แก้ปัญหาส้วมตัน ชักโครกกดไม่ลงด้วยของใช้ใกล้มือ



สถานการณ์คับขันในชีวิตประจำวันที่เราอาจต้องเผชิญและเผลออุทานว่า แย่แล้ว ! นอกจากไฟดับตอนที่กำลังทำงานแล้วยังไม่ได้กด save หนึ่งในนั้นจะต้องมีเหตุการณ์ “ชักโครกกดไม่ลง” หรือ “ส้วมตัน” หลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จ ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสุขารู้สึกทุกข์ขึ้นมาทันที

ใครที่ต้องพบกับแจ็คพอตแบบนี้อย่าพึ่งตื่นตระหนก เพราะเนื้อหานี้ “HomeGuru” มีวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเหตุไม่คาดฝันในห้องน้ำแบบปัจจุบันทันด่วนด้วยของที่มีอยู่ในบ้าน และรวบรวมที่มาของปัญหาเอาไว้ประกอบการพิจารณาว่าอาการที่เกิดขึ้นกับชักโครกที่บ้านน่าจะมาจากอะไรได้บ้าง เพื่อให้การแก้ไขทำได้ตรงจุด เหมือนยกภูเขาออกจากอกในทันที



สาเหตุหลักที่ทำให้ส้วมตันหรือชักโครกกดไม่ลง

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ส้วมตันหรือชักโครกกดไม่ลง มีทั้งเกิดจากพฤติกรรมการใช้งาน อาทิ ทิ้งกระดาษทิชชู ผ้าอนามัย เศษอาหาร เส้นผมลงชักโครก เป็นผลให้เกิดการสะสมและอุดตันในท่อ ทำให้ส้วมตันในเวลาต่อมา และน้ำระบายไม่ทัน

ซึ่งหากเกิดจากสาเหตุเหล่านี้สามารถแก้ไขด้วยวิธีการในเนื้อหานี้ได้ แต่หากปัญหาเกิดขึ้นจากกระบวนการติดตั้ง เช่น ตำแหน่งชักโครกกับตำแหน่งท่อเยื้องกันมากเกินไป, Slope ของท่อมีไม่มากพอ โดยปกติท่อชักโครกจะต้องมี Slope ประมาณ 1:50 หากน้อยกว่านั้นอาจทำให้การระบายติดขัดภายหลังได้ หากท่านใดอยากศึกษาเรื่องท่อเพิ่มคลิกอ่านได้ที่ รู้จักประเภทท่อน้ำและวิธีเดินท่อประปาภายในบ้านและอาคาร โดยปัญหาด้านระบบสุขาภิบาลภายในบ้าน จำเป็นต้องเรียกช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบครับ อย่างไรก็ตามลองแก้ไขด้วย 5 วิธีต่อไปนี้กันก่อนเบื้องต้น



5 ตัวช่วยหาได้ในบ้าน ขจัดปัญหาชักโครกกดไม่ลงหรือส้วมตัน

1. สู้ด้วยแรงดันน้ำ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชักโครกกดไม่ลงหรือส้วมตันซึ่งพบได้มาก คือ การสะสมของสิ่งปฏิกูล วิธีแก้ปัญหาขั้นเบสิกที่สุด คือ รอให้น้ำลดระดับลงมากที่สุด จากนั้นเตรียมน้ำ 1 ถังใหญ่ๆ ประมาณ 10 – 15 ลิตร แล้วยกขึ้นสูงๆ หรือหากใครตัวเล็กอาจต้องหาเก้าอี้มาช่วยเสริม เพื่อให้การเทน้ำเกิดแรงดันปริมาณมาก จากนั้นเทน้ำราดลงไปตรงรูชักโครกให้หมดในคราวเดียวกัน แรงดันของน้ำจะช่วยทะลวงสิ่งปฏิกูลที่อุดตันในท่อได้ในพริบตา



2. ราดด้วยน้ำร้อน
วิธีแก้ปัญหาส้วมตันขั้นต่อไป คือ การราดด้วยน้ำร้อน โดยการนำน้ำประมาณ 1 แกลลอน ไปต้มให้ร้อน (ห้ามใช้น้ำเดือด เพราะความร้อนอาจจะทำให้ชักโครกแตกร้าวได้) จากนั้นก็นำไปเทลงในโถชักโครก ปล่อยทิ้งไว้ 2-3 นาที ลองกดน้ำทิ้งดูว่าอาการดีขึ้นหรือยัง สำหรับการน้ำร้อนราดแบบนี้จะเหมาะกับกรณีการอุดตันจากคราบไคลหรือไขมันที่เข้าไปเกาะตามผนังท่อระบาย



3. ใช้น้ำยาล้างจานหรือสบู่เหลว
อีกหนึ่งวิธีที่ทำไม่ยากแต่ใช้ได้ผลดีกับชักโครกที่อุดตันหรือส้วมตันไม่มาก คือ การบีบน้ำยาล้างจานหรือสบู่เหลวลงไปในชักโครก ปล่อยทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นก็เติมน้ำร้อนตามลงไปประมาณ 1 แกลลอน สิ่งที่อุดตันจะค่อยๆ ไหลลงไป



4. จัดการด้วยโซดาไฟ
หากการใช้น้ำยาล้างจานยังเบาๆ ไป ต้องหันมาใช้วิธีที่รุนแรงขึ้นด้วย โซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (ไม่ใชเบกกิ้งโซดาที่ทำขนม) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเรื่องงานบ้านได้หลายๆ อย่าง ในการแก้ปัญหาชักโครกกดไม่ลงหรือส้วมตันก็เช่นกัน

ทั้งนี้โซดาไฟมีฤทธิ์เป็นกรดกัดกร่อน การใช้งานค่อนข้างอันตรายกว่าวิธีอื่นๆ ก่อนใช้งานต้องใส่แว่นตาและถุงมือทุกครั้ง วิธีการคือ นำน้ำปริมาณครึ่งถัง ใส่โซดาไฟลงไปประมาณครึ่งถุง ใช้ไม้กวนให้โซดาไฟละลาย ห้ามเทโซดาไฟลงไปตรง ๆ โดยไม่ได้ทำละลายก่อนเด็ดขาด เพราะโซดาไฟจะจับตัวเป็นก้อน ยิ่งทำให้อุดตันมากขึ้นไปอีก จากนั้นเทลงในชักโครก ทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที แล้วกดน้ำทิ้งตามปกติอาการอุดตันจะดีขึ้น



5. แก้ปัญหาท่อตันด้วยลวดหรืองูเหล็ก
สำหรับการใช้ไม้แขวนจะเหมาะกับการจัดการสิ่งของหรือเศษวัสดุที่อุดตันอยู่ไม่ลึกมาก ควรทำในช่วงที่น้ำในชักโครกลดลงและสะอาดดี โดยใช้ไม้แขวนเสื้อที่ยืดออกได้ง่ายและมีพลาสติกหุ้ม เพื่อป้องกันไม่ให้ลวดเหล็กขูดชักโครกเป็นรอย นำไม้แขวนมายืดออกให้เป็นเส้นลวดยาวปลายโค้งงอ จากนั้นใช้ส่วนที่โค้งงอดันลงไปในรูชักโครก เพื่อเขี่ยหรือดันสิ่งที่อุดตันอยู่ให้ไหลลงไป แล้วกดชักโครกเพื่อทดสอบอีกครั้ง แต่หากเกิดปัญหาส้วมตัน ท่อตันบ่อยๆ แนะนำมีงูเหล็กติดไว้ที่บ้าน จะช่วยทะลวงสิ่งอุดตันได้สะดวกและง่ายกว่า เพราะความยาวของงูเหล็กมีมากกว่าหลายเมตร จะเข้าสู่จุดปัญหาที่อยู่ไกลออกไปได้ดี ทำให้เราแก้ปัญหาส้วมตันได้ในทันที อีกทั้งไม่ต้องง้อช่างด้วย



ข้อแนะนำทั้งหมดนี้เป็นเพียงการจัดการปัญหาชักโครกกดไม่ลงหรือส้วมตันเบื้องต้นเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่หากลองทำตามแล้วปัญหาชักโครกกดไม่ลงหรือส้วมตันยังมีอยู่ อาจมาจากสาเหตุทางเทคนิคอื่นๆ ที่ซับซ้อน โดยเฉพาะหากปัญหานั้นมาจากการติดตั้งที่ผิดวิธี หรือระบบสุขาภิบาลในบ้านเริ่มติดปัญหา จำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เข้ามาช่วยแก้ไข อย่าปล่อยเอาไว้นาน เพราะนอกจากจะทำให้เกิดภาพไม่น่ามอง มีกลิ่นเหม็นในห้องน้ำแล้ว ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น คือ ความสกปรกจากของเสีย อาจเป็นต้นตอในการแพร่เชื้อโรค ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยอีกด้วยครับ


HomeGuru by HomePro
อุ่นใจทุกเรื่องบ้านไปกับโฮมโปร และติดตามเคล็ดลับดีๆ เพื่อบ้านได้ทาง http://bit.ly/HomeGuru_Homepro
และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาเรื่องบ้านกับ HomeGuru เพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3dQm4XE
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่