ตำแหน่ง​ จางวาง​ ในสมัยก่อน​ มีหน้าที่ทำอะไรครับ

คืออ่านแล้วก็จินตนาการไม่ออกว่าตำแหน่งไหน​ ทำอะไร​ เทียบกับปัจจุบัน​ เช่น
จางวางกรมช้างต้น​ ทำอะไร​ สำคัญยังไง​ เหมือนกรมคชบาลมั้ยครับ
รู้แต่กินตำแหน่งพระยา​ แต่ไปหาอ่านไม่ค่อยมีบทบาทในประวัติศาสตร์มากนัก
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
จางวางมีหลายความหมายครับ

ความหมายหนึ่งหมายถึงตำแหน่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่สูงกว่าเจ้ากรมที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานราชการหรือเจ้าเมืองขึ้นไป บ่อยครั้งพบว่าไม่ได้มีอำนาจดูแลราชการโดยตรง แต่เป็นทำนองที่ปรึกษาราชการผู้ใหญ่ หรือเป็นแค่ตำแหน่งลอย     

ทั้งนี้ข้าราชการไทยสมัยโบราณจะรับราชการตลอดชีวิต ส่วนใหญ่จะออกจากตำแหน่งก็ต่อเมื่อเสียชีวิตแล้ว หรือมีพระบรมราชานุญาตให้ออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลต่างๆ   ส่วนมากแล้วมักเป็นผู้ที่มีอายุมาก สุขภาพไม่สู้ดียากจะรับราชการต่อ ก็จะโปรดให้ออกจากตำแหน่งไปโดยได้คงบรรดาศักดิ์เดิมอยู่ถ้าไม่ได้ถูกให้ออกจากเพราะมีความผิด

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี เจ้าเมือง หรือเจ้ากรมต่างๆ บางท่านยังประสงค์จะรับราชการต่ออยู่แม้ว่าจะแก่ชราทุพพลภาพแล้ว หรือมีความรู้ประสบการณ์ในราชการสูง จะให้ออกจากตำแหน่งก็ไม่สมกับความดีความชอบในอดีตและอาจทำให้เสียน้ำใจได้ จึงยกขึ้นดำรงตำแหน่ง "จางวาง" ซึ่งเป็นเหมือนที่ปรึกษาราชการระดับสูงแทนทำนองเป็นเกียรติยศ แต่ไม่ได้มีอำนาจบริหารโดยตรง  ในขณะที่ตั้งผู้อื่นมาดำรงตำแหน่งเดิมแทนเพื่อไม่ให้เสียราชการ

มีตัวอย่างในสมัยรัชกาลที่ ๑  เจ้าพระยาธรรมธิบดี (บุญรอด) เสนาบดีกรมวัง มีความผิดในสงครามเก้าทัพ จึงถูกลงพระราชอาญาแล้วถอดจากบรรดาศักดิ์  แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเสียดายว่าเป็นข้าราชการเก่ารู้ขนบธรรมเนียมแผ่นดินมาก  จึงโปรดตั้งให้เป็นพระยาศรีธรรมธิราช จางวางกรมวัง ให้เป็นผู้ช่วยราชการในกรมวัง ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) รับราชการมานานจน "แก่ชราหูหนัก จักขุมืดหลงลืม จะทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปมิได้ จะขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ"  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเลื่อนเจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีโศกราชวงษ์ เชษฐพงษ์ฦาไชย อนุไทยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ จางวางเมืองนครศรีธรรมราช แล้วโปรดเลื่อนบุตรชายคือพระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ซึ่งเป็นผู้ช่วยให้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชแทนที่

เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ ๓ มีบุตร ๓ คนคือ พระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) พระยาเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) นายฤทธิหลวงเวร (น้อยเอียด) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า "พระยาพัทลุงก็เป็นพี่ผู้ใหญ่ จะโปรดให้ว่าที่เจ้าพระยานคร ฯ เล่าก็เป็นคนง่อยเพลีย มีราชการมาจะไปก็ไม่ได้" จึงโปรดตั้งพระยาเสน่หามนตรี (น้อยกลาง) เป็นเจ้าพระยานครฯ แทนบิดา แล้วตั้งพระยาพัทลุง (น้อยใหญ่) ให้ว่าที่จางวางเมืองนครศรีธรรมราชแทนครับ



จางวางอีกความหมายคล้ายกับแบบแรก คือผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดในกรมเหนือกว่าเจ้ากรม แต่ไม่ใช่ตำแหน่งลอย  มักพบในหน่วยงานราชการที่มีขนาดใหญ่ที่มีกรมกองย่อยจำนวนมากหรือมีไพร่พลในสังกัดจำนวนมาก เช่น กรมพระตำรวจ กรมอาสาหกเหล่า กรมพระคชบาล กรมมหาดเล็ก ฯลฯ   ตัวอย่างเช่น

กรมมหาดเล็ก  ตามทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือ หัวหมื่นมหาดเล็กทั้ง ๔ คือ จมื่นสรรเพชญ์ภักดี จมื่นศรีสรรักษ์ จมื่นไวยวรนาถ จมื่นเสมอใจราช  ภายหลังจึงมีตำแหน่งจางวางมหาดเล็กเหนือกว่าหัวหมื่นขึ้นไปอีก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เช่น พระยาธิเบศรบดี พระยาราชมนตรีบริรักษ์หรือถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์อาจมีราชทินนามว่า พระยาสุริยวงศ์มนตรี พระยาศรีสุริยวงศ์ ฯลฯ  

กรมพระคชบาลหรือกรมช้าง เป็นกรมขนาดใหญ่ที่มีไพร่พลจำนวนมาก  แบ่งออกเป็นฝ่ายซ้ายขวาภายใต้การดูแลของจางวางสองคนที่เป็นสมุหพระคชบาล ได้แก่ พระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติสุริวงษองคสมุหะพระคชบาล จางวางขวา    และ   พระสุรินทราชานราธิบดีศรีสุริยศักดิ สมุหะพระคชบาล จางวางซ้าย  ศักดินา ๕๐๐๐ ไร่      มีศักดิ์สูงกว่าเจ้ากรมคชบาลคือ  หลวงกำแพงรามภักดีศรีสุริยชาติ สมุหพระคชบาลขวา และ หลวงราชวังเมืองสุริยชาติ สมุหพระคชบาลซ้ายที่มีศักดินาคนละ ๓๐๐๐ ไร่

กรมอาสาหกเหล่า (สมัยหลังเรียก กรมอาสาแปดเหล่า) ที่เป็นกรมฝ่ายทหารขนาดใหญ่   มีหน่วยงานแยกย่อยคือ อาสาเดโช อาสาท้ายน้ำ กรมอาสาซ้าย กรมอาสาขวา กรมเขนทองซ้าย กรมเขนทองขวา กรมทวนทองซ้าย กรมทวนทองขวา  แต่ละหน่วยงานก็มีเจ้ากรมของตนเอง  โดยมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทุกกรมคือ พระยารามจัตุรงค์ จางวางอาสาหกเหล่า ศักดินา ๑๐๐๐๐ ไร่

กรมอาสามอญ มีหน่วยงานย่อยคือ กรมกลิอ่อง กรมดั้งทองซ้าย กรมดั้งทองขวา กรมดาบสองมือกลาง   มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือ เจ้าพระยามหาโยธา  จางวางกรมอาสามอญ ศักดินา ๓๐๐๐ ไร่



จางวางอีกความหมายหนึ่งหมายถึงตำแหน่ง "หัวหน้า" ที่ควบคุมข้าคนในสังกัดของเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า  ไม่ได้มีบรรดาศักดิ์ แต่เรียกตามชื่อจริง   เช่น จางวางภู่ เป็นจางวางข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ (ในรัชกาลที่ ๓ ได้เลื่อนเป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก)       

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการตั้งจางวางข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายคนเป็นขุนนาง เช่น จางวางเฉยเป็นพระอินทรเทพเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย (ต่อมาได้เลื่อนเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ จางวางพระตำรวจซ้าย)  จางวางเสือเป็นพระยาพิไชยชาญฤทธิ เจ้ากรมเขนทองขวาในกรมอาสาหกเหล่า (ต่อมาได้เลื่อนเป็น พระยาฤทธิไกรเกรียงหาญที่ท้ายน้ำ) จางวางจั่นเป็นพระยาพิพิธไอยสูรย์

นอกจากนี้ยังใช้เรียกหัวหน้าของวงดนตรีประจำวังเจ้านายต่างๆ เช่น  หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถูกเรียกขานว่า จางวางศร เนื่องจากหัวหน้าวงดนตรีของวังบูรพาในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช     หรือ จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นหัวหน้าวงดนตรีวังบางขุนพรมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต



จางวางอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า "จางวางทนาย"  คือหัวหน้าผู้ควบคุมทนายหรือคนรับใช้ของผู้มีบรรดาศักดิ์สมเด็จเจ้าพระยา  นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งปลัดจางวางทนายและสมุหบัญชีด้วย   เทียบเท่ากับเจ้านายที่ได้ทรงกรมซึ่งมีตำแหน่ง เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุหบัญชีที่ควบคุมข้าคนในสังกัดในกรมของเจ้านายพระองค์นั้นๆ      จางวางประเภทนี้มีบรรดาศักดิ์หลวง ปลัดจางวางทนายมีบรรดาศักดิ์ขุน และสมุหบัญชีมีบรรดาศักดิ์หมื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่