ดาวเคราะห์คล้ายโลกที่ถูกค้นพบ


 ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ได้พยายามค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และได้ค้นพบดาวเคราะห์กว่า 800 ดวง ที่โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ของมันเอง แต่นักดาราศาสตร์กลับพบว่า มีดาวเคราะห์เพียงไม่กี่ดวงเท่านั้นที่โคจรห่างดาวฤกษ์ของมันในระยะห่างที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ซึ่งทำให้อุณหภูมิของดาวไม่ร้อนไม่เย็นเกินไป หรือที่เรียกระยะห่างดังกล่าวว่า “เขตเอื้อต่อการมีชีวิต” 

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบเบื้องต้นว่า ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล โลกไม่ใช่ดาวดวงเดียวที่มีหน้าตาและสภาพแวดล้อมอย่างที่เราเห็น แต่ก็ยังมีดวงดาวอีกหลายดวงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกเช่นกัน 

Kepler-22b 


เป็นดาวเคราะห์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากกลุ่มนักดาราศาสตร์ และกล่าวได้ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโลกใบที่ 2 มากที่สุด ดาวเคราะห์ดวงนี้มีสีฟ้าคล้ายโลกและปกคลุมด้วยก้อนเมฆ อยู่ห่างจากโลกไปไกลถึง 600 ปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ที่เย็นกว่าดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราอยู่หน่อย โดยใช้เวลา 290 วันในการโคจรรอบดาวฤกษ์ (เร็วกว่าโลกเพียง 75 วัน) มีอุณหภูมิพื้นผิวอยู่ที่ราว ๆ 22 องศาเซลเซียส ซึ่งสบายมากสำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก
 

Gliese 370b 


หรือ HD 85512 b มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว ๆ 3.6 เท่า อยู่ไกลจากโลกไป 36 ปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อว่า HD 85512 ใช้เวลา 54 วันในการหมุนรอบตัวเอง มีเมฆปกคลุมและมีบรรยากาศคล้ายกับโลกของเรามาก ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวของดาวดวงนี้อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส 

Gliese 581g


อยู่ห่างจากโลกประมาณ 20 ปีแสง โคจรรอบดาว Gliese 581 ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ของมันในระยะที่พอดิบพอดี อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศอยู่ระหว่าง -31 ถึง -12 องศาเซลเซียสและด้วยความที่มันหมุนรอบตัวเองช้ามาก ทำให้พื้นผิวมันมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน คือประมาณ 70 องศาเซลเซียสสำหรับด้านที่หันเข้าหาดาวฤกษ์ และประมาณ -4 องศาเซลเซียสสำหรับด้านที่หันออกจากดาวฤกษ์ ซึ่งถือว่าเป็นอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิบนโลกมากที่สุด และสิ่งมีชีวิตอาจอยู่ได้



Gliese 581d 


อยู่ห่างจากโลกไปราว 20 ปีแสง มีขนาดใหญ่กว่าโลกประมาณ 3 เท่า และมีมวลมากกว่าประมาณ 6 เท่า โคจรรอบดาว Gliese 581 เช่นเดียวกันกับ Gliese 581g  สิ่งมีชีวิตจากดาวโลกอาจอาศัยอยู่ไม่ได้ เนื่องจากมีอุณหภูมิที่ต่ำ เย็นยะเยือกเกินไป แถมยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศปริมาณมาก ไม่สามารถหายใจได้



Gliese 667Cc 


เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 4-5 เท่า อยู่ห่างจากโลกไปไกลกว่า 22.1 ล้านปีแสง โคจรรอบดาวฤกษ์ Gliese 667C ในระยะที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ซึ่งนั่นทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตเอื้อต่อการมีชีวิต และน้ำสามารถดำรงอยู่ในสภาวะของเหลว แต่พื้นผิวดาวจะร้อนกว่าโลก และมีแรงดึงดูดมากกว่าโลก 2 เท่า ซึ่งหมายความว่า ถ้าหากมนุษย์ไปอยู่บนดาว ก็จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเลยทีเดียว



Gliese 163c


 มีขนาดใหญ่กว่าโลกอย่างน้อย 7 เท่า อยู่ห่างออกไปราว 49 ปีแสง โคจรรอบดาว Gliese 163 ซึ่งเป็นดาวแคระแดง (ดาวฤกษ์ขนาดเล็ก) ดวงหนึ่ง โดยใช้เวลาโคจรเพียงแค่ 26 วันเท่านั้น และด้วยความที่มันค่อนข้างจะอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ ทำให้มันได้รับแสงแดดจากดาวฤกษ์มากกว่าที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าอุณหภูมิบนพื้นผิวดาวจะอยู่ที่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจร้อนเกินไปสำหรับมนุษย์ แต่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นอาจอยู่ได้


HD 40307g 


อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทาง 42 ปีแสง ใหญ่กว่าโลกประมาณ 7 เท่า โคจรห่างจากดาวฤกษ์ของมันในระยะที่พอดิบพอดี ทำให้พื้นผิวดาวไม่เย็นและไม่ร้อนเกินไป ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ของมัน 198 วัน ซึ่งเท่ากับว่า 1 ปีบนดาวเท่ากับ 198 วันเท่านั้น นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาวเคราะห์ HD 40307g ยังหมุนรอบตัวเองเช่นเดียวกับโลกด้วย ซึ่งนั่นทำให้บนดาวเคราะห์ดวงนี้มีทั้งกลางวันกลางคืนเหมือนกับโลก


เคปเลอร์ 438 บี (Kepler-438b)


ดาวเคปเลอร์ 438 บี ถูกค้นพบเมื่อต้นปี 2015 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ มันเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างไกลออกไปจากโลกราว 470 ปีแสง และโคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง โดยใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงนั้นเพียง 35 วันเท่านั้น
 
มันมีขนาดใกล้เคียงกับโลก โดยใหญ่กว่าโลกของเราเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิบนพื้นผิวดาวก็อุ่นกว่าโลกเพียงเล็กน้อย โดยมีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส  (คะแนนจากดัชนี ESI ที่ 0.88 ดัชนี ESI ของโลกคือ 1.00)
แต่การศึกษาบางชิ้นก็แสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์นี้ได้รับการแผ่รังสีอันทรงพลังจากดาวฤกษ์ทุกๆ 100 วัน ซึ่งอาจทำให้ดาวเคราะห์ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย ขณะนี้ดาวเคราะห์ดวงนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโลกถึง 88%


เคปเลอร์ 442 บี (Kepler-442b)


เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีพิกัดอยู่ในกลุ่มดาวพิณ ห่างจากโลกของเราออกไปราว 1,120 ปีแสง ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2015 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซา
มีขนาดใหญ่กว่าโลก 33 เปอร์เซ็นต์ โคจรรอบดาวฤกษ์ของมันโดยใช้เวลาในการโคจร 1 รอบที่ประมาณ 112 วัน อุณหภูมิสูงสุดบนพื้นผิวอยู่ที่ราว 60 องศาเซลเซียส นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคปเลอร์ 442 บี น่าจะเป็นดาวเคราะห์หินที่มีความแข็งแรงมากกว่าองค์ประกอบของโลกเราประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ 



เคปเลอร์ 62 อี (Keplor-62e)


เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกขนาดใหญ่ หรือ Super Earth มันมีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 1.6 เท่า หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ เช่นเดียวกับดาวเคปเลอร์ 442 บี แต่มันอยู่ห่างจากโลกไปราว 1,200 ปีแสง
ใช้เวลาเดินทางโคจรรอบดาวฤกษ์โดยใช้เวลาราว 122 วัน มันถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2013 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขององค์กรนาซา นักดาราศาสตร์คาดกันว่าบนดาวดวงนี้น่าจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักของพื้นผิวเช่นเดียวกับโลก



เคปเลอร์ 452 บี (Kepler-452b)


เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกขนาดใหญ่ หรือ Super Earth  ตั้งอยู่ในระบบดาวฤกษ์ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวหงส์ หรือกลุ่มดาวกางเขนเหนือ โคจรรอบดาวฤกษ์ระดับเดียวกับดวงอาทิตย์ โดยใช้เวลาโคจรทั้งสิ้น 385 วัน มันอยู่ห่างจากโลกของเราไปประมาณ 1,400 ปีแสง  หากเรานั่งยานอวกาศนิวฮอไรซันส์ที่มีความเร็วประมาณ 59,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะต้องใช้เวลา 26 ล้านปี เพื่อไปให้ถึงดาวดวงนี้


Teegarden’s Star b


ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ Teegarden ถูกพบเมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 เป็นดาวเคราะห์ที่น่าอยู่ที่สุดที่ค้นพบโดยอิงจากดัชนีความคล้ายโลก ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเปรียบเทียบว่าดาวเคราะห์ดวงนั้นมีความคล้ายคลึงกับโลกขนาดไหน ตามดัชนีนี้มันคล้ายกับโลกถึง 95%



 Trappist-1E


ดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกดวงนี้ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 40 ปีแสง หากอ้างอิงจากดัชนีความคล้ายโลกดาวเคราะห์ Trappist 1-e เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีโอกาสที่คนสามารถอาศัยอยู่ได้มากที่สุดเป็นอันดับสอง โดยมีความคล้ายคลึงกับโลกถึง 95%



Proxima Centauri b


ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ Proxima Centauri ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของดวงอาทิตย์ที่ใกล้ที่สุด ดาวเคราะห์ดวงนี้โคจรอยู่ในเขตเอื้อต่อการอยู่อาศัยซึ่งมีสภาพดาวเคราะห์ที่ถูกต้องและคุณสมบัติในชั้นบรรยากาศอาจมีน้ำของเหลวอยู่บนพื้นผิว
แต่การอยู่อาศัยบนดาวดวงนี้ก็ไม่ง่าย เพราะด้านหนึ่งจะหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์ตลอดเวลา ส่วนอีกด้านหนึ่งจะมืดตลอดเวลาเช่นกัน ดาวเคราะห์ดวงนี้มีคะแนน 87% ในแง่ของการเป็นเหมือนโลก



Ross 128 b 


เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ถูกค้นพบโดยนักวิจัยจากองค์การวิจัยทางดาราศาสตร์ท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ลักษณะของมันมีความคล้ายกับโลกในหลายด้าน
โดยเฉพาะขนาดที่ใหญ่กว่าโลก 1.35 เท่า และอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับโลก (มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิบนดาวดวงนี้อยู่ช่วงระหว่าง -60 ถึง 20 องศาเซลเซียส) อีกปัจจัยสำคัญ คือ  Ross 128 นั้นเป็นดาวที่ค่อนข้างสงบ คือมีอัตราของรังสีในระดับที่น่าจะ ‘เป็นมิตร’ กับสิ่งมีชีวิต มากกว่ากรณีของ Proxima Centauri
 Nicola Astudillo-Defru นักดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเจนีวา ระบุว่า  “เราเคยค้นพบดาวที่น่าสนใจ เช่นดาวที่โคจรรอบ Proxima Centauri หรือ TRAPPIST-1 แต่ดาวเหล่านี้ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขที่ดีของการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม มันก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะค้นพบสัญญาณที่ดีจาก Ross 128 b มากกว่าดาวดวงอื่นๆ”
ที่มาภาพ
http://www.planetary.org/…/jas…/2017/20171115-ross-128b.html /  NASA
อ้างอิงจาก : http://hilight.kapook.com/view/80152
http://time.com/5025…/earthlike-planet-ross-128-b-discovery/
http://www.aljazeera.com/…/ross-128-b-nearby-earth-like-pla…
https://www.theverge.com/…/new-planet-discovery-ross-128-b-…
เครดิต brightside.me


(ขอขอบคุณที่มาข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่