สมัยก่อน เชื้อสายกษัตริย์ เชื้อราชวงศ์หรือเจ้านาย หากตาย คนสนิทที่ติดตามจะต้องถูกฆ่าไปด้วยใช่ไหม?

กำลังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ (เนื้อหาเหมือนคำบอกเล่าดูไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ
อย่างเรื่องฆ่าคนตามชื่อ(อิน จัน มั่น คง) เพื่อตอกเสาหลักเมือง
ฆ่าคนเพื่อเฝ้าขุมทรัพย์ มีหลายเรื่องมากมายที่น่าหดหู่ แต่ก็อยากรู้อยู่ดี
เรื่องอื่นนั้นมีทั้งน่าเชื่อและไม่น่าเชื่อ แต่มีเรื่องหนึ่งที่สงสัยเพราะไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยิน
ในอดีต หากกษัตริย์ เชื่อราชวงศ์ เจ้านายสิ้นชีพ จะฆ่าลูกน้องหรือคนสนิทตามไปด้วยเหรอคะ
อย่างเช่น หากกษัตริย์สิ้น ก็ฆ่าผู้ติดตามคนสนิท นางสนม ฆ่าทหารทั้งทหารเลว ทหารม้า เหมือนฆ่าไปเป็นกองทัพ ฆ่าเพื่อให้ตามไปดูแลรับใช้ดวงวิญญาณ
เรื่องแบบนี้มันมีไหมคะ คือเรื่องอื่นนั้นหาข้อมูลจากทางอื่น ถึงจะไม่ได้มีบันทึกเป็นหลักฐานแท้แน่นอน แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริง

แต่หาข้อมูลเรื่องนี้ไม่เจอ (นอกจากของประเทศจีน) ที่มีการฆ่าคนรับใช้และกองทหารตามกษัตริย์ ตามเจ้านายไป
มันเป็นเรื่องจริงไหมคะ?
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ธรรมเนียมฝังคนหรือฆ่าคนเป็นตามคนตายมีในหลายวัฒนธรรมทั่วโลกครับ โดยเฉพาะในจีนโบราณปรากฏตั้งแต่ก่อนสมัยฉิน

แต่การฝังคนก็ไม่ได้ทำโดยตลอดและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ฆ่าคนจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการฝังสิ่งของเครื่องใช้มากกว่า หรือไม่ก็เป็นอย่างฉินสื่อหวงตี้ (秦始皇帝) ที่ปั้นกองทัพตุ๊กตาดินเผาแทน ในสุสานสมัยราชวงศ์ฮั่นก็พบตุ๊กตาดินเผาจำนวนมาก  หากเป็นฮ่องเต้จีนหรือชนชั้นสูงอาจจะฝังนางสนมไปด้วยเพื่อให้ตามไปรับใช้ในโลกหน้า

พงศาวดารสื่อจี้ (史記) ของซือหม่าเชียน (司馬遷) ระบุว่า เมื่อครั้งสมัยฉินสื่อหวงตี้สวรรคต หูไฮ่ (胡亥) จักรพรรดิฉินที่สอง (秦二世) มีพระราชโองการให้จับนางสนมกำนัลของพระบิดาที่ไม่มีบุตรทั้งหมดเข้าไปอยู่ในสุสานแล้วสั่งปิดทางเข้า จนบรรดานางสนมต่างตายอยู่ในนั้นทั้งหมด

หลังจากนั้น บางราชวงศ์ก็มีธรรมเนียมฝังสนมบ้าง บ้างยุคก็ไม่มี เช่นต้นสมัยราชวงศ์ถัง นางสนมที่ไม่มีบุตรในรัชกาลก่อนต้องไปบวชเป็นชี ตัวอย่างที่ดีก็คือจักรพรรดินีอู่เจ่อเทียน (武則天) เป็นสนมระดับไฉเหริน (才人) ของจักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗) มาก่อน เมื่อถังไท่จงสวรรคตก็ไปบวชชีที่วัดกานเย่

ธรรมเนียมฝังนางสนมนั้นยังปรากฏมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง เช่นเมื่อครั้งจักรพรรดิหย่งเล่อ (永樂) สวรรคตมีการฝังนางสนมอีกสิบหกคนตามไปด้วย จนกระทั่งจักรพรรดิเทียนซุ่น (天順) จึงมีพระราชโองการให้ยกเลิกธรรมเนียมนี้ไป  มาฟื้นขึ้นอีกในต้นราชวงศ์ชิงแต่ก็ยกเลิกไปอีก


ธรรมเนียมนี้คล้ายกับพิธีสตีของอินเดีย ที่ภรรยาจะโดดเข้ากองไฟตายตามสามีไปด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่