แชร์วิธีการอ่านหนังสือสอบงานราชการ อยากเพิ่มโอกาสลองทำดู

ช่วงปีถึงสองปีมานี้ ผมเห็นคนเบนเข็มมาทางการสอบราชการเยอะขึ้นมาก มากชนิดที่ว่าอัตราการแข่งขันในบางตำแหน่ง พุ่งไปที่ 1 ต่อหลายพัน ก็มี
เนื่องด้วยต้องการหาอาชีพที่มีความมั่นคงเพื่อที่จะประคองตัวให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แถมยังมีสวัสดิการบางอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า
คุ้มค่าที่จะทุ่มเทเพื่อให้เข้ามาในระบบราชการได้
แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า หากต้องการจะสอบเป็นข้าราชการให้ได้ ต้องฝ่าด่านแรกคือการสอบภาค ก ของ ก.พ. ซึ่งอัตราผู้สอบผ่านในแต่ละปีนั้น
ต่ำมากจนน่าใจหาย ผมเลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ทั้งการเตรียมตัวสอบภาค ก และการสอบบรรจุข้าราชการ (ภาค ข) ว่าผมมีวิธีการ
อย่างไร จึงทำให้สอบผ่านภาค ก ในครั้งแรกที่สอบ และสอบขึ้นบัญชีข้าราชการได้ทุกครั้งที่เตรียมตัวไปสอบ

สำหรับการสอบภาค ก

การสอบภาค ก ไม่มีอะไรมากครับ ที่เราพลาดจำไว้เลยว่าเราให้เวลากับมันไม่มากพอ เนื่องจากข้อสอบของภาค ก ในแต่ละปีนั้น มันคือการรีรัน
ข้อสอบเก่า ๆ ที่ผ่านมา อาจมีปรับนิดเปลี่ยนหน่อย แต่เชื่อไหมว่าไม่หนีไปจากเดิมมาก ทีนี้เราควรจะไปเน้นอะไรที่ตรงไหนล่ะ? ผมขอแนะนำเลยว่า
ซื้อเฉลยข้อสอบเก่ามาสักเล่ม แล้วให้เวลากับมันสักสองสัปดาห์ก่อนสอบ ก็มีโอกาสสอบผ่านสูงแล้ว ในกรณีที่เราอ่านวิธีทำตามเฉลยแล้วยังไม่เข้าใจ
ให้เน้นจดจำรูปแบบ ว่าถ้าโจทย์มาประมาณนี้ คำตอบมันจะเป็นประมาณไหน ถ้าลองย้อน ๆ อ่านไปในแต่ละปีจะเดารูปแบบของมันได้ แต่หากว่า
จนแล้วจนรอดยังไงก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเนื้อหาของกลุ่มวิชาไหนก็อย่างเพิ่งไปแตะมัน ไปเน้นที่เราดูแล้วเข้าใจก่อน เอาให้แม่น แล้วเวลาที่เหลือ
ค่อยกลับมาท่องจำข้อสอบในส่วนที่เราไม่เข้าใจ ไล่ท่องย้อนหลังไปทุกปีที่มีเลย มันต้องมีหลุดมาใกล้เคียงหรือตรงเป๊ะบ้าง

สำหรับการสอบภาค ข

การจัดเวลาอ่านหนังสือ
สำหรับภาค ข เป็นอะไรที่จะต้องเน้นหนักมาก ถึงกับต้องจัดตารางชีวิตกันเลย ถ้าเป็นไปได้คุณต้องมีเวลาอ่านหนังสือในแต่ละวันไม่น้อยกว่า
3 ชั่วโมง
ตารางของผมช่วงที่อ่านหนังสือสอบงานราชการจะเป็นแบบนี้ครับ

2.45 น. : ตื่นนอน ล้างหน้าแปรงฟัน ดื่มกาแฟ ดื่มน้ำ (มาก ๆ จะได้สดชื่น)
3.00 น. : เริ่มอ่านหนังสือ
6.00 น. : อาบน้ำ แต่งตัว ไปทำงาน
แล้วเข้านอนก่อน 21.00 น. ของแต่ละวัน

ที่ผมเลือกอ่านหนังสือในช่วงหลังจากตื่นนอน เพราะสภาพร่างกายและสมองของเรามันพร้อมที่สุดแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าคุณเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว
สมองคุณยังจะสามารถรับเนื้อหาทางวิชาการเข้าไปได้อีกไหม? ไม่เต็มที่แน่ ๆ แล้วมันจะเหมือนแก้วน้ำที่วางอยู่บนรถอีแต๋น เติมน้ำเท่าไหร่
ก็กระฉอกออก สำหรับคนที่ว่างงานหรือเป็นนักศึกษาจบใหม่และมุ่งสอบงานราชการ เวลาคุณมีเยอะมาก อยากให้จัดสรรเพื่ออ่านหนังสือเพิ่มเติม
ระหว่างวันอีก 1 ช่วงเวลา อาจจะเป็นช่วงหลังจากที่เรานอนงีบพักกลางวันและรับประทานมื้อเที่ยงไปแล้ว เช่น 14.00 น. - 16.00 น.
แต่รวมแล้วไม่ควรเกินวันละ 5 ชั่วโมง เพราะสมองจะล้าเกินไป และควรใช้เวลาเตรียมตัวก่อนสอบไม่น้อยกว่า 30 วัน

วิธีการอ่าน
การอ่านของผมจะใช้วิธีสรุปขอบเขตเนื้อหาที่จะอ่านก่อน โดยดูจากหลักสูตรที่ใช้ในการสอบซึ่งอยู่ในประกาศรับสมัครสอบนั่นแหละ เขาจะบอกไว้
ว่าตำแหน่งของเรานั้นต้องสอบอะไรบ้าง โดยส่วนใหญ่จะเป็นระเบียบ กฎหมาย องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่จัดสอบ

(1) เมื่อเรากำหนดขอบเขตของเนื้อหาได้แล้ว ก็ให้หยิบเอาระเบียบ กฎหมาย องค์ความรู้ฯ ที่เราค้นมาได้จากอินเตอร์เน็ต มาอ่านคร่าว ๆ หนึ่งรอบ
โดยที่ถ้าตรงไหนอ่านแล้วยังงง ๆ ไม่ต้องไปสะดุด ให้อ่านผ่านไปเลย ทั้งนี้ เพื่อดูคอนเซปต์รวม ๆ ของเนื้อหา โดยทุกวันนี้คุณสามารถอ่านใน
คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือสมาร์ทโฟนที่มีขนาดจอใหญ่ ๆ หน่อย ก็สะดวกดีครับ ตรงไหนไม่เข้าใจก็จะได้เปิดกูเกิลหาคำตอบได้ทันที
แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์ที่ว่ามานี้ อยากให้สละเวลาและทุนทรัพย์ไปที่ร้านอินเตอร์เน็ตแล้วปริ๊นท์ออกมาเย็บเป็นเล่มไว้ครับ

(2) เมื่อเราอ่านทั้งหมดจบแล้ว ทีนี้ให้หยิบสมุดจดกับดินสอมาเป็นเครื่องมือในการช่วยอ่านรอบที่สอง อ่านแล้วให้พยายามจดตามครับ ไม่จำเป็น
ต้องคัดลอกมาแบบเป๊ะ ๆ แต่ให้จดเป็นภาษาอ่านของเราที่เราอ่านในใจนี่แหละ จดไปเลยจนจบรอบที่สอง อาจจะเมื่อยมือหน่อย แต่เชื่อไหมว่า
มันทำให้เราพอที่จะจำเนื้อหาได้บางส่วนแล้ว ที่ใช้ดินสอจดเพราะมันลบง่ายครับ บางทีจดเร็ว ๆ แล้วมีพลาด

(3) ต่อด้วยรอบที่สามครับ ทีนี้เอาสมุดมาอีกเล่ม แล้วใช้ปากกาจดสรุปจากที่เราใช้ดินสอจดไว้ ต้องสรุปให้ได้นะครับเพื่อย่อความและตัดข้อความ
ที่ไม่จำเป็นออกไป แต่สำหรับใครที่ไม่ทราบว่าจะสรุปยังไง ให้อ่านการจดดินสออีกรอบแล้วจดด้วยปากกา จดด้วยภาษาง่าย ๆ ที่เราเข้าใจได้

(4) รอบที่สี่ ให้เรานำสมุดที่เราจดสรุปด้วยปากกานั้นมาอ่าน 1 รอบ ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจเป็นส่วนใหญ่ ให้คุณกลับไปเริ่มกระบวนการที่ (2) อีกครั้ง
ทำจนมั่นใจว่าจดจำเนื้อหาได้เป็นส่วนใหญ่

(5) เรียบเรียงข้อมูลในสมองให้เป็นระบบ โดยเรียงจากความสำคัญของเนื้อหา ลำดับของระเบียบและกฎหมาย และลำดับของหมวดหมู่ในกฎหมาย
แต่ละฉบับ โดยทำเป็นสมุดโน้ตทางความคิดหรือมายด์แม็พ เขียนให้สวย ๆ สักเล่ม แล้วใช้เพื่ออ่านตลอดระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ อ่านมาถึงตรงนี้
อาจมีคำถามว่า อ้าว แล้วทำไมไม่ให้ทำมายด์แม็พแต่แรกฟระ? มายด์แม็พไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคนไงครับ คนเรามีศักยภาพที่ต่างกันอยู่แล้ว บางคน
อ่านรอบสองรอบก็สามารถสรุปเนื้อหาได้แล้ว แต่บางคนต้องใช้วิธีการอ่านซ้ำ ๆ หลาย ๆ รอบ และตัวช่วยที่ดีที่สุดคือ "การจด" นั่นแหละครับ
เคยได้ยินคำว่า "จดจำ" ไหม? นั่นแหละ "จด เพื่อ จำ" การจดทำให้เราจดจ่อกับเนื้อหาที่เราอ่านได้มากกว่าการอ่านเฉย ๆ ทำให้เป็นการทบทวน
สมองตัวเองให้รับข้อมูลสองครั้งในคราวเดียว

ผมอยากให้งดการไปติวที่ศูนย์ติวสอบที่จะเน้นการเก็งข้อสอบที่จะออกและป้อนให้เรา เพราะนั่นเกือบ ๆ จะเป็นการฝึกนิสัยให้เราจำคำตอบที่อาจ
จะออก ทำให้เราขาดองค์ความรู้ที่จำเป็น แถมไม่รับประกันด้วยว่าคุณจะสอบบรรจุได้หรือไม่ เมื่อโอกาสมันไม่ได้แน่นอนขนาดนั้นก็ขอให้มามุ่งมั่น
อ่านหนังสือกันเองจะดีกว่าครับ หากสอบได้ก็เป็นผลดีกับตัวเราเองด้วย เนื่องจากสิ่งที่เราอ่านมาอย่างหนักนั่นแหละจะเป็นทักษะติดตัวในการทำงาน
ที่ดียิ่ง ถามอะไรตอบได้ นายสั่งอะไรก็เก็ท ไม่ไปยืนทำหน้างง ๆ ให้เขาส่ายหน้า

สุดท้ายนี้ อยากจะบอกทุก ๆ คนว่า "ความสำเร็จไม่มีทางลัด" ส่วนใครที่ไปทางลัด เราก็ไม่ต้องเก็บมาใส่ใจหรือเอาเยี่ยงอย่าง โฟกัส
ที่ตัวเองก็พอครับ และผมเป็นคนที่ยืนยันได้ว่าผมสอบขึ้นบัญชีได้หลายหน่วยงานโดยไม่มีเส้นสายเลย ดังนั้น จงเชื่อมั่นว่าเราทำได้ครับ
อย่ามีความคิดหรือคำแก้ตัวเวลาที่สอบไม่ผ่านว่า "สอบไปก็ไม่ผ่าน เขาเอางานไว้ให้เด็กเส้น" เส้นก็เส้นสิ ถ้าคุณสอบได้ลำดับที่ดีกว่า
อย่างไรคุณก็ได้บรรจุ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่