การซ่อมหนังสือโดยกลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือ ของหอสมุดแห่งชาติ


วันนี้ผมขอพาทุกท่านไปชมเรื่องราวของการซ่อมหนังสือที่ของหอสมุดแห่งชาติ  เพื่อดูว่าการซ่อมหนังสือนั้นมีขั้นตอนและวิธีการอย่างไร? เพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ที่สนใจเรื่องกับการซ่อมหนังสือ ตามไปชมกันเลยครับ
 
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการซ่อมหนังสือของหอสมุดแห่งชาตินั้น  จะดำเนินงานโดยกลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือ  โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ การซ่อมแซมหนังสือทั่วไปที่ให้บริการอยู่ในห้องต่างๆ ในหอสมุดแห่งชาติ  และอีกส่วนคือการซ่อมแซมหนังสือหายาก คัมภีร์ใบลานและสมุดไทย



งานซ่อมหนังสือทั่วไป

-การซ่อมหนังสือทั่วไปก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือหนังสือปกแข็งและหนังสือปกอ่อน  สำหรับหนังสือปกอ่อนจะมีการเย็บเล่มด้วยลวด (คล้ายๆ แม๊กเย็บกระดาษทั่วไป)  ส่วนใหญ่ถ้าทางหอสมุดแห่งชาติได้รับหนังสือเข้ามาใหม่  เมื่อทำข้อมูลทางบรรณารักษ์และทำข้อมูล metadata แล้ว  จะนำหนังสือเข้าสู่ชั้นเพื่อให้บริการได้เลย  แต่สำหรับหนังสือวารสารจะต้องนำมาเย็บขอบด้วยวิธีการเย็บเจาะก่อนนำไปให้บริการ เพราะว่าหนังสือวารสารส่วนใหญ่จะเป็นไสสันทากาว  เวลานำไปให้ใช้บริการแล้วมักจะขาดได้ง่าย

-สำหรับหนังสือทั่วที่ชำรุดนั้น ทางเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ที่ประจำอยู่ตามห้องบริการต่างๆ จะเป็นผู้นำส่งมาให้กลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือทำการซ่อม  โดยสวนใหญ่เวลาที่ผู้ใช้บริการเจอว่าหนังสือชำรุดนั้นผู้ใช้บริการจะเป็นผู้มาแจ้งกับเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์  และในอีกกรณีที่เข้าหน้าที่บรรณารักษ์ตรวจสอบหนังสือแล้วเจอว่าหนังสือนั้นชำรุด  เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์จะรวบรวมเพื่อนำส่งซ่อม  โดยเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์จะเจอหนังสือชำรุดเกือบทุกวัน  ซึ่งทางกลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือนั้นมีเป้าหมายในการซ่อมแซมหนังสือปกแข็งให้ได้เดือนละ 300 เล่ม และหนังสือปกอ่อนเดือนละ 400 เล่ม

-สำหรับหนังสือสมัยใหม่ที่มักจะไสสันทากาวนั้น ส่วนใหญ่ปกหนังสือจะชำรุดก่อน แล้วนำให้หน้ากระดาษหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ได้  ส่วนใหญ่วิธีการไสสันทากาวต้นทุนการผลิตจะถูกกว่าการเย็บกี่ที่สัน  โดยหนังสือที่เย็บกี่ที่สันจะคงทนอยู่ได้นานมากกว่า

-สำหรับวิธีการซ่อมแซมหนังสือปกอ่อนในสมัยก่อนนั้น  มักจะหุ้มสันปกด้วยกระดาษการ์ดสี 350 แกรมทับไปเลย ซึ่งอาจจะดูไม่สวยงามและไม่เห็นว่าปกเดิมเป็นอย่างไร  แต่ในปัจจุบันนี้สามารถซ่อมแซมโดยรักษาปกหนังสือเดิมเอาไว้ด้วย  โดยการซ่อมเฉพาะจุดที่ชำรุด  อย่างเช่นถ้าสันปกเสียก็สามารถซ่อมเฉพาะสันปกได้  ทำให้ตัวหนังสืออยู่ในสภาพใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด  แต่ถ้าปกหนังสือชำรุดหรือสูญหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้จริงๆ จึงจะให้กระดาษการ์ดสี 350 แกรมมาใช้แทนปกเดิมแล้วนำมาเขียนชื่อเรื่องใหม่


-สำหรับหนังสือปกแข็ง  ส่วนใหญ่จะต้องติดใบรองปกเพิ่มทั้งปกด้านหน้าและปกด้านหลัง   โดยมีวัสดุหุ้มปกเป็นผ้าแรกซีน (อ่านออกเสียงว่า “แล็คซีน”)  ผ้าแรกซีนคือผ้ายางที่คล้ายกับเทปผ้าม้วนกลมสีต่างๆ ที่ขายตามร้านหนังสือ  แต่ศัพท์ทางการซ่อมหนังสือจะเรียกว่าผ้าแรกซีน  จะแบ่งเป็นผ้าแรกซีนและกระดาษแรกซีน  กระดาษแรกซีนส่วนใหญ่จะใช้สำหรับหุ้มสันหนังสือ  

-ส่วนวิธีการซ่อมหนังสือในลักษณะการชำรุดแบบต่างๆ ก็จะมีวิธีการซ่อมที่แตกต่างกันออกไป  เช่นถ้าหนังสือเปียกน้ำ  ถ้าหนังสือนั้นเป็นกระดาษอาร์ตมันต้องรีบซ่อมโดยเร็ว  เพราะกระดาษอาร์ตมันที่เห็นเป็นกระดาษผิวมันๆ เมื่อโดนน้ำมันจะมีกาวเหนียวๆ ออกมาถ้าปล่อยไว้นานๆ จนแห้งแล้วมันจะติดกันเป็นก้อน   สำหรับการซ่อมหนังสือที่เปียกน้ำนั้น  ขั้นตอนแรกเลยคือถ้าหนังสือเปียกน้ำมาต้องซับน้ำออกให้แห้งสนิทก่อน  ด้วยการใช้กระดาษทิชชูซับน้ำออก แล้วนำหนังสือไปพึ่งลมไว้ให้แห้ง ห้ามนำหนังสือไปพึ่งแดดเด็ดขาด  เพราะแดดมันจะกัดเลียหนังสือให้กระดาษมันหดมากขึ้น  ทำให้มันยืดหดตัวเร็วเกินไปกระดาษจะกลายเป็นคลื่นได้

-หนังสือทั่วไปส่วนใหญ่ที่เกิดชำรุดเนื่องจากกาวที่เย็บสันหนังสือไว้หลุด  จะซ่อมด้วยวิธีการเย็บเจาะเพื่อเสริมด้านใน  แล้วก็เอาปกหนังสือเดิมหุ้มกลับเข้าไป  ซึ่งจะทำให้มองไม่เห็นส่วนที่เย็บเจาะด้านในไว้

-ถ้าหนังสือเปียกน้ำแบบหนักมาก  อาจจะต้องเลาะหนังสือออกมาเป็นแผ่นๆ เพื่อซับน้ำออกที่ละแผ่น  ทำให้กระดาษแต่ละแผ่นแห้งสนิท  นำกระดาษไปรีดให้เรียบแล้วนำไปเย็บเข้าเล่มใหม่  ซึ่งจะเป็นการทำให้หนังสือกลับมาใกล้เคียงสู่สภาพเดิมมากที่สุด  

-สำหรับหอสมุดแห่งชาติมีวิธีการเย็บสันหนังสืออยู่ 5 แบบ คือ 1.การเย็บแบบพันลำ 2.การเย็บแบบเลื่อยสันฝังด้าย  3.การเย็บเจาะ  4.การเย็บกี่ และ 5.การเย็บวารสาร






(บน) สำหรับตัวเทปกาวกระดาษสานั้นทางกลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือคิดค้นขึ้นมาเอง  โดยหัวหน้างานเก่าๆ ของหน่วยงานฯ   มีลักษณะเป็นกระดาษเคลือบกาวชนิดพิเศษที่เป็นเมทัลเซลลูโลสติดทับไว้ด้วยแผ่นพลาสติก  เวลาใช้งานก็จะลอกแผ่นพลาสติกออก แล้วใช้ตัวลำสีชุบน้ำมาดๆ เช็ดทำให้ตัวกาวละลายติดกับเนื้อกระดาษเดิม

คลิป สาธิตการซ่อมหนังสือด้วยเทปกาวกระดาษสาแทนการซ่อมด้วยเทปใสทั่วไป
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
สาธิตการซ่อมหนังสือด้วยเทปกาวกระดาษสาแทนการซ่อมด้วยเทปใสทั่วไป  สำหรับหนังสือที่หน้ากระดาษขาดนั้น  คนทั่วไปมักจะใช้สก็อตเทปใสในการซ่อมติดทับรอยบนกระดาษที่ขาด ซึ่งเป็นวิธีการทำที่ผิดเพราะตัวเทปใสนั้นจะมีเนื้อกาวติดแน่นอยู่กับเนื้อกระดาษ  ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้กระดาษนั้นแข็งกรอบจนชำรุดฉีกขาดได้  ทางหอสมุดแห่งชาติจึงดัดแปลงวิธีการซ่อมโดยใช้เทปกาวกระดาษสา  เพื่อให้ชิ้นงานที่ติดซ่อมนั้นกลมกลืนกับตัวเนื้อกระดาษ  โดยใช้กระดาษสาสีเดียวกับตัวเนื้อกระดาษเดิม  ข้อสำคัญอีกประการคือกระดาษสาที่ติดเพิ่มเข้าไปนั้นสามารถลอกคืนกลับออกมาได้โดยไม่ทำให้กระดาษเดิมเสียหาย


(บน) สำหรับกระดาษสาที่ทางหอสมุดแห่งชาติใช้นั้นมีทั้ง 2 สี คือสีเหลืองขุ่นสำหรับใช้ซ่อมหนังสือเก่า และสีขาวสำหรับใช้ซ่อมหนังสือใหม่   โดยตัวกระดาษสานั้นสั่งซื้อมาจากจังหวัดสุโขทัย  ส่วนตัวเทปกาวนั้นทางหอสมุดแห่งชาติต้องมาทำขึ้นเอง เป็นการทำขึ้นเพื่อใช้ในหน่วยงานและจะมีการออกไปสอนในโครงการจัดกิจกรรมซ่อมหนังสือต่างๆ  โดยการไปสอนพื้นฐานการซ่อมหนังสือด้วยเทปกาวกระดาษสาแทนการซ่อมด้วยเทปกาวใสแบบเดิม


สาธิตการเข้าเล่มหนังสือ  ด้วยการติดตัวหนังสือเดิมเข้ากับปกหนังสือที่ทำขึ้นใหม่
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

คุณเกศสรินทร์  ประมวลพัฒน์ นายช่างพิมพ์อาวุโส กลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือ สำนักหอสมุดแห่งชาติ อธิบายวิธีการเข้าเล่มหนังสือ  ด้วยการติดตัวหนังสือเดิมเข้ากับปกหนังสือที่ทำขึ้นใหม่ โดยการทากาวติดปกหน้าเข้ากับปกรองด้านใน  และทากาวติดปกหลังเข้ากับปกรองด้านใน  หลังจากนั้นจะทำการดึงหนังสือให้ตึงโดยให้ตัวหนังสือเดิมเข้าไปติดกันสันของปกหนังสือ  ใช้ผ้ารองแล้วใช้ไม่เนียนมาถูตรงร่องให้เกิดร่องบานพับ  ก่อนจะนำหนังสือไปอัดด้วยเครื่องอัดให้กาวติดแน่นหนาขึ้น


การเรียงพิมพ์ชื่อหนังสือด้วยตัวพิมพ์ทอง
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
การเรียงพิมพ์ชื่อหนังสือบนหน้าปกที่ทำด้วยแผ่นแรกซีน โดยเป็นการเรียงพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ตะกั่วแบบโบราณ พิมพ์เป็นตัวหนังสือสีทองด้วยแผ่นฟอยล์สีทอง ผ่านเครื่องอบความร้อนด้วยหัวร้อน เป็นงานส่วนหนึ่งของการซ่อมแซมหนังสือ โดยกลุ่มงานสงวนรักษาหนังสือ สำนักหอสมุดแห่งชาติ


(ล่าง) สำหรับการเขียนชื่อเรื่องที่ปกหนังสือนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ ถ้าเป็นแบบสมัยใหม่จะใช้วิธีการพิมพ์ชื่อเรื่องด้วยสติกเกอร์แล้วแปะลงบนหน้าปกหนังสือ  และแบบดั้งเดิมจะเป็นการพิมพ์ทองด้วยแม่พิมพ์ตัวอักษรตะกั่ว  ใช้สำหรับหนังสือที่สำคัญหรือหนังสือหายากต่างๆ 

(ล่าง) บล็อกสังกะสี (ตราโลโก้หอสมุดฯ) ใช้ในกรณีที่พิมพ์ซ้ำเยอะๆ

(ล่าง) เครื่องตัดกระดาษแข็งทำปกและทำสันหนังสือ ใช้เจียรตัดกระดาษได้หมดทุกประเภท


พาพันชอบพาพันขยันพาพันรักสัตว์
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่