ตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะอีสานตอนใต้ต่อกัมพูชาตอนเหนือ ตอนที่ 6







                     กลับมารีวิวสานต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวในทริปตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะอีสานตอนใต้ต่อกัมพูชาตอนเหนือกันอีกนะครับ   ห่างหายการเขียนต่อตอนนี้ไปเป็นแรมปี    โดยกระทู้นี้จะเขียนเล่าประสบการณ์ในการท่องเที่ยวของผมในตอนที่ 6  เป็นการขี่รถไปเที่ยวชมปราสาทขอมและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของเมืองพระตะบองประเทศกัมพูชาในวันที่  10 - 11  ของทริปนี้กันนะครับ  

                      พระตะบองเมืองใกล้ชิดชายแดนประเทศไทย  เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาก่อน  เมืองที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์เรื่องราวเล่าขาน  เมืองที่เรียบง่ายด้วยวิถีชีวิตแบบพื้นบ้านและซ่อนสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองชวนให้น่าค้นหา  เมืองที่ใครหลายคนมักมองผ่านเลยเพราะเป้าหมายของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติส่วนใหญ่นิยมเลือกไปชมสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างนครวัด นครธมที่เมืองเสียมเรียบ หรือแวะเวียนไปเที่ยวพนมเปญ  เมืองหลวงของประเทศกัมพูชาเสียมากกว่า  

                      กระทู้นี้จึงมาเปิดเผยเรื่องราวสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองพระตะบองที่บางสถานที่ก็อยู่นอกสายตา  ยังไม่มีกระทู้ไหนเขียนแนะนำให้  ผมจึงอยากเขียนข้อมูลสถานที่เหล่านี้เผยแพร่ให้คนอื่นได้ทราบบ้างเผื่อมีใครสนใจอยากไปเที่ยวเมืองพระตะบองจะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนเที่ยวชมได้นะครับ  

                      ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับการเดินทางท่องเที่ยวของผมในทริปตะลุยเดี่ยวขี่รถเที่ยวดะอีสานตอนใต้ต่อกัมพูชาตอนเหนือ  13  วัน  กันก่อนนะครับ

วันที่ 1 :   เดินทางจากกรุงเทพฯ – บุรีรัมย์ เที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอเมืองบุรีรัมย์
วันที่ 2  :  เที่ยวปราสาทหินและสถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอละหานทราย โนนดินแดง และปะคำ และชมการแสดงแสงสีเสียง
               ในงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
วันที่ 3  :  เที่ยวปราสาทหินในเขตบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ และร่วมชมขบวนแห่ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง
วันที่ 4  :  เที่ยวปราสาทหินในเขตอำเภอปราสาท สังขะ และบัวเชดของจังหวัดสุรินทร์
วันที่ 5  :  เดินทางจากสุรินทร์ไปจังหวัดสระแก้ว และเที่ยวปราสาทหินในจังหวัดสระแก้ว
วันที่ 6  :  เที่ยวปราสาทหินและสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสระแก้ว (ต่อ)
วันที่ 7  :  เดินทางไปเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา และเที่ยวปราสาทหินในเมืองเสียมเรียบ
วันที่ 8  :  เที่ยวปราสาทหินกลุ่มหริหราลัย และปราสาทหินรายทางระหว่างทางจากเสียมเรียบไปกำปงธม
วันที่ 9  :  เที่ยวกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกที่เมืองกำปงธม
วันที่ 10  :  เดินทางไปเมืองพระตะบอง และเที่ยวปราสาทหินในเมืองพระตะบอง
วันที่ 11  :  เที่ยวปราสาทหินและสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองพระตะบอง
วันที่ 12  :  เที่ยวกลุ่มปราสาทหินบันทายฉมาร์ที่เมืองบันเตียเมียนเจย
วันที่ 13  :  เที่ยวเก็บตกในเมืองพระตะบอง และเดินทางกลับบ้าน

วันที่ 10  :  เดินทางไปเมืองพระตะบอง และเที่ยวปราสาทหินในเมืองพระตะบอง      

                   หลังจากเมื่อวานผมให้พนักงานของโรงแรมที่พักจองตั๋วรถไปเมืองพระตะบองได้แล้ว    9  โมงกว่าคนของบริษัทรถก็มารับผมและแวะรับผู้โดยสารฝรั่งที่พักอยู่ในเมืองเสียมเรียบไปขึ้นรถบัสที่ท่ารถโดยสารนอกเมืองเสียมเรียบ  ท่ารถนี้จะอยู่ทางทิศใต้ของเมืองทางไปกลุ่มปราสาทร่อลวยสังเกตได้ง่ายเพราะมีรถบัสจอดเยอะ ๆ        


     

                    ค่าโดยสารตกอยู่ที่ราคาคนละ  8  ดอลลาร์  โดยรถจะจอดแวะพักให้เข้าห้องน้ำและรับประทานอาหารตรงเมืองกะลัน  จุดเดียวกับที่รถจากด่านปอยเปตไปเมืองเสียมเรียบแวะพักนะครับ  และจอดรับผู้โดยสารที่เมืองบันเตียเมียนเจยสัก  10  นาที   ใช้เวลาราว  4  ชั่วโมงกว่าได้จึงถึงเมืองพระตะบอง



                                           อนุสาวรีย์กลางเมืองบันเตียเมียนเจย  แลนมาร์คที่เห็นได้ชัดเมื่อรถขับมาถึงเมืองนี้



                     รถโดยสารจะจอดที่สถานีขนส่งเมืองพระตะบองที่ตั้งอยู่นอกเมืองออกไปราว  5  ก.ม.ได้  เราจะต้องจ้างรถตุ๊กตุ๊กขับพาไปส่งที่โรงแรมที่พักในเมืองต่อ   ราคาอยูที่  5  ดอลลาร์


                                     
                    รถตุ๊กตุ๊กขับจากสถานีขนส่งมาไม่นานก็จะผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พระนารายณ์หลายกร  แสดงว่าถึงเมืองพระตะบองแล้ว



                     คืนนี้ผมพักที่  โรงแรมวีซีช (Vy chhe Hotel)  เห็นราคาไม่แพงและตั้งอยู่ไม่ไกลจากร้านเช่ารถมอเตอร์ไซค์ที่ผมจะไปเช่า




                     ร้านเช่ารถมอเตอร์ไซค์ที่ผมเช่า  3  วันสำหรับขี่รถเที่ยวในเมืองพระตะบองและบันเตียเมียนเจย   พี่เจ้าของร้านรู้สึกแกจะดีใจเป็นพิเศษพอรู้ว่าผมเป็นคนไทยมาเช่ารถแก  แกบอกผมว่าแกชอบประเทศไทยมาก  อยากไปเที่ยวเชียงใหม่ เพราะมีป่าเขาน้ำตกและวิวที่สวยงามที่บ้านเค้าไม่มีอย่างบ้านเรา  ฟัง ๆ ดูแล้วก็ปลื้มนะครับที่เพื่อนบ้านเค้ารักและชอบในคนไทย   ซึ่งตลอดทริปนี้ผมไปเจอคนกัมพูชาทั้งที่เมืองเสียบเรียบ  บันเตียเมียนเจย และพระตะบอง  พวกเค้าเป็นมิตรไมตรีที่ดีมากพอรู้ว่าผมเป็นคนไทย  ต่างพาคนในครอบครัวมาทักทายผม  หลายคนบอกรักประเทศไทย  ชอบคนไทยนิสัยดีมีน้ำใจ ให้ความช่วยเหลือพวกเค้าเวลาไปพำนักหางานทำในเมืองไทย  แถมนายจ้างคนไทยก็เลี้ยงดูปูเสื่อดีให้เงินค่าจ้างแพง ๆ เท่ากับจ้างคนไทยเลย  พวกเค้าจึงนิยมพาครอบครัวไปอยู่กินและหางานทำไปเมืองไทย  เพราะอยู่สบาย เงินดี สิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมกว่าบ้านเมืองเค้าเป็นไหน ๆ  
  



                       ร้านที่เช่ารถมีชื่อว่า  The  Gecko moto  โดยร้านนี้ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้อง ๆ กับโรงแรมที่ผมพักโดยมีแม่น้ำสังแกกั้นกลางนะครับ   มองจากหน้าร้านรถเช่าก็เห็นตึกโรงแรมที่พักได้    ราคาค่าเช่ารถคิดเป็นดอลลาร์ตกวันละ  8  ดอลลาร์  เท่าที่ดู ๆ ในเมืองพระตะบองมีร่านเข่ามอเตอร์ไซค์ให้บริการอยู่  2 - 3  นะครับเท่าที่เห็นอยู่  อยู่คนละถนนกันแต่ไม่ไกลกันมาก




                       ก่อนขี่รถออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองพระตะบอง   เรามาเรียนรู้เรื่องของเมืองพระตะบอง  และแผนการเที่ยวของผมในเมืองกันก่อนว่า  ผมไปเที่ยวที่ไหนหันบ้างนะครับ                



                       เมืองพระตะบอง หรือ บัตฎ็อมบอง (ภาษาเขมร: បាត់ដំបង แปลว่า "ตะบองหาย")  ชื่อเมืองนี้ตั้งตามตำนานพื้นบ้านที่เล่ากันในแถบนี้  โดยพระตะบองมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา  มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทยในจังหวัดสระแก้ว  จันทบุรี และตราด   



                        เดิมทีจังหวัดพระตะบองเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยมาก่อนเป็นเมืองประเทศราชมาตั้งแต่สมัยอยุธยา   ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5  ได้ปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคโดยจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น   ดินแดนแถบนี้ได้ถูกจัดรวมกันเรียกว่า  "มณฑลบูรพา"   ซึ่งประกอบไปด้วย  พระตะบอง  เสียมเรียบ  และศรีโสภณ   โดยมีเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม   อภัยวงศ์)  เป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองพระตะบองขึ้นตรงต่อรัฐบาลสยาม    จนกระทั่งปี พ.ศ.2449  สยามต้องยกดินแดนเขมรส่วนในหรือมณฑลบูรพาให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกกับดินแดนด่านซ้าย  จังหวัดเลย และพื้นที่จังหวัดตราด  รวมทั้งให้ฝรั่งเศสผ่อนคลายสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ทำไว้กับสยามลงด้วย   เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้วจึงทำให้เมืองพระตะบองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชามาจนถึงปัจจุบัน

                      ภาพวาดเหตุการณ์ตอนฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรีเป็นตัวประกันให้สยามยอมทำยกดินแดนตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส  
                                และภาพเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์  (ชุ่ม  อภัยวงศ์)  เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายของสยาม
         
                       
                        ปัจจุบันจังหวัดพระตะบองเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 2  ของประเทศกัมพูชารองลงกรุงพนมเปญ  มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 5  ของประเทศ  รวมทั้งมีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นลำดับที่ 4  ของประเทศเลยทีเดียว




  
                        สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่ผมไปเที่ยวชมในทริปนี้จะกระจายตัวอยู่ทั้งในและนอกเมืองพระตะบองนะครับ  ใช้เวลาเที่ยว  2  วัน   มีดังนี้

        

                         ผมมาถึงเมืองพระตะบองก็เป็นเวลาบ่ายแก่ ๆ แล้ว  กว่าจะเก็บสัมภาระที่โรงแรมและเดินหารถมอเตอร์ไซค์เช่าอีกก็เหลือเวลาไม่มากก่อนพระอาทิตย์ตก   ผมเลยขี่รถไปเที่ยวชม  ปราสาทเอกพนม  ก่อนเป็นที่แรกของวันนี้



                         ปราสาทเอกพนมเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ภายในวัดเอกพนม  ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองพระตะบองออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว  9  ก.ม. ได้   



                          โดยปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่ทำด้วยหินทรายทั้งหลัง  เป็นศิลปะขอมแบบคลังต่อบาปวนที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 
 สร้างในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1  ของอาณาจักรขอม    ปราสาทหลังนี้ยังไม่ได้รับการบูรณะเลย  ซากกองหินวางทับถมกันทำให้การขึ้นไปยังปราสาทประธานต้องปีนป่ายหินแต่ละก้อนขึ้นไปด้านบนปราสาท   การเข้าชมที่นี่ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมนะครับ



แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่