ปรับเกณฑ์คำนวณดัชนีใหม่ ❗ ตลาดจะดีขึ้นหรือไม่ ? แล้วใครได้-ใครเสียมาดูกันครับ

กระทู้สนทนา


          ใกล้ถึงเวลาเช็คบิลกันแล้วนะครับ หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ปล่อยให้หุ้นบางตัว(หรือคนบางกลุ่ม) ออกอาละวาดป่วนตลาดมาตลอดช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการใช้ “จุดอ่อน” ของการคำนวณดัชนีหุ้น มาสร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในตลาด TFEX ที่กำไร/ขาดทุนอ้างอิงกับดัชนี SET50 และอย่างที่ทุกท่านทราบข่าวกันแล้วว่า ตลาดจะมีการทบทวนและเปลี่ยนวิธีคิดดัชนีแบบใหม่ โดยจะเป็นอย่างไร จะทำให้ตลาดกลับมาเป็นปกติหรือไม่ ? รวมทั้งผลกระทบที่ทุกท่านต้องเตรียมรับมือคืออะไร (รับรองว่ามันมากกว่าที่หลายคนคาดไว้อย่างแน่นอน) สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้  

เท้าความเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น เม่าอ่าน

         พวกเราได้ติดตามและออกมาบอกกับทุกท่านว่าในปีนี้จะมีปัญหาเรื่องหุ้นบางตัวที่เข้ามา Effect ต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีมากเกินไป ผ่านกระทู้ 

ย้อนรอย อภินิหาร BAY ลากตลาด และ DELTA จะทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่ ? => https://pantip.com/topic/40411262

          ซึ่งก็เป็นไปตามคาดนะครับ ว่ามันเป็นประเด็นที่สร้างความปวดหัวให้กับนักลงทุนทั่วทั้งประเทศ โดยปัญหานี้มันเริ่มมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยเลือกใช้วิธีการสร้างดัชนีแบบถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด (full-market capitalization method) ซึ่งก็คือการนำ ราคาหุ้น x จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยจะได้ผลลัพธ์ออกมา ดังตาราง

ตารางแสดงผลกระทบของหุ้นแต่ละตัวกับดัชนี SET50



ปรากฏการณ์เงินร้อยล้านมีค่ากว่าพันล้านในตลาดหุ้น เจ้าหอบเงิน

         จากตารางเมื่อจัดเรียงตามมูลค่าตลาดแล้วหุ้น PTT, AOT และ “DELTA” จะเป็นหุ้น TOP3 แซงหน้าหุ้นใหญ่ขวัญใจมหาชนอย่าง ADVANC, CPALL หรือ SCC ไปแบบขาดลอย โดยเรื่องนี้ได้สร้างความสงสัยและขัดใจให้กับนักลงทุน ว่าทำไมหุ้นที่พึ่งเด่นดังมาไม่ถึงปี กลับมี Impact ต่อดัชนีมากกว่าหุ้นคุ้นหูที่อยู่คู่กับตลาดมาเป็นเวลานาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การคำนวณดัชนีในแบบปัจจุบันจะขึ้นอยู่กับแค่ 2 ปัจจัย คือ ราคาหุ้น และ จำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีโน้มเอียงไปทางหุ้นที่มีขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น เรื่องสภาพคล่องในตลาด เป็นต้น ดังนั้น รายใหญ่จึงใช้ช่องโหว่นี้ในการหาหุ้นที่ Market Cap สูง ๆ แต่ไร้สภาพคล่องในตลาด เพื่อสร้างราคา โดยใช้เงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านลากหุ้นเหล่านั้น แทนที่การใช้เป็นพัน ๆ ล้านซื้อหุ้นสภาพคล่องสูง และส่งผลต่อดัชนีได้ไม่ต่างกัน

แล้วทำไมหุ้นพวกนั้นถึงไร้สภาพคล่องในตลาด ?

          อย่างที่รู้กันว่าตลาดหุ้นคือตลาดรอง หรือตลาดมือสอง ที่นักลงทุนมาซื้อ-ขายหุ้นแลกเปลี่ยนหุ้นกัน ดังนั้น ปริมาณหุ้นที่วางขายย่อมขึ้นผู้ครอบครองหุ้นไว้ ว่าจะปล่อยออกมาหรือไม่ โดยคนบางกลุ่มเขาอาจต้องการถือหุ้นไว้เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง เช่น การบริหารกิจการ,การมีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจ จึงทำให้เหลือเพียง “บางส่วน” ที่หมุนเวียนได้จริงในระบบ โดยตลาดจะเรียกสัดส่วนที่เหลือนี้ว่า “Free Float” เรามาดูกันว่าหุ้นใน SET50 แต่ละตัวมีสัดส่วน Free Float เป็นอย่างไรบ้าง

นิยาม Free Float ตามแบบฉบับของตลาดหลักทรัพย์
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ตารางแสดงค่า Free Float ของหุ้นใน SET50



Free Float คนละทิศทางกับ Market Cap เม่าตาสว่าง

          จากตารางจะเห็นว่าลำดับ Free Float ของหุ้นแทบจะเป็นคนละเรื่องกับลำดับ Market Cap ของหุ้นเลย โดยหุ้นที่มี Free Float สูงสุด คือ BBL มี Free Float สูงถึง 98.6% แต่มี Ranking ของ Market Cap ในลำดับที่ 15 เท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่มี Free Float ต่ำสุดอย่าง DELTA ที่ 22% (ผ่านเกณฑ์เข้า SET50 ที่ 20% มาอย่างฉิวเฉียด ช่างเป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ นะครับ) กลับมี Ranking ของ Market Cap อยู่ถึงลำดับที่ 3 ! ซึ่งนี้ก็เป็นเรื่องที่บ่งชี้ชัดเจนนะครับ ว่าทำไมพวกเราถึงต้องเผชิญกับความผันผวนเกินจำเป็นของดัชนีหุ้น เพราะตลาดปล่อยให้หุ้นที่มีสภาพคล่องลำดับสุดท้ายมามีผลต่อเป็นอันดับต้น ๆ ต่อดัชนี จึงทำให้รายใหญ่ใช้ช่องโหว่นี้ทำราคาแบบถูกกฎระเบียบได้

ถึงเวลาต้องแก้ไข ! ตลาดเตรียมเปลี่ยนการคำนวณใหม่

         การคิดดัชนีแบบ Free Float Adjusted Market Capitalization อาจกำลังกลายเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดหุ้นไทย แต่มันไม่ใช่เรื่องใหม่ในของสากลโลก เพราะอันที่จริงดัชนีสำคัญบางตัวเขาก็ใช้วิธีนี้กันมานานแล้ว เช่น S&P500, MSCI, FTSE100 เป็นต้น โดยวิธีนี้หมายถึง การนำค่า Free Float เข้ามาเป็นปัจจัยที่ 3 ในการคำนวนดัชนี (นอกเหนือจาก ราคา และจำนวนหุ้นของบริษัท) เพื่อนำเรื่องของสภาพคล่องในตลาดหุ้นมาพิจารณาเพิ่มเติม โดยจะได้ตารางผลกระทบต่อดัชนีใหม่ ดังนี้

ตารางแสดงผลกระทบแบบเดิมและแบบใหม่ต่อดัชนี SET50 



หุ้น Free Float ต่ำถูกลดบทบาทลงอย่างเห็นได้ชัด อัศวินขี่ม้าขาว

          จากตารางจะเห็นว่าเมื่อมีการคำนวณใหม่แล้ว ลำดับผลกระทบของหุ้นจะแตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจน โดยอันดับ 1 ยังคงเป็นหุ้น PTT แต่ลำดับ 2 และ 3 ถูกเปลี่ยนกลายมาเป็นหุ้นอย่าง SCC และ CPALL แทนที่ AOT และหุ้นเจ้าปัญหาอย่าง DELTA ที่กระเด็นลงไปอยู่ในลำดับที่ 10 ดังนั้น การใช้วิธีนี้จะผลักให้หุ้นที่มีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพกลับมามีบทความต่อดัชนีเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 

          นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดดัชนี ยังให้ผลประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งการลดการกระจุกตัวของหุ้นที่มีผลประทบต่อดัชนี โดยจากเดิมหุ้น Top3 ส่งผลต่อดัชนีถึง 24.37% แต่แบบใหม่จะเหลือ 22.47% อีกทั้งยังส่งผลดีนักลงทุนสถาบัน เพราะสามารถ Rebalance Port ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากน้ำหนักของหุ้นใหม่สะท้อนการเคลื่อนไหวและอ้างอิงกับปริมาณหุ้นในตลาดที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องทู่ซี้ไล่ซื้อหุ้นไร้สภาพคล่องให้ครบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ส่วนจะทำให้ความผันผวนลดลงจริงหรือไม่ เราจะเฉลยในตอนท้ายของบทความ 

         แต่อย่างไรก็ตามการคิดดัชนีแบบใหม่ก็มีข้อควรระวัง เพราะเรื่อง Free Float นี้ ถือเป็นเรืองที่ค่อนข้างมีความสัมพันธ์กับ Sector โดยสังเกตว่าหุ้นกลุ่มที่มี Free Float สูงจะนำโดยกลุ่มธนาคารและพลังงาน  ทำให้จากเดิมกลุ่ม Bank เคยมี Impact ราว ๆ 9% กลับพุ่งขึ้นมาเป็น 17% ส่วนกลุ่ม ENERGY จากเดิม 17% กลายเป็น 26% เป็นต้น

❗ ❗ ❗ นี้เป็นข้อมูลส่วนสำคัญที่ทุกคนต้องรู้ เม่าอ่านหนังสือพิมพ์

          จากเนื้อหาทั้งหมด หลายคนคงกำลัง Focus อยู่บนดัชนีและเข้าใจว่า หุ้นรายตัวคงไม่มีผลกระทบมาก แต่ในความจริงเราขอยืนยันว่า เรื่องนี้มันส่งผลกระทบต่อหุ้นรายตัวเป็นอย่างมาก เพราะการเปลี่ยนแปลง Impact ต่อดัชนีครั้งใหญ่นี้ จะทำให้ทุกกองทุนต้องเปลี่ยนสัดส่วนการถือครองหุ้นให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายเลียนแบบดัชนี SET50 แล้วคำถามคือต้องปรับแค่ไหนถึงจะสมดุล 5%,10% ? คำตอบคือไม่ใช่เลยครับ เพราะบางตัวต้องปรับเป็น 100% ! โดยทุกคนดูได้จากหุ้นลำดับที่ 2 อย่าง SCC หากแต่เดิม SCC มี Impact ต่อดัชนี 4% แต่พอปรับแล้วกลับมีผลต่อดัชนีเกือบ 6% นั่นแปลว่า กองทุนต้องเพิ่มน้ำหนัก SCC ถึง 45% ในพอร์ต ส่วน DELTA ที่แต่เดิมเคยมีผลต่อดัชนี 6.5% ปรับแล้วจะเหลือ 3.2% แสดงว่าเขาต้องลดน้ำหนัก DELTA ออกมาพอร์ตลงมากกว่า 50% แล้วทุกคนลองสังเกตตัวเลขการเปลี่ยนแปลงของแต่ละตัวดูนะครับ (คอลัมน์สุดท้าย) ว่ามันมากน้อยแค่ไหน และนี้จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดในระยะสั้น ดังนั้นหากเกิดขึ้นจริง เตรียมใช้ข้อมูลนี้ในการสร้างกลยุทธ์ Under/Over Weight Port ของตัวเองกันด้วยนะครับ 

คำถามสุดท้ายที่ทุกคนอย่างรู้ คือ … ทำแล้วได้ผลดีขึ้นจริงหรือไม่ ?  เม่ารดน้ำ

         เอาละครับ ในช่วงท้ายนี้ เราจะมาทำการหาคำตอบว่าหากถ้าเปลี่ยนการคำนวณดัชนีแล้ว ตลาดจะกลับมาปกติหรือผันผวนน้อยลงหรือไม่ โดยการจำลองสร้างดัชนีด้วยวิธีใหม่เปรียบเทียบกับดัชนีแบบเดิมในช่วงเวลาตั้งแต่ต้นปีมาถึงปัจจุบัน จะได้ผลลัพธ์ดังนี้
 
ราฟแสดงราคาปิดของดัชนี SET50 แบบเดิมและแบบใหม่ในช่วงต้นปี – ปัจจุบันจำนวน 12 วันทำการ (ม.ค.64) 



          จากกราฟพบว่า หากเปลี่ยนการคำนวณใหม่แล้ว การเคลื่อนไหวของดัชนีจะมีความ Smooth ขึ้นอย่างชัดเจน (เส้นสีส้ม) โดยมีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานที่ 8.44 น้อยกว่าของเดิมที่ 11.04 หรือคิดเป็น 23.55% ดังนั้น นี้จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนพอสมควรนะครับว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์คำนวณดัชนี ถือเป็นเรื่องที่ “ตอบโจทย์” และช่วยลดความผันผวนที่เกินจริงของตลาดได้ 

          สุดท้ายนี่เราขอแสดงความชื่นชมตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่นิ่งนอนใจและหาวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตลาดกลับมายุติธรรมต่อรายย่อยอีกครั้ง โดยเราเป็นเสียงสนับสนุนอีก 1 เสียงที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เราขอให้นักลงทุนอย่านิ่งนอนใจ เพราะตราบใดที่ยังอยู่ในเกมการเงินแห่งนี้ เขาก็ต้องคิดลูกเล่นใหม่ ๆ มาเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ดังนั้น ทุกท่านจำเป็นศึกษาหาความรู้และพร้อมนำใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเราจะเป็นอีก 1 กลุ่มคนที่คอย Update ข้อมูลให้กับทุกท่านอย่างต่อเนื่อง มาเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน ขอบคุณครับ

Credit : https://www.facebook.com/tfexforfuture

ร่วมพูดคุยทิศทางราคาหุ้น&TFEX ได้ที่

Line OpenChat : TFEX For Future  
 

https://line.me/ti/g2/btLW138AZRRYIUeuCe-5GQ
 
พาพันขอบคุณ
แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่