"ฎีกาออกศึกภาคเหนือของ ขงเบ้ง" รายชื่อของขุนนางและนายทหารที่น่าสนใจ

ว่าด้วยเรื่องของฎีกาออกศึกภาคเหนือของ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง

ฎีกาฉบับนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในประวัติศาสตร์จีน ซึ่งขงเบ้งได้เขียนขึ้นแล้วถวายให้พระเจ้าเล่าเสี้ยน (อาเต๊า)

เนื้อหาอ้างอิงจากในจดหมายเหตุสามก๊ก บทชีวประวัติขงเบ้ง และในวรรณกรรมสามก๊กของหลอก้วนจง มีรายละเอียดตรงกัน

ตรงนี้มีจุดน่าสนใจคือ ขงเบ้งเอ่ยถึงชื่อบุคคลสำคัญที่เล่าเสี้ยนสามารถฝากฝังภารกิจบ้านเมืองให้ต่อได้หลังจากนี้ ทั้งด้านการปกครองและการทหาร ราวกับขงเบ้งรู้ตัวว่า เขาไปครั้งนี้อาจจะไม่ได้กลับมา แม้ว่าสุดท้ายแล้วเขาจะได้กลับมาหลังจากความพ่ายแพ้ในศึกที่เกเต๋งก็ตาม

สำหรับรายชื่อของบุคคลสำคัญทางการปกครองที่ขงเบ้งฝากฝังให้คือ สามเสนาบดี บิฮุย ตังอุ๋น กุยฮิวจี๋ เป็นผู้มีความสามารถในการบริหาร นอกจากนี้ยังสามารถไว้วางใจเจียวอ้วนและตังจิ๋นในเรื่องความภักดีได้

ส่วนด้านการทหาร แนะนำ เฮียงทง "ซึ่งเป็นชายที่ไม่มีบทบาทในวรรณกรรมสามก๊กเลย" แต่ก็แสดงว่า คนผู้นี้มีความรอบรู้ทางทหารไม่น้อย ขงเบ้งจึงระบุชื่อของเขามาก่อน แทนที่จะแนะนำพวกขุนพลชื่อดังอย่าง อุยเอี๋ยน ด้วยซ้ำไป

สำหรับในเนื้อหาฎีกา พบว่าใน สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้ตัดทอนรายละเอียดออกไปเพราะเห็นว่าเป็นน้ำเยอะ แล้วพูดซ้ำย้ำเรื่องเดิม จึงตัดออกให้กระชับ (อาจเพราะเรื่องวัฒนธรรมการแปลด้วย กลัวคนไทยสมัยนั้นอ่านแล้วอาจจะไม่เข้าใจได้) ซึ่งเนื้อหาเต็ม สามารถพบได้ในหนังสือ จดหมายเหตุสามก๊ก ตอนยอดกุนซือจ๊กก๊ก (บทขงเบ้ง) และในวรรณกรรมสามก๊กฉบับแปลของคุณวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ เนื้อหาจะเป็นดังนี้
จากในจดหมายเหตุสามก๊ก

ปีค.ศ.227 (ปีเจียนซิงที่ 5) ขงเบ้งนำเหล่าขุนพลสู่ภาคเหนือ ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองฮั่นจง ก่อนจะเคลื่อนทัพออกศึก จึงได้ส่งฎีกาถึงฮ่องเต้เล่าเสี้ยน มีความว่า

“ฮ่องเต้พระองค์ก่อน (เล่าปี่) ได้บุกเบิกบ้านเมืองมาอย่างแสนสาหัสกว่าจะสามารถสร้างอาณาจักรขึ้นได้ แต่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน มาวันนี้ แผ่นดินได้แบ่งขั้วอำนาจออกเป็นสามก๊ก ดินแดนเอ๊กจิ๋ว (จ๊กก๊ก) ของเรานั้นได้เผชิญกับสถานการณ์วิกฤติ ผ่านการศึกมาอย่างหนักหน่วง หากเกิดศึกขึ้นอีกก็ยากที่จะป้องกันได้ แต่เหล่าขุนนางทั้งปวงก็มิได้เกียจคร้าน พยายามรักษาบ้านเมืองให้เข้มแข็งทั้งในและนอก ด้วยว่าสำนึกในพระกรุณาธิคุณของอดีตฮ่องเต้และหมายที่จะตอบแทนพระองค์ ฝ่าบาทจึงควรคบหาคนดี หลีกหนีจากคนชั่ว บ้านเมืองก็จะเจริญรุ่งเรือง ทรงอย่าสนพระทัยกับเรื่องไร้สาระทำให้คุณธรรมเสื่อมเสียให้เป็นที่ติฉินนินทาได้”

“ในราชสำนักยังมีกฎมณเฑียรบาลและระเบียบสำหรับควบคุมความประพฤติของผู้นำและเชื้อพระวงศ์ฉันใด บ้านเมืองก็ต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินฉันนั้นเช่นกัน หากผู้ใดทำดี ก็ประทานรางวัลปูนบำเหน็จ ผู้ใดทำผิดก็ลงโทษตามพระอาญา กฎหมายมีไว้เพื่อควบคุมมิให้เหล่าคนชั่วได้ทำผิด และมีเจ้าพนักงานผู้ควบคุมดูแลกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมและคุณธรรมของบ้านเมือง การเลือกที่รักมักที่ชังจึงเป็นสิ่งมิชอบ เช่นเดียวกับการมีกฎหมายบ้านเมืองไว้เพื่อใช้ในพระราชสำนักและในหัวเมือง”

“เหล่าขุนนางกอปรด้วย ตังอุ๋น บิฮุย กุยฮิวจี่ บุคคลทั้งสามนี้ล้วนเป็นขุนนางตงฉินผู้มีความสัตย์ซื่อเทียงตรงและมีความภักดีอย่างที่สุด ครั้งนั้นอดีตฮ่องเต้ (เล่าปี่) ทรงไว้วางใจให้พวกเขาเป็นขุนนางใกล้ชิด ข้าพเจ้าเห็นว่าฝ่าบาทสมควรปรึกษาราชการแผ่นดินกับขุนนางทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้อยหรือใหญ่ หากแม้นมีพระราชโองการใดลงไป ก็จะสามารถแก้ไขสิ่งผิดพลาดให้กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรืออย่างที่ควรเป็นได้แน่”

“เหล่าขุนพล เฮียงทง นับเป็นผู้มีความสุขุมรอบคอบ รอบรู้พิชัยสงครามและกลยุทธ์การทหาร อดีตฮ่องเต้เคยได้ทดสอบความสามารถของเขามาแล้วจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ ในความเห็นของข้าพเจ้านั้น ในการทำศึกและด้านการทหารควรต้องปรึกษากับคนผู้นี้เป็นสำคัญ”

“พระองค์ควรแสวงหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาให้มาก หลีกหนีและขับไล่เหล่าคนชั่วช้าให้ออกไป ราชวงศ์ฮั่นเมื่อครั้งก่อตั้งอาณาจักรเริ่มแรกนั้น ยิ่งใหญ่รุ่งเรืองได้เพราะผู้นำมีจิตใจเที่ยงธรรม คบหานักปราชญ์และตงฉินที่ซื่อตรงสุจริต ไม่คิดแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง หลีกห่างจากกังฉินขี้ประจบสอพลอ แต่ในยุคหลัง การณ์กลับเป็นตรงข้าม ราชวงศ์ฮั่นจึงได้เสื่อมถอยลงและกล่าวตามตรงแล้ว นี่จึงเป็นเหตุให้ราชวงศ์ฮั่นล่มสลายในที่สุด เมื่ออดีตฮ่องเต้ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงปรึกษาหารือเรื่องบ้านเมืองกับพวกเราอยู่เสมอ ด้วยทรงตระหนักดีถึงบทเรียนจากความล้มเหลวของพระเจ้าฮั่นฮวนเต้และพระเจ้าฮั่นเลนเต้ที่เกิดขึ้นในอดีตไม่นานนี้”

“นายอาลักษณ์ตันจี๋ และ ราชเลขาธิการเจียวอ้วน ล้วนเป็นผู้มีความสามารถ พวกเขาไม่เคยมีประวัติเสียหายและจะถวายความภักดีตราบจนสิ้นวาย ข้าพเจ้าหวังว่าฝ่าบาทจะทรงเชื่อถือและอยู่ใกล้ชิดคนเหล่านี้ จะมีแต่ทำให้ราชวงศ์ฮั่นอยู่ยั้งยืนยาวสืบไป”

“แต่เดิมแล้วข้าพเจ้าเป็นเพียงสามัญชนที่อาศัยอยู่ในหนานหยาง ข้าพเจ้าเพียงหวังใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและหลีกหนีจากไฟสงครามและกลียุคอันแสนวุ่นวายเท่านั้น และข้าพเจ้าก็มิได้เป็นที่รู้จักของเหล่าขุนศึกใดๆ จนกระทั่งอดีตองค์ฮ่องเต้มิได้ทรงรังเกียจในชาติกำเนิดต่ำต้อยของข้าพเจ้า แต่กลับทรงดั้นด้นเสด็จด้วยพระองค์เองไปเยือนที่กระท่อมถึง 3 ครั้ง ด้วยทรงต้องการปรึกษาหารือเรื่องอนาคตของบ้านเมือง ความถ่อมพระองค์และจิตใจกว้างขวางเช่นนี้เป็นที่ซาบซึ้งแก่ใจของข้าพเจ้ายิ่งนัก ดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้ยอมถวายตัวเพื่อเข้ารับใช้พระองค์นับแต่นั้นมา”

“หลังจากพ่ายแพ้ในการออกศึก (ศึกเตียงปัน) และข้าพเจ้าก็ได้รับภาระหน้าที่อันแสนยากและชีวิตต้องเผชิญภยันตรายทั้งหลายนั้น ก็ได้ผ่านล่วงมา 21 ปีแล้ว อดีตองค์ฮ่องเต้ทรงเชื่อถือไว้วางใจแก่ข้าพเจ้าจนกระทั่งแม้ว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ก็ยังได้มอบหมายภาระอันยิ่งใหญ่ไว้ให้แก่ข้าพเจ้าสืบต่อมา นับแต่นั้นข้าพเจ้าก็มิอาจข่มตานอนหลับได้สนิทใจ ด้วยเกรงว่าจะมิสามารถทำการใหญ่ได้สมดั่งหมายแล้วเป็นการเสื่อมเสียถึงพระเกียรติยศ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้นำกองทัพข้ามลำน้ำลกซุยเพื่อบุกตีดินแดนทางใต้อันป่าเถื่อน มาบัดนี้แดนใต้สงบราบคาบและแสนยานุภาพของทัพเราก็พรั่งพร้อมแล้ว พวกเราจึงควรนำทัพใหญ่บุกโจมตีภาคเหนือและภาคกลาง ปราบปรามเหล่าคนชั่วช้า ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น แล้วอัญเชิญเสด็จฝ่าบาทให้กลับคืนราชธานีเก่า นี่นับเป็นภารกิจที่ข้าพเจ้ามีต่ออดีตฮ่องเต้และเป็นการถวายความภักดีต่อฝ่าบาท”

“ขอฝ่าบาททรงปรึกษาหารือกับ กุยฮิวจี่ บิฮุย และ ตังอุ๋น พวกเขาทั้งสามเป็นขุนนางที่มีหน้าที่ช่วยเหลือพระองค์ในราชการงานเมืองและตัดสินคดีความทั้งปวง ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้ปฏิบัติภารกิจปราบเหล่าโจรร้ายทั้งปวงแล้วฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นกลับมา หากแม้นข้าพเจ้าทำการไม่สัมฤทธิ์ผลแล้วไซร้ ขอพระองค์ทรงลงโทษข้าพเจ้า แล้วกราบทูลต่อดวงวิญญาณของอดีตฮ่องเต้ให้ทรงทราบ แล้วหากแม้นขุนนางใหญ่ทั้งสามกับขุนนางคนอื่นมิสามารถช่วยเหลือพระองค์ได้แล้ว ก้ขอทรงกล่าวโทษพวกเขาต่อไพร่ฟ้าให้ทราบกันด้วย”

“พระองค์ควรหมั่นฝึกฝนและพัฒนาองค์เอง เพื่อให้มีความกล้าหาญและพระปรีชาได้เฉกเช่นอดีตฮ่องเต้ เหล่านี้คือสิ่งที่จอมคนผู้ทรงธรรมพึงยึดปฏิบัติเป็นเป้าหมาย มาบัดนี้ ข้าพเจ้ากำลังจะนำทัพจากไปไกลแล้ว ข้าพเจ้าได้เขียนคำกราบทูลด้วยน้ำตานองหน้าก่อนที่จะได้กล่าวถึงความในใจทั้งปวงนี้ให้ทรงทราบได้ทั้งหมดสิ้น”

เมื่อถวายฎีกาแล้ว จากนั้นขงเบ้งก็นำกองทัพไปตั้งมั่นที่เมียนหยางเพื่อตระเตรียมบุกพิชิตภาคเหนือตามที่ตั้งใจไว้ต่อไป

ในยุคปัจจุบัน ฎีกาฉบับนี้ของขงเบ้งได้รับการยกย่องชมเชยในแง่ของความเรียงชั้นเยี่ยม คนจีนยุคก่อนๆมีความประทับใจกับงานเขียนชิ้นนี้ทั้งในแง่ของภาษา สำนวน การสื่อความหมาย และยังเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญทางวัฒนธรรมการเขียนของจีนในเวลาต่อมาด้วย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่