เรียนหมอที่จีน (MBBS)

กระทู้สนทนา
ถึงคนที่อยากจะไปเรียนหมอที่จีน (ที่กำลังกล่าวถึงคือแพทย์แผนปัจจุบันภาคภาษาอังกฤษ หรือ MBBS ไม่ใช่แพทย์แผนจีนหรือแผนตะวันออก) ,ผู้ปกครองที่จะส่งบุตรหลานไปเรียน,คนที่กำลังเรียนอยู่ หรือคนที่เกี่ยวข้อง เช่น นายหน้าจัดหานักเรียนไปเรียน ฯลฯ ผู้เขียนเขียนกระทู้นี้ออกมาจากทัศนคติที่มองโลกในความเป็นจริง ไม่ใช่การมองโลกในแง่บวกเท่านั้น ผู้เขียนเขียนจากประสบการณ์โดยตรงที่ตัวเองเป็นนักเรียนแพทย์ที่จีนมาก่อน  ปัจจุบันค้นพบตัวเองและได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้ว
 
1.ถามตัวเองว่าอยากขึ้นชื่อว่า “เป็นหมอ” หรือ “ผู้ที่ทำการรักษาคน” ลองคิดดูดีๆ ว่าทำไมถึงจะไปเรียนหมอที่ต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานที่ไทย ถ้าหาคำตอบได้มันจะส่งผลต่อทัศนคติในการเรียนที่ต่างกัน “เรียนเพื่อสอบผ่านกับเรียนเพื่อรู้” มันต่างกันจริงๆ 
2.อย่าหลอกตัวเองว่าเรียนได้ ถ้าคุณยังมีนิสัยโดดเรียน, หนักไม่เอาเบาไม่สู้, อ่านเนื้อหาทั้งเทอมเพียง 1 คืนก่อนสอบ หรือบอกว่า “ฉันสู้ ฉันทำได้” แต่การกระทำตรงข้าม โกหกคนอื่นได้แต่โกหกตัวเองไม่ได้ เพราะผลงานที่ออกมา (คะแนนสอบ, ภาพรวมคะแนน) มันสะท้อนความมีวินัยและความรับผิดชอบของคุณโดยตรง ต้องยอมรับความจริงว่าการเข้าเรียนหมอที่จีนคือเข้าง่ายมาก แค่มีเกรดเฉลี่ยม.ปลาย ไม่ได้ความรู้ภาษาอื่นๆเลยก็ไปได้ เพราะไม่มีการสอบเข้าไปตั้งแต่แรก แค่ต้องมีทุนทรัพย์มากพอด้วย แต่ถามว่าเรียนได้ไหมนั่นคืออีกเรื่องนึง เพราะสิ่งที่ได้เรียนคือเนื้อหาทางการแพทย์จริงๆ ทำให้สังคมการเรียนมันไม่ใช่สังคมหัวกะทิที่คัดมาแล้ว ที่อาจารย์จะสอนๆแล้วเด็กรับได้เท่าๆกันทั้งหมด ประเภทของนักเรียนคนไทยที่ตัดสินใจไปเรียนมีปะปนกันไป จำแนกย่อยๆได้เป็น 1) คนที่ไปเรียนเพราะอยากได้ภาษาอังกฤษและจีน 2)คนเก่งแต่พลาดหมอที่ไทยจึงตัดสินใจไปเรียนที่จีน 3)คนที่หัวกลางๆแต่อยากเป็นหมอและคิดว่าสอบที่ไทยไม่ติดแน่นอน 4)คนที่ไม่ได้มีความคิดอะไรเลยแต่ไปเพราะผู้ปกครองให้ไป 5) คนที่หูเบาเชื่อนายหน้าหลวมตัวไปเรียน และอีกหลากหลายเหตุผล ส่วนตัวคิดว่าปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดช่องว่างทางการเรียนพอสมควร เพราะคนเรียนเก่งก็จะจับกลุ่มกันเองทำให้การเรียนก็จะนำโดดไปเลย คนปานกลางก็ต้องพึ่งพาคนเก่ง ส่วนคนที่ไม่เอาอะไรเลยก็อาจจะจับกลุ่มกันเองและทำให้ยิ่งไปกันใหญ่ (ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนเคยพบเจอหรือสอบถามมาจากเพื่อนๆที่เรียนต่างสถาบัน)
3. การสอบให้ผ่านเกณฑ์เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นปกติ ไม่ควรมีทัศนคติที่ว่า “ถ้าตกก็แค่แก้หรือสอบรอบหน้า,แก้ไปเรื่อยๆเดี๋ยวอาจารย์ก็ใจอ่อนเอง” หนักหน่อยก็อาจจะถึงการลอกข้อสอบหรือโกงข้อสอบ จริงที่ว่าเราทุกคนควรให้โอกาสตัวเองและคนอื่น(แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เต็มที่แล้ว) แต่ในการรักษาคนจริงๆ ถ้าผิดพลาดแล้วอาจจะแก้ไข้ได้หรือก็อาจจะผิดพลาดไปเลยก็ได้ถ้าเราไม่มีความรู้ที่แน่นและแม่นพอ เพราะชีวิตคนมีแค่ 1 ชีวิต ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ฝึกฝน และใฝ่หาความรู้อยู่สม่ำเสมอ อย่าเอาชีวิตคนอื่นเป็นเครื่องทดลอง
4. ถ้าไม่ชอบหรือไม่ได้ภาษา (ทั้งอังกฤษและจีน)ไม่แนะนำให้ไปอย่างยิ่ง เพราะทั้ง 6 ปีคุณต้องใช้ชีวิตที่ไม่ใช่ภาษาไทย คุณอ่านหนังสือเรียนไทยได้ คุณเขียนบันทึกเป็นภาษาไทยได้ แต่เวลาสอบหรือเรียนก็ต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ ต้องพูดกับอาจารย์หรือเพื่อน ไม่งั้นคนอื่นเขาไม่รู้เรื่องกับคุณ หรือเวลาพูดกับคนไข้ต้องพูดภาษาจีนด้วยซ้ำ ไม่ควรมีข้ออ้างว่าพูดไม่ได้ก็เลยไม่พูด เลยไม่ออกไปนำเสนองาน หรือไม่ทำการซักประวัติคนไข้ สุดท้ายก็ไม่เข้าเรียนเลย เพราะอ้างว่าภาษาไม่ได้ (มีคนประเภทนี้อยู่จริงๆ) แล้วคุณจะได้อะไรจากการมาเรียนตรงนี้หรือ? คุณเลือกเองที่จะไปอยู่ ณ จุดนั้น ทำไม่ได้ต้องฝึกฝน, ขวนขวาย และต้องรับผิดชอบหน้าที่ตัวเองด้วย
5.ต้องเตรียมใจว่าคุณจะได้ความรู้ทางคลินิกน้อยมาก การเรียนส่วนใหญ่จะเรียนผ่านวิดิโอ ใช้หุ่นทดลอง และไม่มีระบบรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง มีแค่อาจารย์กับเพื่อนในรุ่น(หลากหลายประเทศ หลากหลายอายุ) ไม่มีการเข้าเวรเหมือนที่ไทย ทำให้การใช้เวลากับการเรียนทางคลินิกน้อยมาก ส่งผลให้ประสบการณ์ก็น้อยเช่นกัน แต่ถ้าในเวลาเรียนเราทำให้เต็มที่ ขยัน,ขวนขวาย,ใฝ่รู้ ก็คงพอจะได้อะไรอยู่บ้าง 

ผู้เขียนมีทัศนคติที่ว่า อะไรที่ผ่านมาแล้วเรากลับไปแก้ไขมันไม่ได้ จะไม่ไปเสียใจย้อนหลังเพราะมันเปล่าประโยชน์ แค่เก็บไว้เป็นบทเรียนแล้วทำปัจจุบันให้ดีกว่าเดิม ต่อไปขอเล่าถึงข้อดีที่ผู้เขียนได้รับจากการเรียนหมอที่จีนบ้าง คือ 1) ได้ภาษาจีนในระดับที่ตัวเองพอใจ (อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย ขวนขวายมากได้มาก) 2) ได้ภาษาอังกฤษในระดับที่ตัวเองพอใจ (เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่กับเพื่อนต่างชาติ และหนังสือเรียนภาษาอังกฤษ) 3) ได้มิตรภาพและเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย (เพราะเป็นคณะนานาชาติ มีเพื่อนจากหลายประเทศ) 4)ได้คอนเนคชั่นจากเพื่อนหลายๆประเทศที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต 5) มีความมั่นใจและกล้าแสดงออกมากกว่าตอนอยู่ที่ไทย รู้สึกว่าสังคมที่นู่นเปิดโอกาสให้เรากล้าที่จะตอบและถาม รวมถึงแสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมา  6) มีระเบียบวินัยมากขึ้น เพราะต้องอยู่หอและทำทุกอย่างด้วยตัวเองในต่างแดน กล่าวคือได้เติบโตในที่ใหม่ๆ มีมุมมองชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น ทุกข้อที่กล่าวมาจะเห็นว่าแทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับการแพทย์ แต่ผู้เขียนถือว่าค่าเทอมที่จ่ายไปคือเพื่อซื้อประสบการณ์ใหม่ๆที่ไม่สามารถหาซื้อที่ไทยได้ ส่วนตัวมองว่าเป็นกำไรของชีวิตมากกว่าการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะไม่ได้เป็นแพทย์ แต่สิ่งที่ได้เรียนมาก็พอจะทำให้มีความรู้พื้นฐานทางการแพทย์อยู่บ้าง สิ่งที่ได้เจอได้ทำตอนอยู่จีนก็สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานต่อไปได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทัศนคติของเราจริงๆว่าจะมองแบบไหน แค่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย ทุกอย่างที่กล่าวมาเป็นประสบการณ์ของตัวผู้เขียนและคนรอบข้างที่ได้พบเจอมา

ถ้าผู้อ่านอ่านถึงตรงนี้ ข้อคิดที่อยากฝากไว้คือ ก่อนอื่นคุณต้องสำรวจตัวเองให้พบก่อน ต้องไม่หลอกตัวเองว่า “เดี๋ยวถึงเวลาก็ทำได้เองแหละ” แต่ที่ผ่านมาคุณไม่เคยพิสูจน์อะไรเลย ลึกๆทุกคนจะรู้ขีดจำกัดของตัวเอง “ต้องยอมรับความจริง” และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นด้วย ไม่ใช่ผลักความฝันของตัวเองให้ลูกสานต่อ โดยไม่รู้ว่าระหว่างทางไปหาฝันลูกต้องเจอกับอะไรบ้าง และเชื่อว่าทุกคนที่หาตัวเองเจอว่าชอบอะไรและทำได้ดีในด้านไหน ถ้าได้ลงมือทำโดยได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องก็จะประสบความสำเร็จและมีความสุขกับมันแน่นอน โลกนี้ต้องการอาชีพที่หลากหลายในการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าที่ไม่ใช่แค่แพทย์ (แต่ผู้เขียนก็ยังยกให้แพทย์เป็น 1 ในอาชีพที่เสียสละมากๆ) ถ้าใครอ่านจบแล้วและตกลงกับตัวเองแล้วว่าฉันทำได้ ฉันยังจะไปเรียนหมอที่จีน ก็ต้องพยายามให้มากๆและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนในวิชาชีพนี้ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกที่จะเป็น แต่ต้องมีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและสังคมด้วย  ผู้เขียนขอฝากกระทู้นี้ไว้ให้ได้อ่านและคิดทบทวนก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนหมอที่จีน
แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่