เหตุผลที่มคิตาร์ยาน ไม่ไปแข่งนัดชิงยูโรป้า

คัดลอกมาจากเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ได้ความรู้มากครับ👍
https://www.facebook.com/jingjungfootball/

ประเทศเพื่อนบ้านกัน ย่อมมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ
อยู่ที่ว่าประเด็นการขัดแย้งกันเรื่องนั้น มันจะรุนแรงถึงขนาดที่ ทำให้ 2 ประเทศ เลิกคบค้าสมาคมกันเลยหรือไม่ 
อย่างไทยกับเพื่อนบ้าน เมียนมา, ลาว, กัมพูชา ,มาเลเซีย ก็มีปัญหากระทบกระทั่งกันตลอด แต่ทว่าส่วนดีๆที่เราได้รับจากเพื่อนบ้านนั้นมีมากกว่า นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเขา ยังคงเหนียวแน่นต่อไป
แต่สำหรับ สองประเทศในยุโรปตะวันออก อาเซอร์ไบจาน กับ อาร์เมเนีย ไม่ใช่อย่างนั้น
พวกเขามีพรมแดนติดกัน มีเขตชายแดนเชื่อมกันยาวถึง 1,007 กิโลเมตร ซึ่งถ้าคิดตามหลักแล้ว ก็ควรจะเป็นคู่ค้าสำคัญของกันและกัน ช่วยกันส่งเสริมกันทั้งภาคการค้า และการท่องเที่ยว
แต่ทว่า 2 ประเทศนี้ กลับไม่มีความสัมพันธ์ประเทศระหว่างกัน ในประเทศอาเซอร์ไบจาน ไม่มีสถานทูตอาร์เมเนีย และในประเทศอาร์เมเนีย ไม่มีสถานทูตอาเซอร์ไบจาน
ทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีการเดินทางไปมาหาสู่กันโดยตรง ทุกกรณี คือจะมาเยือนได้ ต้องออกสตาร์ตจากประเทศอื่น ต่อเข้ามาเท่านั้น 
สำหรับกรณีของเฮนริค มคิตาร์ยาน ดาวเตะทีมชาติอาร์เมเนีย ที่จะไม่เดินทางมาเยือนอาเซอร์ไบจาน ในยูฟ่า ยูโรป้าลีกนัดชิงชนะเลิศ 
หลายคนอาจจะสงสัยว่า มคิตาร์ยาน จะไปกลัวอะไร นี่มันเกมฟุตบอลรายการระดับนานาชาติ มีคนจับตามองทั้งโลก ยังไงก็ต้องมีการรักษาความปลอดภัยกันแบบสุดชีวิตอยู่แล้ว
แต่แน่นอน มีผล ก็ต้องมีเหตุ ในโลกนี้ไม่มีนักฟุตบอลคนไหนอยากถอนตัวจากนัดชิงหรอก ยกเว้นแต่มันจะเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจจริงๆ
ความสัมพันธ์ของอาร์เมเนีย กับอาเซอร์ไบจาน มันร้าวลึกเกินธรรมดาแล้ว
-------------------------------------
อาร์เมเนีย เป็นประเทศขนาดเล็ก มีพื้นที่ราว 3 หมื่นตารางกิโลเมตร เทียบได้ก็พอๆกับ เชียงใหม่ รวมกับเชียงราย 
ประชากรอาร์เมเนีย มีประมาณ 3 ล้านคน 95% เป็นคริสเตียน
ส่วนประเทศ อาเซอร์ไบจาน มีขนาดใหญ่กว่า มีพื้นที่ 86,600 ตารางกิโลเมตร เทียบได้ก็เท่ากับครึ่งหนึ่งของภาคอีสานในประเทศไทย 
ประชากร อาเซอร์ไบจานมี 10 ล้านคน โดย 97% ในนั้นนับถือศาสนาอิสลาม 
ตั้งแต่ปี 1922-1988 สองประเทศนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต คือด้วยความที่พรมแดนติดกัน ก็มีกระทบกระทั่งเล็กๆน้อยๆ ในฐานะเพื่อนบ้าน แต่ไม่มีอะไรรุนแรงนัก ยังทำมาค้าขายกันได้ตามปกติ 
ภายในอาณาเขตของประเทศอาเซอร์ไบจาน จะมีจังหวัดเล็กๆที่ชื่อ นากอร์โน่-คาราบัก 
จังหวัดนากอร์โน่-คาราบัก มีขนาด 4,400 ตารางกิโลเมตร พอๆกับจังหวัดชลบุรีในไทย โดยนากอร์โน่ คาราบัก อยู่ "ใน" อาเซอร์ไบจาน ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศอื่นเลย
ในจังหวัดนี้ ประชากร 1.4 แสนคน 98% เป็นคนเชื้อสายอาร์เมเนียน และเป็นคริสเตียน 
ประชาชน นากอร์โน่-คาราบัก นั้นอยากไปอยู่กับอาร์เมเนียนานแล้ว เพราะวัฒนธรรมและศาสนาทุกอย่าง เป็นฝั่งอาร์เมเนียหมด แต่ติดที่เรื่องของอาณาเขต ดันอยู่ในอาเซอร์ไบจาน จึงไม่สามารถทำอะไรได้ ณ เวลานั้น
จุดสำคัญอยู่ที่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1988 สหภาพโซเวียต ตัดสินใจยกจังหวัดนี้ให้เป็นของประเทศอาร์เมเนีย
จริงอยู่ คนในนากอร์โน่-คาราบัค อยากอยู่กับอาร์เมเนีย แต่คิดหรอ ว่าอาเซอร์ไบจาน จะยอมเสียดินแดนให้ประเทศอื่นไปง่ายๆ
เมื่อโซเวียตเลือกแบบนั้น ทำให้ ประชาชนอาเซอร์ไบจาน เดือดดาลทันที และรวมตัวนับพันคนไปล้อม สำนักงานพรรคคอมมิวนิสต์ จนเกิดเหตุจราจลรุนแรงขึ้นในประเทศ 
นอกจากจะเดือดดาลโซเวียตแล้ว ความแค้นของคนอาเซอร์ไบจานก็มาลงกับอาร์เมเนียด้วย ที่ดูเหมือนจะให้ท้าย นากอร์โน่-คาราบัค ในการคิดแบ่งแยกดินแดนตลอดเวลา
ก่อนหน้านี้ ในประเทศอาเซอร์ไบจาน จะมีชุมชนคนอาร์เมเนียเล็กๆอาศัยอยู่ เช่นเดียวกับอาร์เมเนีย ก็จะมีชุมชนคนอาเซอร์ไบจาน แต่หลังจากปี 1988 ทั้งสองชุมชนก็ใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้อีกต่อไป 
26 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุฆาตกรรมหมู่ ที่เมืองซัมเกต เมืองชายทะเลของอาเซอร์ไบจาน โดยเมืองนี้ จะมีชุมชนคนอาร์เมเนียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปรากฏว่า มีชาวอาเซอร์ไบจาน มาไล่สังหารชายอาร์เมเนียอย่างเหี้ยมโหด ส่วนผู้หญิงก็โดนรุมข่มขืน
สุดท้ายมียอดคนอาร์เมเนียเสียชีวิต จากเหตุครั้งนี้ จำนวน 32 คน 
พอมีเรื่องนี้ ทั้งสองชาติ ก็ไม่สามารถเจรจาสันติวิธีกันได้อีกต่อไป มีการรบพุ่งอย่างรุนแรงกันมาตลอด ต่างฝ่ายต่างฆ่า ต่างฝ่ายต่างข่มขืนหญิงของฝั่งตรงข้าม
การรบนั้นเริ่มต้นจากประชาชนสู้กับประชาชน จนบานปลายเป็นการสู้กันในระดับรัฐต่อรัฐ มันเป็นเหตุนองเลือดอย่างแท้จริง
ฝั่งอาร์เมเนีย มีรัสเซียคอยสนับสนุน ขณะที่ฝั่งอาเซอร์ไบจาน มีตุรกี กับปากีสถานอยู่เบื้องหลัง 
ในช่วงปี 1988-1994 มีคนเสียชีวิต 2 ประเทศรวมกันมากกว่า 25,000 คน
สงครามดำเนินไป 6 ปี ในที่สุดด้วยความสูญเสียมหาศาล ทำให้ปี 1994 ทั้งสองประเทศลงนามสัญญาหยุดยิง เป็นการเบรกความรุนแรงก่อนชั่วคราว
-------------------------------------
จนถึงวันนี้ นากอร์โน่-คาราบัค ก็ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปว่าควรเป็นจังหวัดในประเทศใดกันแน่ เพราะทั้ง 2 ชาติไม่ยอมกัน
อาเซอร์ไบจานอ้างว่า นากอร์โน่-คาราบัค อยู่ในอาณาเขตของพวกเขา ดังนั้นก็ควรเป็นของอาเซอร์ไบจาน อีกอย่างอาเซอร์ไบจานยอมไม่ได้ ถ้าจะให้มีประเทศอื่นมาประกาศเอกราช ใจกลางประเทศของตัวเอง
เปรียบเทียบเล่นๆ สมมติว่า จังหวัดขอนแก่น ถูกประเทศกัมพูชา อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ ทำให้ส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชา จะตั้งอยู่กลางประเทศไทย มันคงเป็นเรื่องที่กระอักกระอ่วนมาก 
ขณะที่มุมของอาร์เมเนีย ก็ชี้ว่า แต่ประชากร ศาสนา และวัฒนธรรม ทั้งหมด ของนากอร์โน่-คาราบัค มีความเป็นอาร์เมเนียล้วนๆ แม้แต่ตัวประชากรยังอยากไปอยู่อาร์เมเนีย ดังนั้น จังหวัดนี้ก็ควรเป็นของอาร์เมเนียมากกว่า 
ต้องยอมรับว่า ว่ามุมของอาร์เมเนีย ก็มีเหตุมีผลอยู่ 
ต่างคนต่างอ้างสิทธิ ทำให้ นากอร์โน่-คาราบัค เป็น Disputed Territory หรือ อาณาเขตที่ยังมีกรณีพิพาท 
จากสัญญาหยุดยิงในปี 1994 จนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไปมากกว่า 25 ปี ก็ยังไม่ได้รับข้อสรุปใดๆทั้งสิ้น 
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีการรบพุ่งกันอยู่บ่อยๆ โดยกลุ่ม Ethnic Armenians หรือ นักรบอาร์มีเนียที่อยู่ในนากอร์โน่-คาราบัค กับ กองทหารอาเซอร์ไบจาน มีเหตุกระทบกันในเขตชายแดน นากอร์โน่-คาราบัคหลายต่อหลายครั้ง
จำนวนผู้เสียชีวิตอาจไม่เท่าช่วง 1988-1994 แต่ก็ถือว่าความรุนแรงพร้อมปะทุกันได้ตลอด และพอมีเหตุยิงกันทีไร ต่างฝ่ายก็จะอ้างว่า อีกฝ่ายเริ่มก่อน
มีความพยายามจะไกล่เกลี่ยจากสหประชาชาติ และ กลุ่ม OSCE หรือองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป แต่เจรจาอย่างไรก็ถึงทางตัน เพราะบทสรุปคือ นากอร์โน่-คาราบัค ต้องการร่วมกับอาร์เมเนีย แต่ไม่ว่าอย่างไรอาเซอร์ไบจานก็ไม่ยอม
อาเซอร์ไบจาน ไม่ได้โกรธแค้นแค่ประชาชนในนากอร์โน่-คาราบัค แต่โกรธแค้นอาร์เมเนียด้วยที่รู้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร และให้ท้ายเต็มที่ เพื่อให้นากอร์โน่-คาราบัค แยกตัวออกมาจากอาเซอร์ไบจานให้ได้
นั่นทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนี้ จึงไม่สามารถต่อกันติด และไม่มีการทูตระหว่างกัน แม้พรมแดนจะติดกันก็ตาม
และนักเดินทางประเทศไหนก็ตามที่ เคยถูกบันทึกว่าไปเยือนนากอร์โน่-คาราบัคมาแล้ว จะไม่มีสิทธิได้เหยียบประเทศอาเซอร์ไบจานอีกต่อไป
ส่วนคนทั้งสองประเทศ มันแน่อยู่แล้ว ว่าไม่มีเหตุผลอะไรต้องญาติดีกัน 
-------------------------------------
สำหรับคนอาร์เมเนียโดยปกติไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปอาเซอร์ไบจานอยู่แล้ว
แต่ทว่าในยูฟ่า ยูโรป้าลีก รอบชิงชนะเลิศ ดันจัดที่บากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจานพอดี ซึ่งนักเตะคนสำคัญของอาร์เซน่อล เฮนริค มคิตาร์ยาน ดันเป็นคนอาร์เมเนียเสียอีก
เอกอัครราชทูตอาเซอร์ไบจาน ประจำสหราชอาณาจักร ยืนยันว่า มคิตาร์ยาน ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งน้ั้น เขาจะรับรองความปลอดภัยให้เอง 
"นี่คือฟุตบอลรายการสำคัญ คือถ้าเป็นเรื่องการเมืองก็กรณีหนึ่ง แต่คุณเป็นนักฟุตบอลไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นเราจะไม่เอาเรื่องนี้มารวมกัน" 
เช่นเดียวกับทางยูฟ่า ที่แถลงการณ์ยืนยันว่า ยูฟ่าจะรับรองความปลอดภัยให้นักเตะในอาเซอร์ไบจาน ไม่มีอะไรต้องกังวล
ใช่ ฟังดูเหมือนปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ถามว่าตัวมคิตาร์ยานจะกล้าเสี่ยงหรอ? 
ในรอบแบ่งกลุ่มของยูโรป้าลีก ที่อาร์เซน่อลบุกไปถล่มคาราบัก สโมสรชั้นนำของอาเซอร์ไบจาน 3-0 เกมนั้นมคิตาร์ยาน ก็ไม่ได้เดินทางไปด้วย และครั้งนี้ ในรอบชิงยูโรป้าก็เช่นกัน 
หลังจากปรึกษาครอบครัว และพิจารณาอย่างละเอียดจริงๆ มคิตาร์ยานก็แจ้งในทวิตเตอร์ว่า 
"มันเป็นการตัดสินใจที่ยากจริงๆ แต่ผมจะไม่เดินทางไปกับเพื่อนร่วมทีมในเกมนัดชิงที่จะพบกับเชลซี"
"มันเป็นเกมที่ไม่ได้มีบ่อยๆเลย สำหรับนักฟุตบอลคนหนึ่ง และผมต้องยอมรับว่า เจ็บปวดมากที่จะไม่ได้ลงเกมนี้ แต่ผมจะเชียร์เพื่อนๆอยู่ที่บ้าน เอาถ้วยมาให้ได้นะ อาร์เซน่อล!"
แน่นอน เรื่องนี้เราเข้าใจได้ทุกฝ่าย ยังไงถ้ามคิตาร์ยานมา ทางฝ่ายจัดการแข่งขัน และภาครัฐก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยเต็มร้อยอยู่แล้ว ไม่งั้นอนาคต ใครจะอยากให้จัดการแข่งขันสำคัญอีก 
แต่คำถามคือ คนทั้งประเทศ จะคิดเหมือนท่านเอกอัครราชทูต หรือ ผู้จัดการแข่งขันหรือเปล่าล่ะ?
คน 10 ล้านคน 90% อาจจะแยกแยะเป็น แต่ในทุกสังคมย่อมมี 10% ที่คิดต่างจากคนอื่น 
ถ้าเกมฟุตบอลจบไปโดยไม่มีเหตุรุนแรง นั่นก็ถือว่าโชคดีไป แต่ลองคิด Worst Case Scenario ถ้ามีกลุ่มหัวรุนแรงในอาเซอร์ไบจาน รู้ว่ามคิตาร์ยานจะมา ก็จัดการวางแผน เพื่อจับเอามคิตาร์ยานซึ่งเป็นฮีโร่ของชาวอาร์เมเนีย เอามาเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองอะไรสักอย่างล่ะ 
ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นมา ถามว่าใครจะรับผิดชอบไหว 
แม้จะมีการพูดบ่อยๆว่า อย่าเอากีฬากับการเมืองมารวมกัน ถ้าเป็นโลกในจินตนาการ อาจเป็นไปได้ 
แต่ในชีวิตจริง มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะการเมืองต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตเราเสมอ 
โลกนี้มีคนซวยเพราะการเมืองมาเยอะแล้ว ใช้ชีวิตของตัวเองอยู่ดีๆกลายเป็นเหยื่อก็เยอะแยะมากมาย 
ดังนั้น ถ้าจะทำอะไรแล้วมีความเสี่ยงแม้เพียงแค่ 1% ก็ตาม การหลีกเลี่ยงหรือหลบหนี ไม่ใช่เรื่องขี้ขลาดหรอก มันเป็นการคิดอ่านอย่างรอบคอบต่างหาก 
เหตุผลที่มคิตาร์ยานไม่ไปอาเซอร์ไบจานจึงเข้าใจได้ทุกประการ
เพราะเหยื่อทางการเมืองมันเกิดได้กับทุกคน 
เราจะมั่นใจได้อย่างไรล่ะ ว่าในวันหนึ่งเหยื่อคนนั้น มันจะไม่เป็นเรา


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่