"อาจเป็นเพราะเรา คู่กันมาแต่ชาติไหน
จะรัก...รักเธอตลอดไป เป็นลมหายใจของกันและกัน"
จากเนื้อร้องสองบรรทัดของบทเพลงเพลงนี้ คงมีผู้คนนับล้านเคยได้ยินได้ฟังผ่าน ๆ มาบ้างแล้ว เพราะเพลงนี้เองที่มีเนื้อหาเข้ากับช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ซึ่งใกล้จะถึงพอดี แต่ทว่าหลายคนในยุคนี้อาจไม่รู้จักที่มาที่ไปของเพลงนี้อย่างแท้จริง ไม่รู้ว่าต้นตอมาจากที่ใดถึงทำให้เพลงนี้ยังคงตรึงใจคู่บ่าวสาวจนถึงทุกวันนี้
เมื่อเราค้นหาที่มาของบทเพลงที่ว่าก็ไม่ใช่เพลงธรรมดาแต่อย่างใด หากเป็นเพลงที่มาจากรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งมีอายุการออกอากาศเพียง 2 ปีเท่านั้น เป็นผลงานเพลงจากการประพันธ์ของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2561 "ประภาส ชลศรานนท์"
โดย "ปัญญา นิรันดร์กุล" หัวเรือใหญ่ของบริษัท "เวิร์คพอยท์ฯ" ได้มอบหมายให้โปรดิวเซอร์และทีมงานเป็นผู้รังสรรค์รายการ "คู่ทรหด" ขึ้นมา ซึ่งเป็นรายการแนววาไรตี้สลับละครสั้นที่เริ่มออกอากาศทุกเย็นวันเสาร์ ทาง ททบ.5 นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2534 เป็นต้นมา
จากความคิดที่ว่า ครอบครัวหรือการใช้ชีวิตคู่นั้นเป็นเรื่องที่เปราะบาง ด้วยต่างคนต่างมาจากสถานที่ ต่างอุปนิสัยใจคอ และหลักสำคัญคือจะทำอย่างไรให้คำว่าคู่นั้นคงทนที่สุด และคู่ที่จะเข้ามาร่วมรายการก็ต้องมีความใจกว้างกล้านำเรื่องราวชีวิตส่วนตัวมาเปิดเผยต่อสาธารณชน อย่างน้อยภาพและเรื่องราวที่ได้รับการนำเสนอออกมาในรูปแบบของละครสั้น ย่อมชี้ให้เห็นถึงความอดทนที่ต้องมีทั้งสองฝ่ายชายหญิงถือเป็นการเสียสละของผู้ที่มาร่วมรายการ จึงเป็นเรื่องที่น่ายกย่องนับถือ
จึงมีอยู่หลายครั้งทีเดียวที่ผู้ชมหน้าจอจะได้เห็นผู้ร่วมรายการหลายคู่มีน้ำตาอาบนองข้างสองแก้ม เมื่อได้ดูละครที่สร้างขึ้นมาจากชีวิตของตัวเอง อาจจะมาจากความประทับใจ ความซาบซึ้ง หรือรำลึกถึงความเจ็บร้าวในอดีต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางเจ้าของรายการไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมาแม้แต่น้อย
จากสถิติของคู่ทรหดที่มาร่วมรายการ เริ่มจากที่ความรักเริ่มก่อตัว กระทั่งแต่งงานอยู่กินและจนถึงจุด ๆ หนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่มีอันต้องแตกหักจากกัน สรุปออกมาได้ 76 คู่ โดยมีปัญหาทางด้านการเงิน 8 คู่ อีก 4 คู่มีปัญหาเรื่องการงาน ส่วนปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 คู่ ปัญหาเบ็ดเตล็ดหรืออื่น ๆ มี 4 คู่ และเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาเรื่องบุคคลที่สาม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันถึง 58 คู่
จุดเด่นของรายการนี้ต้องยกผลประโยชน์ให้กับมันสมองของคนเขียนบทและคนคิดคอนเซ็ปต์ในแต่ละตอนที่สามารถถ่ายทอดความรักของคนสองคนออกมาสู่สายตาผู้ชมทั่วประเทศอย่างง่าย ๆ และไม่มีผิดเพี้ยน ยิ่งการเฟ้นหาตัวผู้แสดงที่มาสวมบทบาทแทนผู้ร่วมรายการ กระทั่งถึงบทสรุปที่ต้องไปนั่งตอบข้อซักถามของพิธีกรประจำรายการ ไล่มาตั้งแต่ "ดอกดิน กัญญามาลย์", "ชนานา นุตาคม", "ดวงตา ตุงคะมณี", "ศิริพร วงศ์สวัสดิ์", "กลศ อัทธเสรี" จนถึง "ดิลก ทองวัฒนา" และ "อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ"

สำหรับการเลือกสรรตัวผู้แสดงที่ค่อนข้างจะเป็นปัญหาหนักใจของฝ่ายผลิตนั้น ทางฝ่ายผลิตได้ยึดเอาคาแรกเตอร์โดยทั่วไปเป็นหลักเสียก่อน จากนั้นก็จะดูว่าแสดงได้หรือไม่ บางคนเหมือนแต่เล่นไม่ได้ อารมณ์ไปไม่ถึง กับบางคนก็แสดงดีได้อารมณ์ หากไม่เหมือนทางฝ่ายผลิตก็ต้องนั่งชั่งใจว่าจะออกไปในรูปแบบไหน โดยเริ่มจากการไปสัมภาษณ์แขกที่จะมาร่วมรายการซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ก่อนจะนำมาเสนอหน้าจอโทรทัศน์ ด้วยการสัมภาษณ์พร้อมกันทีเดียวทั้งสองคน จะไม่มีการแยกสัมภาษณ์เพราะต้องการได้ข้อมูลที่แท้จริง และจะไม่มีการสัมภาษณ์คนอื่นนอกจากคู่ที่เป็นสามีภรรยาเป็นอันขาด ด้วยหลักการทำงานที่ว่าไม่มีใครที่จะสามารถล่วงรู้ชีวิตของเขาเท่ากับตัวสามีภรรยาเองอีกแล้ว และก็ให้ผู้ที่ไปทำการสัมภาษณ์เขียนบทเองเพราะคนฟังนั้นน่าจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนอื่นทั้งหมด
ทั้งนี้ทุกคนในทีมงาน "คู่ทรหด" ต่างก็ตระหนักดีว่า มันยากที่จะนำเรื่องราวชีวิตของใครสักคู่หนึ่งให้ออกมาดี จนเจ้าตัวยอมรับว่า...นี่คือละครชีวิตที่ผ่านมาของเขา ความยากจึงอยู่ที่การถ่ายทอดว่าจะถ่ายทอดกันอย่างไรให้เจ้าของชีวิตดูแล้วเชื่อ โดยที่มิได้มีเจตนาจะให้คู่ที่ได้ชมร้องไห้เลยด้วยซ้ำ
เมื่อรายการคู่ทรหดดำเนินมาเป็นเวลา 2 ปี ทางรายการจึงได้ปรับเปลี่ยนใหม่ โดยที่รูปแบบการนำเสนอยังคงเดิม เพียงเปลี่ยนเพื่อเปิดโอกาสให้คู่บ่าวสาวและบุคคลที่น่าสนใจเข้าร่วมรายการ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขในหน้าที่การงาน นั่นคือที่มาของรายการ "ละครแห่งชีวิต"
ทำให้รายการ "คู่ทรหด" ปิดฉากลงเพียงชื่อ เหลือไว้ให้ผู้ที่เคยชมและผู้ที่อยากจะชมย้อนหลังได้จดจำบรรยากาศแห่งความสุขเคล้ารอยยิ้มและน้ำตา จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 30 ปีพอดิบพอดีที่เราได้จดจำรายการพร้อมกับบทเพลงประจำรายการข้างต้น
ก็ไม่แน่ว่า...ถ้าทางช่องเวิร์คพอยท์จะยุบรายการบางรายการเพื่อแบ่งเวลามาเสนอรายการ "คู่ทรหด" ขึ้นอีกหน คงจะมีแฟน ๆ ทั้งเก่าใหม่ให้ความสนใจต่อการกลับมาของรายการอยู่ไม่น้อย จะได้เห็นบรรยากาศเก่า ๆ ในมุมมองใหม่ ๆ โดยไม่ทิ้งหลักการที่ว่าคู่ที่จะมาร่วมรายการนั้นประคับประคองกันอย่างทรหดสมชื่อรายการได้อย่างไร
เราจะรอการกลับมาของรายการและบทเพลงอันแสนคุ้นหู...ถ้าเป็นจริง สวัสดี.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เรียบเรียงบทความจาก นิตยสาร ททบ.5 ทีวีบันเทิง, ปีที่ 2 ฉบับที่ 11, ก.พ. 2536.
ภาพประกอบจากหลายแหล่ง
30 ปี รายการ "คู่ทรหด" ตำนานแห่งลมหายใจ(ของกันและกัน)
เมื่อเราค้นหาที่มาของบทเพลงที่ว่าก็ไม่ใช่เพลงธรรมดาแต่อย่างใด หากเป็นเพลงที่มาจากรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งซึ่งมีอายุการออกอากาศเพียง 2 ปีเท่านั้น เป็นผลงานเพลงจากการประพันธ์ของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี 2561 "ประภาส ชลศรานนท์"
โดย "ปัญญา นิรันดร์กุล" หัวเรือใหญ่ของบริษัท "เวิร์คพอยท์ฯ" ได้มอบหมายให้โปรดิวเซอร์และทีมงานเป็นผู้รังสรรค์รายการ "คู่ทรหด" ขึ้นมา ซึ่งเป็นรายการแนววาไรตี้สลับละครสั้นที่เริ่มออกอากาศทุกเย็นวันเสาร์ ทาง ททบ.5 นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2534 เป็นต้นมา