ความเห็นทางการเมืองของคน Gen X คนนึง

1.   มนุษย์ทุกคนคิดไม่เหมือนกัน
         บนพื้นฐานของแต่ละคนที่ เกิด เติบโต การศึกษา ความมีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละเรื่องที่ไม่เท่ากัน มันส่งผลถึงการแสดงออกและพฤติกรรม ความเห็น ที่แตกต่างนั้นการจะมาถกเถียงกันในเรื่องระบบและตัวบุคคล การวัดว่าดีหรือไม่ดี ใครเก่งกว่า มันเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน สิ่งที่จะตัดสินทางความคิดต้องมีสนามแข่งขันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ความรุนแรงไม่ได้ช่วยตัดสินในการหาข้อสรุป 
2.   สิ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงอยู่รวมกันได้ คือ กติกาของสังคม
         กฏหมาย ข้อบังคับต่างๆ นี่คือสิ่งที่จะใช้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่เลือกทางไหนหรือใช้อะไรในการตัดสินความคิดเห็นต่างกัน แต่ต้องไม่ลืมว่า กติกาก็เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม ความทันสมัยของสังคม เครื่องมือและกรอบความคิดที่เปลี่ยนไปเช่นกัน กฏระเบียบจึงต้องปรับปรุงไปตามกาลเวลา แต่สำคัญคือ มันต้องมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งโดยความจริงทุกคนรู้อยู่แล้วว่ากติกาใดยุติธรรมหรือเป็นที่ยอมรับ เพียงแต่จะยอมรับมันหรือไม่เมื่อมีผลประโยชน์ ความรู้สึกเข้าครอบงำ ก็มักที่จะแสดงออกสวนทางกับหลักการสากลเพียงเพราะได้รับประโยชน์หรือชื่นชอบสิ่งที่ไม่เป็นธรรมในกติกาดังกล่าว 
          กติกาที่เป็นธรรมจะสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีใครมีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่เริ่มต้น เช่น แข่งขันฟุตบอล ตัวผู้เล่นต้องเท่ากัน มีกรรมการจากชาติเป็นกลาง เป็นต้น  หากมีกติกาในสังคมที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ผู้ชนะก็ได้รับเลือก ส่วนผู้แพ้ก็รอคอยการแข่งครั้งต่อไป หากเปรียบเทียบการเมืองจะเห็นได้จากการเลือกตั้งในหลายประเทศที่เจริญ เช่น สหรัฐอเมริกา อันเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพในการแสดงออกมากที่สุด แนวความคิดทางการเมืองแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่การต่อสู้นั้นผ่านกติกาและระบบที่แข็งแกร่ง เราจะเห็นว่า ทุกอย่างจบที่การเลือกตั้ง แล้วหลังจากนั้นอีก 4 ปี จึงมาสู้กันใหม่ ใครจะรัก ใครเกลียดใคร สามารถแสดงออกได้เต็มที่ แต่เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ทุกอย่างคือ จบ                      
3.   88 ปีแห่งประชาธิปไตยของสังคมไทย กับกฏกติกาแฝงผลประโยชน์
             แสดงออกผ่านรัฐธรรมนูญหลากหลายฉบับที่ถูกฉีกแล้วเขียน เขียนแล้วฉีก สิ่งที่เราต้องยอมรับความจริงคือ คนร่างกติกา ร่างรัฐธรรมนูญ คือ ผู้มีส่วนได้เสียบนกองผลประโยชน์ของการเมืองไทยทั้งสิ้น ไม่ว่ายุคสมัยใดกลุ่มคนเขียนรัฐธรรมนูญ ร่างกติกา ก็มักจะหยอดเงื่อนไขที่สร้างจุดได้ปรียบเสียเปรียบลงไปเสมอ เพื่อหวังผลชนะทางการเมือง ประเทศไทยจึงไม่เคยได้รัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกว่ายุติธรรมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 
             นั้นแปลว่าปัญหาอันเกิดจากระบอบประชาธิปไตยหาได้เกิดจากตัวระบบ แต่เป็นปัญหาที่ตัวบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตย ทั้งคนร่างกฏหมาย คนใช้กฏหมาย คนฉีกกฏหมาย ล้วนเป็นได้ทั้งผู้ได้รับประโยชน์และเสียผลประโยชน์โดยตรงทั้งสิ้น  
4.  กาลเวลาทำให้โลกเปลี่ยนคนเปลี่ยน
              คนรุ่นใหม่ได้รับอิทธิพลจากเครื่องมือทางโซเชียมีเดียต่างๆมากมาย การเข้าถึงข้อมูลเรื่องราวในอดีต การวิเคราะห์ การตีความในแง่มุมต่างๆ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้บริบทของสังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เกิดการเปรียบเทียบและคาดหวังที่จะหลุดพ้นสังคมประเทศกำลังพัฒนา ในอดีตเด็กและเยาวชนถูกสอนให้ฟัง ให้เชื่อ ให้เงียบ สะท้อนออกมาทางการศึกษาที่เด็กไทยในอดีตที่มักจะพูดว่า เด็กไทยมี 3S คือ smile silent sleep เด็กไทยเรียนแบบท่องจำ ขาดการวิเคราะห์และไม่แสดงความคิดเห็น หลายๆยุคที่มีการพูดเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยให้เด็กเยาวชนกล้าคิดกล้าพูด
               จนมาถึงยุดสมัยของความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาอีก 20-30 ปี ข้างหน้าอาจจะไม่หลงเหลือคนที่มีกรอบความคิดเก่าหลงเหลือ สังคมจะถูกแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนสังคมด้วยการตั้งคำถามและการวิเคราะห์ในมุมมอง 360 องศา และการต่อสู้ในเชิงข้อมูลรวมถึงแนวความคิดที่เสรีภาพจะสะท้อนออกมาตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป คนในสังคมหลายเจนเนอเรชั่นจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ไปด้วยกันกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก้าวมาแทนที่ หากต้องการให้แนวความคิดเชิงอนุรักษ์นิยมคงอยู่ จำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตามให้เป็นที่ยอมรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป                
5. การเมืองไทยกับระบบที่ต้องปฏิรูป
           ประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมามีรากที่ฝังลึกของระบบผลประโยชน์ 4 ฝ่าย คือ นักการเมือง นายทุน ทหาร ประชาชน เนื่องจากการเมืองของไทยใช้ “เงิน” เป็นเป็นปัจจัยหลัก การเลือกตั้งต้องใช้เงิน เพราะการเลือกตั้งของไทยเป็นการเลือกตั้งโดยเลือกตัวแทนจากท้องถิ่นและนำจำนวน สส ที่ได้มาประมวลผลแพ้ชนะ ดังนั้นเงินจำนวนมากจึงส่งไปยังประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเพื่อหวังผลแพ้ชนะทางการเมือง พรรคการเมืองต่างๆก่อนการเลือกตั้งก็ต้องระดมทุนจากนายทุนต่างๆ เพื่อเป็นทุนในการเลือกตั้ง และเป็นเงินหล่อเลี้ยงสมาชิกพรรค สส เพราะลำพังเงินเดือน สส ไม่สามารถเลี้ยงดูเหล่าบริวารต่างๆได้ คนดี คนเก่ง แต่ขาดเงินทุนและไม่มีบริวาร จึงไม่สามารถฝ่าเข้ามาในระบบเลือกตั้งเลย จะเห็นว่ายังไม่ทันที่จะมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ก็เป็นหนี้บุญคุณกับพวกนายทุนแล้ว หลังการเลือกตั้งจึงเป็นระบบตอบแทน เอื้อประโยชน์ให้นายทุน ใช้หนี้คืนให้กลุ่มนายทุนพรรค รวมถึงสิ่งนึงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ทหารกับบทบาททางการเมืองไทยมีมาอย่างยาวนาน พรรคการเมืองต่างๆที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปก็ต้องเอื้อประโยชน์กับกองทัพเพื่อเป็นการการันตีความมั่นคงทางการเมืองของฝ่ายบริหาร จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาแทบจะเรียกได้ว่าทหารคือผู้ปกครองตัวจริงของประเทศมาโดยตลอด จนถึงยุคบัจุบันก็ประวัติศาสตร์ก็วนกลับมาอีกครั้งกับยุคที่ทหารออกมาเบื้องหน้าเพื่อปกครองประเทศและควบคุมนักการเมืองให้อยู่ภายใต้อำนาจ
           ผมอยากเสนอให้เราลองพลิกกลับด้านและสร้างหลักการใหม่ คือ การเลือกตั้งแบบที่ใช้เงินให้น้อยที่สุด และเปลี่ยนให้พรรคการเมืองติดหนี้บุญคุณประชาชน เปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยเงินทุนของพรรคการเมืองต้องมาจากการบริจาคของประชาชนเท่านั้น โดยไม่ระบุตัวผู้บริจาคและไม่มีใบเสร็จ และเปลี่ยนการเลือกตั้งเป็นภาพระดับประเทศแทน คือ ใช้บัตรเลือกตั้งกาเลือกพรรคการเมือง ที่ประชาชนต้องการให้เป็นรัฐบาลแล้วจึงนำคะแนนที่ได้ในแต่ละจังหวัดนั้นๆไปคำนวน สส ผลที่ได้คือ พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องใช้เงินหาเสียงในจังหวัดโดยใช้เม็ดเงินจำนวนมาก เน้นการเมืองภาพใหญ่ ให้พรรคการเมืองหาเสียงโดยผ่านทางโซเชียลมีเดียและการดีเบทในสื่อทีวีต่างๆ เน้นให้ประชาชนเลือกตั้งจากวิศัยทัศน์ของผู้นำพรรคการเมือง ก็จะทำให้เกิดพรรคการเมือง บุคลากรดีๆ เข้าสู่การเมืองได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นมีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือมีเงินทุนเยอะๆ  นอกจากนี้ต้องเขียนกติกาใหม่เพื่อทลายระบบผู้ขาดทางการเมืองที่มักจะมี สส ที่มาจากครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สืบทอดการเมืองจากรุ่นสู่รุ่นวนเวียนแต่ตระกูลเดิมๆที่ผู้ขาดทางการเมืองเป็นเวลายาวนาน
6. การปฏิรูปประเทศของ คสช กับการแก้โจทย์ทีผิด  
            “ผมผิดอะไร?” นี่คือคำถามที่ลุงตู่ถามไปยังประชาชนผ่านสื่อ ถ้าให้ผมตอบ ผมก็จะตอบว่า ทุกคนมีเรื่องทำผิดทั้งนั้น ยิ่งทำงานเยอะก็ยิ่งพลาดเยอะ ไม่มีใครเก่งไปทุกอย่างและไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีตำหนิในโลกนี้ ดังนั้นคนถามคำถามนี้ต้องสำรวจตัวเองว่าผิดเรื่องใดบ้างเพราะมันมีอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะเน้นไปที่การปฏิรูปประเทศ 5 ปีที่ผ่านมาในยุค คสช ที่ผมมองว่าสูญเปล่าเพราะการแก้โจทย์ที่ผิด 
             ส่วนตัวผมมองในแง่ดีว่า พลเอกประยุทธ ต้องการนำพาประเทศไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย โดยมองว่ามีตัวพลเอกประยุทธเท่านั้นที่เหมาะสม และจะทำให้ประเทศสงบ โดยการยึดประเทศมาบริหารเอง ถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบมันเหมือนในเมืองนึงมีแก๊งมาเฟียตีกัน 2 แก๊ง ยกพวกตีกันจนชาวบ้านเดือดร้อน เมื่อตำรวจนำกำลังเข้าปราบปราม จึงคิดว่าจะจัดการให้เมืองอยู่ในความสงบยังไง ตำรวจคนนี้จึงสถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟียซะเองโดยรวบรวมบรรดามาเฟียคนที่ยอมสยบแทบเท้ามาร่วมแก๊งและจัดการกำจัดพวกมาเฟียรายอื่นที่แข็งข้อเสียให้หมด แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนอยู่ดีจนต้องออกมาประท้วงเพื่อล้มมาเฟียด้วยตัวเอง 
             เรื่องที่ผมเปรียบเทียบก็เหมือนพลเอกประยุทธที่พูดเสมอเรื่องนักการเมืองไม่ดีในช่วงเวลาที่ปกครองภายใต้ห่วง คสช แต่แทนที่จะปฏิรูปโดยเน้นแก้ไขกติกาและระบบเพื่อกีดกันนักการเมืองไม่ดี กลับใช้วิธีให้พวกพ้องเขียนกติกา เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อตัวเองในการสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งแล้วยังไปดึงเอาบรรดานักการเมืองทั้งหลายที่พลเอกประยุทธพูดเสมอว่าเป็นพวกสร้างปัญหาให้ชาติบ้านเมือง นำเข้ามาอยู่ในพรรคพวกตัวเอง โดยหวังว่าจะควบคุมคนเหล่านั้นได้  นอกจากนั้นแทนที่พลเอกประยุทธจะปฏิรูปกฏกติกาการเลือกตั้งให้ยุติธรรมกับทุกฝ่ายและเน้นการปฏิรูปการเมืองใหม่เพื่อล้างบางนักการเมืองผูกขาด รวมถึงควรปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันระบบผลประโยชน์ของนายทุน แต่กลับยึดการปกครองประเทศมาเป็นของตนเองผ่านทางอำนาจ สว ที่ตนเองแต่งตั้งขึ้น และมุ่งเน้นกำจัดศัตรูการเมืองกลุ่มที่แข่งข้อ ทำให้แทบจะการันตีได้เลยว่าพลเอกประยุทธสามารถครองอำนาจได้อย่างน้อย 13 ปี จากกติกาและรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คำกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติมีเสียงสนับสนุน 16 ล้านคน จึงเป็นวลีที่ถูกหยิบยกมาใช้บ่อย แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของประชามติดังกล่าว เสียงสนับสนุนคิดเป็น 60% และไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญคิดเป็น 40% และเมื่อพิจารณาเสียงสนับสนุน 60% นั้น ต้องบอกว่าส่วนนึงในนั้นมีกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐธรรมนูญแต่ที่ลงมติให้ผ่านเพราะต้องการให้ผ่านไปก่อนแล้วมาแก้ที่หลัง และไม่อยากจะให้ คลช ใช้ข้ออ้างเรื่องระยะเวลาร่างรัฐธรรมนุญเป็นเงื่อนไขในการครองอำนาจต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงการสอดแทรกเรื่องการให้ สว เลือกนายกรัฐมนตรี ไปในคำถามพ่วง โดยไม่ใช้ข้อความตรงๆ แต่ใช้ข้อความแบบเลี่ยงบาลีทำให้คนไม่รู้กฏหมายเข้าใจผิดหรือไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร เป็นอาวุธที่ถูกซ่อนไว้ในประชามติครั้งนั้น 
                    การกระทำที่ผ่านมามันกลับกลายเป็นการแก้โจทย์ประเทศที่ผิด เพราะมันผิดหลักของประชาธิปไตยอย่างชัดเจนและไม่สอดคล้องกับกติกาสากลในระบอบประชาธิปไตย หากแต่เพียงว่าถ้าการยึดประเทศมาปกครองแบบนี้แล้ว หากสามารถสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ก็จะเป็นการลดกระแสหรือแรงต้านต่างๆจากประชาชนไปได้ แต่การปกครองภายในระยะเวลาเกือบ 7 ปีที่ผ่านมามันแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีเลย ความยากจน ความเลื่อมล้ำทางสังคมและการเงินก็ยังอยู่ และประชาชนก็เห็นกระบวนการกำจัดผู้ต่างทางเมืองมากขึ้นเรื่อย กระแสการต่อต้านที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจึงค่อยๆสะสมขึ้นเรื่อย การประท้วงต่อต้านครั้งนี้ของคนรุ่นใหม่จึงมุ่งเน้นเรื่องของการแก้ไขกติกาเป็นสำคัญเพื่อให้เค้ามี"โอกาสที่จะเลือกและแข่งขันแบบยุติธรรม"  แต่รายละเอียดเรื่องสถาบันจะเป็นจุดอ่อนที่ให้รัฐใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีและยังกุมความได้เปรียบ แต่หากเปรียบเทียบว่านี่คือ สงครามเย็น ที่ต้องต่อสู้ทางความคิด มันก็จะเป็นสงครามที่จะต้องต่อสู้กันผ่านช่วงเวลา 20-30 ปี และจุดนี้เป็นเพียงจุดที่เริ่มต้นเท่านั้น แต่ผมเองก็ยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วในอนาคตในอีกสิบปีข้างหน้า ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ แต่อาจจะมีรูปแบบโมเดลที่เปลี่ยนไป จะเป็นแบบอังกฤษ เดนมาร์ก สเปน หรือญี่ปุ่น ก็อาจจะเป็นได้   ผมเชื่อว่าทุกคนรักชาติด้วยกันทุกคน แต่ทุกคนก็รักตัวเองด้วย การแสดงออกมาไม่ว่าจะฝ่ายใดมันสะท้อนให้เห็นเสมอว่า คนๆนั้นรักตัวเองมากกว่าชาติ บางคนก็มีผลประโยชน์ตัวเองผูกไว้กับชาติ คนที่รักชาติมากกว่าตัวเองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยผมยังไม่เคยเห็นครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่