำหรับคนไม่มี สมาร์ทโฟน ว่าเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจแล้ว
 
อ่านข่าวล่าสุดยิ่งชวนเจ็บปวดใจ เมื่อลูกชาย วัย 50 ปี ขอเงินแม่ไปซื้อโทรศัพท์มือถือมูลค่า 1,980 บาท ตัดสินใจผูกคอตาย โดยบ่นว่า ลงทะเบียนเราชนะไม่ได้เสียที และในที่สุดเดินมาก้มกราบ 3 ครั้งแล้วบอกว่า 
 
แม่ ผมขอโทษ ไม่มีเงินคืนค่าโทรศัพท์ให้แล้ว” 
 
โดยผู้เป็นมารดาเปิดเผยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจผูกคอตาย น่าจะมาจากความเครียดที่เอาเงินแม่ไปซื้อมือถือ ทั้งที่แม่ไม่ค่อยมีเงิน และยังไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือได้
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในทางปฏิบัติของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้า “เราชนะ” ประสบความสำเร็จอย่างมากจากโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน โดยรัฐจะออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง ประชาชนออกครึ่งหนึ่ง ถือเป็นโครงการที่สามารถอัดฉีดเงินเข้าระบบได้ตรงจุดในกลุ่มผู้ค้ารายย่อย โดนใจคนเดินดินกินข้าวแกง มีรัฐช่วยออกค่าข้าวค่าน้ำครึ่งหนึ่ง
 
พอมาถึง “เราชนะ” ภาครัฐที่ได้แรงบันดาลใจจาก “คนละครึ่ง” จึงเปลี่ยนเงื่อนไขมาเป็นจ่ายเงินผ่านแอปแทนการจ่ายเงินสดเข้าบัญชี (ภายใต้โครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด “เราไม่ทิ้งกัน” เริ่มต้น เม.ย.63 โอนเงินสดช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย คนละ 15,000 บาท ช่วยเหลือประมาณ 15 ล้านคน) เนื่องจากเห็นแล้วว่า การจ่ายเงินผ่านแอป สามารถกำหนดขอบเขตการใช้จ่ายในร้านค้าที่ร่วมโครงการได้สะดวก ตรงจุด
 
กระนั้น ท่ามกลางความพึงพอใจของประชาชนหลายสิบล้านคน ผู้ประสบความสำเร็จในการลงทะเบียน ได้รับเงินมาหล่อเลี้ยงปากท้อง ครอบครัว... ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตกเป็นเหยื่อของความเหลื่อมล้ำแม้กระทั่งต่อการหยิบยื่นความช่วยเหลือ
 
เราชนะ” ซึ่งรัฐจะแจกเงินฟรีผ่านช่องทางกำหนด (แอปพลิเคชันเป๋าตัง, บัตรประชาชน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 7,000 บาท) มีเป้าหมายแจกเงินให้คนที่มีรายได้ไม่เกินที่กำหนด จำนวน 31.10 ล้านคน ณ ขณะนี้ มีประชาชนผ่านคัดกรองตามหลักเกณฑ์ใกล้แตะ 30 ล้านคนแล้ว แบ่งเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.7 ล้านคน กลุ่มแอป “เป๋าตัง” 15.60 ล้านคน
 
และกลุ่มสุดท้ายเก็บตก คนไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ไม่มีแอป ผู้อยู่ในภาวะพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัด แต่น่าจะต้องการความช่วยเหลือไม่น้อยไปกว่าใคร
 
การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ผนวกกับสถานะที่อาจ “จนไม่พอ” จึงไม่เข้าข่ายรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ น่าจะทำให้พวกเขารู้สึกคล้ายๆ ว่า ถูกทอดทิ้ง พอเปิดลงทะเบียนวันแรก วันที่ 15 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา คลื่นมหาชนคนกลุ่มนี้ จึงไปออกันอยู่ที่หน้าสาขาธนาคารกรุงไทย ซึ่งเปิดให้มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก จนกรุงไทยรับมือไม่ไหวต้องให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.เข้ามาแบ่งเบา โดยขณะนี้ยอดลง ทะเบียน อยู่ที่ 1.7-2 ล้านคน ไม่ใช่น้อย
 
จากการเก็บข้อมูล ผู้ที่มาลงทะเบียน พบว่าคนกลุ่มนี้มีหลาก หลายเหตุผลที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ตั้งแต่ ยากจน ไม่มีเงินซื้อ ใช้ไม่เป็น บางคนมีสมาร์ท­­โฟนแต่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพราะใช้แค่โทร.หาหรือรับสายลูกหลาน บางคนเก็บมือถือไว้ในหีบ จะโทร.ค่อยเอาออกมาเปิดใช้
 
เหตุผลเรื่องอายุก็มีส่วนสำคัญ ความสูงวัยเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ หลายคนที่ทั้งยากจนและสูงวัย ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้ในที่สุดกระทรวงการคลังต้องออกมาประกาศ ขยายเวลาให้ประชาชนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนถึงวันที่ 5 มี.ค.2564 (เดิมสิ้นสุด 25 ก.พ.2564) และเงินที่ได้รับ มีสิทธิใช้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.2564
 
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน ดีแทค บอกว่า ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในการเข้าถึงบริการดิจิทัล มาจากหลายสาเหตุ เริ่มจาก 
1. Mindset หรือกรอบความคิดโดยเฉพาะกลุ่มสูงวัย ที่คิดว่ามือถือไม่จำเป็นและเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย 
2. ขาดทักษะการใช้งาน 
3. ไม่เห็นประโยชน์ 
4. อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ไม่มีอินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีความเข้าใจผิดๆ เช่น สัญญาณมือถือทำให้เป็นมะเร็ง
 
ขณะที่ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การลงทะเบียน “เราชนะ” ทำให้เห็นภาพของประเทศไทยชัดเจนยิ่งขึ้น “ต้องยอมรับว่าคนไทยทุกคนไม่ได้เข้าถึงบริการดิจิทัล และใช้สมาร์ทโฟนทั้งหมด ดังนั้นการออกมาตรการต่อไป ต้องคำนึงถึงกลุ่มนี้ด้วย
 
และน่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวนการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่เสียที เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย ได้รับการช่วยเหลือที่ควรได้ จากทุกมาตรการของภาครัฐ เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเขาพึงมี”.
 
ดวงพร อุดมทิพย์/ศุภิกา ยิ้มละมัย
 

 
ทะลักเข้าไทยไม่หยุด! แรงงานเมียนมาโดนลอยแพ 30 ชีวิตถูกปล่อยทิ้งป่าชายแดน
https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6052659
 
ทะลักเข้าไทยไม่หยุด! แรงงานเมียนมาลอบข้ามแดน 30 ชีวิต นายจ้างโหดปล่อยลอยแพ ซุกเต็มป่าชายแดน เผยต้องจ่ายค่าหัว 14,000 - 16,000 บาท แต่ไม่มีคนมารับ
 
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 จากนโยบายของนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พล.ต.บรรยง ทองน่วม ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ พล.ต.ต.วรณัน สุขเจริญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี พ.อ.สิทธิพร จุลปานะ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า (ผบ.ฉก.ลาดหญ้า) กกล.สุรสีห์ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่อยู่เส้นทางตามแนวชายแดน ไทย-เมียนมา ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้นเพื่อเฝ้าระวังป้องกันและปราบปราม การลักลอบหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ของแรงงานชาวเมียนมาโดยผิดกฎหมาย ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
 
โดยเฉพาะเส้นทางถนนสาย 323 ด่านเจดีย์สามองค์-สังขละบุรี-ทองผาภูมิ-ไทรโยค-กาญจนบุรี และเส้นทางด่านถาวรบ้านพุน้ำร้อน ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมทั้งช่องทางธรรมชาติตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ในระยะทาง 371 กิโลเมตร
 
ล่าสุด 02.30 น. พ.อ.เฉลิมพล สังข์ต้อง รอง ผบ.ฉก.ลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ ได้รับจากทหารชุดลาดตระเวนหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ว่า พบกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก หลบซ่อนตัวอยู่ภายในชายป่าด้านหลังศูนย์เกษตรที่สูง หมู่ 8 ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี หลังรับแจ้งจึงนำกำลังเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ตร.สภ.สังขละบุรี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอสังขละบุรี
 
เมื่อไปถึงพบกลุ่มคนตามที่สายข่าวแจ้งมา หลบซ่อนตัวอยู่ภายในป่าท่ามกลางความมืด รวม 2 จุด เจ้าหน้าที่จึงปิดล้อมพร้อมแสดงตัวเข้าจับกุม จุดแรกจับกุมแรงงานชาวเมียนมาได้ จำนวน 21 ราย จุดที่ 2 จำนวน 9 ราย รวม 30 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 12 ราย ทั้ง 30 ราย มาจากหลายจังหวัดของประเทศเมียนมา เจ้าหน้าที่จึงนำตัวแรงงานชาวเมียนมาทั้งหมดออกจากป่า เพื่อมาสอบสวนปากคำที่ จุดตรวจร่วมน้ำเกริ๊ก
 
จากการสอบถามผู้ต้องหาที่สามารถพูดภาษาไทยได้ โดยให้การในเบื้องต้นว่า ตนและพวกได้ติดต่อกับนายหน้าที่อยู่ฝั่งประเทศเมียนมา ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ จากนั้นนายหน้าได้มีการนัดรวมตัวกันในพื้นที่กิ่งอำเภอพญาตองซู โดยมารวมตัวกันเมื่อ 2 วันที่แล้ว
 
ต่อมามีผู้นำพาเป็นชาวเมียนมา สัญชาติมอญ ไม่ทราบชื่อ จำนวน 3 คน นำเดินเท้าเข้ามายังฝั่งไทย โดยใช้ช่องทางธรรมชาติ เส้นทางรถไฟเก่าที่อยู่ข้างวัดพิมละม่อม จากนั้นไปหลบซ่อนตัวอยู่ในโพรงป่าที่บริเวณหลังศูนย์เกษตรที่สูง เมื่อได้ที่หลบซ่อนตัว ผู้นำพาจึงเดินทางกลับพร้อมกับแจ้งว่าจะกลับมาใหม่ และจะมีรถยนต์มารับให้ทุกคนหลบอยู่ภายในป่ามาเป็นเวลา 1 วันแล้ว แต่ก็ไม่มีใครนำรถยนต์มารับ จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว
  
โดยปลายทางของแรงงานชาวเมียนมาทั้ง 30 คน จะไปทำงานในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย จ.นนทบุรี ชลบุรี ระยอง ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และ กทม. และแต่ละคนไม่ทราบว่าตนจะไปทำงานอะไร และใครเป็นนายจ้าง เพราะนายหน้าที่อยู่ฝั่งประเทศเมียนมาแจ้งให้ทราบเพียงชื่อจังหวัดปลายทางที่จะไปทำงานเท่านั้น และเมื่อไปถึงปลายทางแต่ละจังหวัดจะต้องเสียค่าจ้างในการนำพา คนละ 14,000-16,000 บาท โดยคิดค่าหัวตามระยะทางใกล้-ไกล ของแต่ละจังหวัด
 
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัดอาการไข้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลปรากฎทุกคนมีอุณหภูมิร่างกายไม่เกิน 37.5 องศาเซลเซียส แต่เพื่อความไม่ประมาทเจ้าหน้าที่นำตัวไปตรวจอาการไข้ให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่งที่ รพ.สังขละบุรี ก่อนที่จะนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.สังขละบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
อีก 1 คดี ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น.ของวันที่ 1 มี.ค.64 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กกล.สุรสีห์ พร้อมเจ้าหน้าที่ ตร.สภ.เมืองกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองกาญจนบุรี ประจำจุดตรวจร่วมช่องเขาหนีบ หมู่ 14 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
 
สนธิกำลังดักซุ่มโป่งจับกุมแรงงานชาวเมียนมาเป็นชาย อายุ 23 ปี 33 ปี และ 6 ขวบ รวม 3 ราย พร้อมผู้นำพาชาวไทย จำนวน 1 ราย คือนายอนุชิต หรืออ้วน ทองเถาว์ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 154/4 หมู่ 2 ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ทั้งหมดถูกจับกุมตัวได้ที่บริเวณชายป่าหุบเขาตาบุญ บ้านประตูด่าน หมู่ 14 ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี
 
โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ต้องหาทุกคน เบื้องต้นไม่พบอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จึงนำตัวผู้ต้องหา ส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
 
จากการสอบถามนายอนุชิต หรืออ้วน ทองเถาว์ ผู้นำพาชาวไทย ให้การยอมรับสารภาพรับว่า ตนเป็นผู้นำพาแรงงานชาวเมียนมาลักลอบเข้ามาในประเทศไทยจริง และแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 17 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ตนเป็นผู้นำพาลักลอบเดินเท้าข้ามชายแดนมาฝั่งไทยด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.ด้วยการเดินลัดเลาะชายเขาเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติในพื้นที่หมู่ 12 ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี
 
จากนั้นให้ทุกคนมาพักรอที่บริเวณหุบตาบุญ แล้วจะมีนายหน้าที่เป็นคนไทยขับรถมารับไปทำงานในพื้นที่จังหวัดชั้นในอีกทอดหนึ่ง โดยตนจะได้ค่าจ้างจากนายหน้าที่อยู่ฝั่งประเทศเมียนมา ชื่อนายฮา วิน ในราคาหัวละ 3,000 บาท โดยจะได้ค่าจ้างก็ต่อเมื่อส่งแรงงานให้กับนายหน้าฝั่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็มาถูกจับกุมตัวได้เสียก่อน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่