ทำไมการไฟฟ้าฯและมาตรฐานการติดตั้งฯ จึงไม่อนุญาให้ใช้สายไฟฟ้าตัวนำอะลูมิเนียมติดตั้งในบ้านและอาคาร

เคยสงสัยกันไหมว่า  #ทำไมการไฟฟ้าฯและมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยจึงไม่อนุญาตให้ใช้สายไฟฟ้าตัวนำอะลูมิเนียมติดตั้งในบ้านและอาคาร ? 🤔🤔
มีเหตุผลอยู่หลายข้อด้วยกันดังนี้
⚡อะลูมิเนียมมีค่าสัมประสิทธฺ์การขยายตัวเนื่องจากความร้อนสูงกว่าทองแดง หมายความว่าอะลูมิเนียมมีการยืดตัวและหดตัวมากเมื่ออุณหภูมิแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีโอกาสที่จะส่งผลให้จุดต่อทางไฟฟ้าและหน้าสัมผัสทางไฟฟ้าต่างๆเกิดการหลวมหรือเคลื่อนหลุด และทำให้เกิดความร้อนหรือการอาร์คจนไหม้ได้ 
⚡ตัวนำอะลูมิเนียมมีโอกาสเกิดสนิมและเกิดการกัดกร่อนได้เร็วกว่าตัวนำทองแดง เมื่ออะลูมิเนียมสัมผัสความชื้นและอากาศ จะเกิดปฏิกิริยาอ็อกซิเดชั่นและเกิดสนิมของอะลูมิเนียมที่มีลักษณะเป็นขุยสีขาวบนผิวนอก ซึ่งสนิมของอะลูมิเนียมจะไม่นำไฟฟ้า และทำให้จุดเชื่อมต่อและหน้าสัมผัสทางไฟฟ้าเกิดความร้อนสูงได้
⚡ตัวนำอะลูมิเนียมมีความแข็งน้อยกว่าทองแดง ดังนั้นเมื่อปอกฉนวนสายไฟจึงมีโอกาสที่มีดจะบาดหรือเฉือนเข้าไปในเนื้อตัวนำมากกว่าทองแดง

นอกจากนี้ การใช้สายตัวนำอะลูมิเนียมจะต้องใช้ขนาดตัวนำที่ใหญ่กว่าตัวนำทองแดงเพื่อให้รับกระแสไฟฟ้าได้เท่ากัน ซึ่งในการเดินสายภายในอาคารอาจติดปัญหาเรื่องพื้นที่ในการติดตั้งสายเมื่อต้องใช้สายไฟที่มีขนาดใหญ่ หรือการติดตั้งร้อยท่ออาจทำได้ยากลำบาก และดูไม่สวยงามอีกด้วย 
แต่ไม่ใช่ว่าสายตัวนำอะลูมิเนียมจะมีแต่ข้อเสียนะคะ ความจริงแล้วสายอะลูมิเนียมมีจุดเด่นที่เหนือกว่าสายทองแดงคือ มีน้ำหนักเบากว่ามาก (อะลูมิเนียมจะมีน้ำหนักประมาณ 1 ใน 3 ของทองแดงที่ปริมาตรเท่ากัน) และมีราคาถูกกว่ามาก ดังนั้นสายไฟฟ้าตัวนำอะลูมิเนียมจึงเหมาะสำหรับใช้ติดตั้งในลักษณะแขวนบนเสาไฟฟ้าภายนอกอาคารมากกว่า เพราะสายน้ำหนักเบาโครงสร้างเสาและส่วนรับน้ำหนักสายจึงไม่ต้องแข็งแรงมากเหมือนของสายทองแดง

--------------------------------------------------------------------------
เฟ้ลปส์ ดอด์จ Life Line ทุกสายคือชีวิต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่