JJNY : 4in1 ส่องการเมืองหลังโควิด/ก้าวหน้าขอโทษช่วยได้แค่นี้ไม่ได้เป็นรบ./อดีตส.ว.ชี้ส.ว.ยุคนี้/อนุสรณ์ห่วงคอร์รัปชั่นงบ

รายงานพิเศษ : ส่องการเมืองหลังวิกฤตโควิด 
https://www.khaosod.co.th/politics/news_4053204
 

 
รายงานพิเศษ : ส่องการเมืองหลังวิกฤตโควิด
 
ส่องการเมืองหลังวิกฤตโควิด : ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงตามลำดับ หากแต่สิ่งที่ท้าทายรัฐบาลคือการเยียวยา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
 
ขณะที่การแพร่ระบาดซาลง ประเด็นการเมืองก็แหลมคมขึ้น
 
สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร มีความเห็นจาก นักวิชาการ
 
โคทม อารียา
 
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล
 
สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ เพราะรัฐบาลถือว่าทำงานได้ผลในสายตาประชาชน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าสถานการณ์นี้คือแบบทดสอบคิดว่า รัฐบาลผ่านวิกฤตนี้ไปได้
 
คนที่ได้บุญกุศลจากสถานการณ์นี้ไม่ใช่รัฐบาลฝ่ายเดียว ต้องชื่นชมหลายๆ ฝ่าย ที่ช่วยกัน การควบคุมโรคได้รับความร่วมมือจาก 3 ส่วน คือ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายการสาธารณสุข และชุมชนกับประชาชน ซึ่งถือว่า สอบผ่านทั้งหมด
 
ส่วนความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลนั้นการเมืองเป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และที่ไหนๆ การเมืองก็เป็นแบบนี้ แต่การที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมอบหมายหลายเรื่องที่เกี่ยวกับวิกฤตโควิดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการดึงออกจากเรื่องการเมือง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ถ้า ฝ่ายการเมืองมางอแงกับฝ่ายสาธารณสุขก็จะดูไม่ดี เมื่อรัฐบาลทำให้ผ่านวิกฤตของสาธารณสุขได้ก็จะทำให้เกิดเสถียรภาพของรัฐบาล
 
แต่เรื่องสำคัญที่ต้องจับตาดูต่อไปไม่ใช่ด้านสาธารณสุขแต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง การออกมางอแงคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างเป็นนัยยะสำคัญ ถึงจะเปลี่ยนก็คงไม่กระทบสาระที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ได้ ประชาชนกังวลว่าจะป่วยหรือไม่ จะมีอะไรกินไหม ซึ่งเรื่องนี้ยังมีความลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ในรัฐบาล
 
มองภาพรวมของรัฐบาลในช่วงสถาน การณ์งานด้านสาธารณสุขทำได้ดี ส่วนการเยียวยายังคงมีความไม่เต็มร้อยอยู่ ขณะที่วิธีการให้เงินเร็วจริงแต่ก็มีคนเป็นห่วงเรื่องรั่วไหล แต่การให้โดยตรงอาจรั่วไหลน้อยลง ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ว่าการให้เงินเปล่าๆ สร้างงานไม่ได้ ดังนั้น หลังช่วงเยียวยาแล้วต้องมีการฟื้นฟูและวางระบบการป้องกันการระบาดระลอกสอง
 
ทุกอย่างเมื่อรัฐบาลทำได้ดีจะได้คะแนนความเสถียรภาพ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะเป็นตัวลดเสถียรภาพ อย่างที่มีกระแสข่าวการปรับ ครม.ก็ว่ากันไป แต่การจะปรับหรือไม่ปรับนั้นไม่ได้มีผลอะไรเท่าการวางมาตรการที่ดี ทั้งด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการป้องกันระลอกสอง การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคงไม่มีผลต่อเรื่องนี้ เพราะถ้าวางนโยบายหลักไว้แล้วทุกอย่างคงไม่มีปัญหา
 
บทบาทของฝ่ายค้านจากนี้การตรวจสอบต้องเดินหน้าต่อไป และจำเป็นต้องตรวจสอบอย่างยิ่งแม้รัฐบาลไม่อยากให้ฝ่ายค้านพูดเรื่องที่กระทบงาน และถึงจะเป็นช่วงปิดสภาก็เห็นด้วยที่ฝ่ายค้านจะเร่งสร้างผลงานผ่านสื่อออนไลน์และทำให้เจ๋งไปเลย
 
บทเรียนที่ได้ในสถานการณ์ครั้งนี้คือบทบาทหน้าที่ของ อสม.ที่เข้มแข็งมาก เป็นระบบงานที่กระจาย อย่างคำที่ว่าถ้า จะสร้างเจดีย์ก็ต้องมีฐานที่มั่นคงก่อน เช่นเดียวกับบทบาทของอสม. ฉะนั้นถ้าการเมืองจะ เดินหน้าได้ดีให้รีบเลือกตั้งท้องถิ่น และสนับสนุน อสม.
 
ข้อเสนอสำหรับรัฐบาลคือ ใช้หลักไม่ทิ้งใคร รวมทุกฝ่ายทั้งฝ่ายค้านให้มีพื้นที่และบทบาท รวมให้เข้ามาอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหาและการฟื้นฟูสถานการณ์ เป็นการปล่อยพลังการเมือง พลังองค์กรท้องถิ่น พลังอาสาสมัคร ถ้าทำเช่นนี้ระบบการเมืองที่เรากำลังตำหนิกันอยู่ตอนนี้จะดีขึ้นได้
 
สุขุม นวลสกุล
 
อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง
 
หากถามถึงการเมืองหลังสถานการณ์โควิด จากที่คาดกันว่าน่าจะปรับ ครม.หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แต่ก็ยืดมาจนมีโควิด กระทั่งจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญก็ยังไม่ได้ปรับ ครม.เลย กลุ่มคนที่รออยู่ทนไม่ได้ก็ออกมาเล่น ให้ดูเหมือนปฏิรูปพรรคไปเลย แต่พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็ไม่เห็นด้วย
 
ขณะเดียวกันนายกฯ คงอยากเล่นอีกแบบ คือปรับ ครม.โดยอาจดึงคนนอกเข้ามา เพราะรู้สึกว่านายกฯ สู้กับโควิดโดยให้ความไว้วางใจข้าราชการและคนนอกมากกว่าให้ความไว้วางใจนักการเมือง ดังนั้น การปรับ ครม.อยู่ที่นายกฯ ว่ามั่นใจขนาดไหน หากการแก้โควิดเป็นผลคงปรับ ครม.โดยยึดคนนอกมากขึ้น เพราะดูแล้วไม่เชื่อมือนักการเมือง
 
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ต้องปรับ ครม.ก่อนเปิดประชุมสภาแน่ เพราะยังเหลือเวลาอีกเกือบเดือนกว่าจะเปิดประชุมสภา ถ้าเปิดสภามาโดยไม่ปรับ ครม.นายกฯ จะถูกท้วงว่า อภิปรายไม่ไว้วางใจคราวที่แล้วไม่เข้าหูเลยหรือ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลยหรือ
 
และคิดว่าปรับ ครม.หนนี้น่าจะปรับใหญ่โดยนึกถึงเรื่องสัดส่วน โดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยอาจมีการปรับเปลี่ยนบ้าง เพราะที่ผ่านมา 2 พรรคนี้ได้มากเกินอยู่แล้ว
 
คาดว่าจะมีการดึงบางกระทรวงกลับมา อย่างน้อยที่สุดกระทรวงพาณิชย์จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคภูมิใจไทยได้เปรียบเพราะมีสัดส่วนส.ส.เพิ่ม ไม่น่าจะโดนดึงกระทรวงใดกลับมา
 
ส่วนเสถียรภาพของรัฐบาลที่อาจมีปัญหาไปไม่รอดนั้น รัฐบาลอยู่ได้ด้วยกฎหมายไม่ได้อยู่ได้ด้วยสถานการณ์การเมือง ดังนั้น หากดูตามหลักกฎหมายอย่างไรรัฐบาลนี้ก็อยู่ได้
 
สำหรับปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐมองว่าไม่ลุกลามใหญ่โต เพียงแต่ไฟไม่มีวันดับ แต่ก็ไม่ลุกเหมือนไฟไหม้ป่า อย่างตอนนี้คนค่อนข้างพอใจการแก้ปัญหาของ นายกฯ พอพูดเรื่องปรับ ครม.ก็ไม่มีใครรับลูก ดูแล้วปั่นไม่ขึ้น
 
ส่วนการทำงานของฝ่ายค้านแน่นอนเมื่อโควิดระบาดฝ่ายค้านก็ทำอะไรได้ไม่เต็มสูบ ในฐานะที่ไม่ได้ มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ์เข้าไปทำหน้าที่ และการเสนอไอเดียในการแก้ปัญหาก็ไม่โดดเด่น ส่วนปัญหาที่คลี่คลายออกไปน่าจะเกิดจากหมอและ ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า
 
แต่ช่วงต่อไปก็ไม่แน่เพราะสามารถหยิบเรื่องเศรษฐกิจมาเล่นได้ ยิ่งขณะนี้ไปๆ มาๆ จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายมีมาก ฝ่ายค้านมีแนวทางอย่างไรถ้าเป็นรัฐบาลแล้วจะทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ การแก้ไขปัญหาสถานการณ์จากนี้ไปฝ่ายค้านจะแหลมคมหรือไม่
 
การเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญฝ่ายค้านก็สู้ไม่ได้ ไม่มีเสียงเรียกร้องจากผู้คนว่าเอาด้วย ดังนั้น ฝ่ายค้านจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้ยินและเห็นถึงเสียงร้องของตัวเอง
 
จะทำอย่างไรให้วันที่ 22 พ.ค. เปิดสภาได้โดยไม่ทำให้โควิดระบาด เพราะรัฐบาลอาจเล่นเกมไม่เปิดสภาก็ได้ แม้ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะรัฐบาลมีกฎหมายในมือ และกฎหมายก็เป็นข้ออ้างทำให้รัฐบาลเปลี่ยนมากี่หนแล้ว
 
แม้กระทั่งงบประมาณปี 2563 ยังโหวตใหม่ได้เลย โดยที่เราก็นึกไม่ถึง
 
ฐิติพล ภักดีวานิช
 
คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
 
หลังสถานการณ์โควิด-19 หลายคนมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนอาจถึงขั้นแตกหัก เพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหามีท่วมท้นทุกวัน แต่ยังมีเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์แตกหักจะไม่เกิดขึ้นถึงขั้นเปลี่ยนแปลงฐานอำนาจรัฐบาล หรือทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน
 
ต้องยอมรับว่ารัฐบาลยังมีอำนาจในมืออยู่พอสมควร เท่าที่เห็นและปฏิเสธไม่ได้คือกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างเหนียวแน่น แสดงว่าการร่วมงานยังคงราบรื่น ประกอบกับอำนาจทหารที่คอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ
 
แม้มีกลุ่มที่ปฏิเสธท่าทีการเมืองของทหารแต่เดิมอยู่ก็ตาม แต่รัฐบาลได้วางแผนใช้สถานการณ์โควิดเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่ใช่แค่เพื่อโควิดอย่างเดียว แต่อาจรวมไปถึงการควบคุมไม่ให้บางกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะด้วยเช่นกัน
 
ภายใต้การควบคุมสถานการณ์โรคระบาดแม้จะเริ่มมีความขัดแย้งในรัฐบาลให้เห็น แต่เป็นสิ่งปกติในพรรค การเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยที่เหมือนพยายามถีบตัวออกจากทีม แต่สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิม ผลประโยชน์ลงตัวทุกอย่างเป็นอันจบ
 
พรรคร่วมรัฐบาลเองก็คงไม่ทำร้ายกันจนนำมาสู่การแตกหักอย่างจริงจัง เพราะที่สุดทุกคนต้องคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ ยิ่งสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ยิ่งต้องจับมือกันให้แน่น และหลายประเทศยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง
 
ดังนั้น หลังจากนี้อีก 3-6 เดือน ทั่วโลกยังไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบกับรัฐบาลขนาดนั้น
 
หากจะพูดให้แฟร์กับรัฐบาลต้องบอกว่าไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยแต่ทุกรัฐบาลในโลกตอนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เป็นเรื่องปกติ ไทยเราหนักตรงที่มาตรการหลายอย่างของรัฐทำให้ต้องตั้งคำถามว่าฟังเสียงประชาชนมากน้อย แค่ไหน
  
หรือวิธีทำงานหลายอย่างไม่ได้สะท้อนประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาเรื่องการตรวจโรคและการแพร่กระจาย โชคดีที่สภาพภูมิอากาศไทยไม่เอื้อให้โควิดแพร่ระบาดรวดเร็ว หรือปัญหาการใช้งบประมาณไปกับเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพูดคุยกันให้มากกว่านี้
 
เมื่อพูดถึงงบประมาณประชาชนก็ส่งเสียงถามอีกว่า การจัดสรรงบให้ระบบสาธารณสุขเหมาะสมแล้วหรือไม่ งบกลาโหมที่ไม่จำเป็นในสถานการณ์ตอนนี้มาได้อย่างไร ทั้งที่ควรลบหรือโยกย้ายออกจากแผนงบประมาณ เพราะความมั่นคงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในสถานการณ์นี้ แต่เป็นความมั่นคงของสุขภาพและบริการด้านสาธารณสุขที่จะช่วยประชาชนได้
 
จริงๆ แล้วจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกองทัพขนาดใหญ่ในเวลานี้ หรือควรใช้เงินไปกับการทำอย่างไรให้คนมีงานทำ มีที่อยู่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้มองว่ามันสำคัญที่สุด
 
ส่วนเรื่องเงินกู้ ต้องให้ประชาชนรู้ว่ากู้มาเพื่ออะไรและเม็ดเงินที่ผ่านมาใช้ไปกับอะไรบ้าง ยุคนี้ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านเท่านั้นที่พยายามตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาล หรือตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณต่างๆ ประชาชนเองก็อยากรู้ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลควรมีในจุดนี้มากที่สุดคือ จิตสำนึกของส.ส. และส.ว.ที่ควรพิจารณาและออกมาพูดให้มากขึ้น
 
สิ่งที่ฝ่ายค้านทำได้ตอนนี้เพื่อให้เกิดผลมากที่สุดคือการตั้งคำถาม และให้ข้อมูลทุกอย่างแก่สาธารณชนอย่างเปิดเผยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การพูดในสภาแล้วมีแนวโน้มจะแพ้โหวตเต็มประตูขนาดนี้ก็ต้องทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงจนทำให้เกิดเป็นกระแส ที่จะพาให้รัฐบาลกลับไปทบทวนประเด็นต่างๆ
 
อีกส่วนที่อาจกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลงในอนาคตได้คือการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา อาจเป็นแค่เสียงที่ไม่ได้มีผลต่อรัฐบาลมากมายนัก และอาจไม่ได้มีนัยยะสำคัญกับการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาล แต่กระตุ้นได้ อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีเสียงอะไรสะท้อนกลับมาเลย
 
ในสถานการณ์ช่วง 3-6 เดือนหลังโควิด ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอาจไม่ได้เปลี่ยนไปจากสายตาประชาชนมากนัก เพราะไม่ได้มีการติดเชื้อมากจนประชาชนเหลืออด ประกอบกับแม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์และผลกระทบจากการสูญเสียประชากรที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นก็ตาม
 
แต่ยังจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลยังคงสนับสนุนต่อไป หรือคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลก็ยังคงไม่สนับสนุนต่อไป และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเลขของประชากรสองกลุ่มนี้อย่างมีนัยยะสำคัญที่เห็นได้ชัดมากนัก
 
ที่สำคัญความรู้สึกอยากร่วมชุมนุมของประชาชนช่วงนี้ยังมีแนวโน้มต่ำกว่าการต้องปรับตัวเสียมากกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่