“สนามเป็ดเล่น” นิทรรศการต้นฉบับวรรณกรรมสำหรับเด็กนิพนธ์


วันนี้ผมขอพาท่านไปชมผลงานของเด็กนักศึกษาวรรณกรรมเด็กปีสุดท้าย ที่สร้างสรรค์ผลงานก่อนจบการศึกษา นำมาจัดแสดงเป็นงานนิทรรศการต้นฉบับวรรณกรรมสำหรับเด็กนิพนธ์ ครั้งที่ 19 ของนิสิตชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 22 หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำหรับงานนิทรรศการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 8 มิถุนายน 2562 ณ โถงชั้น 1 อาคารนวัตกรรม : ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี มศว ประสานมิตร (SWUNIPLEX)


“น้องเก้น” พัณณิตา ทั้งธรณินทร์ และ “น้องเจดีย์” เจลดา ภูพนานุสรณ์  น้องทั้งสองคนนี้พาผมนำชมนิทรรศการฯ โดยเริ่มต้นผมยิงคำถามใส่น้องๆ ก่อนเลยว่า

“ทำไมต้องเป็นเป็ดด้วย?”

น้องเขาตอบมาว่า ...

“พวกเราตีความตัวเองว่า พวกเราชาววรรณกรรมเด็กเป็นเหมือนเป็ด แต่มุมมองของคนส่วนใหญ่มองว่าเป็ดเป็นแง่ลบ มองว่าเป็ดเป็นพวกรู้เยอะ รู้กว้างแต่รู้ไม่ลึก แต่เราคิดว่าความรู้กว้างของพวกเราถือว่าเป็นจุดแข็งต่างหาก เพราะว่าพวกเรารู้เรื่องงานวรรณกรรมเด็กหลากหลายมาก ตั้งแต่สื่อผ้าที่เป็นของเล่น นิทานสำหรับเด็ก งานวรรณกรรมสำหรับเด็กโต งานเอนิเมชัน ฯลฯ ซึ่งความรู้ที่หลากหลายของสาขาวิชาเอก(วรรณกรรมเด็ก)ทำให้กลายเป็นจุดเด่นของพวกเรา”

“แล้วที่เราใช้ชื่องานนี้ว่า “สนามเป็ดเล่น” ก็เพราะว่าเป็นการแผลงเล่นคำมาจากคำว่า “สนามเด็กเล่น” ซึ่งมีความหมายว่าสนามนี้(งานนิทรรศการนี้) เป็นเหมือนสนามที่พวกเราที่เป็นเป็ดได้ลงมาเล่นกัน ได้มาโชว์ของกัน แล้วเราก็อยากจะชักชวนพวกเด็กๆ ที่เป็นเป็ดน้อยที่มาร่วมสนุกและได้ความรู้ร่วมไปกับพวกเราด้วย”


น้องเก้นและน้องเจดีย์ ยังช่วยกันเสริมต่ออีกว่า ...

“จริงๆ แล้วการรู้แบบเป็ดเช่นพวกเราก็คือการที่ “รู้อะไร รู้หลายอย่าง อย่าอย่างเดียว และให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” พวกเราจึงสร้าง “สนามเป็ดเล่น” ขึ้นมาเพื่อนำเสนอว่าผลงาน “แบบเป็ดๆ” ของพวกเราไม่ใช่แค่ “เรื่องเล่นๆ” แต่เราล้วนจริงจังและสร้างสรรค์ทั้งสิ้น”

“ผลงานทั้ง 24 ชิ้นที่จัดแสดงในครั้งนี้ ล้วนแสดงถึงความเป็นเป็ดที่แตกต่างกันไป ตามความสนใจและความสามารถของแต่ละคน เราหวังว่าคุณคงได้ “เล่นสนุก” กับผลงานของพวกเรา และค้นพบความเป็นเป็ดที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ของพวกเรา”

ใช่แล้วครับ ผมคิดว่าที่น้องเขาพูดมาก็ถูกครับ เพราะจริงๆ แล้วผมอยากบอกว่าไม่ใช่ผลงานของเด็ก แต่เป็นผลงานของผู้ที่กำลังจะก้าวไปสู่การขับเคลื่อนสังคมในเวลาอันใกล้นี้ พวกเราที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมก็ควรไปให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่เหล่านี้ เพื่อให้เขาได้คิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆ มีจินตนาการที่กว้างไกลต่อไปในอนาคต


ว่าแล้วก็ตามไปชมผลงานทั้ง 24 ชิ้นกันดีกว่าครับ ผมขออนุญาตนำชมเป็นโซนๆ ตามที่น้องๆ เขาจัดไว้ โดยน้องเขาแบ่งออกเป็น 5 โซนตามผลงานสร้างสรรค์สำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุวัย นอกจากนั้นพวกน้องๆ เขานำเอาเครื่องเล่นสำหรับเด็กมาแทนความหมายของช่วงอายุวัยต่างๆ โดยถ้าผมบรรยายแบบนี้ไปเรื่อยๆ ท่านคงเห็นภาพตามไม่ชัดแน่ๆ ดังนั้นผมขออนุญาตใช้ภาพเล่าเรื่องตามไปด้วย และในตัวผลงานบางชิ้นผมอาจจะไม่ได้พูดลงลึกอย่างชัดเจนก็เพราะว่าผมอยากให้ท่านลองไปตามชมกันด้วยตัวเองดีกว่าครับ

สำหรับปีนี้มีผลงานทั้งหมด 24 ชิ้น ประกอบไปด้วย

1. หนังสือภาพสำหรับเด็ก 3 เรื่อง

2. หนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน 1 เรื่อง

3. กราฟิกโนเวล 1 เรื่อง

4. วรรณกรรมเยาวชน 12 เรื่อง

5. แอนิเมชัน ขนาดสั้น 1 เรื่อง

6. สื่อผ้าเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย 3 ผลงาน

7. โครงการพัฒนาเด็กปฐมวัย 2 โครงการ

8. โครงการพัฒนาเด็กประถามศึกษา 1 โครงการ


โซนเป็ดกิ๊บ : ตั้งเตเตาะแตะ

ผลงานในโซนนี้สร้างสรรค์สำหรับเด็กวัย 3-6 ปี

เพื่อให้เด็กได้เล่นสนุกเบิกบานขณะเรียนรู้ ได้ฝึกออกกำลังกาย พร้อมการพัฒนาสมอง เช่นการเล่นทำครัว เล่นเข้าถ้ำ เรียนรู้จากผลไม้ สนุกกับนิทานและการละเล่นเหมือนการวิ่งเล่น “ตั้งเต” ที่เด็กได้ใช้กำลังกายและกำลังสมองควบคู่กัน

   
สื่อผ้าส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย 4-6 ปี ในชุดของเล่นผ้า : ชุดทำอาหารแสนสนุก ชุดนี้ผมชอบเป็นพิเศษ เพราะดูแล้วมันมีจินตนาการและสร้างสรรค์แบบที่เข้าใจคิดมากเลย เห็นแล้วอยากให้มีของเล่นผ้าแบบนี้ออกมาเยอะๆ ว่าแล้วผมจึงไปสัมภาษณ์น้องแพรเจ้าของผลงานชุดนี้มาครับ ลองชมคลิปดูนะครับ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


โซนเป็ดกั๊บ : แทรมโพลีนเด้งดึ๋ง

ผลงานในโซนนี้สร้างสรรค์สำหรับเด็กวัย 7-9 ปี

เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะโดยการลงมือทำ เช่น สวดบทขอพร ประดิษฐ์หุ่นจักรกล ฝึกความกล้าแสดงออก เมื่อทำได้คล่องแคล่วแล้วเด็กจะเกิดความเข้าใจด้วยตัวเอง เหมือนการกระโดดเล่นแทรมโพลีน ที่เด็กต้องฝึกกระโดดจนคล่องแคล่วแล้วจะกระโดดได้อย่างอิสระเอง



กิจกรรมบนเวทีเล่านิทาน "แล้วพบกันนะ คุณสีเหลือง" ให้เด็กๆ ฟัง พร้อมกิจกรรมต่อยอดระบายสีภาพ ภายในงานนิทรรศการต้นฉบับวรรณกรรมสำหรับเด็กนิพนธ์ ครั้งที่ 19 "สนามเป็ดเล่น"
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



พาพันชอบพาพันซนพาพันดี๊ด๊า
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่