[CR] เมื่ออยากนั่งรถไปเที่ยว Siem Reap ช่วงหน้าฝน ฉบับครอบครัว แนวชิลทั้งนครวัดนครธม,พิพิธภัณฑ์,คาเฟ่ งบ 5000 Day2-1

ก่อนเริ่มวันที่ 2 ติดตามการเดินทางวันแรกเราได้ที่ https://pantip.com/topic/39056555

Day 2
•ทริปการเที่ยวนครวัด นครธม มีหลากหลายเส้นทาง หลายหลายราคา ใครงบเยอะหน่อยอยากเที่ยวสบายๆ หรืออินกับปราสาทก็อาจซื้อตั๋วเหมา 3 วัน ราคาล่าสุด 62 us ส่วนใครงบน้อย ไม่อินมาก ก็มีตั๋ว 1 วัน 37 us
•หากมีแพลนดูพระอาทิตย์ขึ้นที่นครวัดก็ควรซื้อตั๋วล่วงหน้าที่ Angkor ticket booth ซึ่งอยู่ทางเดียวกับทางไปนครวัดนั่นแหละ แต่ถ้าซื้อตอนเช้าบูทจะเปิดตอนตี 5 ปิด 5 โมงครึ่ง ขอแนะนำให้ไปซื้อล่วงหน้าดีที่สุด

•สถานที่หลักที่ควรจะไปสำหรับทริปสั้นๆเช่น นครวัด ปราสาทในนครธม เช่น ปราสาทบายน ปราสาทตาพรหม และปราสาทบันทรายสรี ซึ่งอยู่นอกนครธมไปราว 35 นาที แต่เนื่องจากเราไม่ได้ตกลงกับทางคนขับรถตุ๊กๆโดยตรงแต่แรก เราจึงพลาดปราสาทบันทรายสรีไป เอาเถอะไว้มาซ่อมใหม่ เพราะที่บ้านเราก็อิ่มกับปราสาทแล้วเหมือนกัน
ตารางเวลาเที่ยวของพวกเราวันนี้
4.30 ออกจากรร. ไปซื้อตั๋วชมนครวัด ซึ่งกว่าจะถึงก็พระอาทิตย์ขึ้นไปแล้วววว ฮรือ

5.00-8.00 ช่วงเช้าเที่ยวชมนครวัด เข้าทางประตูหลักทางทิศตะวันตก
ที่ตั้งใจมาที่นี่แต่เช้ามืดเพราะอยากดูพระอาทิตย์ขึ้นแบบมีนครวัดด้านหลังนั่นแลแต่ก็ดันมาไม่ทัน 

Angkor Wat แบบไร้ไกด์
เราคิดว่ามีจุดที่น่ารู้หลายๆอย่าง ขอรีวิวสั้นๆไว้สำหรับมือใหม่หัดเที่ยวนครวัดแบบเรา 

•ภาพที่เห็นหลังลงจากรถยังไม่ใช่ตัวนครวัดอย่าเพิ่งถ่ายรูปมาก ถ้ามาสายแล้ว โปรดรีบเดินข้ามสะพานไปด้านในโดยเร็ว
•เมื่อเดินข้ามมาจะผ่านประตูนี้แล้วก็จะได้เห็นสะพานนาค ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นทางเดินเฉพาะกษัตริย์เท่านั้น ทางเดินหินทอดตัวยาวไปจนถึงตัวนครวัด
ถ้ามาตอนที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ให้เดินผ่านสะพานนาคตรงอย่างเดียว เล็งที่เป้าหมายนครวัดไว้ สวยงามอย่าบอกใคร
•เดินเข้าไปทางสระน้ำซ้ายมือเป็นวิวดีที่สุดที่ทำให้มองเห็นพระอาทิตย์กับปราสาทได้สวยงาม ถ้าไปไม่ได้แถวแรก ให้ย้ายฝั่งไปสระทางขวาก็ได้หรือจะอยู่ตรงกลางทางเข้าสู่ปราสาทก็ได้ เนื่องจากนครวัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกการถ่ายภาพนครวัดในตอนเช้าจะทำให้เห็นท้องฟ้าสวยงามมากแต่ภาพคนกับนครวัดจะย้อนแสงสุดๆ จึงยังไม่แนะให้ถ่ายคนยามนี้
•ซุ้มประตูหน้าทางเข้านครวัดด้านขวา เคารพรูปพระโพธิสัตว์แปดกร (มิได้ถ่ายรูปมาอ่า)

•ระเบียงคต แกะสลักเกี่ยวกับมหาภารตะ
รอบบริเวณบาคัง มีรูปนางอัปสรต่างๆมากมาย
•Bakan เป็นตรงกลางของนครวัด และต้องขึ้นบันไดไปอีก จำกัดคนขึ้นต่อรอบ มีทั้งหมด 5 ยอด ยอดที่สูงสุดเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุ สามารถขึ้นไปดูพระอาทิตย์บนนั้นได้
•เรารีบเดินออกจากนครวัดเนื่องจากกลัวว่าจะเก็บสถานที่เที่ยวได้ไม่หมดเนื่องจากเราใช้ตั๋ววันเดียว และคนขับรถนัดเราไว้ตอนเจ็ดโมงครึ่ง แต่เนื่องจากเราแพลนว่าจะกลับมาอีกในช่วงบ่าย เพื่อถ่ายให้ไม่ย้อนแสงเช้านี้เราจึงต้องไปก่อนละ อีกอย่างคือเดินจนหิวข้าวเช้าแล้วด้วย
•หากติดอาหารเช้ามาก็พกไปด้วยหรือวางไว้ที่รถเผื่อกินระหว่างทาง หากไม่เตรียมมาคนขับจะให้เวลาและกินแถวนั้น ซึ่งราคาไม่ถูกเลย
•แนะนำให้กลับมาชมนครวัดช่วงบ่ายจะได้ภาพท้องฟ้าสดใสวิวนครวัดสวยงามงี้

•ถ้ามีโอกาสให้เดินเข้าชมนครวัดจากทางประตูด้านหลัง จะได้เห็นวิวป่า ต้นไม้สูงใหญ่และวิวนครวัด สวยงามไปอีกแบบ
กำแพงทางด้านหลังปราสาทนครวัด ยิ่งใหญ่มากจริงๆ
•ถ้ามีเวลาชมไม่มากนักแนะนำให้จ้างไกด์ เพราะที่นี่มีรายละเอียดเยอะมาก ทั้งภาพนางอัปสร ภาพกวนเกษียรสมุทร และภาพอื่นๆ ซึ่งหากเราเดินหาด้วยตนเองอาจต้องใช้เวลาพอควร
8.00-11.30 ออกจากนครวัดนั่งรถต่อไปยังนครธม ระหว่งนั่งรถไปกินอาหารเช้าที่พกมาไว้ที่รถได้สบายๆโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อมื้อเช้าราคาโหดๆ

Angkor Thom
เป็นชื่อเมืองพระนครหลวงหรือเมืองหลวงแห่งสุดท้ายของอาณาจักรขะแมร์ สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็นเมืองหลวงใหม่ของพระองค์ โดยซ้อนทับเมืองพระนครเดิมของพระเจ้ายโศวรมัน มีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางเมืองซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในลัทธิมหายาน ล้อมรอบด้วยกำแพงหินด้านละ 3 กม ทั้งสี่ด้านเป็นที่ตั้งของประตูเมือง
•South Gate of Angkor Thom
รถจะแวะให้เราถ่ายรูปที่บริเวณทางเข้านครธมทางประตูทิศใต้ซึ่งเป็นส่วนที่สวยงามและสมบูรณ์กว่าด้านอื่นๆ ประตูเมืองพระนครหลวง ประกอบไปด้วยประตูเมืองซึ่งออกแบบเป็นพระพักตร์สันนิษฐานว่าอาจหมายถึง “จตุโลกบาลทั้งสี่” ผู้ดูแลทั้งสี่ทิศของจักรวาล และราวสะพานเป็นรูปการกวนเกษียรสมุทร ระหว่างเทวดายุดนาค กับอสูรยุดนาค เป็นการอวยพรชาวเมืองให้เป็นอมตะประหนึ่งเทวดา
  
มองย้อนไปมีแต่ต้นไม้ใหญ่ๆทั้งนั้นเลย ชอบมากๆ

จากนั้นรถจะมาส่งเราที่ปราสาทหลักของเมืองนครธม และจากนั้นเราก็ต้องเดินไปยังปราสาทต่างๆในนครธมนี้เอง แล้วจึงนัดหมายเราที่จุดสุดท้าย


•Bayon
ปราสาทบายนเป็นปราสาทหลักของนครธมทั่วปราสาทปรากฏพระพักตร์จำนวนมาก บางท่านเห็นว่าอาจเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เองในฐานะอวตารของพระพุทธเจ้าฝ่ายมหายาน มีพระพักตร์บนยอดปราสาททั้ง 54 ยอด รวมแล้วถึง 216 หน้า ปัจจุบันจำนวนใบหน้าเนื่องจากได้สึกกร่อนพังทลายลงไปบ้าง ปราสาทดูซับซ้อนและลึกลับกว่าปราสาทนครวัดมาก และมีมุมสวยๆให้ถ่ายรูปมากมาย 
เมื่อเดินทะลุออกไปหลังปราสาทแล้วอย่าลืมที่จะหันกลับมามองทั่วทั้งปราสาทสวยงามอลังการมากจริงๆ

เดินมาเรื่อยๆจากปราสาทบายนผ่านต้นไม้สูงๆเล็กน้อยก็จะถึงจุดต่อไป
•Baphuon
ปราสาทบาปวน สร้างขึ้นก่อนยุคบายน ก่อนเข้าถึงตัวปราสาทต้องเดินผ่านสะพานหินยกระดับเข้าสู่ตัวปราสาท รอบปราสาทมีปุ่มท่พื้นดินเป็นสัญลักษณ์ของศิวลึงส์ซึ่งเดิมทีปราสาทแห่งนีสร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ

ตัวปราสาทสูงถึง 3 ชั้น บันไดขึ้นไปสู่ด้านบนของปราสาทได้ขึ้นไปหวาดเสียวดีเชียว 

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ยอดปราสาทเคลืยบด้วยทองสัมฤทธิ์ (ขึ้นไม่ได้นะ)

มองจากด้านบนลงมา


และหากเดินลงมาทางด้านหลังตัวปราสาท (one way นะ) และมองย้อนไปจะเห็นตัวปราสาทเป็นรูปพระนอนด้วยนะ เนื่องจากช่วงศตวรรษที่ 15 ได้เปลี่ยนเป็นจากฮินดูมาเป็นวัดพุทธ การบูรณะตัวปราสาทจึงเปลี่ยนแปลงไปทำให้มองเห็นเป็นรูปพระนอนนั่นเอง
เนื่องจากตอนหันมาดูไม่ได้ถ่ายรูปไว้ จึงขอยืมรูปจากลิ้งนี้มาแทน  ^^ https://pantip.com/topic/32862253

เมื่อเดินมาเรื่อยๆจะเดินผ่านอีกหลายปราสาท ผ่านต้นไม้ใหญ่ ดูคนตัวเล็กไปเลย


เดินไปเรื่อยๆจนถึง
• Elephant Terrace
ลานช้าง เป็นระเบียงยาวประมาณ 350 เมตร สูง 3 เมตร 
  
ลานช้าง ตั้งหันหน้าเข้าสู่ลานกว้าง(สนามหลวง) เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์นั่งทอดพระเนตรการสวนสนาม การซ้อมรบ การเฉลิมฉลอง และต้อนรับพระราชอาคันตุกะ

• Terrace of the Leper King
เชื่อกันว่าเป็นศาลตัดสินโทษ สันนิษฐานว่าผนังของลานถล่มและได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มีภาพสลักนูนสูงภาพพญายม มีนางนาคอยู่ทั้งสองข้าง กล่าวถึงเมืองบาดาล  
• เรานัดกับคนขับรถที่นี่ แล้วจึงพาไปต่อที่ปราสาทเล็กๆน้อยๆอื่นต่อก่อนไปทานข้าวเที่ยง 

แวะไปกินข้าวเที่ยงก่อนนะ ต่อ Day2/2 จ้า
ชื่อสินค้า:   siem reap, Angkor Wat, นครวัด นครธม กัมพูชา
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่