ตามภาพ ตามฝัน ไปปีนัง (ตอน 4)


ตอน 4
 
          ต่อมาในปี ค.ศ. 1786 อังกฤษได้ขอเจรจาเช่าเกาะปีนังอีกครั้ง หลังจากการเจรจาครั้งแรกล่วงเลยมากว่าสิบสี่ปี แต่การเจรจาครั้งใหม่ก็ยังมีปัญหาอยู่เช่นเดิม เนื่องจากสุลต่านเคดะห์ยังคงต้องการให้อังกฤษคุ้มครองจากการรุกรานของศัตรู ซึ่งคราวนี้ได้เปลี่ยนจากบุกิสมาเป็นสยาม แต่อังกฤษก็ยังคงนโยบายวางตัวเป็นกลางเพื่อประโยชน์ระยะยาวไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้การเจรจาครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับสุลต่านเดดะห์จนถึงขั้นมีการสู้รบกัน แต่รัฐเดดะห์ที่มีกำลังอ่อนแอกว่ามากต้องแพ้พ่ายไป จนในที่สุด ปี ค.ศ. 1791 สัญญาด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายจึงลงตัว มีการลงนามในนามของรัฐบาลอังกฤษอย่างเป็นทางการ โดยสัญญาฉบับดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการให้ความคุ้มครองรัฐเคดะห์เอาไว้แต่อย่างใด 

          จากนั้นอังกฤษก็เร่งพัฒนาเกาะปีนัง มีเรื่องเล่าอยู่ว่ากัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้ใช้อุบายด้วยการกว้างเหรียญเงินเข้าไปในป่ารก เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนงานรีบเร่งและแข่งขันกันหักร้างถางพงสร้างเมืองให้เสร็จโดยเร็ว ไม่นานการสร้างเมืองท่าก็แล้วเสร็จ และตั้งชื่อว่า จอร์จทาวน์ (George Town) โดยเริ่มแรกเพื่อเป็นการจูงใจให้กับพ่อค้าวานิชเดินทางเข้ามายังเมืองจอร์จทาวน์ อังกฤษได้กำหนดให้จอร์จทาวน์เป็นเมืองท่าเสรี ไม่มีการเรียกเก็บภาษีเข้าออก ด้วยความหวังที่จะดึงดูดการค้าทางทะเลจากท่าเรือเมืองมะละกา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในการครอบครองของฮอลันดา เกาะหมากหรือเกาะปีนังที่รกร้างเงียบสงบได้กลายมาเป็นเกาะที่คึกคักด้านการค้าทางทะเล เรือจำนวนมากแล่นเข้ามายังเกาะปีนัง นำมาซึ่งความมั่งคั่ง และการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ของชาวจีนจำนวนมาก จนกลายเป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนค้าขาย จนสามารถควบคุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเกาะปีนังเอาไว้ได้

          ดูเหมือนว่าเมืองจอร์จทาวน์และเกาะปีนังภายใต้การเช่าของอังกฤษในช่วงเวลานั้น จะมีความเจริญรุ่งเรืองทางการค้าสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างที่อังกฤษคาดหวังเอาไว้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เมืองจอร์จทาวน์กลายเป็นเมืองท่าสำคัญในดินแดนมลายูไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากนั้นไม่นาน  สิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นจนได้ เมืองจอร์จทาวน์มาถึงจุดตกต่ำในเวลาอันรวดเร็ว สภาพเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ เมืองท่าที่เคยรุ่งเรืองกลับเป็นเมืองที่เงียบเหงา การค้าขายลดลงไปมาก ไม่มีเรือแวะเวียนเข้ามาเหมือนแต่ก่อน จนในที่สุดเศรษฐกิจของเมืองจอร์จทาวน์ที่พึ่งพาเพียงแค่การค้าทางทะเลก็พังคลืน เหลือทิ้งไว้เพียงแค่เศษซากอนุสรณ์แห่งความมั่งคั่งในอดีต 
กาลเวลาทำให้เมืองจอร์จทาวน์กลายเป็นดินแดนที่ถูกลืม!

          สตรีทอาร์ตในจอร์จทาวน์แบ่งออกได้เป็นสองประเภท อย่างแรกเป็นภาพเขียนบนกำแพง บอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตในอดีตของเกาะปีนัง และทุกภาพก็ถูกตั้งชื่อเอาไว้ ซึ่ง Kids on bicycle ก็เป็นหนึ่งในภาพเหล่านั้น อย่างที่สองเป็นภาพ Welded Iron Wall Caricatures หรือเรียกว่าศิลปะจากเส้นลวด ที่บรรจงดัดเส้นลวดเป็นรูปต่างๆ แล้วนำมาติดเอาไว้ที่กำแพง หรือผนังอาคารเก่า ดูๆ ไปแล้วลายเส้นมีลักษณะคล้ายกับการ์ตูนขายหัวเราะที่คนไทยคุ้นเคยในอดีต ศิลปะอย่างที่สองนี้มีจำนวนมากกระจายไปทั่วเมืองจอร์จทาวน์ ทำให้เมืองจอร์จทาวน์ทั้งเมืองเปรียบเสมือนแกลลอรี่กลางแจ้ง ทุกถนน ตรอก ซอย ล้วนแล้วแต่เป็นที่แสดงงานศิลปะทั้งสิ้น และเมื่อรวมสตรีทอาร์ตทั้งสองประเภทจากในแผนที่ จะมีทั้งหมดกว่าเจ็ดสิบภาพ ดังนั้น การเดินหาภาพทั้งหมดภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งวัน จะต้องวางแผนเส้นทางให้ดี ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันเวลาอย่างแน่นอน

          ผมเริ่มต้นออกเดินไปยังภาพที่ใกล้โรงแรมที่สุด จากนั้นจึงค่อยเดินเข้าไปในเมืองจอร์จทาวน์ ภาพแรกที่เห็นทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเสียยกใหญ่ด้วยความตื่นเต้น แต่พอได้สติมองดูผู้คนรอบข้างทุกอย่างเป็นเหมือนปกติวิสัย ผู้คนใช้ชีวิตตามปกติ ไม่มีใครตื่นเต้นสนใจสตรีทอาร์ทนี้เลยสักนิด อาจเป็นเพราะสตรีทอาร์ตไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวเมืองจอร์จทาวน์ ในตอนแรกอาจรู้สึกตื่นเต้นบ้าง แต่พอเวลาผ่านไปสตรีทอาร์ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปเสียแล้ว 

            เดิน เดิน แล้วก็เดิน หยุดกางแผนที่แล้วก็เดินต่อไปยังจุดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผมมักจะตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้เห็นสตรีทอาร์ตแต่ละภาพ ในช่วงแรกภาพที่เห็นจะเป็นภาพศิลปะจากเส้นลวดเสียเป็นส่วนใหญ่ บางภาพอยู่บนกำแพงระดับสายตา มองเห็นได้แต่ไกล แต่บางภาพอยู่สูงขึ้นไประดับหลังคาตึก ต้องใช้ความสามารถในการมองหา แผนที่ในมือเป็นเหมือนแผนที่ลายแทงขุมทรัพย์ ส่วนสตรีทอาร์ตก็เป็นสมบัติล้ำค่า เมื่อหาเจอก็จะดีใจ หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ แชะ แชะ เป็นการใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะแต่ผมเท่านั้น ถนนทุกสายเต็มไปนักท่องเที่ยว บ้างมาเดี่ยว บ้างมาเป็นหมู่คณะ ต่างสนุกสนานกับการค้นหา และมีความสุขไปกับการถ่ายภาพสตรีทอาร์ต

          แดดช่วงสายเริ่มร้อนมากขึ้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคทำให้ความสนุกสนานลดลงเลย การค้นหาจากภาพแรก ไปภาพที่สอง และภาพต่อๆ ไป ภาพแล้วภาพเล่าอย่างรวดเร็ว สตรีทอาร์ตแต่ละภาพจะตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก จากถนนสายหนึ่งเลี้ยวตัดเข้าสู่ถนนอีกสาย โดยมีแผนที่นำทางไปสู่ภาพสตรีทอาร์ตที่ซ่อนอยู่ จนเมื่อเดินเข้าสู่ถนนสายหนึ่งความงุนงงก็มาเยือนจนได้ เนื่องจากมองหาสตรีทอาร์ตภาพหนึ่ง ที่หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอเสียที จนสุดท้ายก็จนปัญญา แต่พอมองไปที่นักท่องเที่ยวสาวชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่เดินสวนทางมา หยุดดูแผนที่ในมือ พอคาดเดาได้ว่าคงจะหาภาพที่ผมกำลังมองหาอยู่นั่นเอง กลุ่มสาวชาวจีนเดินไปยังถนนอีกด้านที่ผมเดินไปไม่ถึง ขณะที่ผมเดินตามไปติดๆ และเมื่อเดินผ่านตึกแถวสี่ชั้นไปก็เจอกับลานจอดรถ และเมื่อมองย้อนกลับมาที่ผนังของตึกแถวนั้น ก็มีภาพสตรีทอาร์ตที่กำลังมองหาปรากฏอยู่

          ว้าว! คงจะไม่มีคำใดจะแทนคำนี้ได้ สตรีทอาร์ตที่หาไม่เจอปรากฏอยู่ตรงหน้า ภาพนี้ชื่อว่า Trishow Man ที่แปลความหมายว่า คนขี่รถสามล้อรับจ้าง เป็นภาพของชายแก่กำลังนั่งอย่างสบายอารมณ์บนรถสามล้อรับจ้างคู่ใจ จักรยานสามล้อถือว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจอร์จทาวน์ นอกจากความสวยงามสมจริงแล้ว ภาพยังมีขนาดใหญ่โตมหึมาเต็มพื้นที่ผนังของตึกแถวสี่ชั้นอีกด้วย นี่แหล่ะคือเสน่ห์ของสตรีทอาร์ต ที่ซ่อนอยู่ทุกซอกทุกมุมในเมืองจอร์จทาวน์
            นอกจากได้เจอภาพ Trishow Man แล้ว ผมยังเห็นอาคารเก่าโบราณสีสันสดุดตาหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่อีกด้านของลานจอดรถ เมื่อเห็นสีของอาคารก็รู้ได้ทันทีว่า นั่นคือ
 
            เดอะบลูแมนชั่น (The Blue Mansion)
 
by
กบในกะลาแก้ว


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่