บาปที่พระศาสนจักรสงวนไว้+การแก้บาป

“บาปที่พระสังฆราชสงวนไว้” แปลว่าบาปบางประการที่พระสังฆราชผู้ปกครองไม่อนุญาตให้พระสงฆ์อภัยบาปแก่ผู้ที่มาขอสารภาพบาปได้ทันที จนกว่าจะได้แจ้งและขออนุญาตโปรดบาปกับพระสังฆราชก่อน พระสงฆ์จึงโปรดบาปแก่ผู้มาสารภาพบาปประการนั้นได้



“บาปที่พระสังฆราชสงวนไว้”

“บาปที่พระสังฆราชสงวนไว้” แปลว่าบาปบางประการที่พระสังฆราชผู้ปกครองไม่อนุญาตให้พระสงฆ์อภัยบาปแก่ผู้ที่มาขอสารภาพบาปได้ทันที จนกว่าจะได้แจ้งและขออนุญาตโปรดบาปกับพระสังฆราชก่อน พระสงฆ์จึงโปรดบาปแก่ผู้มาสารภาพบาปประการนั้นได้



กฎหมายพระศาสนจักรเขียนไว้ว่าบาปทุกประการพระสงฆ์อภัยได้หมด แต่มีบาปบางประการที่เมื่อกระทำแล้วจะมีบทลงโทษโดยอัตโนมัติทันที และ “บาปทำแท้ง” ก็มีบทลงโทษให้ตัดขาดจากพระศาสนจักรโดยอัตโนมัติทันทีเมื่อกระทำ ดังนั้นผู้กระทำบาปมาแก้บาปกับพระสงฆ์เลยไม่ได้จะต้องมีใครที่มีอำนาจพาเขากลับเข้ามาสู่พระศาสนจักรเสียก่อน

แต่ก่อนเราเข้าใจว่าพระสงฆ์อภัยปาบทำแท้งไม่ได้ แต่ไม่จริง ที่พระสงฆ์ยังให้อภัยผู้ทำบาปทำแท้งทันทีไม่ได้ก็เพราะพระสงฆ์จะต้องให้ใครที่มีอำนาจพาเขากลับเข้ามายังพระศาสนจักรใหม่เสียก่อนเพราะโทษบาปทำแท้งคือ ตัดเขาออกจากพระศาสนจักรทันที ปัจจุบันขั้นตอนการนำกลับเข้ามายังพระศาสนจักรจึงลดทอนขั้นตอนเหลือเพียงแจ้งกับพระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑล แล้วถ้าพระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑลอนุญาต ซึ่งเท่ากับให้เขากลับเข้ามาในพระศาสนจักรได้อีกครั้งหนึ่ง พระสงฆ์จึงโปรดอภัยบาปแก่ผู้ที่มาขอรับศีลอภัยบาปทำแท้งได้ต่อไป

ปัจจุบัน “บาปที่พระสังฆราชสงวนไว้” มีบาป “ทำแท้ง” เพียงประการเดียว และต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ชายก็อาจทำบาปทำแท้งได้ เพราะบาปทำแท้งหมายถึงการส่งเสริม ร่วมมือ ยุยง บังคับให้เขาไปทำแท้ง หรือผู้ที่รับทำแท้งตั้งสถานที่หรือมีหุ้นส่วน หรือให้เช่าสถานที่หรือเกี่ยวข้องกับการทำแท้งก็เป็นบาปทำแท้งด้วยทั้งสิ้น



ทำไมบางสังฆมณฑลก็ไม่ต้องมี “บาปที่สงวนไว้” บางสังฆมณฑลก็มี?

ก็เพราะพระสังฆราชผู้ปกครองบางสังฆมณฑลให้อำนาจแก่พระสงฆ์ที่จะใช้ดุลยพินิจรับเขาเข้ามาในพระศาสนจักรได้เลย ลดขั้นตอนการนำเข้ามาในพระศาสนจักรแบบต้องแจ้งบาปประการนี้แก่พระสังฆราชออกไปเสีย พระสงฆ์บางสังฆมณฑลจึงโปรดบาป “ทำแท้ง” แก่ผู้มารับศีลอภัยบาป ด้วยดุลยพินิจของท่านได้เลย

โดยจะเป็นว่า พระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑลจะเป็นผู้มอบหรือสงวนอำนาจบางประการกับศาศนาบริกร หรือ “พระสงฆ์” ในสังฆมณฑลของท่านได้ตามอำนาจปกครองสังฆมณฑลของพระสังฆราช

ปี(2009)นี้เป็น “ปีพระสงฆ์” เห็นหลายสังฆมณฑลส่งเสริมให้สัตบุรุษได้ไปรับศีลอภัยบาปเพราะนักบุญยอห์น มารีย์เวียนเนย์ เจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์ องค์อุปถัมภ์ของพระสงฆ์ท่านโปรดศีลอภัยบาปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้คนได้กลับใจ กลับคืนดีกับพระเป็นเจ้า ก็เลยส่งเสริมให้พระสงฆ์ได้อภิบาลศีลอภัยบาปอย่างเต็มที่แก่สัตบุรุษ และเพื่อให้การส่งเสริมมีประสิทธิภาพพระสังฆราชหลายสังฆมณฑลจึงอนุญาตให้พระสงฆ์อภัยบาปที่สงวนไว้ได้เลยเพื่อสัตบุรุษจะได้กลับใจ และรับศีลอภัยบาปเข้ามาหาพระเป็นเจ้าอาศัยพระสงฆ์ใน “ปีพระสงฆ์” นี้มากยิ่งขึ้น

เรียบเรียงจาก นิตยสารคาทอลิกรายเดือนอุดมศานต์ ประจำเดือนตุลาคม 2552/2009 หน้าที่ 88 – 89. กรุงเทพฯ:

สวัสดีครับพี่น้องที่เคารพรัก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพระเยซูเจ้ามอบอำนาจการอภัยบาปให้พระศาสนจักร เงื่อนไขสำคัญของการรับศีลอภัยบาปก็คือการเป็นทุกข์กลับใจ สำคัญจนว่าหากเราเป็นทุกข์กลับใจจริงพระศาสนจักรต้องยกบาปให้ จะไม่ยอมยกบาปให้ไม่ได้

การเป็นทุกข์กลับใจหรือการเป็นทุกข์ถึงบาปจึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการแก้บาป ซึ่งอาทิตย์ที่แล้วพ่อได้พูดถึงการสวดขอให้เราแก้บาปด้วยดีและการพิจารณาบาป การเป็นทุกข์ถึงบาปหมายถึงการเป็นทุกข์เสียใจที่ได้ทำให้พระเจ้าผู้ทรงรักเรามากเสียพระทัย ความเป็นทุกข์เสียใจนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า หากเราพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าอยู่เสมอจนพระองค์มีตัวตนสำหรับเรา (จริงๆ พระองค์ก็มีตัวตน มีความเป็นอยู่จริงเสมอ แต่บางที่เราไม่รับรู้ ไม่สนใจ ไม่นึกถึง) เราก็จะมีความรู้สึกเสียใจจริงๆ ได้มากขึ้น

ดังนั้น เราจึงควรพยายามนึกถึงคิดถึงพระองค์บ่อยๆ พูดกับพระองค์เสมอๆ ทุกๆ วัน วันละหลายๆ ครั้ง พูดคุยกับพระองค์ในเหตุการณ์ต่างๆ ของชีวิตประจำวันที่เราพบเจอ นั่นคือให้พระองค์เป็นบุคคลที่มีความหมายมากขึ้นในชีวิตของเรานั่นเอง เมื่อพระองค์เริ่มมีความหมายกับชีวิตของเรา พระองค์ก็มีตัวตนสำหรับเรานั่นเอง ความทุกข์ถึงบาปความทุกข์เสียใจในบาปทำให้พระองค์เสียพระทัยก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น สมบูรณ์มากขึ้น ความเป็นทุกข์เสียใจเช่นนี้แหละที่เราควรนึกถึง การทุกข์เสียใจเพราะกลัวโทษจากพระองค์ กลัวตกนรก ฯลฯ อาจจะเป็นขั้นตอนแรกๆ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น ความเป็นทุกข์ของเราต้องดีขึ้น ถูกต้อง และสมบูรณ์มากขึ้น



จากการเป็นทุกข์แล้ว เราก็เข้าไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ในที่ฟังแก้บาป ขั้นตอนนี้อาจจะมีสูตรการแก้บาปที่ต่างกันแต่สิ่งที่ต้องบอกในทุกสูตรคือ แก้บาปครั้งสุดท้ายนานเท่าไหร่ ใช้โทษบาปที่พระสงฆ์มอบให้แล้วหรือ พระสงฆ์ได้ยกบาปให้ด้วยหรือไม่ แล้วจึงบอกบาปควรบอกบาปหนักก่อนบาปเล็กๆ น้อยๆ ก็ควรบอกพร้อมบอกความถี่เท่าที่สามารถ หลายกรณีผู้แก้บาปมักบอกบาปเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับไม่บอกบาปใหญ่ๆ ซึ่งไม่ถูกนะครับ พระสงฆ์บางท่านอาจจะซักถามบ้างก็ให้ตอบตามตรง แล้วพระสงฆ์จะเตือนใจพร้อมให้กิจใช้โทษบาป สิ่งสำคัญก็คือต้องไม่มีเจตนาจะปกปิดสิ่งใด พระสงฆ์ยกบาป แล้วออกมาสวดภาวนาทำกิจใช้โทษบาปตามที่พระสงฆ์สั่ง ทำมากกว่าได้แต่อย่าทำน้อยกว่า

โดยสรุปพ่ออยากให้พี่น้องมีการเตรียมตัวแก้บาปอย่างดี และเพื่อจะเตรียมได้ดีก็คงต้องมีเวลาสักหน่อยนะครับ การแก้บาปอย่างดีทำให้จิตใจเราเป็นสุข สงบ และบ่อยๆ ก็มักจะมีความยินดีร่วมด้วยเสมอ ยินดีที่เราได้กลับเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าผู้ทรงรักเรามากมายอีกครั้ง อีกทั้งเป็นพลังให้เราเจริญชีวิตต่อสู้การประจญต่างๆ ได้ดีขึ้น

แก้บาปครั้งต่อไปให้เวลาตัวเองซักหน่อยนะครับ

ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้อง
คุณพ่อศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย

สารวัดเซนต์หลุยส์ ปีที่ 45 ฉบับที่ 19 ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 อาทิ์ตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา

CR. : http://www.newmana.com/phpbb/viewtopic.php?f=2&t=16879&fbclid=IwAR3qHXHoPvgYe0wZkIu7JbZk9ANZZz430IxE1aCP238UJ8-gUj1FDk8Gb8E
&
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1137526626275151&set=a.882612015099948&type=3
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่